Interview

เชื่อใจกันและกัน! “ชวิศ ยงเห็นเจริญ” นำศิลปะการขี่ม้าใช้บริหารงาน

Pinterest LinkedIn Tumblr


ใครว่าการมุ่งเน้นทำกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบ จะไร้ประโยชน์นั้น หนุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรง “ซัน-ชวิศ ยงเห็นเจริญ” ทายาทรุ่นที่ 2 ของ บริษัท ชลิต อินดัสทรี จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชิ้นส่วนประกอบรถยนต์และอะไหล่ยางรายใหญ่ของไทย ภายใต้แบรนด์ “POP” ขอเถียง เพราะจากไลฟ์สไตล์ที่โดดเด่นน่าสนใจของซัน เขาสามารถนำวิธีการมาเป็นแนวคิดดีๆ เพื่อปรับใช้ในการบริหารงานให้ประสบความสำเร็จได้ แถมยังดีต่อสุขภาพกายและใจ


เพราะความหลงใหลในกีฬาแอดเวนเจอร์มาตั้งแต่เด็กๆ ซันจึงชื่นชอบขี่ม้าเป็นพิเศษ เนื่องจากมีความเอ็กซ์ตรีม ท้าทาย ประกอบกับมีเพื่อนสนิทเป็นนักกีฬาขี่ม้าทีมชาติไทย อย่าง สายลับ เลิศรัตนชัย ที่ยังมาเป็นโค้ชสอนขี่ม้าให้ ด้วยการชวนไปลองขี่ม้าด้วยกัน แรกๆ ก็ไปแบบเล่นๆ สนุกๆ ที่ สโมสรคนรักม้า (Horse Lover’s Club) พอได้ลองขี่ม้าครั้งแรกก็รู้สึกสนุก ท้าทาย จึงลงเรียนคอร์สขี่ม้าอย่างจริงจัง กระทั่ง ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย The University of Nottingham ในประเทศอังกฤษ จึงไปสมัครเข้าร่วมชมรมขี่ม้า เเละมีโอกาสได้ลองเล่นโปโลในทีมของมหาวิทยาลัยที่อังกฤษอีกด้วย

“เสน่ห์ของกีฬาขี่ม้าคือต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างคนและม้า ที่ต้องใช้ศิลปะ เชื่อใจกันและกันเป็นอย่างมาก ซึ่งเพื่อนผมจะคอยบอกเสมอว่านักขี่ม้าที่เก่งนั้นไม่สามารถขี่ม้าได้ทุกตัว เพราะม้าก็เลือกผู้ขี่เช่นกัน ต้องสร้างความเชื่อใจกัน ต้องเป็นทีมเดียวกัน ซึ่งผมมองว่าต่างจากกีฬาที่ใช้ความเร็วแบบอื่น เช่น การแข่งรถ ที่สามารถควบคุมทิศทางได้ด้วยเครื่องยนต์ แต่กีฬาขี่ม้านั้น คนจะต้องควบคุมม้าให้เป็นหนึ่งเดียวกันให้ได้ ถือเป็นสิ่งที่ท้าทาย”


ทั้งนี้ ในฐานะกรรมการผู้จัดการของบริษัทที่ทุ่มเทให้กับงานบริหาร และยังมุ่งเน้นกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ซันยังได้นำเอาการเรียนรู้จากกีฬาขี่ม้า มาปรับใช้สำหรับการบริหารงานอีกด้วย

“ผมเชื่อว่ากีฬาและงานอดิเรกทุกชนิด มีส่วนช่วยพัฒนาทักษะด้านๆ อื่นในชีวิตประจำวันได้ ผมได้เรียนรู้ที่จะใช้ทักษะที่ได้จากการขี่ม้า มาปรับใช้ในการทำงานเพื่อช่วยด้านการบริหาร”


อย่างเเรกคือ การมีวินัย เพราะทุกครั้งที่ขี่ม้านั้นจะต้องมีวินัยในตัวเองสูงพอสมควร หากถ้าเราไม่ตั้งใจหรือละเลยการซ้อม ผลเสียก็จะเกิดขึ้นได้ทั้งกับม้า รวมไปถึงความปลอดภัยของเรา หลักๆ คือ ต้องมีวินัยในตัวเองสูง ในการที่จะบังคับตัวเองให้ไม่ขี้เกียจในการไปฝึกซ้อม

เรื่องที่สองที่ผมได้เรียนรู้คือ การบริหารและการควบคุมดูเเล การขี่ม้าทำให้เราต้องสามารถควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ได้ เมื่อเราอยู่บนหลังม้าแล้ว ต้องพยายามบังคับม้าให้ไปตามที่ต้องการให้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมาก กว่าจะควบคุมม้าได้ แต่เมื่อใดที่อยู่บนหลังม้าแล้วเราต้องคุมให้ได้ เพราะหากให้ม้ามานำทางเรา ย่อมก่อให้เกิดอันตรายได้ในที่สุด ดังนั้น เราจึงนำส่วนนี้มาพัฒนาสำหรับการทำงานในด้านการฝึกความสามารถของตัวเองได้ เพราะต้องใช้ความใจเย็นเเละความอดทน

สุดท้ายคือ การฝึกเรื่องความยืดหยุ่นเเละปรับตัว ผู้ขี่ม้านอกจากใช้คำสั่งต่างๆ บังคับม้าได้แล้ว จะต้องมีความยืดหยุ่นและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี จึงจะสามารถควบคุมม้าให้ทำตามคำสั่งได้


การขี่ม้าไม่เหมือนการขับรถหรือขี่มอเตอร์ไซค์ เพราะว่าม้าเป็นสิ่งมีชีวิต มีการตัดสินใจเช่นเดียวกับคน การรู้จักม้าที่กำลังขี่จึงเป็นสิ่งจำเป็น เช่นเดียวกับหัวหน้ารู้จักลูกน้อง ตามคำพูดของซุนวู “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” การรู้จักกับม้าที่กำลังขี่ ไม่ว่าจะเป็นด้านนิสัย อารมณ์ ซึ่งต้องเกิดจากความช่างสังเกตและประเมินตลอดเวลา จะทำให้เราได้รู้ล่วงหน้าว่า ปัญหาจะเกิดเมื่อใด และจะรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างไร?”

นอกจากนี้ ซันยังฝากข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า “ผมคิดว่ากีฬาเเละงานอดิเรกทุกประเภท ล้วนมีประโยชน์กับร่างกายเเละจิตใจไม่มากก็น้อย เพียงเเค่เราต้องหาความชอบความหลงใหล (Passion) ของเราให้เจอ เเละสนุกไปกับมันครับ” สนใจขี่ม้าแบบซันดูข้อมูลได้ที่ FB: Horse Lover’s Club แล้วลองหาแพสชั่นของตนเองกันดู เผื่อจะได้สนุกไปกับงานที่เราทำเช่นเดียวกับซัน

Comments are closed.

Pin It