Art Eye View

“อลังการงานศิลป์” สานฝันเด็กๆ “ม่อนแสงดาว”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—  “ม่อนแสงดาว ม่อนแห่งความหวัง ม่อนที่เรานั้นสานสัมพันธ์ ร่วมกันสานฝันสีทอง ฝันแห่งความหวัง มีพลังสดใสเรืองรอง จากบ้านจากพี่จากน้อง มาเป็นลูกม่อนแสงดาว

จากมาไกลตั้งใจเรียนรู้ ให้พ่อแม่ดูว่าลูกนั้นเป็นคนดี คุณครูท่านสอนให้ลูกนั้นมีศักดิ์ศรี ลูกสาวของแม่คนนี้ คือคนที่ครูภูมิใจ

โอ…นี่คือดอยม่อนแสงดาว สดใสสกาวพร่างพราวในคืนมืดหม่น แสงดาวคืนนี้ช่วยชี้ให้ใครสักคน มาช่วยคนจน ร่วมหนทางบนม่อนแสงดาว”

เสียงเพลง ม่อนแสงดาว จากการขับขานของเด็กๆจบลง แม้ว่าสำเนียงของเด็กๆ เหล่านี้จะฟังดูแปร่งๆ แต่เนื้อหาและท่วงทำนองก็สร้างความไพเราะประทับใจให้แก่ผู้มาเยือนได้เป็นอย่างดี เพราะบทเพลงนี้ถือเป็นเสียงร้องที่ออกมาจากหัวใจของเด็กทุกคนในม่อนแสงดาว

ม่อน” หรือ “เนินเขา” แห่งนี้อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงรายบนเส้นทางไปอำเภอเทิง ประมาณ 30 กิโลเมตร ด้วยที่นี่มีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขา บรรยากาศเงียบสงบ ห่างไกลจากแสงสี กลางคืนมองเห็นหมู่ดาวระยิบระยับเต็มท้องฟ้า จึงถูกนำมาตั้งเป็นชื่อ  โรงเรียนม่อนแสงดาวธรรมชาติวิทยา ซึ่งเป็นศูนย์การศึกษาทางเลือกสัมมาชีพตามวิถีธรรมชาติเพื่อการพึ่งตนเองของเด็กหญิงที่ยากไร้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะเด็กชาติพันธุ์ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือตอนบน

เทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย ผู้อำนวยการสมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม (ม่อนแสงดาว) หรือ ครูตั้ม ของเด็กๆ เล่าว่า

โรงเรียนแห่งนี้เปิดดำเนินมาตั้งแต่ปี 2541 เพื่อเป็นโรงเรียนทางเลือกให้แก่เด็กหญิงที่ด้อยโอกาสได้เล่าเรียนหนังสือ เนื่องจากเด็กหญิงที่ยากจนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเด็กชาวเขา ไม่ค่อยจะได้เรียนหนังสือ หรืออาจจะได้เรียนถึงแค่ชั้น ป.6 หลังจากนั้นก็จะออกมาทำงานช่วยเหลือครอบครัว หรือไม่ก็อาจจะไปเป็นลูกจ้างตามร้านค้าหรือสถานบริการ ที่โชคร้ายก็อาจจะถูกล่อลวง ชักจูงไปขายบริการทางเพศตามที่เคยเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ

“โรงเรียนม่อนแสงดาวจึงเป็นทางเลือกและเป็นโอกาสให้เด็กหญิงที่ยากจนได้เรียนหนังสือต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษา โดยเน้นการเรียนการสอนแนวใหม่ที่มุ่งให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และเรียนอยู่บนฐานนิเวศภาคเหนือตอนบน, ลุ่มน้ำโขงและวัฒนธรรมท้องถิ่นล้านนา มีการเรียนการสอนด้านเกษตรอินทรีย์ ศิลปะ หัตถกรรม คหกรรม และวิชาชีพต่างๆ เพื่อให้นักเรียนมีความรู้นำไปประกอบอาชีพ มีการติดตามข่าวสารบ้านเมือง เพื่อให้นักเรียนได้รับข้อมูล รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม ไม่ตกเป็นเหยื่อการค้าแรงงานหรือการค้ามนุษย์”

นักเรียนโรงเรียนม่อนแสงดาวทุกคนจะกินนอนอยู่ที่โรงเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ โดยมีครูประจำซึ่งเป็นครูจัดกระบวนการเรียนรู้ 2 คน นอกนั้นจะเป็นครูภูมิปัญญาหรือครูพิเศษชำนาญการ และมีการจัดแบ่งเวรประจำวันเพื่อช่วยเหลือดูแลกัน เช่น เวรทำอาหาร ทำความสะอาด ฯลฯ เด็กทุกคนจะต้องตื่นนอนตั้งแต่ตีห้า เพื่อทำงานตามที่ได้ตกลงร่วมกัน หลังจากนั้นจะกินอาหารเช้า เคารพธงชาติ แล้วเข้าเรียนตามความสนใจ ส่วนช่วงบ่ายจะมีการเข้าชั้นเรียน แล้วลงแปลงเกษตร เช่น ทำนา ปลูกผัก ฯลฯ

ตอนค่ำหลังอาหารจะมีการสวดมนต์และทำสมาธิ และกิจกรรมการสารภาพความในใจภายในกลุ่ม เพื่อสะท้อน หรือ ขอโทษ สิ่งที่กระทำขึ้นมาแล้วเกิดความรู้สึกไม่ดีให้แก่กลุ่มได้ทราบ เป็นการสร้างความสบายใจภายในกลุ่มนักเรียน

ก่อนนอนจะมีกิจกรรมนันทนาการ และติดตามข่าวสารจากสื่อ พอถึงเวลาสองทุ่มครึ่งทุกคนต้องเข้านอนเพื่อตื่นแต่เช้า นี่คือชีวิตประจำวันของเด็กๆ ทุกคนในม่อนแสงดาว

“ที่ผ่านมามีนักเรียนที่จบจากโรงเรียนม่อนแสงดาวไปแล้วหลายรุ่น บางคนก็ไปเรียนต่อในระดับปริญญาตรี บ้างก็เป็นครูในศูนย์เด็กเล็ก เป็นผู้ช่วยพยาบาล หรือทำงานใน อบต./เทศบาลในท้องถิ่น บางคนก็กลับไปทำเกษตรอินทรีย์ ทำอาชีพที่ตัวเองมีความถนัดหรือมีความชอบ ถือว่าเป็นการสร้างโอกาส สร้างทางเลือกในชีวิตให้แก่เด็กๆ” ครูตั้มกล่าวถึงบทบาทของโรงเรียนม่อนแสงดาว

สุวิมล วิบูลความดี หรือ หมีเชอะ เด็กหญิงชาวอาข่า อายุ 16 ปี เล่าว่า ครอบครัวของเธอมีทั้งหมด 7 คน เธอเป็นลูกคนที่ 2 อาศัยอยู่ที่ บ้านจะลอ ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ครอบครัวมีฐานะยากจนเพราะมีที่ดินทำกินน้อยเพียง 1 ไร่เศษ ใช้เพาะกล้าชาขาย และปลูกกาแฟเล็กน้อย เวลาว่างพ่อกับแม่ต้องทำงานรับจ้างต่างๆ เพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว พี่ชายคนโตต้องออกจากโรงเรียนมาทำงานรับจ้างและเรียน กศน.ไปด้วย เธออยากจะเรียนต่อ แต่ด้วยความยากจน เมื่อเรียนจบชั้น ป.6 แล้วเธอจึงต้องเสียสละเพื่อให้น้องอีก 2 คนได้เรียนต่อ แต่เธอก็ยังโชคดีเมื่อครูที่โรงเรียน ตชด.ที่เธอเรียนอยู่แนะนำให้เธอมาสมัครเรียนที่โรงเรียนม่อนแสงดาว

ปี 2555 หมีเชอะเริ่มเข้าเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนม่อนแสงดาว ซึ่งที่นี่มีเด็กหญิงชาวอาข่าและชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ลาหู่ ม้ง เย้า กว่า 10 ชีวิต เรียนรวมกันอยู่ที่นี่ โดยใช้วิธีการสอบเทียบจาก กศน.เพื่อให้ได้วุฒิการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการรับรอง ปี 2557 ที่ผ่านมา เธอเรียนจบระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือชั้น ม.3 และขณะนี้กำลังเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยตั้งความหวังว่าอยากเป็นเชพมืออาชีพ

หมีเชอะเล่าถึงความฝันที่ดูไม่ไกลจากความเป็นจริงมากนักว่า “หนูอยากจะเรียนสายอาชีพ เพื่อเป็นเชฟทำอาหารที่เก่งที่สุด เพราะหนูมีความสนใจด้านการทำอาหารและขนมต่างๆ และทางโรงเรียนก็ได้สร้างแรงจูงใจ โดยจัดการเรียนการสอนวิชาคหกรรม ทำขนมและอาหารต่างๆ และเน้นการฝึกทักษะให้นักเรียนได้ทดลองและฝึกปฏิบัติอย่างจริงจัง จึงทำให้หนูเกิดแรงบันดาลใจอยากจะเป็นเชฟ”

ยังมีเด็กๆ อย่างหมีเชอะอีกมากมายที่อยากจะทำตามความใฝ่ฝันของเธอ แต่โรงเรียนม่อนแสงดาวก็ไม่อาจจะช่วยแต่งเติมฝันของพวกเธอได้มากนัก อันเนื่องมาจากปัญหาด้านงบประมาณ เพราะค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งด้านอาหารการกิน อุปกรณ์การศึกษา การจัดการอาคารสถานที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ รวมทั้งเงินเดือน/ค่าตอบแทนครู เดือนหนึ่งๆ ก็เป็นเงินไม่น้อยกว่า 50,000 บาท รวมงบประมาณปีหนึ่งก็เกินครึ่งล้านบาท ส่วนงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรสาธารณกุศลจากต่างประเทศ เช่น องค์การแตร์เดซอมจากเยอรมันก็เพียงใช้จ่ายไปแต่ละปี แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ทำให้โรงเรียนไม่สามารถเปิดรับนักเรียนประจำได้มากนัก ปีหนึ่งไม่เกิน 30 คน

แม้จะรับนักเรียนประจำได้ไม่มาก แต่ทุกๆ เทอม หรือในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ โรงเรียนม่อนแสงดาวจะเปิดรับเด็กและเยาวชนจากโรงเรียนประถมและมัธยมขนาดเล็กในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาเรียนรู้ในรูปแบบค่ายเด็กและเยาวชน เรียนรู้ศาสตร์พระราชา(เศรษฐกิจพอเพียง) เกษตรอินทรีย์ ศิลปะ ภาษาอังกฤษ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยจะมีครูอาสาสมัครทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้ามาช่วยสอนและดูแลค่ายเด็ก ซึ่งในแต่ละปีจะมีเด็กและเยาวชนเข้ามาเรียนรู้ในม่อนแสงดาวไม่น้อยกว่า 200 คน

ที่ผ่านมาโรงเรียนม่อนแสงดาวได้พยายามช่วยเหลือตัวเองมาตลอด เช่น ปลูกผักสวนครัว ผักกาด ถั่ว คะน้า พริก มะเขือ กล้วย ฯลฯ ทำนาเพื่อปลูกข้าวเอาไว้กิน เป็นการลดรายจ่าย แต่ก็ยังไม่พอเพียงเพราะมีพื้นที่ราบทำนาได้เพียง 1 ไร่เศษ ได้ข้าวเปลือกไม่ถึง 10 กระสอบ นอกจากนี้ยังปลูกไม้ยืนต้น เช่น ลำไย ลิ้นจี่ กาแฟ ฯลฯ เอาไว้บริโภคภายในโรงเรียน โดยเฉพาะกาแฟพันธุ์อราบิก้านั้น เริ่มปลูกเมื่อ 3 ปีก่อน ประมาณ 200 ต้น ปีนี้เริ่มให้ผลผลิตแล้ว

ครูตั้มกล่าวถึงแผนธุรกิจหารายได้มาจุนเจือโรงเรียนว่า “เรามีแผนธุรกิจที่จะนำกาแฟมาผลิตเป็นเมล็ดกาแฟคั่วสดและกาแฟคั่วบดเพื่อนำไปขายเป็นรายได้เข้าโรงเรียน ใช้ชื่อว่ากาแฟม่อนแสงดาว เป็นกาแฟออร์แกนิกที่ไม่ใช้สารเคมี คั่วด้วยมือ เด็กนักเรียนก็จะได้เรียนรู้กระบวนการผลิตกาแฟไปด้วย เพราะครอบครัวชาวเขารวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กๆ ม่อนแสงดาวตอนนี้นิยมปลูกกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจ จะได้มีช่องทางในการแปรรูปขาย นอกจากการขายเมล็ดกาแฟสดเพียงอย่างเดียว”

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาโรงเรียนม่อนแสงดาวก็พยายามหารายได้ภายในประเทศมาช่วยเหลือโรงเรียนโดยตลอด เช่น ร่วมกับศิลปินภาพเขียนชื่อดังของประเทศจัดนิทรรศการแสดงภาพเขียนเพื่อจำหน่าย แล้วนำรายได้มาสนับสนุนโรงเรียน ที่ผ่านมาได้จัดแสดงไปแล้ว 2 ครั้ง คือในปี 2545 และปี 2550 โดยนำศิลปินไปล่องแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวินเพื่อเก็บเกี่ยวบรรยากาศนำมาสร้างสรรค์ผลงาน และได้รับการสนับสนุนจาก อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินชื่อดังชาวเชียงราย

ครูตั้มบอกว่า ในปี 2558 นี้ จะจัดนิทรรศการครั้งที่ 3 ใช้ชื่องานว่า นิทรรศการศิลปะอาเซียนเพื่อเด็กและสิ่งแวดล้อมครั้งที่ 3 “อลังการศิลป์สายน้ำอาเซียน” แสดงภาพเขียน-ภาพถ่าย-กวีนิพนธ์-งานปั้น รวมกว่า 200 ชิ้น โดยศิลปินที่มีชื่อเสียง เช่น ประสงค์ ลือเมือง ,ประทีป คชบัว, เอกชัย ลวดสูงเนิน, เสงี่ยม ยารังษี, ทรงเดช ทิพย์ทอง , เป้ สีน้ำ ฯลฯ รวมทั้ง ศิลปินอาเซียนและนานาชาติ

นิทรรศการศิลปะอาเซียนเพื่อเด็กและสิ่งแวดล้อมครั้งที่ 3 “อลังการศิลป์สายน้ำอาเซียน” จะจัดแสดงหว่างวันที่ 3 – 19 มิถุนายน พ.ศ.2558 เวลา 10.00 – 19.00 น. ณ พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ (รัชโยธิน)

โดยในวันเปิดนิทรรศการ พระมหาวุฒิชัย หรือ ท่าน ว.วชิรเมธี จากไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย ได้มอบกวีนิพนธ์ของท่านให้ประมูลเพื่อนำเงินรายได้สมทบทุนสนับสนุนการศึกษาโรงเรียนม่อนแสงดาวด้วย และจะมี ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส จำกัด (มหาชน) เป็นประธานเปิดนิทรรศการฯ ในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558 เวลา 16.00 น.

และในงานนี้เด็กๆ จากม่อนแสงดาวจะมาร่วมออกบู๊ธแสดงนิทรรศการด้านสิ่งแวดล้อม-สายน้ำ รวมทั้งจำหน่ายสินค้าที่ระลึก สินค้าเกษตร น้ำผึ้งป่าจากม่อนแสงดาว ฯลฯ

รายได้ครั้งนี้จะนำมาสนับสนุนการศึกษา รวมทั้งปรับปรุงบ้านพักนักเรียน ซ่อมแซมอาคารเรียนเอนกประสงค์ ระบบน้ำบาดาลที่ชำรุดทรุดโทรมภายในโรงเรียนด้วย

หมายเหตุ : ข่าวประชาสัมพันธ์

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It