Travel

ดื่มด่ำเทศกาลฉลองสีสันทางวัฒนธรรมที่ฮ่องกง

Pinterest LinkedIn Tumblr


>> “ฮ่องกง” มหานครที่ไม่เคยหลับใหลที่ตอบทุกโจทย์ความต้องการของผู้มาเยือน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งชอปปิ้งสุดหรูระดับโลกไปจนถึงร้านค้าเก๋ๆ มีสไตล์ที่ตั้งอยู่ข้างทาง อาหารคาวหวานรสชาติโอชะ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและสถาปัตยกรรมยุคอาณานิคม ศิลปะร่วมสมัย หรือวัฒนธรรมประเพณีที่มีเอกลักษณ์และสืบทอดยาวนานมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ

ในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมของแต่ละปี คือช่วงเวลาที่เหมาะอย่างยิ่งในการเข้ามาสัมผัส เรียนรู้ รวมทั้งร่วมฉลองสีสันทางวัฒนธรรมของฮ่องกงมากที่สุด เพราะจะมีเทศกาลสำคัญเกิดขึ้นถึง 3 งาน เริ่มจากเทศกาลซาลาเปาบนเกาะเฉิ่งเจ้า (Cheung Chau Bun Festival) วันฉลองวันคล้ายวันประสูติของพระพุทธเจ้า (Buddha’s Birthday) และ เทศกาลฉลองวันเกิดเทพทัมกุง (Birthday of Tam Kung) เทศกาลทั้งหมดนี้พร้อมการันตีประสบการณ์การฉลองเชิงวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ที่นักท่องเที่ยวจะได้ซึมซับเรื่องราวระดับตำนานในอดีตที่บอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่นจนกลายเป็นวัฒนธรรมอันมีชีวิตสืบต่อมาจนปัจจุบัน
ซาลาเปา กับการแข่งขันสุดเร้าใจ
:: เทศกาลซาลาเปาบนเกาะเฉิ่งเจ้า (7-11 พฤษภาคม 2554)

ใครจะคิดว่าอาหารที่เรารู้จักกันดีอย่างซาลาเปาลูกกลมๆ จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานเทศกาลที่ดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวได้ทั่วโลกอย่างเทศกาลซาลาเปาบนเกาะเฉิ่งเจ้าได้ เทศกาลที่แปลกและไม่เหมือนใครนี้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีไฮไลต์เด็ดเป็นการจัดแข่งขันเก็บซาลาเปาบนเสาไม้ไผ่ความสูงกว่า 14 เมตร ความตื่นเต้นจึงอยู่ที่ การแย่งกันปีนป่ายขึ้นไปบนจุดสูงสุดเพื่อโกยซาลาเปาที่มีคะแนนมากที่สุดเก็บใส่ในกระเป๋าให้ได้ภายในเวลา 3 นาที

ถึงแม้การแข่งขันจะจัดในเวลาเพียงไม่กี่นาที แต่ก็ทำให้ผู้ชมลุ้นและคอยส่งเสียงเชียร์อย่างกึกก้องเพื่อเป็นกำลังใจให้เหล่าผู้กล้าท้าความสูงทั้งหมด คนที่เข้าแข่งขันส่วนมากก็เป็นชาวบ้านบนเกาะเฉิ่งเจ้านี้เองที่เชื่อกันว่า “ซาลาเปา” คือสัญลักษณ์แห่งความโชคดีและสุขภาพที่แข็งแรง ชาวบ้านจึงมักให้คนในครอบครัวเข้าร่วมการแข่งขันเพื่อความเป็นสิริมงคล ให้เหล่าเทพตัวน้อยช่วยคุ้มครอง

นอกจากนี้ ในวันที่มีการจัดเทศกาลซาลาเปา ยังมีการแห่ขบวนพาเหรดของเหล่า เทพเด็ก (Piu Sik) อีกด้วย โดยมีตำนานเล่าขานว่า สมัยก่อนโรคระบาดได้คร่าชีวิตผู้คนบนเกาะเฉิ่งเจ้าเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงมักแก้เคล็ดด้วยการแต่งตัวเลียนแบบเทวดาและเทพธิดาเพื่อข่มขวัญและขับไล่เหล่าวิญญาณชั่วร้ายให้ออกจากเกาะไป จึงเป็นที่มาของการให้เด็กเล็กแต่งตัวเลียนแบบเทพเจ้าองค์ต่างๆ โดยให้ยืนนิ่งๆบนแท่นสูงแล้วแห่ไปรอบเมือง เพื่อให้มองดูราวกับว่าลอยอยู่บนอากาศเหมือนเทพจริงๆ
 ชาวพุทธรวมใจสรงน้ำพระใหญ่
:: วันฉลองวันคล้ายวันประสูติของพระพุทธเจ้า (10 พฤษภาคม 2554)

หลังจากสนุกสนานและตื่นเต้นไปกับการฉลองสีสันทางวัฒนธรรมอย่างเต็มอิ่มแล้ว ก็ได้เวลาเปลี่ยนบรรยากาศมาสัมผัสอีกแง่มุมหนึ่งทางศาสนาพุทธกันบ้าง ช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ ชาวฮ่องกงจะฉลองวันคล้ายวันประสูติของพระพุทธเจ้าด้วยการทำพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป โดยเฉพาะ อารามวัดโป๋หลิน บนเกาะลันเตา ที่นับว่าเป็นแหล่งรวมนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเพื่อรับชมการสรงน้ำพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นภาพที่หาดูได้เพียงปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น

ในขณะเดียวกัน ในช่วงนี้ชาวจีนยังมีธรรมเนียมการรับประทาน คุกกี้สีเขียว ที่มีรสขมอีกด้วย เพราะเชื่อกันว่า ถ้าทานอาหารรสชาติขมเหล่านี้ได้แล้ว จะทำให้เกิดสิ่งดีๆขึ้นในชีวิตตามมาภายหลัง อีกหนึ่งการแสดงที่รับชมได้ไม่บ่อยนักในปัจจุบัน แต่จะนำมาโชว์ในช่วงเทศกาลนี้โดยเฉพาะ นั่นคือ ศิลปะการต่อสู้โดยเหล่าพระสงฆ์จากวัดเส้าหลินและการแสดงเปลี่ยนหน้ากากที่รับรองว่าจะทำให้ผู้ชมทึ่งตั้งแต่ต้นจนจบการแสดง
บูชาเทพเจ้าแห่งท้องทะเล
:: เทศกาลฉลองวันเกิดเทพทัมกุง (10 พฤษภาคม 2554)

เทพเจ้าแห่งท้องทะเลอีกหนึ่งองค์ที่ชาวประมงนิยมมาสักการะและขอพรก่อนออกหาปลา คือ เทพทัมกุง ตามตำนานเล่าว่า ทัมกุง คือเด็กชายที่เกิดในสมัยราชวงศ์หยวน มีความสามารถพิเศษในการพยากรณ์อากาศและรักษาอาการเจ็บป่วยของชาวบ้านได้ตั้งแต่อายุเพียง 12 ปีเท่านั้น เชื่อกันว่า ทัมกุงบรรลุปรัชญาและองค์ความรู้ต่างๆตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อเขาเสียชีวิตจึงมีการสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงเทพองค์นี้ ทุกๆปี เมื่อถึงวันครบรอบวันเกิด ชาวบ้านจะฉลองโดยการเชิดสิงโตอย่างสนุกสนานและเข้าวัดทำบุญ ตอบแทนที่ท่านช่วยคุ้มครองให้ชาวบ้านสามารถทำมาหากินได้อย่างปกติสุข

สัมผัสมนต์เสน่ห์แห่งวัฒนธรรมที่ไม่เคยจางหายในฮ่องกง ได้ตั้งแต่วันที่ 7-11 พฤษภาคม ศกนี้ หรือศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมพร้อมรับข้อมูลอัพเดตก่อนใครได้ที่ www.DiscoverHongKong.com :: Text by FLASH mag.
 

 
>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net

Comments are closed.

Pin It