Art Eye View

จุดประกาย ขายฝัน “โรงบ่มความคิดสร้างสรรค์” จ.น่าน

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW —เจ้าของบ้านต้อง ปรับตัว และเตรียมพร้อมรับมือในทุกๆด้าน เมืองเล็กๆ ที่ใครกำลังให้ความสนใจ หลงใหล และรุมรัก อย่าง จ.น่าน

รวมถึงด้านศิลปวัฒนธรรม ที่มีศิลปินชาวน่านแท้ๆ รายหนึ่ง ลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆให้กับบ้านเกิด แม้บางอย่างจะยังอยู่ในช่วงจุดประกายขายฝัน แต่เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยให้กำลังใจ

เมื่อปี 2537 หลังเรียนจบและทำงานที่กรุงเทพได้เพียง 4 ปี สิทธิธัช ธิติกุลเกษมศักดิ์ หรือ อ.จิ๊บ ศิษย์เก่า คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ตัดสินใจกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด ด้วยเหตุผลที่ว่า

“ผมมีความตั้งใจที่จะกลับบ้านอยู่แล้ว เราเป็นคนต่างจังหวัดไปอยู่กรุงเทพ ถ้าอยู่ต่อไป พอถึงวันหนึ่งก็คงต้องกลับ และด้วยเรื่องของวิถีชีวิตอะไรด้วย

ช่วงที่กลับมาก็เลยสมัครเป็นครูสอนศิลปะที่น่าน ทำงานสอน ทำงานศิลปะ และทำกิจกรรม ควบคู่กันไปด้วย

กิจกรรมส่วนใหญ่ เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนอยู่แล้ว มีจัดแคมป์บ้าง พาเพื่อนๆพาน้องๆ ขึ้นไปสอนเด็กๆบนภูเขา บนดอย ทำอย่างนั้นมาเรื่อยๆ”

จึงทำให้ความฝันที่ไซส์ใหญ่กว่าเดิมของ อ.จิ๊บ ในปัจจุบัน ยังเป็นเรื่องของงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน นั่นคือ “โรงบ่มความคิดสร้างสรรค์”

โดย อ.จิ๊บ ฝันว่า วันหนึ่งจะมีสถานที่สำหรับบ่มเพาะ เด็กและเยาวชน ในด้านความคิดสร้างสรรค์ เกิดขึ้นที่น่าน

และมีคนที่ทำงานทางด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็น ศิลปิน, สถาปนิก, นักออกแบบ,ครูสอนศิลปะ ฯลฯ มาร่วมด้วยช่วยกัน เพราะ อ.จิ๊บเชื่อว่า ด้วยต้นทุนเดิมที่น่านมี สามารถพัฒนาไปสู่การเป็น NAN City of Arts ดังชื่อนิตยสารศิลปะ ที่ อ.จิ๊บ เป็นบรรณาธิการและทำคลอดออกมาแล้ว 2เล่ม

“ตัวนิตยสาร เราไม่ได้รับการสนับสนุนอะไรจากใคร ใช้ทุนส่วนตัว มีเพื่อนช่วยบ้าง เป็นสมาชิกบ้าง แต่ที่ทำเพราะผมเห็นว่า น่านมีทุนทางวัฒนธรรม ที่สามารถบอกเล่าให้คนภายนอกฟังได้

และสามารถเป็นเมืองศิลปะ เหมือนเมืองอื่นๆในโลกนี้ ที่เคยถูกผลักดันให้สำเร็จมาแล้ว ซึ่งถ้าเป็นไปได้ ในอนาคตก็น่าจะเป็นอะไรที่ดีสำหรับคนเมืองน่าน

แล้วความคิดในการทำโรงบ่มฯ ก็คือสิ่งที่ สืบเนื่องมาจากว่า ถ้าเราจะทำให้น่านเป็นเมืองสร้างสรรค์ เราต้องสนับสนุนให้ครบองค์ประกอบ ต้องสร้างเด็กและเยาวชน ที่จะมารับไม้ต่อ ในอนาคตด้วย”

แม้ว่า ณ ขณะนี้ โรงบ่มความคิดสร้างสรรค์ จะยังไม่เกิดขึ้น ให้ใครต่อใครเห็นเป็นรูปธรรม แต่อาจารย์จิ๊บคิดว่า ระหว่างทาง ทุกคนสามารถร่วมกันสร้าง “ภาพนามธรรม” ของโรงบ่มให้เกิดขึ้นก่อนได้

“ วันนี้เรายังไม่ได้มีอาคาร สถานที่ ที่จะเป็นศูนย์เยาวชนด้านความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็กๆได้ เราก็เริ่มรณรงค์ไปก่อน และเผยแพร่ความคิดนี้ออกไปให้มากที่สุด

ผมพยายามที่จะพูดผ่านสิ่งพิมพ์บ้าง หรือ เวลาได้รับเชิญไปพูดเวทีไหน ก็พยายามจะขายไอเดีย ท้ายที่สุด มันอาจจะไม่จำเป็นต้องมีอาคาร มีตึก หรือมีอะไรที่ใหญ่โตก็ได้ เพราะว่าสิ่งที่เราทำอยู่ มันเป็นงานของอนาคตไงฮะ แต่ให้เรากระจายความคิดนี้ไปตามที่ต่างๆ เพื่อให้ทุกคนร่วมกันบ่มเพาะคนรุ่นหลัง ที่เราใส่เรื่องของความคิดสร้างสรรค์ให้พวกเขาด้วย

โดยเฉพาะบริบทของจังหวัดน่านในปัจุบัน กระแสการท่องเที่ยวที่มีเข้ามา ก่อให้เกิดผลทั้งบวกและลบ อีกทั้ง
เรื่องของการแข่งขัน ที่ในอนาคต เมืองต้องมีการติดต่อกับชายแดนต่างๆ จึงมีความความจำเป็นที่เราต้องส่งเสริมในเรื่องของการพัฒนาคน

ผมเชื่อว่า หน่วยงานทางด้านการศึกษาเขารับไม่ทันหรอก แต่ถ้ามองว่าสิ่งที่เราต้องช่วยกัน มันเป็นเรื่องของประชาคมน่านเองที่ต้องช่วยกันคิด โดยที่มีหัวหอกก็คือ กลุ่มคนที่อยู่ในแวดวงของการสร้างสรรค์ อาจจะไม่ใช่ศิลปิน แต่อาจจะเป็นสถาปนิก นักออกแบบ หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ เพราะคนกลุ่มนี้ เขาจะรู้สึก รับรู้สถานการณ์ได้ไว และกล้าทำอะไรที่มันแตกต่าง

วันนี้ เราอาจจะเริ่มไปได้ไม่มากเท่าไหร่ อยู่ในช่วงของการรณรงค์และการขายความคิด แต่เป้าหมายใหญ่ที่สุดที่เราตั้งไว้ก็คือ เราอยากจะมีสถานที่สักที่หนึ่งที่ว่า ให้คนที่ทำงานทางด้านเยาวชน เข้าไปใช้ แต่ตอนนี้ มันก็ยังเป็นความฝันที่ยังอีกไกลอยู่ ก็อย่างที่บอก สถานที่อาจจะไม่จำเป็นที่สุด แต่สิ่งที่เราขายก็คือ ขายความคิดออกไปให้มาก แล้วมันอาจจะงอกงามเป็นกระบวนการย่อยๆที่เกิดขึ้นตามที่ต่างๆโดยเครือข่าย”

แต่ถ้าใครอยากลองวาดภาพของ “โรงบ่มความคิดสร้างสรรค์”  ขึ้นในใจ ลองนึกถึงภาพ “โรงบ่มใบยาสูบ” ควบคู่ไปด้วยก็ได้ เพราะ ความจริงแล้วที่มาของชื่อ อ.จิ๊บ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากโรงบ่มใบยาสูบนั่นเอง

“เพราะครั้งหนึ่งเราเคยไปทำแคมป์ ที่ อ.เวียงสา จ.น่าน ในพื้นที่ของโรงบ่มใบยาสูบ ที่ร่มรื่น เพราะมักจะมีต้นไม้ใหญ่อยู่ ด้วย เพราะบางทีเจ้าของเขาปลูกเอาไว้ตัดทำฟืน เพื่อที่จะป้อนสู่ กระบวนการบ่มใบยาสูบ พอเราจะทำโครงการนี้ ก็เลยใช้ชื่อนี้ ซึ่งมีเป้าหมายอยากให้ล้อกัน เอามาใช้ในแง่ของคน บ่มเพาะในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์”

หรือไม่ หลายคนคงพอจะได้เห็นภาพวาดและภาพสเก็ตช์ฝีมือ อ.จิ๊บ ที่วาดขึ้นในฐานะคนทำงานศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากสิ่งใกล้ตัว และเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ ขายความคิด

“จริงๆแล้วโรงบ่มใบยาสูบ มันเป็นพื้นที่ที่สวยนะฮะ ผมสังเกตว่า เวลาคนมาเที่ยวน่าน เขามักจะถ่ายรูปกลับไป เพราะเป็นตึกเป็นอาคารที่อยู่ในพื้นที่ ที่มีความร่มรื่น อย่างที่เชียงใหม่ มีอยู่ที่นึง ที่เขาเอาไปทำเป็นรีสอร์ต (เก๊าไม้ล้านนา รีสอร์ท เชียงใหม่ )

ผม เขียนภาพโรงบ่มไว้เยอะพอสมควร แล้วเวลานำเสนอโครงการ ก็ใช้นำเสนอควบคู่กันไป ทั้งภาพของโรงบ่มใบยาสูบในปัจจุบันและโรงบ่มความคิดสร้างสรรค์ที่อยากให้เกิดขึ้นในอนาคต

ในขณะที่มันยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้นชัดเจน แต่ในช่วงปีสองปีนี้ ทุกๆกิจกรรมที่เราทำ จะมีการพูดถึงเรื่องของโรงบ่มฯ ออกไป ให้คนในจังหวัดน่านได้รู้ว่า เดี๋ยวนี้มันมีแนวคิดแบบนี้เกิดขึ้นนะ แล้วใครที่อยากจะมาร่วมอาจจะไม่ร่วมด้วยเงินทอง แต่อาจจะร่วมด้วยความคิด ร่วมแรง ร่วมใจ เพราะเราเปิดรับคนข้างนอกให้มาร่วมด้วย”


เมื่อไม่นานมานี้ อ.จิ๊บ ถูกเชิญให้นำผลงานศิลปะบางส่วนมาจัดแสดงและร่วมเสวนาในหัวข้อ “ศิลปะ-ชีวิต-ธรรมชาติ” ณ อรุณ อิน บางกอก ถ.แพร่งภูธร (กิจการเพื่อสังคม ภายใต้การดำเนินงานของ บางกอกฟอรั่ม) ก็ด้วยเหตุผลที่ต้องการจะสื่อสารกับคนเมืองอีกทางหนึ่งว่า

“ส่วนหนึ่งเราเคยร่วมงานกับบางกอกฟอรั่ม และสอง ผมคิดว่า มันเริ่มมีกระแสของคนเล็ก คนน้อย ตามท้องถิ่นต่างๆ ที่ลุกขึ้นมาทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อจะแก้ปัญหาของตัวเอง เพราะว่าบางทีเราจะไปตั้งความหวังให้นโยบายต่างๆ ระดับประเทศ ตอบสนองชุมชนระดับรากหญ้า เป็นเรื่องที่ยาก และอยากบอกทุกคนว่า ไม่ได้มีแต่ผมหรอกที่ทำงานในลักษณะนี้ แต่ที่ผ่านมาเราเจอเครือข่ายที่ แพร่ ลำปาง และเชียงใหม่ โดยเฉพาะที่เป็นเมืองเล็กๆ ด้วยกัน

ตัวเนื้อหา กิจกรรม รูปแบบ อาจจะแตกต่างกันไป แต่ว่าหลักๆก็คือ เราพยายามช่วยตัวเอง พึ่งตนเอง ตามความถนัด หรือว่าตามศักยภาพที่เรามี โดยที่ไม่รอความช่วยเหลือจากรัฐบาลหรือว่าท้องถิ่น อย่าง อบจ. อบต. เพราะท้ายที่สุดเขาก็มีข้อจำกัดของเขา

เราในฐานะเป็นคนที่ทำงานสร้างสรรค์ ที่สามารถจะคิดอะไรได้ไกลไปจากคนอื่นสเต็ปหนึ่ง และเป็นหน้าที่ ที่เราจะต้องมาบอกกับสังคมรอบข้างว่า เรื่องของการรู้จักตนเองและการพัฒนา เราควรจะ เป็นในสิ่งที่เราอยากเป็นมากกว่า”

ระหว่างนี้ อ.จิ๊บ ครูสอนศิลปะแห่งโรงเรียน “น่านนคร” ขอทำหน้าที่เจ้าบ้าน แนะนำคนที่อยากไป “ชมน่าน” ผ่านงานศิลปะว่า

“ต้องเรียนว่าน่านทุกวันนี้ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นภาพรวมของทางเหนือด้วย ที่จะมีศิลปินค่อนข้างเยอะ ทั้งที่มีชื่อเสียงและอาจจะเป็นศิลปินทั่วๆไป ด้วยบรรยากาศของความเป็นเมืองเล็กๆ โดยเฉพาะในส่วนของน่าน นอกจากจะได้เห็นวัดวาอาราม ซึ่งเป็นสิ่งที่ภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษของเราได้สร้างไว้แล้ว

เรายังมีเรื่องของศิลปะที่เป็นความร่วมสมัย เช่นตอนนี้ น่านมีหอศิลป์ที่ใหญ่ในระดับภูมิภาค ชื่อ หอศิลป์ริมน่าน และมีกลุ่มศิลปิน ที่ทำงานเคลื่อนไหวมาพอสมควรแล้ว

แล้วที่อาจจะต่างจากที่อื่นก็คือ เรามีกลุ่มที่ทำงาน และใกล้เคียงกับแบบที่ผมทำ นั่นคือ เราไม่ได้ใช้ศิลปะเพื่อศิลปะอย่างเดียว หรือเพื่อความงามอย่างเดียว แต่ว่าเรากำลังพยายามคิดว่า ศิลปะจะสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้นหรือเปล่า ในการที่จะไปเอื้อกับคนอื่น หรือไปสร้างประโยชน์ให้คนอื่นได้ด้วย”


ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art เซคชั่น Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

Comments are closed.

Pin It