World Celeb

วิกฤตช่วงโควิด “แบรนด์ไหนรุ่ง แบรนด์ไหนร่วง”?

Pinterest LinkedIn Tumblr


บรรดาแบรนด์เนมสุดหรูของโลก ไม่ว่าจะเป็น หลุยส์ วิตตอง, ดิออร์, กุชชี, แอร์เมส ฯลฯ ต่างก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนั้น โดยเฉพาะช่วงแรกของปี 2019 ที่ทั่วโลกต้องมีการล็อกดาวน์ การงดจัดแฟชั่นวีกทุกเวที และผู้คนไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้

อย่างไรก็ตาม หลายแบรนด์ดังปรับตัวมาสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ กลยุทธ์การสร้างความสนิทสนม การรวมกลุ่มแฟนพันธุ์แท้ ก็ใช้ได้ดีในช่วงวิกฤต ทำให้ครึ่งปีหลังของปี 2020 หลายๆ แบรนด์กลับมาสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ พอที่จะลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง โดยเฉพาะ การเข้ามาเจาะกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อสูง อย่าง จีน ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์


>> แอร์เมส
ยอดขายจากไตรมาส 3 ของปี 2020 ทำให้ แอร์เมส กลับมายิ้มชื่นอีกครั้ง ด้วยยอดซื้อออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น 7% ขณะที่ ยอดขายผ่านหน้าร้านที่เพิ่มขึ้น 12% รวมทั้ง อีก 29% ที่พุ่งขึ้นในเอเชีย รวมทั้งตลาดญี่ปุ่นที่ซบเซาไปนาน รายได้ของ แอร์เมส หลังสิ้นสุดเดือนกันยายน 2020 อยู่ที่ 524,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่าจะลดน้อยลง 14% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทว่า หลังจากที่เคยตกลงไปถึง 24% ในไตรมาสแรก บวกกับอีก 41% ที่ร่วงลงไปในไตรมาสที่ 2 ก็นับว่า เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นมาก


>> แอลวีเอ็มเอช
กลุ่มสินค้าลักซ์ชัวรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก อย่าง แอลวีเอ็มเอช โมเอต์ เฮนเนสซี หลุยส์ วิตตอง หรือที่รู้จักกันในชื่อ แอลวีเอ็มเอช (LVMH) เป็นเครือบริษัทมหาชนข้ามชาติของสหภาพยุโรปในธุรกิจสินค้าหรูหรา ก็มาในรูปแบบใกล้เคียงกัน คือในปี 2019 ยอดขายร่วงไม่เป็นท่า แต่กลับมาตีตื้นได้ใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2020 โดยมีรายได้รวม 369,000 ล้านดอลลาร์ หลังจากลดลงไป 27% เมื่อเทียบกับรายได้ของช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ทว่า 3 ไตรมาสแรกของปี 2020 เหลือลดลงแค่ 7%
ต้องขอบคุณลูกค้าแฟนพันธุ์แท้ของ หลุยส์ วิตตอง และคริสเตียน ดิออร์ รวมทั้ง ความสำเร็จในการควบรวม ทิฟฟานี แอนด์ โค. เข้ามาในเครือ ที่ทำให้มูลค่าหุ้นของแอลวีเอ็มเอช พุ่งจาก 419 ยูโร ไปเป็น 499 ยูโร


>> เคอริง
คู่แข่งตัวฉกาจของแอลวีเอ็มเอช อย่าง เคอริง ก็เจอเข้ากับยอดติดลบถึง 29.6% ในครึ่งแรกของปี 2020 แต่ก็ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว เหลือติดลบแค่ 4.3% ในไตรมาสต่อมา โดยมีรายได้ 452,000 ล้านดอลลาร์ มากกว่าที่ทีมการตลาดได้คาดการณ์เอาไว้ในตอนแรก แม้ว่ามูลค่าหุ้นของบริษัทจะตกลงไปจาก 598 ยูโร เหลือ 558 ยูโรก็ตาม

นั่นหมายความว่า ยอดขายของแบรนด์ดังๆ ในกลุ่มเคอริง ทั้ง กุชชี และโบเตกา เวเนตา ล้วนกลับมาเติบโตท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจขณะนี้


>> ริชมอนต์
สำหรับอาณาจักรลักซ์ชัวรีที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก อย่าง ริชมอนต์ เจ้าของแบรนด์นาฬิกาเพียเจต์ พานาราย รวมทั้ง โคลเอ้ ก็เผชิญกับยอดขายที่ลดลง 26% ในครึ่งแรกของปี 2020 โดยเฉพาะ ในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด อยู่ที่ 3 เดือนแรกของปีที่แล้ว ที่มียอดขายลดลงมากถึง 47% เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ

ทว่า เมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายเหลือติดลบจากปีก่อนโน้นเพียง 5% ต้องขอบคุณรายได้ส่วนใหญ่ถึง 78% จากจีนแผ่นดินใหญ่


>> ปราดา
รายได้ของแฟชั่นเฮาส์จากอิตาลีตกลงอย่างฮวบฮาบ จนบริษัทไม่อยากจะออกมาแถลงเกี่ยวกับเรื่องนี้ จนกระทั่ง ท้ายไตรมาสที่ 2 ของปีที่ผ่านมา โดยลดลงไปถึง 40% หากนับเฉพาะยอดค้าปลีกนั้นลดลงไปถึง 32% แต่ตลาดหุ้นก็ยังเชื่อว่า ปราดา จะสามารถฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ไปได้ โดยเฉพาะ ตลาดฮั่งเส็งของฮ่องกง ที่มูลค่าหุ้นของปราดา ปรับขึ้นจาก 31 ดอลลาร์ฮ่องกง ขึ้นไปเป็น 44 ดอลลาร์แล้ว

Comments are closed.

Pin It