Lifestyle

Forbes Thailand ดึง 3 ราชินีห้างหรูไทยขึ้นปก เผยเบื้องหลังอภิมหาโปรเจกต์ระดับชาติ

Pinterest LinkedIn Tumblr


>>ถ้าเอ่ยถึงศูนย์การค้าแถวหน้าของประเทศไทย ไม่พ้นต้องนึกถึง เซ็นทรัล, เดอะมอลล์ และสยามเซ็นเตอร์ ที่ ณ วันนี้แต่ละค่ายต่างสยายปีกแตกกิ่งก้านสาขา จนยกระดับประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางค้าปลีกระดับโลก เบื้องหลังจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่ผลักดันปรากฎการณ์ระดับชาตินี้ ต้องยกเครดิตให้กับ 3 ดอกไม้เหล็กอย่าง ศุภลักษณ์ อัมพุช ราชินีแห่งเครือ The Mall Group, ยุวดี จิราธิวัฒน์ ทัพหน้าแห่ง Central Department Store Group (CDG) และ ชฎาทิพ จูตระกูล หญิงเหล็กแห่งสยามพิวรรธน์ ซึ่งถือเป็นโอกาสหาได้ยากที่ทั้ง 3 ท่านจะโคจรมาพบกัน

แต่ไม่ใช่สำหรับนิตยสารชั้นนำระดับโลกอย่าง Forbes Thailand (ฟอร์บส ไทยแลนด์) ที่ล่าสุดเชื้อเชิญบุคคลผู้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่แห่งวงการค้าปลีกทั้ง 3 ท่าน มาจับเข่าคุยชนิดเจาะลึก ตั้งแต่ย้อนรอยเส้นทางค้าปลีกไทยกว่า 70 ปี ตีแผ่เรื่องราวทุกรายละเอียด ผ่านบทสัมภาษณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟที่หาอ่านได้ยาก ใน Forbes Thailand ฉบับมีนาคมนี้

นายนพพร วงศ์อนันต์ บรรณาธิการบริหาร Forbes Thailand เผยว่า จากจำนวนพื้นที่ค้าปลีกที่จะเพิ่มขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า ทำให้เกิดคำถามว่าห้างจะท่วมไทยหรือไม่ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้ทีมงานหยิบยกประเด็นนี้มานำเสนอ ผ่านบทสัมภาษณ์ 3 ราชินีห้างหรูแถวหน้าของประเทศ ด้วยคอนเซ็ปต์ “Queens of Retail” รวมถึงสกู๊ปพิเศษที่จะย้อนรอยเส้นทางค้าปลีกของไทยกว่า 70 ปี ตลอดจนการรวบรวมบทวิเคราะห์แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจศูนย์การค้าจากกูรู-นักวิเคราะห์หลากสำนัก

“ที่ Forbes Thailand เราคิดอยู่ตลอดเวลาว่า จะทำอย่างไรให้เรื่องเด่นประจำฉบับของเรา ถูกใจผู้อ่านให้มากที่สุด ในฉบับเดือนมีนาคม 2558 เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี มาผูกกับข่าวคราวการเปิดตัวของห้างค้าปลีกต่างๆ ในรอบปีที่ผ่านมา แล้วทำในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้าทำ คือ หาผู้หญิงที่เป็นผู้นำของวงการค้าปลีกมาขึ้นปกพร้อมๆ กัน ด้วยภารกิจที่รัดตัวของ “ราชินี” ทั้งสาม ทำให้เราไม่สามารถนำสตรีทั้งสามมาถ่ายรูปปกพร้อมกันได้ แต่ทั้งสามท่านยินยอมให้เรานำภาพมาไว้บนปกเดียวกัน และยอมปรากฏตัวให้สัมภาษณ์ในเล่มเดียวกัน นอกจากชื่อเสียงระดับโลกของ Forbes และ ผลงานที่ผ่านมาของ Forbes Thailand ที่สร้างการยอมรับจากแหล่งข่าวแล้ว เราเลือกกาละและเทศะที่เหมาะสม ในการเชื้อเชิญและชักชวนหญิงเก่งทั้งสามมาให้สัมภาษณ์สำหรับฉบับเดือนมีนาคม เราคุมโทนสี และอารมณ์ของปกให้ออกมาขรึม สง่า เราแจ้งรายละเอียดการถ่ายรูป และเนื้อหาการสัมภาษณ์ กับทีมงานของแต่ละ “ราชินี” เพื่อให้ทุกคนได้สะท้อนตัวตนของแต่ละคนอย่างเต็มที่ งานที่ออกมา คือ ความสำเร็จที่ทุกคนในกองบรรณาธิการภูมิใจ”
ศุภลักษณ์ อัมพุช
สำหรับบทสนทนาระหว่างการสัมภาษณ์ราชินีเหล็กทั้ง 3 จะเผยให้เห็นเคล็ดลับที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของอภิมหาโปรเจกต์ที่กำลังกุมบังเหียนอยู่ขนาดไหน รวมถึงกำลังรบเต็มอัตราศึกพร้อมลงสู้ในสมรภูมิค้าปลีกโลก ไปจนถึงแง้มประเด็นการส่งไม้ต่อให้กับคลื่นลูกใหม่อย่างไร เราได้ตัดตอนส่วนหนึ่งมาให้อ่านเป็นการอุ่นเครื่อง

เริ่มที่ คุณศุภลักษณ์ อัมพุช ผู้ก่อตั้งสยามพารากอนให้เป็น “โครงการแห่งความภาคภูมิใจของคนไทย” หลังออกท่องสมรภูมิค้าปลีกเมืองไทยเมื่อ 3 ทศวรรษก่อน โดยมีคุณพ่อชี้ช่องขยายธุรกิจต่อกรกับคู่ต่อสู้ยักษ์ใหญ่จากทั้งในและต่างประเทศ ถึงวันนี้เธอคือฉลามผู้ปราดเปรียวแห่งทะเลเลือดพร้อมชนปลายักษ์ในทุกน่านน้ำ กับการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยริเริ่ม ดิ เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์ และดิ เอ็มสเฟียร์ พร้อมตั้งหลักชัยต่อไป คือ เพิ่มยอด The Mall Group อีกเท่าตัวเป็น 1 แสนล้านบาท ในอีก 8 ปี

“โครงการที่แอ๊วทำขึ้นมา แอ๊วไม่หาพลอย เราหาแต่เพชร ก็คือ โลเกชั่นต้องเป็นเพชร พอเราได้ที่ที่เป็นเพชรแล้ว เราทำโครงการให้ดี มันก็ชนะได้ ไม่ waste…เราไม่สามารถเจ็บตัวได้ เพราะเราไม่ได้มีโครงการเยอะ…เราเอาแข็งแรง ค้าขายกับเราแล้วทุกโปรเจกต์กำไร เราเอา win นี้ก็คือสนามรบที่เราขอ win”

ทั้งนี้หนึ่งในผู้มีอิทธิพลทางความคิดของหญิงแกร่งผู้นี้ ก็คือคุณพ่อ (ศุภชัย) ที่ถ่ายทอดทั้งปรัชญาชีวิตธุรกิจ และคำสอนที่ยังเตือนใจจนถึงทุกวันนี้คือ ให้ “คิดต่าง” หรือ “เสียนิดหน่อยได้ ไม่เป็นไร แต่ไม่เอาเปรียบคนอื่น” รวมถึงภาษิตที่เขาย้ำเสมอ คือ “เส้นผมบังภูเขา” สอนให้คิด “นำหน้า” คู่แข่ง มิฉะนั้นจะเป็นผู้ตามอยู่เรื่อยไป คุณศุภลักษณ์ยอมรับว่า ที่ผ่านมากลุ่มเดอะมอลล์ทำงานเป็นระบบครอบครัว มีสมาชิกของตระกูลอัมพุชบริหารงานในตำแหน่งหลัก ในเวลาเดียวกันก็มีผู้บริหารมืออาชีพเข้าร่วมงาน แต่การไปถึงเป้าหมายย่อมต้องอาศัยทีมงานมืออาชีพรุ่นใหม่เข้ามามากขึ้น ซึ่งสำหรับเธอมองว่า มืออาชีพรุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องมาจากนามสกุลอัมพุช จะเป็นใครก็ได้ถ้าคนนั้นเก่งและมีความสามารถจริงๆ เธอพูดอย่างติดตลกว่า พนักงานบริษัทจะมีนามสกุล “ณ เดอะมอลล์” ไม่ใช่ “ณ อัมพุช” แต่ก็ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายจะหาใครมาช่วยงานบริหารที่มีปรัชญาธุรกิจเหมือนกัน

“successor เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ทุกวันนี้หลายๆ คนที่อยู่ในหุ้นกับเราเนี่ย จะคิดว่า ถ้าไม่มีฉันอะไรจะเกิดขึ้น successor ที่จะมาแทนเราคนเดียวเนี่ย ยังหาไม่ได้ เป็นไปได้อาจจะต้อง 3 คน มาเป็นเรา…แอ๊วคิดว่าต้องการสักประมาณ 20 คนนะคะที่จะมา fill และคนที่จะมาเป็น advisor มีประมาณ 20 คน แต่ไม่เคยคิดว่าชีวิตตัวเองต้องเกษียณ แต่ว่าเราคงไม่ต้องมาเป็น leader เอง ทำงานน้อยลง ใช้สมองเป็น ดูแลตัวเองมากกว่า”
ยุวดี จิราธิวัฒน์
ด้าน ยุวดี จิราธิวัฒน์ หญิงเก่งทายาทรุ่นที่ 3 แห่ง “จิราธิวัฒน์” สานต่อตำนานความยิ่งใหญ่ของเซ็นทรัล เดินหน้ารุกสมรภูมิค้าปลีกแบบไม่หวั่น สร้างเครือข่ายขยายสาขาทั้งในประเทศบ้านเกิด อาเซียน และยุโรป ตั้งเป้ายอดขาย 5 ปีข้างหน้า เติบโตกว่า 60% จากปัจจุบันที่ 9 หมื่นล้านบาท ควบคู่ภารกิจสร้างห้างให้เป็นประสบการณ์ความสุขของทุกคน

“เราไม่ได้เป็นแค่สถานที่ขายของ แต่เราเป็นสถานที่ที่ผู้คนมาใช้ชีวิตประจำวัน เป็นที่ที่สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ห้างเซ็นทรัลเป็นเหมือนบ้านหลังที่ 2 ของลูกค้าของเรา ซึ่งความสำเร็จจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าขาดทีมงานที่ดี การสนับสนุนที่ดีจากลูกค้า คู่ค้า เรามีความเชื่อมั่นการทำงานร่วมกันเป็นทีม จนทำให้เซ็นทรัลเติบโตได้ทุกวันนี้”

ด้วยประสบการณ์ในวงการค้าปลีกกว่า 30 ปี หนทางข้างหน้าอาจดูราบรื่น แต่บางครั้งกลับเจอหลุมใหญ่ จึงต้องถอยเพื่อตั้งหลัก เช่น การดำเนินธุรกิจห้างเซ็นทรัลและเซนในจีนเมื่อราว 4 ปีที่ผ่านมา ที่ไม่ประสบความสำเร็จจนต้องถอนการลงทุน

“ปัญหาและอุปสรรคในครั้งนั้น ทำให้เราได้เรียนรู้และเป็นประสบการณ์ในการทำธุรกิจต่อไปในอนาคต” เหล่านี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ยุวดีพาเซ็นทรัลโกอินเตอร์ไปอย่างระมัดระวังมากขึ้น อย่างสภาวะเศรษฐกิจยุโรปถดถอย ทำให้เธอไม่ประมาทและบอกว่าปีนี้ทุกคนต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะสภาวะเศรษฐกิจที่เกิดในรัสเซีย ส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในฐานลูกค้าหลัก แต่คาดว่าจะถูกชดเชยด้วยนักท่องเที่ยวจีน
ชฎาทิพ จูตระกูล
ปิดท้ายด้วย ชฎาทิพ จูตระกูล ทายาทสาวคนเล็กของผู้ก่อตั้ง “สยามพิวรรธน์” ให้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความทันสมัยของ “สยาม” ผู้หาญข้ามแม่น้ำมาสร้างปรากฏการณ์ใหม่บนฝั่งตะวันตกริมฝั่งเจ้าพระยา ด้วย ICONSIAM โครงการมูลค่า 5 หมื่นล้านบาท จากวันที่น่านน้ำไร้คู่แข่ง ถึงวันที่กลายเป็นทะเลเลือด ชฎาทิพไม่เคยหวั่นเกรงต่อการแข่งขัน

“แป๋มจะยกตัวอย่างปลา เราขอแค่เป็นปลาที่ไม่เหมือนใคร ไม่ใช่พันธุ์ที่มีเป็นล้านตัวในทะเล เราไม่จำเป็นต้องเป็นปลาตัวใหญ่ในมหาสมุทร แต่เราจะเป็นปลาที่อยู่ในมหาสมุทรได้อย่างยั่งยืน หมายความว่าถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งในวงการค้าปลีก และ retail development เราก็ขอเป็นคนแรกที่ทำอะไรไม่เหมือนใคร แต่แตกต่างและโดนใจลูกค้า ขณะเดียวกันเราจะเป็นจุดที่ทำให้ประเทศไทยเป็นจุดที่โดดเด่นในเวทีโลก”

จากจุดยืนการเป็นผู้นำความคิดที่ต้องแตกต่าง ฉีกกรอบการทำธุรกิจศูนย์การค้าแบบเดิมๆ สยามพิวรรธน์เดินหน้าอย่างมั่นใจสู่การแปลงโฉมครั้งใหญ่เปลี่ยนสยามเซ็นเตอร์ เป็น Ideaopolis หรือเมืองแห่งไอเดียล้ำเทรนด์ และล่าสุดกับโปรเจกต์อีกหนึ่งตำนานดอกไม้เหล็กกลุ่มสยามพิวรรธน์ ในโครงการ “ไอคอนสยาม” (ICONSIAM) บนเนื้อที่กว่า 40 ไร่ย่านเจริญนคร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยเงินลงทุนรวม 5 หมื่นล้านบาท ชฎาทิพวาดฝันปั้นแลนด์มาร์กแห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นอภิมหาโครงการที่ดีที่สุดในช่วงชีวิตการกุมบังเหียนสยามพิวรรธน์ เพราะเชื่อว่า “ไม่มีงานเลี้ยงใด ไม่มีวันเลิกรา” เธอวางแผนส่งมอบเก้าอี้ผู้ครองอาณาจักรให้กับคลื่นลูกใหม่

“แป๋มอายุมากแล้ว การทำงานจึงต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ แม้เราจะทำงานมา 30 ปี แต่เราไม่สามารถนำประสบการณ์นั้นมาเคลมได้ เพราะตลาดเปลี่ยน ผู้บริโภคเปลี่ยน ความสำเร็จในวันนี้จึงไม่ได้หมายความถึงความสำเร็จในอนาคต ดังนั้นไอคอนสยามจึงเป็นโครงการที่เราต้องทำให้ดีที่สุด เป็น once in a lifetime ที่เราจะสร้างคู่บ้านคู่เมืองประเทศ เปรียบเหมือนเป็นรางวัลชีวิต เพราะรางวัลของเราไม่ได้อยู่ที่เป้าหมายทางการเงิน แต่เป็นความสำเร็จที่ประเมินค่าไม่ได้ นั่นคือความภาคภูมิใจของเรา”

ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟของ 3 ราชินีชนิดเจาะลึกที่โคจรมาพบกันแบบหาอ่านที่ไหนไม่ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับเดือนมี.ค. 2558 :: Report by FLASH

Comments are closed.

Pin It