Interview

“พริ้ง บุนนาค” ปรับลุค “ผ้าซิ่น-ไหมไทย” ยกระดับ “Made in Thailand” ทัดเทียมต่างชาติ

Pinterest LinkedIn Tumblr


แม้จะโลดแล่นอยู่ในวงการแฟชั่นฝรั่งเศสมายาวนาน แต่ “พริ้ง บุนนาค” ผู้ก่อตั้งแบรนด์ไทยชื่อเก๋ ความหมายน่ารัก อย่าง “Sucette” (ภาษาฝรั่งเศสแปลว่าอมยิ้ม) กลับมีแพสชั่นลึกๆ ว่า อยากจะนำของดีของไทยที่ถูกมองข้าม มาเติมความโมเดิร์น เพื่อโชว์เคสให้โลกรู้ว่า สินค้า “Made in Thailand” ไม่ได้บ้านๆ หรือเชย แต่มีดีไม่แพ้ชาติใดในโลก ดังนั้น เมื่อโอกาสและจังหวะมาถึง เธอจึงไม่ลังเลที่จะนำแพสชั่นที่มี มาหลอมรวมกับความรู้และประสบการณ์ จนเกิดเป็นแบรนด์แฟชั่นไทยที่มีเอกลักษณ์คือ การนำผ้าซิ่นและผ้าไหมไทยมารังสรรค์เป็นเสื้อผ้าที่ชวนให้สะดุดตา


ย้อนไปสู่จุดเริ่มต้นของการปั้นแบรนด์ เกิดขึ้นหลังจากที่พริ้งตัดสินใจโบกมือลาฝรั่งเศส กลับมาเมืองไทย ตอนที่ตั้งท้องได้ 7 เดือน โดยก่อนหน้านี้พริ้งใช้ชีวิตอยู่ที่ปารีส โลดแล่นในวงการแฟชั่น เธอออกแบบรองเท้า และมีร้านรองเท้าของตัวเองชื่อ Pring ในย่าน Marais ที่ปารีส และยังเป็นฟรีแลนซ์ให้กับหลากหลายแบรนด์ หนึ่งในนั้นคือ สวารอฟสกี้ ซึ่งเธอได้มีโอกาสเข้าไปช่วยทำคอลเลกชันรองเท้าในอีเวนต์โชว์เคสจิวเวลรีของทางแบรนด์

“รองเท้าของเราเป็นเมดอินไทยแลนด์ 100% ตอนนั้นกระแสตอบรับค่อนข้างดี มีลูกค้าชมตลอดว่าคุณภาพดีกว่าแบรนด์นอกตั้งหลายแบรนด์ ซึ่งตอกย้ำความเชื่อของเราที่มองว่า ฝีมือช่างไทยไม่แพ้ใครในโลก เพราะแม้แต่แบรนด์ดังๆ ก็ยังต้องมาจ้างคนไทยผลิต”


จนตอนที่กลับมาประเทศไทย เป็นช่วงโควิดพอดี ประเทศล็อกดาวน์ ไปไหนไม่ได้ ช่วงนั้นพริ้งเห็นช่างฝีมือคนไทยตกงานเยอะมาก หรือต่อให้พอมีงาน ก็ได้ค่าตอบแทนน้อย จนอดเสียดายฝีมือไม่ได้ เลยมีไอเดียว่าอยากทำโปรดักต์เพื่อช่วยเหลือช่างไทย เริ่มต้นจากการทำรองเท้าแฮนด์เมด โดยใช้ผ้าไหมไทย มีส้นพิเศษเป็นไม้กลึง

พริ้งบอกว่า หลังจากทำรองเท้าก็ค่อยๆ ต่อยอดมาสู่การทำชุดเดรส เหตุผลที่เลือกนำผ้าซิ่นมาทำ เพราะสมัยสาวๆ ชอบนุ่งผ้าซิ่น แต่จะนุ่งในสไตล์ของตัวเอง คือนำมาดัดแปลงเป็นเดรสและมินิสเกิร์ต อาศัยแรงบันดาลใจจากสาวไทยโบราณ ที่ลุคคูลๆ ไถผม สไบเฉียง นุ่งผ้าซิ่นแบบทันสมัย หรืออย่าง ผ้าไหม หลายคนติดภาพว่าต้องรีดให้แข็ง ใส่ไปงานแต่งงาน ทั้งที่ถ้าย้อนไปต้นกำเนิดจริงๆ สาวสยามก็นุ่งผ้าไหมแบบพริ้วๆ ซึ่งเธออยากนำเสน่ห์ของผ้าซิ่น ผ้าไหม กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง

“ตอนที่สามี (เชน บุนนาค) มีงานเปิดตัวหนังสือ ที่จักรพงษ์วิลล่า เราอยากใช้โอกาสนี้สวมชุดผ้าซิ่นไทย ที่สะท้อนความเป็นปารีสเซียง เลยไปเอาคอลเลกชันผ้าซิ่นที่ซื้อเก็บไว้ มาออกแบบเป็นเดรส จำได้ว่าตอนที่ทำชุดเสร็จ ก็ไม่มั่นใจว่าจะใส่ออกงานดีมั้ย จนสามีบอกให้ลองดู ถ้าเจอคนด่าก็แค่ไม่ต้องใส่อีก (หัวเราะ) แต่ถ้ามีคนชอบ เราก็สามารถนำมาต่อยอดได้ ปรากฏว่าใส่ออกงานแล้วมีคนชม ทำให้เริ่มมั่นใจ”


หลังจากนั้น พริ้งก็เริ่มทำชุดเดรสจากผ้าซิ่นอีก 4-5 ชุด แล้วก็ให้เพื่อนๆ ช่วยฟีดแบค ค่อยๆ นำไปปรับปรุงจนออกมาเพอร์เฟกต์ กลายเป็นที่มาของ “ซิ่น-เดรส” (Sin Dress) ที่เป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ Sucette ซึ่งสอดคล้องกับความตั้งใจของแบรนด์ ที่อยากจะทำชุดที่เป็นไอคอนิกของตัวเอง อารมณ์เหมือนเวลาพูดถึง โกโก ชาแนล (Coco Chanel) ก็จะนึกถึง Little Black Dress ชุดเดรสสั้นสีดำ หรือ ไดแอน วอน เฟิร์สเทนเบิร์ก (Diane von Furstenberg-DVF) ที่ผ่านไปนานแค่ไหนก็ยังขายดี

อย่างไรก็ตาม กว่าจะตกผลึกเป็น ซิ่น-เดรส ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะพริ้งเริ่มต้นแบรนด์แบบฉายเดี่ยว ไม่ได้มีทีมงานมาเป็นกองหนุน ดังนั้น เธอคิดแล้วว่า ถ้าจะออกแบบคอลเลกชันละ 40-50 ดีไซน์ น่าจะเกินกำลัง บวกกับก็อยากทำแบรนด์ที่เน้นไปในด้านความยั่งยืน Slow Fashion จึงต้องพัฒนาสินค้าที่มีความยูนีค ไม่เน้นปริมาณ แต่มีเอกลักษณ์

“แบรนด์แฟชั่นส่วนใหญ่ เขาอยากจะดีไซน์อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลาอยู่แล้ว แทนที่เราจะไปสู้ให้เหนื่อย ทำไมเราไม่เอาของโบราณที่มีอยู่แล้ว อย่าง ผ้าไหม ผ้าซิ่นไทย ที่มีคุณภาพ แถมยังช่วยสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน มาต่อยอดให้คนไทยภูมิใจและทั่วโลกเห็นคุณค่ามากขึ้น เพราะหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ผ้าซิ่นหรือผ้าไหมไทยไม่เป็นไอคอนิก ที่คนทั้งโลกใส่และคนไทยเองก็ไม่มีใครนุ่ง คือใส่ยาก และบางคนก็ติดภาพลักษณ์ว่าใส่แล้วดูป้า เราเลยตั้งใจที่จะเติมความร่วมสมัยเข้าไป”

พริ้งยังบอกด้วยว่า ช่วงเริ่มต้น เธออาศัยทดลองไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น การนำความรู้จากการพิมพ์ผ้าจากใบไม้ ที่ไปเรียนช่วงโควิดมาใช้ หรืออย่างการนำทองเหลืองเข้ามาเพิ่มกิมมิคให้ชุด ก็เกิดจากการทำงานกับช่างทองเหลือง ซึ่งเหลือน้อยลงทุกที มาช่วยกันดีไซน์ ส่วนดีไซน์ ช่วงแรกก็เริ่มจากเดรสสั้นก่อน จนตอนหลังมาทำเวอร์ชันยาว เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่อยากหาชุดออกงาน โดยลูกค้ากลุ่มแรกคือเพื่อนๆ ก่อนจะขยายวงกว้างจากการบอกต่อปากต่อปาก จนตอนนี้ขยายฐานไปสู่ลูกค้าไทยและต่างชาติที่ชื่นชอบความเป็นไทย”


นอกจากคอนเซ็ปต์ของแบรนด์ Sucette จะเก๋และแตกต่างแล้ว อีกจุดเด่นที่ทำให้แบรนด์มีเสน่ห์ไม่เหมือนใครคือ การฉีกกรอบแบรนด์แฟชั่นทั่วไป ที่มักเลือกเปิดช็อปในห้าง มาเลือกเปิดหน้าร้าน ในย่านเยาวราช

“ข้อดีของการเปิดในห้างคือ มีลูกค้าที่มาเดินห้างเยอะ แต่คู่แข่งก็เยอะตามไปด้วย ยิ่งคอนเซ็ปต์ของแบรนด์เรา ยังมีความนิช ต้องอาศัยการเล่าเรื่อง ไม่ใช่แบรนด์ที่เห็นแล้วตัดสินใจซื้อได้เลย การไปอยู่ในห้างอาจจะไม่ตอบโจทย์ บวกกับเราไม่ได้มองว่า Sucette เป็นแค่แบรนด์เสื้อผ้า แต่เราสร้างอยากประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าผ่านเสื้อผ้า อยากสร้างคอมมูนิตีให้ลูกค้าได้มาเห็นสินค้า มาทำกิจกรรมด้วยกัน ที่สำคัญ ใส่เสื้อผ้าของเราด้วยความรู้สึกดี สวย มั่นใจในตัวเอง แทนที่จะรู้สึกว่าไม่สวยพอ ไม่สูงพอ ไม่ผอมพอ หรืออายุมากเกินไป”


ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเดรสของแบรนด์ Sucette เลือกใช้ผ้าชิ้นเดียว และออกแบบให้เป็นฟรีไซส์ ไม่ว่าหุ่นแบบไหนก็ใส่ได้หมด โดยแต่ละคนสามารถเอาไปดีไซน์ได้เองว่า อยากใส่แบบไหน นอกจากนี้ งานทุกชิ้นยังเป็นแฮนด์เมด 100% มีการใช้เทคนิคที่หลากหลายและไม่เหมือนกัน ทำให้เดรสแต่ละตัว มีความพิเศษ เพราะมีเพียงชิ้นเดียวในโลก ที่สำคัญ พริ้งยังตั้งชื่อเรียกให้เดรสแต่ละชุดอีกด้วย

“นอกจากซิ่นเดรส เรายังมีเสื้อเชิ้ตที่ออกแบบให้เป็นยูนิเซ็กซ์ ใส่เป็นแจ็กเกต เสื้อผูก หรือเชิ้ตฮาวายก็ได้ ปัจจุบันช่องทางการขายหลักๆ คือ หน้าร้านและช่องทางออนไลน์”


กลับมาที่เหตุผลที่เลือกไม่อยู่ในห้าง แต่มาลงตัวที่ตึกแถวเก่าย่านเยาวราช พริ้งบอกว่า เพราะผูกพันกับย่านนี้เป็นทุนเดิมมาแต่เด็ก บวกกับส่วนตัวมีความหลงใหลในสถาปัตยกรรม และเรื่องราวของย่านเก่าๆ ของกรุงเทพฯ ทำให้หลายครั้งที่เห็นตึกที่ชอบถูกทุบมาสร้างคอนโดฯ จะอดรู้สึกเสียดายไม่ได้ และอยากเป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยอนุรักษ์ตึกเก่า และเชิญชวนให้ทุกคนเห็นคุณค่าของสถาปัตยกรรมเหล่านี้ ดังนั้น เมื่อมีโอกาสจึงอยากทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ เพื่อคืนกำไรให้สังคม

“ตึกที่เราเลือกมาเปิด เดิมเป็นบ้านของอาแป๊ะขายถั่วลิสง ที่ปิดกิจการมา 10-20 ปี แต่แกยังกลับมาเปิดบ้านนั่งเล่น คุยกับเพื่อนบ้าน พอเห็นว่าแกปล่อยเช่า เลยมาติดต่อขอเช่า ใช้เวลาไม่ถึงเดือน ก็ทำสัญญา ด้วยความที่ชอบอาคารเก่าอยู่แล้ว เราเลยแทบไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย พยายามคงเดิมไว้ให้มากที่สุด มีซ่อมหลังคา ทำกันสาด ปูกระเบื้องบางส่วน ขณะเดียวกัน ก็พยายามใส่ความเป็นตัวเราเข้าไป ผ่านการตกแต่ง การใช้งานศิลปะ คอนเซ็ปต์ของเราคือ ไม่ได้อยากให้ที่นี่เป็นร้านเสื้อผ้าอย่างเดียว แต่อยากให้มีบรรยากาศของอาร์ตแกลอรี เป็นสเปซที่ให้คนมาทำกิจกรรม เลยออกแบบให้สเปซมีความยืดหยุ่น ทุกอย่างโยกย้ายได้ อยากให้เป็นที่ที่มีชีวิต ซึ่งพริ้งก็อยากเชิญชวนใครที่กำลังมองหาหน้าร้าน ลองมาเดินเล่นในย่านเยาวราช อาจจะเจอตึกสวยๆ เหมาะสำหรับเปิดร้าน ที่ทำให้แบรนด์ยิ่งดูมีเอกลักษณ์”

“อย่างที่บอก Sucette เป็นมากกว่าแบรนด์เสื้อผ้า เราไม่ได้ลิมิตตัวเอง แต่ดูว่าทำอะไรจะสร้างอิมแพคได้มากที่สุด อาจจะเป็นเครื่องประดับ เหล้าไทย ขนม เพราะคอนเซ็ปต์เราคือ อยากให้โลกรู้ว่าอะไรที่เป็นของท้องถิ่นที่มีคุณค่า อย่าง น้ำหอม เราก็ใช้ส่วนผสมที่ปลูกโดยชาวไร่ชาวนาไทยมาต่อยอด ทำให้มีความร่วมสมัย เพราะเชื่อว่าวัฒนธรรมที่จะไม่มีวันตาย ต้องพัฒนาไปกับยุคสมัย”


ส่วนแบรนด์รองเท้า พริ้งบอกว่า ตอนนี้ก็ยังวางขายที่ฝรั่งเศส และรับทำเมดทูออเดอร์ ซึ่งจากผลตอบลัพธ์ที่ค่อนข้างดี ทำให้เธอมองว่ายุโรปเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจ และมีแผนว่าอยากต่อยอดธุรกิจเพิ่มเติมที่ฝรั่งเศส เพียงแต่ตอนนี้อาจจะขอโฟกัสธุรกิจที่ไทยก่อน

“เราไม่เคยกลัวหรือมองว่าใครเป็นคู่แข่ง แต่มองว่า เราจะมาสนับสนุนหรือเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้อย่างไรมากกว่า ส่วนตัวพริ้งมองว่า แทนที่จะทำแบรนด์แฟชั่นแข่งกับแบรนด์นอก เช่น ไปตัดสูท หรือทำแฟชั่น Couture โอกาสที่จะแพ้สูง สู้ทำอะไรที่ชูจุดเด่นความเป็นท้องถิ่น เอาวัตถุดิบ ฝีมือคนไทยที่ทำได้ดีมาเป็นไฮไลต์ เราชนะขาดลอย ที่สำคัญ ไม่มีใครมาแข่งเรื่องนี้กับไทยเราได้แน่นอนค่ะ” พริ้งทิ้งท้าย

Comments are closed.

Pin It