Interview

จับสัญญาณความแรงไทยดีไซเนอร์รุ่นใหม่ “วิณ โชคคติวัฒน์” โกอินเตอร์+Sustain ก็มา!

Pinterest LinkedIn Tumblr


ท่ามกลางอาณาจักรแบรนด์แฟชั่นไทยที่มีอยู่มากมาย ถ้าพูดถึงแบรนด์ไทยที่มีความยูนีค แถมมีซิกเนเจอร์คือเสื้อเจาะรูด้วยเลเซอร์คัท หลายคนต้องนึกถึง “VINNPATARARIN” แบรนด์แฟชั่นสไตล์ สตูดิโอ ที่ก่อตั้งโดยสองคู่หูไทยดีไซเนอร์รุ่นใหม่ อย่าง “แชมป์-วิณ โชคคติวัฒน์” และ “ฝน-ภทรฤน พงษ์ประสิทธิ์” ที่แม้ทั้งคู่จะมาจากต่างเส้นทาง แต่ด้วยแพสชันด้านดีไซน์ที่มีร่วมกัน จึงกลายเป็นส่วนผสมใหม่ที่ลงตัวของวงการที่น่าจับตามอง แม้แต่คนดังระดับโลก อย่าง Troye Sivan, Timothée Chalamet และแจ็กสัน หวัง ก็เคยใส่เสื้อผ้าของแบรนด์ VINNPATARARIN มาแล้ว


แน่นอนว่า กว่าจะมาเป็นแบรนด์ VINNPATARARIN ที่เฉิดฉายในวงการ ต้องผ่านบททดสอบมากมาย แชมป์เล่าว่า เขาเรียนจบด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ไปเรียนต่อปริญญาโทด้าน Design and Contemporary Technology ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส และเคยมีโอกาสฝึกงานกับห้องเสื้อโอต์กูตูร์ Iris Van Herpen

“ตอนเรียนอยู่ที่ฝรั่งเศส ผมรู้จักกับพี่ฝน ซึ่งเรียนแฟชั่นดีไซน์อยู่ที่ปารีสอยู่แล้ว เลยได้มีโอกาสพูดคุยและแลกเปลี่ยนไอเดียกันอยู่บ่อยๆ ส่วนตัวผมเอง ถึงจะเรียนด้านออกแบบโปรดักต์ แต่ตอนทำวิทยานิพนธ์ก็เลือกทำเกี่ยวกับผ้า โดยนำความรู้ด้านสถาปัตย์ฯ ที่มีมาประยุกต์ หลังจากเรียนจบผมกับพี่ฝนก็มีโอกาสทำโปรเจกต์เพื่อส่งประกวดด้วยกัน ทำไปทำมา เลยตัดสินใจทำแบรนด์ด้วยกัน โดยชื่อแบรนด์ก็มาชื่อเราสองคนเอามาชนกัน”


แชมป์ยังบอกด้วยว่า ด้วยความที่ไม่ได้เรียนสายตรงด้านแฟชั่นแต่ต้น เลยทำให้มีโอกาสนำความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลาย มาผสมผสานในการทำงานแฟชั่นจนเกิดเป็นมุมมองในการออกแบบที่แตกต่าง

“ผมเชื่อว่าการออกแบบหรืองานศิลปะ ไม่ควรอยู่ที่บริบทใดบริบทหนึ่ง แต่ต้องมีการผสมผสานกัน ฉะนั้น พอมาสร้างแบรนด์ของตัวเอง ผมเลยอยากนำความรู้แขนงต่างๆ ที่สั่งสมมาผสมผสานเพื่อสร้างงานดีไซน์ใหม่ๆ”


ด้วยความเชื่อนี้เอง ทำให้วันนี้ แบรนด์ VINNPATARARIN ไม่ได้เป็นแค่แบรนด์เสื้อผ้า แต่มีงานดีไซน์ในรูปแบบอื่นๆ เช่น ของตกแต่งบ้าน แอคเซสซอรีต่างๆ รวมถึงล่าสุดยังขยายธุรกิจไปสู่อาหารและเครื่องดื่ม ประเดิมด้วยการเปิด VINN PATAARARIN Café ที่ ดิ เอ็มสเฟียร์ เพื่อมาเติมเต็มยูนิเวิร์สของแบรนด์ ที่มุ่งนำเสนอไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ให้คนกรุงเทพฯ

แต่แน่นอนว่า ไม่ได้ว่ายูนิเวิร์สของแบรนด์จะขยายไปมากแค่ไหน แต่ซิกเนเจอร์ของแบรนด์ อย่าง ลายฉลุด้วยวิธีเลเซอร์คัทยังเป็นสิ่งที่แชมป์ให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง

“ด้วยความที่เรียนสถาปัตย์ฯ มา ผมใช้เลเซอร์คัทในการตัดโมเดล ตัดผ้า ตัดวัสดุต่างๆ อยู่แล้ว เลยเอาความรู้ตรงนั้นมาใช้ พร้อมพัฒนาลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ อย่าง ลายฉลุที่หลายคนคุ้นตา จริงๆ แล้วเป็นรูปทรงของแสงแฟลร์ที่ผมได้แรงบันดาลใจมาจากแสงแดดยามกระทบผิวน้ำ ซึ่งเริ่มนำมาใช้ประมาณปี 2019 หลักๆ จะอยู่ในแทบทุกคอลเลกชันที่เป็นเสื้อผ้าเรดดีทูแวร์ รวมถึงโปรดักต์อื่นๆ ของแบรนด์ ขณะเดียวกัน ยังมีการพัฒนาลายใหม่ๆ เพื่อนำเสนอในดีไซน์ที่เป็นแฟชั่นไอเทมด้วย”


อย่างไรก็ตาม แชมป์ยอมรับว่า การสร้างความแปลกใหม่ย่อมมาพร้อมการถูกตั้งคำถามมากมาย จึงต้องอาศัยความมุ่งมั่นและเวลาเพื่อพิสูจน์ผลงาน

“ช่วงแรกๆ เราอาจจะถูกตั้งคำถามบ้าง เช่น ใครจะใส่เสื้อที่มีรู หรือทำไมเราไม่ทำรูเป็นรูปทรงสี่เหลื่ยม หรือวงกลม แต่พอเวลาผ่านไป มันพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ถ้าวันนั้นเราทำอะไรที่เข้าใจง่าย ไม่มีเอกลักษณ์ กลายเป็นว่าใครๆ ก็ทำได้ เราก็ไม่สามารถสร้างซิกเนเจอร์ให้กับแบรนด์ได้ ฉะนั้น ผมมองว่าเวลาทำอะไรใหม่ๆ แล้วอาจจะถูกตั้งคำถาม แต่ถ้าเราเชื่อมากๆ ว่า สิ่งที่เราทำมีปลายทางที่สวยงาม คนเข้าถึงได้ เราก็แค่ตอบคำถามนั้นไปเรื่อยๆ ให้คนเข้าใจ พอเขาได้ทดลอง ได้มาอยู่กับงานดีไซน์ของเรา เขาจะรู้สึกว่ามันเป็นไปได้ สวมใส่ได้ และเกิดไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ได้”


หนึ่งในคอลเลกชันที่ถือว่าเป็นการสร้างมิติใหม่ให้วงการคือ คอลเลกชันเสื้อ Multi-Color ที่ฉลุทั้งตัว สามารถสวมใส่ได้สองด้าน จุดเด่นของคอลเลกชันนี้ คือ นอกจากจะทำให้คนใส่รู้สึกคุ้มค่าแล้ว เพราะเหมือนซื้อเสื้อ 1 ตัว แต่ได้สองสี ยังทำให้พบว่า บางครั้งเสื้อผ้าไม่ได้เป็นแค่เครื่องนุ่งห่ม แต่เป็น Conversation piece ที่ทำให้เกิดบทสนทนา เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

นอกจากแบรนด์ VINNPATARARIN จะโดดเด่นด้วยดีไซน์ อีกหนึ่งจุดเด่นที่ทำให้หลายคนนึกถึงคือ การเป็นแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน

“ผมไม่ได้บอกว่าเราเป็นแบรนด์ Sustain 100% แต่ผมพยายามทำให้แบรนด์มีความ Sustain มากที่สุด หนึ่งในนั้นคือ การทำให้ผลงานของแบรนด์อยู่ได้นานที่สุด ยกตัวอย่าง ถ้าเสื้อที่เราออกแบบลูกค้าหยิบมาใส่ได้บ่อยๆ มีความคลาสสิก จนสามารถส่งต่อรุ่นต่อรุ่นได้ หรือใส่แล้วมีความภูมิใจจนอาจจะใส่แล้วเก็บไว้อีก 5 ปี ค่อยเอามาใส่ได้ ผมมองว่านี่คือมิติหนึ่งของงานดีไซน์ที่มีความยั่งยืน


ขณะเดียวกัน แชมป์ยังนำเทคโนโลยีมาช่วยในการออกแบบและผลิต เริ่มตั้งแต่วางแพตเทิร์นในคอมฯ เพื่อให้เลือกเศษผ้าทิ้งน้อยที่สุด นอกจากนี้ ยังลดการใช้แรงงานคน

“ผมคิดว่า ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ทุกธุรกิจต้องนำมาปรับใช้ แต่ไม่ใช่การยัดเยียดลงไปในทุกอย่าง เพราะบางอย่างอาจจะทำไม่ได้ หรือทำไปแล้วเป็นการเบียดเบียนธรรมชาติ เช่นการย้อมสีธรรมชาติ ผมว่าถ้าบนโลกใช้การย้อมสีธรรมชาติทั้งโลก คือไม่มีป่าแล้วนะ ที่สำคัญ การทำ Sustainable มันมีต้นทุน ถ้าเราทำแล้วบริษัทไม่มีกำไร อยู่ไม่ได้ ธุรกิจก็ไม่ยั่งยืนอยู่ดี สำหรับผม คำว่า Sustainabily มันไม่ได้อยู่แค่ที่วัตถุดิบ แต่อยู่ที่กระบวนการคิด ผลิต บริหาร นอกจากธรรมชาติจะยั่งยืน ธุรกิจก็ต้องยั่งยืนเช่นกัน”


นอกจากทำแบรนด์ให้ยั่งยืน ในแง่ไลฟ์สไตล์ส่วนตัว แชมป์ออกตัวว่า เขาไม่ได้เป็นสายรักษ์โลกแบบสุดโต่ง แต่ทำดีที่สุดในจุดที่ทำได้ โดยเฉพาะ เรื่องการแยกขยะ เพื่อให้สามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้

ตลอด 9 ปีในการสร้างแบรนด์ แชมป์บอกว่า “สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ การทำธุรกิจต้องมีกลยุทธ์และสร้าง Brand Identity ของเราคืออะไรให้ชัด ตีโจทย์ให้แตกว่า นอกจากเราอยากเป็นอะไร ยังต้องสำรวจตลาดว่า สิ่งนี้ดีจริงในธุรกิจมั้ย มีคนอื่นทำไปหรือยัง หมั่นเช็กฟีดแบค อะไรทำดีแล้วก็ทำต่อไป ทำไม่ดีก็แก้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องมั่นคงในอุดมการณ์และความเชื่อ เพื่อตอกย้ำไปเรื่อยๆ จนคนจำเราได้”


หลังว่างเว้นจากการทำงาน แชมป์บอกว่าเขาชอบดูสารคดี อ่านอัตชีวประวัติคนดัง บวกกับเป็นคนเพื่อนเยอะ มีเพื่อนพี่น้องในหลากหลายวงการ จึงมักนำมุมมองในเรื่องต่างๆ มาแลกเปลี่ยนและนำมาปรับใช้กับธุรกิจ

“ผมไม่ได้มองแค่เรื่องแฟชั่น ศิลปะ งานออกแบบ แต่มองเป็นวิถีชีวิตของผู้คน ดังนั้น ในฐานะคนทำธุรกิจ เราจะขยายยูนิเวิร์สของแบรนด์ให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้คนได้อย่างไร ซึ่งหลังจากที่ขยายธุรกิจแฟชั่นมาทำของแต่งบ้าน ยังรู้สึกว่ามีจุดเชื่อมโยงกัน แต่พอมาทำคาเฟ่ เหมือนเป็นอีกหนึ่งสเต็ปในการหาคำตอบว่า จะพาแบรนด์ไปเชื่อมโยงกับอาหารการกินได้อย่างไร ผมไม่ได้คาดหวังว่า ทำแล้วต้องบูมเลย เพราะเราเริ่มต้นจากเล็ก ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ศึกษาว่า ทุกคนมองความเป็นไลฟ์สไตล์กินดื่มของแบรนด์เราอย่างไรบ้าง แล้วก็เอามาพัฒนาไปเรื่อยๆ เพื่อดูว่าอนาคตแบรนด์ควรต่อยอดไปทางไหน เพราะเป้าหมายใหญ่คือ อยากมียูนิเวิร์สที่แข็งแรงขึ้นไปเรื่อยๆ

นอกจากกิจกรรมยามว่าง ที่ดูเหมือนว่าจะยังไม่ได้แยกจากงานชัดเจน แชมป์ยังทิ้งท้ายถึงอีกหนึ่งไลฟ์สไตล์ นั่นคือ ความชื่นชอบในการเดินทาง แชมป์บอกว่าในทุกทริปที่ออกเดินทาง เขามักจะสรรหากิจกรรมบางอย่างทำ เช่น ถ้าไปทะเลจะเล่นเซิร์ฟ ไปภูเขาก็จะพ่วงเดินป่า หรือถ้าวันไหนเลือกที่จะอยู่บ้าน เขาก็หาสีมาเพนต์ หรือวาดรูปเล่น เป็นต้น

Comments are closed.

Pin It