Art Eye View

ละครน้ำเน่าของวงการศิลปะ

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—“เป็นการวาดรูปที่เหนื่อยที่สุดในชีวิต 21วันเต็มๆกับการมาที่จุฬาทุกวัน …”

ตะวัน วัตุยา โพสต์ข้อความบอกกล่าวเพื่อนๆทางเฟซบุ๊คก่อนจะเชิญทุกคนให้ไปร่วมงานเปิดนิทรรศการ ‘ตีท้ายครัว’ งานแสดงเดี่ยวศิลปะครั้งล่าสุดของเขา ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ ชั้น 7 หอศิลปวิทยนิทรรศน์ ศูนย์วิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยก่อนหน้านี้เขาได้ใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นสตูดิโอชั่วคราว และเชิญผู้คนในแวดวงศิลปะทยอยมาเป็นแบบให้เขาวาดภาพสดต่อเนื่องกัน 3 อาทิตย์ จนกลายมาเป็นผลงานที่กำลังจัดแสดงในนิทรรศการ 3 ส่วน ได้แก่

วิดีโอบันทึกเบื้องหลังการวาดภาพสดชนิดมาราธอน,ภาพพอร์เทรตของแต่ละคนที่ถูกเชิญมาเป็นแบบ และภาพเปลือยของพวกเขาเหล่านั้นที่ถูกวาดอยู่บนกระดาษแผ่นใหญ่ราว 18 แผ่นต่อเนื่องกัน จนกลายเป็นผลงานชิ้นใหญ่ชิ้นเดียวบนผนัง และถือเป็นหัวใจสำคัญของนิทรรศการครั้งนี้

เมื่อ 3 ปีก่อน ตะวันเคยจัดแสดงผลงานชุด Uniform/Uniformity ซึ่งเป็นภาพวาดของกลุ่มคน อาทิ นางงาม นักเรียน ลูกเสือ และคนอีกหลายกลุ่ม วาดด้วยเทคนิคสีน้ำ เช่นเดียวกันกับผลงานในนิทรรศการครั้ง แต่เป็นการวาดที่ได้ภาพต้นแบบมาจากแมกกาซีนและอินเตอร์เนท

“เรา (เขากับภัณฑารักษ์ Myrtille Tibayrenc) เลยมาคุยกันว่า ทำไมผมไม่วาดคนในกลุ่มของผมบ้าง คือคนในวงการศิลปะ”

วาดสดด้วยสีน้ำ บนกระดาษแฮนด์เมด

แต่ก็ใช่ว่าเขาไม่เคยวาดคนวงการเดียวกันไว้ในผลงานเลย เพราะในนิทรรศการ Uniform/Uniformity มีหนึ่งภาพที่เป็นภาพเปลือยในเชิงล้อเลียนศิลปินใหญ่และเจ้าของแกลเลอรี่ อยู่ท่ามกลางศิลปินหญิงรุ่นใหม่ที่ศิลปินใหญ่ท่านนี้ทำหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์ให้ แต่มันก็ไม่ใช่การวาดภาพสด เพราะภาพต้นแบบนั้น ตะวันได้มาจากภาพที่ถูกเผยแพร่ อยู่ในนิตยสารบางฉบับ

“เมื่อต้นปี (2556) ผมเริ่มจะใช้แบบสดในการวาดภาพ เพราะเมื่อก่อนผมจะใช้รูปถ่ายอย่างเดียว ทั้งจากแมกกาซีน จากอินเตอเน็ท

เมื่อเริ่มใช้แบบสด ตอนแรกก็ยังคิดอยู่ว่านิทรรศการคราวนี้ ผมจะทำบนผ้าใบหรือว่าทำบนกระดาษ เพราะสองปีมานี้ผมกลับมาวาดภาพสีน้ำมันบนผ้าใบด้วย

แต่ผมคิดว่า ผมอยากจะทำงานบนกระดาษ อยากจะลองใช้กระดาษแฮนด์เมดของไทย เพราะว่าที่ผ่านมาจะใช้แต่กระดาษนำเข้าตลอด ก็เลยคิดว่าจะวาดภาพด้วยสีน้ำ

จากนั้นก็เลยไปตามหาแหล่งทำกระดาษที่ลำปาง จากโรงงานไอดินเปเปอร์มิลล์ ซึ่งผลิตและจำหน่ายกระดาษสา ศิลปินไทยหลายๆคนก็ใช้ และส่วนหนึ่งโรงงานเขาทำส่งนอกด้วย”

วิธีคัดเลือกคนในแวดวงศิลปะของเมืองไทยทีมีอยู่จำนวนไม่น้อยมาเป็นแบบให้วาดสด ตะวันกล่าวว่า เป็นการคัดเลือกร่วมกับระหว่างเขากับภัณฑารักษ์

“เริ่มจากผมทำรายชื่อขึ้นมา และ มีมี่ เขาก็ทำของเขา แล้วมาดูร่วมกันว่าเราควรจะวาดใครบ้าง ซึ่งมันก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอด ตอนแรกกะจะวาด 80 คนแล้วก็มาตัดเหลือ 40 คน แล้วก็กลายเป็น 100 คน จนท้ายที่สุดแล้วเกือบ 130 คน

คือเราจะแบ่งกลุ่มว่า เราต้องการให้มีทั้ง ศิลปิน นักสะสมงานศิลปะ เจ้าของแกลเลอรี่ อาจารย์สอนศิลปะ นักวิจารณ์ แต่ปริมาณที่เยอะสุดก็คือศิลปิน และมีหลายรุ่น ทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นกลาง และรุ่นเล็ก

ตอนแรกผมก็คาดเดาว่า แบบทั้งหมดน่าจะสามารถมาได้สัก 40 คน ซึ่งผมก็แฮปปี้แล้ว เอาเข้าจริงมาร่วม 80 กว่าคน”

เพราะส่วนที่เหลือรวมกันเป็นจำนวนกว่า 130 คนนั้น เป็นส่วนที่ตะวันได้วาดเสริมเข้าไป



เมื่อคนศิลปะ เปลือยหมู่

สิ่งที่หลายคนสงสัย ทำไมเขาต้องวาดแบบแต่ละคนให้อยู่สภาพเปลือย และบางรายดูอล่างฉ่างยิ่งนัก โดยเฉพาะศิลปินรุ่นใหญ่ชื่อดัง

“ผมมีเหตุผลอยู่ว่าทำไมผมต้องเปลือย แต่ผมไม่อยากบอก เพราะผมอยากให้คนมาดูแล้วคิดเอาเอง แต่พวกเขาก็คงคิดอย่างที่ผมคิด แต่ผมไม่สรุป ผมรู้สึกว่าภาพวาดมันมีภาษาของตัวมันเอง มันบอกเวลาเรามองมัน เพราะฉะนั้นผมไม่ต้องไปบอกว่าผมคิดอะไร คนอื่นคิดไม่เหมือนผมก็ได้ แต่ผมมีเหตุผล(หัวเราะ) ทำไมต้องแก้ผ้า แต่ผมไม่อยากบอก

อาจจะคิดกันไปได้หลายทาง บางคนก็อาจจะคิดเหมือนผมก็ได้ แต่ผมไม่อยากจะให้คนได้ยินไอเดียของผมก่อนที่เขาจะมาดู เหมือนเขาจะถูกกำหนดกรอบไปแล้วว่าศิลปินเขาคิดแบบนี้นะ แล้วเขาก็ต้องมามองไปในทางเดียวกับผม ผมไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น”

แต่เมื่อถูกผู้ชมผู้ฟังรายอื่นถามย้ำอีกครั้งในช่วง Artist Talk ว่าทำไมต้องวาดให้เปลือย และมีใบหน้าที่เบลอ แม้คนในแวดวงศิลปะด้วยกันจะพอเดาออกได้ไม่ยากว่า ใครเป็นใครอยู่มุมไหนของภาพ คราวนี้ตะวันเริ่มบอกถึงเหตุผลอีกนิดหน่อยว่า

“ผมอยากให้ทุกคนอยู่ในเครื่องแบบเดียวกัน ซึ่งการแก้ผ้าก็เป็นเครื่องแบบอย่างหนึ่ง และทำไมต้องวาดหน้าให้เบลอ เพราะกระดาษที่ผมใช้มีความพิเศษคือ ตอนที่ป้ายสีจะเป็นอีกแบบหนึ่ง หลังจากนั้นจะกลายเป็นอีกแบบหนึ่ง”

ตะวันยังบอกเล่าอีกด้วยว่า ปีนี้เป็นช่วงเวลาที่เขาอยากจะวาดภาพขนาดใหญ่ดูบ้าง และหลังจากที่มีคนแนะนำให้ไปชมภาพนูนต่ำที่กัมพูชาและเมื่อต้นปีได้มีโอกาสเดินทางไป เขาจึงได้ไอเดียส่วนหนึ่งมาวาดภาพชิ้นใหญ่ในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย

“ปีนี้ผมมีหลายโปรเจ็กต์ต้องทำ แต่ส่วนใหญ่เป็นงานกลุ่ม หลังจากที่กลับมาจากกัมพูชา ผมเริ่มโฟกัสกับการทำงานมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ติดกับการดูทีวี ดูละครน้ำเน่าทั้งวันทั้งคืน ผมเลยอยากทำภาพวาดนี้ให้เป็นคล้ายกับละครไทยเรื่องหนึ่ง”


ต้องแก้ผ้าไม๊ ?

ส่วนเรื่องการวางแอคชั่นของแต่ละคนในภาพหรือการจะวาดแต่ละคนไว้ที่มุมไหน

“ผมด้นเอาหรือจะเรียกว่ามั่วก็ได้ บางครั้งก็ออกไอเดียให้แบบทำท่าทาง ภาพมันมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เพราะแบบแต่ละคนผมก็ไม่รู้ว่าใครจะมาก่อนมาหลัง”

มีแบบคนไหนในภาพของคุณที่ปฏิเสธไม่มาเป็นแบบให้ตั้งแต่แรกไหม? ผู้ชมผู้ฟังอีกรายตั้งคำถาม

“มีครับ.. แต่ที่มาแล้วไม่โอเคไม่มี มีแต่อยากจะแก้ผ้าจริงๆเลย เราปล่อยให้แก้ผ้าไม่ได้เพราะทางจุฬาฯขอไว้ ส่วนตัวผมเองก็อยากจะให้แก้จริงๆ”

เช่นเดียวกันกับสิ่งที่ตะวันได้ให้สัมภาษณ์ก่อนจะเริ่มรายการสนทนาว่า คำถามที่แบบแต่ละคนมีให้กับการทำงานครั้งนี้ของเขามากที่สุดเมื่อทุกคนมาถึงคือ

“ต้องแก้ผ้าไม๊ (หัวเราะ) ผมว่าไม่ต้อง คือวันแรกๆต้องอธิบายเยอะหน่อย เพราะว่ามันมีแต่กระดาษขาวๆปูเต็มไปหมด แต่ซักปลายๆอาทิตย์แรกที่มาทำงาน เริ่มไม่ต้องพูดแล้ว เพราะว่า ทุกคนที่มาก็ถ่ายไปลงเฟซบุ๊คแล้วโพสต์ไปแปะหน้าวอลล์ของผมบ้าง มันทำให้ทุกคนรู้แล้วว่าโปรเจ็กต์นี้คืออะไร เห็นว่ารูปที่ผมวาดมันเป็นรูปคนแก้ผ้า เขาก็เลยสงสัยว่า เขาต้องแก้ผ้าจริงๆด้วยไหม

ซึ่งวันแรกเลยนะ คุณเพชร โอสถานุเคราห์ มาเป็นแบบ คุณเพชร ถอดเสื้อ ถอดกางเกงเลย ผมก็เลยบอกว่า ไม่สามารถให้แก้ผ้าได้นะ เพราะมีวงจรปิดอยู่ ก็เลยถอดแค่เสื้อ และนุ่งกางเกงขาสั้น เหมือนเขารู้ว่าผมชอบวาดรูปคนแก้ผ้า เขาก็เลยเหมือนอยากจะอำผม แกล้งผม”


ครัวที่ชวนให้ไปตี มี 'ละครน้ำเน่าของวงการศิลปะ' ให้ไปดู

เมื่อถูกถามว่า “ตีท้ายครัว” ชื่อนิทรรศการมีนัยยะที่ศิลปินต้องการจะสื่อสารอะไรกับผู้ชม ตะวันตอบว่า

“ส่วนตัวผมก็ไม่ได้ชอบชื่อนี้นักหรอก (หัวเราะ) ภัณฑารักษ์เขาชอบ คือเราทำงานด้วยกันเราแชร์ไอเดียกัน ในเมื่อยังหาชื่อที่มันเหมาะสมกว่านี้ไม่ได้ เราก็เอาชื่อนี้

มันก็เหมือนเราเชิญแบบมา แล้วเหมือนเราล้วงอะไรบางอย่างจากเขา มันเป็นคำอุปมาอุปไมยเพื่อขำๆมากกว่า จริงๆแล้ว โปรเจ็กต์นี้ผมอยากให้คนที่มาสนุกสนาน ซึ่งส่วนใหญ่แบบทุกคนก็จะแฮปปี้ แล้วใครที่มาผมจะวาดภาพพอร์ตเทรตให้เป็นการขอบคุณ
การทำงานชุดนี้ มันสำคัญทั้งกระบวนการ ตั้งแต่เริ่มเชิญคนมาแล้วเรามีปฏิสัมพันธ์กัน แล้วก็หัวใจสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่ ผมวาดออกมาสวยหรือไม่สวย เหมือนไม่เหมือน มันอยู่ที่ว่าเราได้มีปฏิสัมพันธ์กันมากกว่า แล้วบางทีแบบเขาก็ได้มีปฏิสัมพันธ์กันเองด้วย มันก็เลยเกิดอะไรขึ้นมาที่เราไม่ได้วางแผนหลายอย่าง

เพราะผมก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นยังไง ผมไม่ได้คิดหรอกว่าใครจะอยู่ตรงไหน บางคนก็ตัวใหญ่ บางคนก็ตัวเล็ก บางคนก็วาดให้เปลี่ยนสี บางคนก็อาจจะมีเสื้ออยู่”

เขาหมายถึงภาพวาดชิ้นใหญ่ซึ่งเป็นหัวใจของงานนี้ ซึ่งในช่างท้ายของ Artist Talk ได้ถูกตั้งคำถามจาก ประพล คำจิ่ม อาจารย์ประจำ คณะศิลปกรรมศาสตร์ และหัวหน้าหอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยว่า ภาพๆนี้ คือละครน้ำเน่าของวงการศิลปะหรือเปล่า?

ตะวันตอบว่า “คำถามนี้เป็นคำตอบอยู่ในตัว”

ก่อนที่ทุกคนแยกย้ายออกจากห้องประชุม ร่วมพิธีเปิด และทยอยเข้าสู่ห้องนิทรรศการ เพื่อไปยืนดูละครเรื่องหนึ่ง ที่มีผู้ชมส่วนใหญ่เป็นนักแสดงในเรื่อง

Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : ปวริศร์ แพงราช และ นิทรรศการ ตีท้ายครัว







นิทรรศการศิลปะ ‘ตีท้ายครัว’ โดย ตะวัน วัตุยา เปิดแสดง วันที่ 10 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2556

ณ หอศิลปะวิทยนิทรรศน์ ชั้น 7 สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โทร.0-2218-2965

หอศิลป์เปิดทำการ จันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-19.00 น. เสาร์ เวลา 09.00-16.00 น. ปิดวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์


ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW www.astvmanager.com และ เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It