Travel

ขุมทรัพย์แห่งประวัติศาสตร์! พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน “ลุงจ่าทวี” กับแรงปรารถนาอันแรงกล้าสู่รากเหง้า

Pinterest LinkedIn Tumblr


สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ร่วมกับ จังหวัดพิษณุโลก, เทศบาลนครพิษณุโลก, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานพิษณุโลก จัดพิธีลงนามความร่วมมือและแถลงข่าวการเปิดตัวพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี จ.พิษณุโลก ในรูปแบบ Discovery Museum พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ต้นแบบแห่งแรกในจังหวัดพิษณุโลก ที่พร้อมเปิดให้ประชาชนและเยาวชนได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ของการชมพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้รูปแบบใหม่ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

“ความเป็นคนไทยต่อไปจะไม่มีอะไรเหลือ หากเรายังไม่รู้จักรากเหง้าและธาตุแท้ของตนเอง” ลุงจ่าทวี – จ่าสิบเอก ดร. ทวี-พิมพ์ บูรณเขตต์ กล่าวประโยคนี้มาตลอดทั้งชีวิตกว่า 80 ปี กับแรงปรารถนาอันแรงกล้า ก่อตั้ง “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี” แห่งนี้ขึ้น เพื่อเก็บอดีตให้อนุชนรุ่นหลังได้เห็น และศึกษาต่อไป


ลุงจ่าทวีจึงได้ทำหน้าที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ที่แสดงวิถีพื้นบ้านของชาวเมืองพิษณุโลก และภาคเหนือตอนล่าง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรสาน กระต่ายขูดมะพร้าว เครื่องมือจับปลา เครื่องดักสัตว์ ตะเกียง เครื่องปั้นดินเผานับหมื่นๆ ชิ้น มาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวีแห่งนี้ หรืออีกนัยหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี” แห่งนี้ คือขุมทรัพย์ทางประวัติศาสตร์ และภูมิปัญญาไทย ที่เก็บรวบรวมวิถีชาวบ้านที่นับวันจะหาดูได้ยากในปัจจุบันมากที่สุดอีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย

ผลงานสำคัญหลายชิ้น ได้แก่ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ กองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดพิษณุโลก พระพุทธชินราชจำลอง วัดพุทธบูชา กรุงเทพฯ ปี 2526 ได้รับยกย่องเป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาการช่างฝีมือ แขนงช่างหล่อ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยศิลปากร

รวมทั้งการประกาศเกียรติคุณเป็นคนดีศรีพิษณุโลก และสืบเนื่องจากด้วยความรักในศิลปะ และเห็นคุณค่าในของเก่า ในปีเดียวกันนี้เองงานสะสมของเก่าทั้งหมดกว่า 30 ปีที่ลุงจ่าซื้อหาและรวบรวมของใช้พื้นบ้านที่คนทั่วไปมองว่าเป็นของรกของทิ้ง ไม่มีราคาเช่น สุ่ม ไห ไซ โอ่ง ในเขตภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพิษณุโลก ของบางอย่างลุงจ่าต้องดั้นด้นเข้าไปหาเองในป่า ไม่มีราคาค่างวด แต่มีคุณค่า ซึ่งผู้ชมจะได้เรียนรู้ชีวิต ความเชื่อ ความคิดของคนในอดีตจากข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้ จึงถูกนำมาถ่ายทอด กลายสภาพจากงานอดิเรกเป็นงานแห่งชีวิตจนถึงปัจจุบัน คือ การเปิดพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ที่ชื่อว่า พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี (จ่าสิบเอก ดร.ทวี-พิมพ์ บูรณเขตต์) จังหวัด พิษณุโลก นั่นเอง ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยประเภทหน่วยงานส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว เมื่อปี 2541

และในปีนี้ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) หน่วยงานเฉพาะด้านภายใต้สำนักงานบริหาร และพัฒนาองค์ความรู้องค์การมหาชน มีมติเห็นชอบให้สนับสนุนพัฒนาพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ทรงคุณค่าด้านการเก็บรวบรวมของใช้พื้นบ้านที่สื่อให้เห็นถึงวิถีชีวิตพื้นบ้านของชนชาวไทยได้เป็นอย่างดี แต่อีกหลายคนยังไม่รู้จักพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เลย ให้เป็นที่รู้จักและเป็นตัวอย่างในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ อย่างเป็นระบบและมีมาตรฐานการจัดการในระดับสากล และเพื่อการคงอยู่อย่างยั่งยืนของแหล่งเรียนรู้ ภายใต้คอนเซ็ปต์งานในครั้งนี้ว่า “ความจริง ความฝัน พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านในอนาคต”

เพื่อถ่ายทอดให้เห็นความจริงของแก่นแท้ รากเหง้าของความเป็นไทย พร้อมด้วยความฝัน หรืออนาคตที่สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ต้องการพัฒนา สนับสนุนให้พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี คือแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ (Discovery Museum) จะเป็นฐานในการศึกษาเพื่อ พัฒนาพิพิธภัณฑ์มีชีวิต (Living Museum) ที่บรรจุด้วยองค์ความรู้ และเป็นต้นแบบของการสร้างสรรค์ แหล่งเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสร้างเครือข่ายของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ในภูมิภาค และยังมี ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ และแหล่งเรียนรู้ประเภทอื่นๆ ที่มีอยู่ ทั้งภายในบริเวณจังหวัดและที่อยู่ใกล้เคียงในภูมิภาค

นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ กล่าวว่า ภารกิจสำคัญของ สพร. คือ การขยายผลการจัดองค์ความรู้ในรูปแบบ Discovery Museum ที่ได้จัดทำต้นแบบแห่งแรกที่มิวเซียมสยาม ไปยังพิพิธภัณฑ์และแหล่งการเรียนรู้อื่นๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี และ หน่วยงานในจังหวัดพิษณุโลก ให้นำวิธีคิด และ การจัดพิพิธภัณฑ์แบบ Discovery Museum มาพัฒนาโดยยังคงตระหนักถึงความสำคัญของเนื้อหาและวัตถุจัดแสดงอันทรงคุณค่าเดิมไว้ทั้งหมด ผ่าน 4 วิธีการหลัก ดังนี้

ด้านกายภาพ สพร. ใช้หลักการของ universal design เช่น การออกแบบให้คนพิการสามารถเข้าถึงพิพิธภัณฑ์ได้ การออกแบบลำดับประสบการณ์การชมโดยเพิ่มพื้นที่ orientation หรือการแสดงแนวคิดหลักของพิพิธภัณฑ์เพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้ชมก่อนเข้าชมนิทรรศการ


ด้านนิทรรศกา ปรับรูปแบบการเรียนรู้ให้เป็นแบบ discovery museum เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นหลัก ผ่านเทคนิคการเล่าเรื่องแบบ story telling ผ่านเทคโนโลยี และ การมีส่วนร่วมของผู้ชมในการเข้าถึงข้อมูลด้วยตนเอง เช่น เกม หรือ อุปกรณ์ต่างๆที่ต้องดึง ผลัก ชักโยกด้วยตนเอง


ด้านการประชาสัมพันธ์ เน้นการสร้างให้พิพิธภัณฑ์จ่าทวีมีความโดดเด่นสะดุดตา และง่ายต่อการเข้าถึง เพื่อเป็นการเชิญชวนให้มีผู้สนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์มากขึ้น


ด้านความยั่งยืน ของการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ โดยการสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ และ คนในพื้นที่ เพราะพิพิธภัณฑ์ที่ดีจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และขับเคลื่อนโดยคนในชุมชนเอง


นอกจากนี้ สพร. ได้นำการจัดองค์ความรู้ในรูปแบบ Discovery Museum มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ พิพิธภัณฑ์สวนสัตว์แมลงสยาม จังหวัดเชียงใหม่, พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว จังหวัดภูเก็ต, พิพิธภัณฑ์เมืองโบราณซับจำปา จังหวัดลพบุรี และล่าสุดพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี จังหวัดพิษณุโลก


ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2557 ณ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี จังหวัดพิษณุโลก จึงจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการร่วมสนับสนุนโครงการพัฒนาพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ในภูมิภาค พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี เพื่อการบริหารจัดการองค์ความรู้อย่างยั่งยืน ในรูปของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ (Discovery Museum) ระหว่าง 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ,จังหวัดพิษณุโลก, เทศบาลนครพิษณุโลก, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดพิษณุโลก และพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี ภายใต้หัวข้อ “ความจริง ความฝัน พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านในอนาคต”

พร้อมกับกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน อาทิ เดินกะลา, ตีกงล้อ, ตะแล๊ปแก๊ป และการแสดงมังคละ ฟังเพลงและเรื่องเล่าการเดินทาง จาก คุณศุ บุญเลี้ยง ปิดท้ายงานด้วยเวทีเสวนาในหัวข้อ “ความจริง ความฝัน พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านในอนาคต” โดย จ่าสิบเอก ดร.ทวี บูรณเขตต์, คุณมณีรัตน์ แก้วศรี ตัวแทนพิพิธภัณฑ์จันเสน, คุณปรามินทร์ เครือทอง นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และที่ปรึกษาสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ดำเนินรายการเสวนาโดย คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์และที่ปรึกษาสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ

นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี จังหวัดพิษณุโลก ได้เปิดให้ประชาชนชาวไทยเข้าชมฟรี ในโอกาสการเปิดตัวพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบ Discovery Museum โดยสามารถเข้าชมฟรีได้ทุกวันจันทร์ และวันอังคาร ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2557 ถึง วันที่ 15 เมษายน 2558

ทั้งนี้ ภายใน พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี จังหวัดพิษณุโลก แบ่งการจัดแสดงเป็น 5 อาคาร ได้แก่


อาคารที่ 1 สำนักงานและร้านขายของที่ระลึก และปลาท้องถิ่นที่หาดูได้ยาก จากแม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำยมและแม่น้ำวังทอง

อาคารที่ 2 บ้านไม้ที่สร้างสมัยปี พศ. 2498 ภายในจัดแสดงภาพที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเมืองพิษณุโลก รูปเหตุการณ์ก่อนและหลังไฟไหม้เมืองพิษณุโลกครั้งใหญ่ ปี 2500

อาคารที่ 3 จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้าน อาทิ ผ้าไหม กระต่ายขูดมะพร้าว หม้อ ไห จาน ชาม ที่ดักจับปลา ที่ดักนก ซึ่งเป็นเครื่องมือทำมาหากินของชาวบ้านในอดีต ตั้งแต่ชิ้นเล็กๆ จนถึงชิ้นใหญ่ และวิถีชีวิตประชาชนในเขตภาคเหนือตอนล่าง จำลองบ้านเรือน ส่วนต่างๆ ในสมัยอดีต อาทิ ครัวไฟ (ห้องครัว) พาไล (พื้นที่ใช้สอยสารพัด) เรือนอยู่ไฟหลังคลอดบุตร พีธีกรรมทางศาสนาในสมัยอดีต เป็นต้น

อาคารที่ 4 แสดงนิทรรศการด้วยรูปภาพ และสิ่งของคนลาวโซ่ง (ไทยทรงดำ) ที่ถูกกวาดต้อนมาที่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ตังแต่สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช

อาคารที่ 5 จัดแสดงเกียรติประวัติ ของจ่าสิบเอก ดร.ทวี-พิมพ์ บูรณเขตต์ และห้องเทิดพระเกียรติราชวงศ์ พร้อมทั้งเป็นพื้นที่การแนะนำสถานที่

*พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30 -16.30 น. โทร 055-212749


โดยเก็บค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 20 บาท










Comments are closed.

Pin It