Interview

เปิดสูตรเลี้ยงลูก Gen Alpha ของ “ธีธัช & ดร.เพ็ญประภา จึงกานต์กุล”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ในฐานะผู้บริหารแห่ง JARTON “วิ่ง-ธีธัช จึงกานต์กุล” ทุ่มเทเต็ม 100 แต่พอต้องมาสวมบทคุณพ่อ เขาและภรรยา “กระตั้ว-ดร.เพ็ญประภา เกื้อชาติ” ขอทุ่มเกินร้อย เพื่อบ่มเพาะลูกชายฝาแฝด “สิงห์ส่องแสงและแสงส่องสิงห์” รวมถึงลูกสาว “พัสค์พารัตชา จึงกานต์กุล” ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคม แม้ว่าบทบาทคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่ว่ายากแล้ว การมีลูกแฝดยิ่งยากกว่า แต่ก็ไม่เกินที่จะรับไหว เพราะทั้งคู่มีแนวคิดในการเลี้ยงลูกตรงกัน พร้อมสนับสนุนซึ่งกันแล้วกัน


“เวลาส่วนใหญ่ของตั้วคือดูแลลูก ส่วนผมจะดูแลธุรกิจเป็นหลัก เราไม่ได้มองว่าลูกเป็นเด็ก แต่มองว่าเป็นผู้ใหญ่ที่ตัวเล็ก ฉะนั้น ผมจะไม่บังคับลูก แต่จะให้ออปชั่นและบอกข้อดีว่า ถ้าเลือกข้อนี้แล้วดีอย่างไร มีข้อเสียตรงไหน แรกๆ อาจมีดื้อบ้าง แต่พอเริ่มทำแล้วเห็นผล เขาจะค่อยๆ เรียนรู้ ซึ่งจะทำให้เขารู้ว่าควรหรือไม่ควรทำอะไร ไม่ว่าต่อหน้าหรือลับหลัง” วิ่งเผยถึงแนวคิดในการเลี้ยงลูก ก่อนที่ภรรยาจะเสริมว่า

“เราเลือกที่จะให้สิทธิ์ลูกเท่ากับพ่อแม่ ลูกจะไม่ได้แค่เชื่อฟังเรา แต่เราต้องรับฟังและให้เกียรติลูกเช่นกัน ถ้าเราผิดก็ขอโทษลูกได้ หรือถ้าเรื่องไหนที่ลูกแย้งด้วยเหตุผลเราก็พร้อมเปิดรับ พยายามให้อิสระ เลี้ยงเขาให้มีความสุข แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เขาต้องเจอความทุกข์ เราก็สอนให้ลูกรู้จักทุกข์ เช่น ถ้าคิดจะเลี้ยงสัตว์ ก็พร้อมรับมือกับความสูญเสีย”


นอกจากจะสอนด้วยคำพูด การให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำก็สำคัญ ทั้งคู่จึงเลือกใช้หลัก Live Work Play ในการเลี้ยงลูก เริ่มจาก Live คุณพ่อขยายความว่า จะสอนให้ลูกๆ รู้จักดูแลตัวเอง โดยเริ่มจากเรื่องเล็กๆ เช่น เมื่อกลับจากโรงเรียนก็จะให้ดูแลตัวเอง ตั้งแต่เก็บรองเท้า เปลี่ยนเสื้อผ้า ทำความสะอาดกล่องข้าวและกระติกน้ำที่ใช้ไปโรงรียน

ขณะที่ กระตั้วเสริมว่า “บ้านเรามีพี่เลี้ยงก็จริง แต่จะสอนลูกเสมอว่า พี่เลี้ยงคือคนช่วยดูแลไม่ใช่คนที่ทำให้ ดังนั้น เราจะทรีตพี่เลี้ยงเหมือนเป็นญาติ ให้รู้สึกว่าเขาช่วยดูแลเด็กๆ ไม่ใช่ใช้ให้ไปทำอันนี้หรือไปหยิบอันนี้ให้ เราอยู่ด้วยกันเหมือนครอบครัว”


ส่วน Work คือ การให้ลูกเรียนรู้ผ่านการทำงาน เช่น การติดตามพ่อแม่ไปร่วมงานของบริษัท หรือให้ทดลองหารายได้

“เวลาที่ออฟฟิศมีงาน ผมจะพาเด็กๆ ไปด้วย แต่ไม่ได้ให้ไปในฐานะลูกบอส ผมจะมอบหมายหน้าที่ให้พวกเขาเซอร์วิสทีมงาน ซึ่งเป็นด่านหน้า ด้วยการช่วยเสิร์ฟน้ำ ดูแลความเรียบร้อยต่างๆ ผมคิดว่าถ้าเราปลูกฝังความคิดแบบนี้ให้กับเด็กๆ ว่าการเป็นบอสไม่ใช่การต้องอยู่ข้างหน้า แต่อยู่ข้างหลังและซัพพอร์ตทุกคน เขาจะโตขึ้นมากับการให้เกียรติทุกคน ไม่ใช่ชี้นิ้วสั่งอย่างเดียว”


นอกจากนี้ ยังฝึกให้ลูกลองสวมบทเป็นพ่อค้าแม่ค้าตัวจิ๋ว ทดลองเอาพวงกุญแจที่สั่งมาจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์สไปเดินขาย โดยมีคุณพ่อคุณแม่ตามดูอยู่ห่างๆ แม้รายได้ที่กลับมาจะหลักร้อย แต่ทำให้เด็กๆ ภูมิใจและเรียนรู้ว่ากว่าจะได้เงินมาต้องทุ่มเทและลงแรงแค่ไหน

มาถึง Play หรือ การเล่น คุณพ่อวิ่งเล่าว่า ที่บ้านไม่ค่อยมีคำว่า “ไม่” หรือ “อย่า” กับลูก แต่จะปล่อยให้เด็กๆ ได้ทดลองทุกอย่าง เชื่อว่าการให้อิสระในการเล่นทำให้เด็กแข็งแรง ทั้ง EQ และ IQ เพราะได้เรียนรู้ด้วยตัวเองแบบไม่มีกรอบจำกัด ต่อไปเมื่อไปอยู่ในสังคมเขาจะรู้ว่าเขาเรียนรู้อะไร ทำอะไร ได้ผลอย่างไร


ส่วนคุณแม่กระตั้วมองว่า อีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการเลี้ยงลูกคือ การเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก พร้อมจะเข้าใจและเรียนรู้จากลูก

“สำหรับครอบครัวเรา เวลาลูกพูดอะไรจะไม่มีคำว่าไร้สาระ พร้อมรับฟังทุกอย่าง แม้วันนั้นเราจะมีภารกิจมากมายหรือไม่ว่าง อย่างน้อยก็ต้องขานรับว่า แม่ขอทำอันนี้ก่อนนะ เสร็จแล้วมาคุยกัน และเราก็ต้องทำแบบนั้นจริงๆ เพราะเราต้องสร้างความเป็นเพื่อน ความเชื่อใจให้ลูก”


ทั้งคู่ยอมรับว่า แนวทางการเลี้ยงลูกแบบฉบับครอบครัวจึงกานต์กุล ไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จ หรือถูกต้องทั้งหมด แต่หลังจากได้เห็นพัฒนาการของลูกในทางที่ดีขึ้น ทำให้คิดว่ามาถูกทาง แต่ต้องไม่ลืมว่า เด็กแต่ละคนต่างกันแม้แต่ลูกแฝด

“แสงจะแออกแนวสุขุมชอบใช้เหตุผล ส่วนสิงห์จะเป็นแนวขี้แกล้ง อาร์ติสต์ ครีเอทีฟ ต่อให้อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน เขาก็จะ React ต่างกัน เช่น ถ้าเราเอาดอกไม้ไปให้กำลังใจทั้งคู่เวลามีงานแสดงที่โรงเรียน สิงห์จะนำไปโชว์คนอื่น ขณะที่ แสงไม่ชอบเป็นจุดเด่น เขาจะบอกให้เอาไปให้ที่บ้าน ไม่อยากให้คนเห็นว่าเขามีดอกไม้ที่คนอื่นไม่มี” วิ่งชี้ให้เห็นความแตกต่างของลูกแฝด ขณะที่ ตั้วเสริมว่า

“เราไม่ได้คาดหวังว่าเขาต้องเรียนเก่ง จบแล้วต้องมาดูแลธุรกิจ แต่อยากให้ดูแลตัวเองได้แบบที่เขาเป็น พึ่งพาตัวเองได้ มีความคิดเป็นของตัวเอง มีจิตใจที่แข็งแกร่ง จากการที่เราให้ความรักเขาอย่างเต็มที่ เราพยายามเลี้ยงลูกให้ลำบากได้ สบายเป็น ไม่สปอยล์ อย่าง ขนมหวานก็ไม่ให้กินทุกวัน ให้กินเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ หรือ อย่างของเล่น เขาต้องได้มาอย่างมีเหตุผล ที่สำคัญ เราพยายามปลูกฝังทัศนคติเชิงบวกให้ลูก”


ปัจจุบัน วิ่งเป็นซีอีโอของ JARTON ทำธุรกิจระบบนวัตกรรมความปลอดภัย สำหรับบ้านและอาคารครบวงจร และช่วยภรรยาดูแลมูลนิธิชีวิต Life Elevated Foundationขณะที่ กระตั้ว หลังจากลูกเริ่มโตก็เข้ามาช่วยงานสามี ทำหน้าที่เป็น Chief Happiness Officer (CHO) ดูแลวัสดิภาพความสุขของทีมงาน ทั้งรายบุคคล และภาพรวม

ส่วนไลฟ์สไตล์ในวันว่างของทั้งคู่แทบจะเป็นศูนย์ “ต้องอาศัยช่วงที่ลูกหลับ หรือ ช่วงเช้า ที่สามีไปออกกำลังกายก็ตามไปด้วย จะได้มีเวลาอัปเดตกัน ตั้วคิดว่า สิ่งที่สำคัญในชีวิตคู่คือ ต้องสื่อสารกันให้มากที่สุด ต่อให้ยุ่งหรือเวลาไม่ตรงกัน อย่าหายไปจากชีวิตของกันและกัน จนกลายเป็นความเคยชิน ที่สำคัญ คือต้องไม่มีความลับต่อกัน ถ้ามีปัญหาหรือไม่สบายใจก็ต้องแชร์กัน”


วิ่งกล่าวเสริมว่า “ชีวิตคนเราไม่ได้มีมิติเดียว เรามีลูก ภรรยา พ่อแม่ ทีมงาน เพื่อน และกิจกรรมสาธารณประโยชน์ที่ต้องทำ หน้าที่ของเราคือ ต้องพยายามบาลานซ์ทุกมิติให้ลงตัว เพื่อจะได้มีชีวิตที่สมดุล”

Comments are closed.

Pin It