Art Eye View

อยู่ “เมืองคนลวง” ผมขอพูดเรื่องจริง “มงคล เกิดวัน”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—เป็นคนตรงเลือดสุพรรณ พูดจาขวานผ่าซาก ผู้ผ่านการถูกลวงมานับครั้งไม่ถ้วน

เมื่อถึงเวลาพูดอะไรผ่านงานศิลปะ ในฐานะศิลปินหนึ่ง มงคล เกิดวัน อยากจะขอพูดเรื่องจริง

“คือเรื่องที่คนเขาไม่พูดกัน ผมชอบพูด แต่บางเรื่องพูดเป็นคำพูดออกมาไม่ได้ ผมจึงต้องพูดผ่านสิ่งที่มันเป็นรูปธรรม นั่นคืองานศิลปะ”

และการพูดเรื่องจริงในลักษณะนี้ ก็เคยทำให้เขาได้รับรางวัล 'ศิลปกรรมแห่งชาติ' มาแล้วหลายครั้ง

ตัวอย่างเช่นผลงานศิลปะเทคนิคสื่อผสมชิ้นหนึ่งที่เคยได้รับ 'รางวัลเหรียญทอง' มงคลสะท้อนเรื่องราวของชุดนักศึกษาที่เปลี่ยนผ่านจากยุคเสื้อยาวคลุมต้นแขน นุ่งกระโปรงบนสะดือ ไปสู่เสื้อตัวเล็กยกแขน นุ่งกระโปรงใต้สะดือ ไม่ใช่ต้องการแอนตี้ แต่ต้องการสะท้อนเรื่องจริง

“งานที่ได้เหรียญทอง เป็นงานสื่อผสมที่มีลักษณะเป็นผู้หญิงตัวสูงๆในท่าทางต่าง ซึ่งเป็นคตินิยมของสาวยุคนั้นที่ต้องตัวเพียว ทำยังไงก็ได้ให้ขายาวไม่ว่าจะใส่ส้นสูง นุ่งกระโปรงสั้นๆ โชว์น่อง”

เมืองคนลวง

และในวัย 44 ปีนี้ ซึ่งกำลังมีผลงานศิลปะจัดแสดงเดี่ยวเป็นครั้งแรก ( อดีตนักศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาศิลปะไทย และปริญญาโท สาขาประติมากรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร และปัจจุบันเป็นอาจารย์สาขาทัศนศิลป์ ภาควิชาศิลปกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ) ก็เป็นอีกครั้งที่อยากจะพูดเรื่องจริงผ่านงานศิลปะ และในฐานะผู้ถูกลวงมาบ่อยครั้ง จึงใช้ชื่อนิทรรศการครั้งนี้ว่า เมืองคนลวง

“ส่วนตัวผมกับภรรยา ชอบขี่จักรยานเพื่อการท่องเที่ยว และมักจะพบเจออะไรที่มันดูแล้วเสแสร้ง แม้แต่คนในวงการจักรยานด้วยกันก็เสแสร้ง ชอบโชว์ บางทีก็หลอกเรา เราอยากได้อุปกรณ์อย่างนี้ มันก็ยัดอย่างนั้นมาให้

ทุกวงการมีหมดแหล่ะคนที่ชอบโชว์ออฟ แม้กระทั่งวงการศิลปะของเรา ก็มีทั้งเรื่องจริงกับเรื่องไม่จริงอยู่แล้ว พอเวลานำเสนองานศิลปะก็ไม่ค่อยมีคนนำเสนอเรื่องจริง จากสปิริตของเราจริงๆ อาจจะด้วยความกลัว กลัวจะขายงานไม่ได้ เดี๋ยวประธานที่มาเปิดงานให้จะไม่ซื้อ กลัวจะผิดธรรมเนียมประเพณี เดี๋ยวทำไปแล้วเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ กลัวไปหมด

ไอ้เรื่องแบบนี้มันอยู่ในใจเราเตลอดเวลา ผมต้องการทำงานศิลปะที่มันเป็นเรื่องจริง ถ้าเรารู้สึก แสดงออกมาเลย แต่วิธีในการนำเสนอ มันอยู่ที่เทคนิคของเราว่าเราจะนำเสนออย่างไร”

คำว่า “เมืองคนลวง” ได้ผุดขึ้นในใจอย่างชัดเจน บนเส้นทางที่ปั่นจักรยานจาก จ.สระบุรี มุ่งสู่ จ.พิจิตร เพื่อไปเที่ยวบ้านของรุ่นน้องคนหนึ่ง เมื่อไม่กี่ปีมานี้นั่นเอง

ซึ่งตลอดระยะทาง นอกจากทุกคนที่ร่วมทริปไปด้วยกัน จะมีประสบการณ์จากการถูกลวงมาแลกเปลี่ยนกัน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับบ่อน้ำมันที่สุพรรณบ้านเกิดเขา,เหมืองแร่ที่ภูเก็ต บ้านเกิดภรรยา และเหมืองทองคำที่พิจิตรบ้านเกิดรุ่นน้อง

ในระหว่างทางและขณะหยุดพัก ณ อำเภอๆหนึ่ง พวกเขาก็มิอาจหลีกพ้นจากเรื่องลวงๆไปได้เช่นกัน

“เมืองท่องเที่ยวจะไม่ค่อย สนใจคนไทยด้วยกัน ไปไหนก็ตาม ถ้าเป็นคนไทยด้วยกันจะเมินหน้าหนี จะยี้เรา ผมรู้สึกว่า ไอ้เหี้ย คนไทยด้วยกัน ทำไมมึงไม่ดูแลวะ ถามอะไร ก็หลอก เช่น หลอกให้ไปพักโรงแรมผีสิงห์ เหมือนในหนังเรื่องบุปผาราตรี

พอไปถึงที่พัก เข้าพักประมาณเที่ยงคืน ยังไม่ทันได้กินข้าว ก็ถามแม้ค้าแถวนั้นว่า พี่ขายตลอดทั้งคืนไหม เดี๋ยวพวกผมจะมากิน ขออาบน้ำก่อน แกบอกว่าขายตลอดแหล่ะ มากินสิ พออาบน้ำอาบท่าเสร็จ เดินกันออกมา ปรากฎว่าปิดแล้ว ด้วยความหิว เฮ้ย…กูต้องขี่จักรยานไปกินอีกประมาณสองกิโล หรือวะเนี่ย ก็คุยกันว่า ไอ้เหี้ย นี่มัน 'เมืองคนลวง' นี่หว่า ผมก็เลยเอาคำนี้มาตั้งเป็นชื่อนิทรรศการ“

ทำไมคนเราไม่ชอบพูดเรื่องจริง

และมันตรงกับผลงานศิลปะในนิทรรศการชุดนี้ของเขา ที่ทำมาตลอดระยะเวลา 10 ปี โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจาก คนในสังคมไม่ชอบพูดเรื่องจริง

“ทำไมคนเราไม่ชอบพูดเรื่องจริงกัน ทั้งๆที่เรื่องจริงมันก็อยู่รอบตัวเรา คือผู้ใหญ่สมัยนี้ไล่ไปเลย ตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้าน,กำนัน, ส.ส. ไปจนถึงรัฐมนตรี ไม่เคยยอมรับความจริง

ทั้งที่สังคมมันมีความจริงอยู่ แล้วเวลาตัวเองเข้าไปเป็นรัฐมนตรี หรือเป็นผู้นำอะไรสักอย่าง ไม่เคยยอมรับความจริงจากบริบทรอบๆตัว แล้วพอตัวเองทำอะไรที่ไม่ดี ก็เสือกไม่ยอมรับอีก แต่เวลาที่คนอื่นพูดเรื่องจริงกับบอกว่า คุณพูดอย่างนี้ได้ไง

ผมมีความรู้สึกว่า อีกไม่นานผมก็แก่แล้ว ผมบอกตัวเองไว้เลยว่า ผมจะไม่เป็นคนแก่แบบนั้นเด็ดขาด ที่คอยแต่ไปว่าวัยรุ่นทำไมทำแบบนั้นแบบนี้ ลูกศิษย์ผมจะทำอะไร ทำได้หมดเลย เป็นเรื่องของเขา วัยของเขา เราต้องสนับสนุนเขา พยายามหาพื้นที่ให้เขา

ปัญหาของวัยรุ่นไทยมีอยู่ 2 อย่าง ถ้าไม่ตีกันก็อะไรสักอย่าง ผู้ชายชอบตีกัน มีปัญหาเรื่องเด็กแว้น เพราะคุณที่เป็นผู้ใหญ่ ไม่ให้เกียรติเขา ไม่มีพื้นที่ให้เขา มีแต่ห้ามปราม และจับเขา แล้วพอจับคุณก็จับได้ไม่จริง เพราะว่าเด็กวัยรุ่นเหล่านั้นก็คือลูกหลานคุณ เป็นลูกรัฐมนตรีทั้งนั้น ที่เลวๆ แบบเข้าขั้นเลยนะ

แต่วัยรุ่นทุกวันนี้ ที่เป็นลูกชาวบ้านทั่วไป ไม่ได้มีเจตนาที่จะเป็นคนเลวเลย เขาเพียงแค่อยากแสดงออกในภาวะอารมณ์แบบวัยรุ่น แต่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราไม่สนับสนุน ไม่หาพื้นที่ให้เขา เอะอะอะไรก็ไปอ่านหนังสือ ไปเรียนพิเศษ ผมคิดอย่างนี้นะ แต่ผมพูดออกไปอย่างนั้นทั้งหมดไม่ได้ ผมก็เลยเอามาแสดงเป็นงานศิลปะ งานมันก็เลยออกมาเป็นแบบนี้”

ประติมากรรมและภาพถ่าย แรงแต่จริง

งานศิลปะที่ประกอบด้วยงานประติมากรรมรวม 6 ชุดด้วยกัน และอีกส่วนหนึ่งเป็นภาพถ่ายของบรรดานายแบบนางแบบที่มงคลเชิญคนใกล้ตัว (อาทิ วุฒิกร คงคา ศิลปินและอาจารย์ร่วมคณะ,แม่บ้านมีหนวด ซึ่งเป็นที่รู้จักในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ค ผ่านภาพถ่ายเรียกรอยยิ้มที่ใช้ตัวเองเป็นแบบ ซึ่งตัวจริงนั้นเป็นลูกศิษย์สาขานิเทศศาสตร์ของภรรยาของมงคลนั่นเอง รวมไปถึงบรรดาลูกศิษย์สาว)มาร่วมแสดงแบบคู่กับงานประติมารรม ตามคอนเซ็ปต์ที่คิดขึ้น

“คือผมไม่ชอบงานประติมากรรมแบบที่ตั้งอยู่บนฐานของมัน แล้วคนดูก็ได้แค่เพียงยืนดูอยู่ห่างๆเท่านั้น ผมอยากให้งานมีการสัมผัสได้ เพื่อให้เข้าถึงสปิริตที่ผมต้องการมากที่สุด ผมจึงเลือกวิธีเสนอผ่านงานภาพถ่าย เพราะทุกวันนี้ ใครๆก็อยากถ่ายภาพ ใครๆก็อยากเป็นดารา วันๆทุกคนก็จะก้มหน้ากดไอโฟนกันท่าเดียว อยากเป็นดารา ใครๆก็เป็นดาราได้ ผมรู้สึกอย่างนั้นนะ”

ซึ่งภาพถ่ายเหล่านี้ รวมถึงภาพถ่ายประติมากรรมแต่ละชิ้นไปปรากฎอยู่ในสูจิบัตร ที่มงคลปรารถนาให้เป็นมากกว่าสูจิบัตร แต่เป็นเสมือนแมกกาซีนเล่มหนึ่ง และภายในยังประกอบไปด้วยงานเขียนและบทความของบรรดานักเขียนรับเชิญที่เขาเชิญมาเขียนเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับผลงานศิลปะของเขาโดยตรง

“ผมไม่อยากให้คนซื้อสูจิบัตรผมไปหนุนหัว มันต้องมีอะไรที่มากกว่าภาพผลงานไม่ใช่แค่เอางานของผมมาถ่ายภาพแล้วพิมพ์เป็นเล่มแล้วก็แจกไป เพราะบางคนก็ไม่ได้ชอบดูภาพ แต่ชอบอ่าน และบางคนก็ไม่ชอบอ่านเรื่องของศิลปินก็มี”

ส่วนหนึ่งอาจเพราะเขาพยายามจะหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำแรงๆ ที่ได้ถูกตั้งเป็นชื่อของงานประติมากรรม และภาพถ่าย ด้วยเหตุผลว่าต้องการให้เกียรติสถานที่ซึ่งเปิดโอกาสให้เขาจัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้ แต่คำเหล่านั้นไปปรากฎอยู่ในสูจิบัตรทั้งหมด

“การแสดงงานของผมครั้งนี้ เป็นเรื่องของตัวผมเอง เรื่องที่ผมอยากจะพูดในฐานะศิลปินคนหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับสถาบัน ในสูจิบัตรผมไม่แคร์ว่าผมจะใช้คำอะไร เพราะมันเป็นเรื่องของผม แต่เราก็ยังต้องให้เกียรติสถาบันว่า ภาษาแบบนี้มันเป็นภาษาส่วนบุคคล ต้องเก็บภาษานี้ไว้ในสูจิบัตรของเรา”

แต่เป็นคำจำกัดความของเรื่องจริงในสังคมหลายเรื่องที่ทุกคนต้องยอมรับ

“ผมไม่ต้องการทำงานศิลปะในแบบที่ต้องอุปโลกน์ตนเองว่าเป็นเทวดา อยู่บนสวรรค์ลอยได้ อิ่มทิพย์ มันไม่ใช่

คนทำงานศิลปะ มันก็คนธรรมดาสามัญเหมือนกัน กิน ขี้ ปี้ นอน เหมือนกัน พูดภาษาเดียวกัน เพียงแค่การนำเสนอความคิดมันมีรูปแบบที่ไม่เหมือนคนอื่น

ส่วนตัวผมไม่ชอบคุยเรื่องศิลปะกับคนที่ทำงานศิลปะและไม่ชอบคุยกับศิลปินด้วย ผมชอบคุยกับชาวบ้าน ศิลปินไทยหลายคนที่เรารู้จัก มันจับต้องยาก ผมเลยคิดว่าถ้าผมได้มีโอกาสแสดงงาน ผมจะแสดงเรื่องที่มันพื้นๆ มากๆ เรื่องจริงมากๆ ใครๆก็รู้ ไม่ต้องพูดถึง สภาวะจิต หรืออะไรที่มันพิสดาร เพราะผมรู้สึกว่าทำไมมันดูเข้าใจยากจังวะ ผมอยากจะทำเรื่องที่มันเป็นเรื่องง่ายๆ ที่มันเป็นเรื่องจริง”


โปรดใช้ “เสรีภาพ” ในการรับชม

เมื่อค่อยๆ ไล่สายตาชมไปจนครบทั้ง 6 ชุด ต่อไปนี้คือชื่อของประติมากรรมที่สร้างจากวัสดุหลากหลายประเภท และภาพถ่าย ที่มีแรงบันดาลใจฉบับย่อ ดังนี้(ขออภัยหากต้องใช้คำไม่สุภาพ)

“กระดอเลี่ยมทอง” หนุ่มในสังคมเซเลบริตี้ ที่มีหญิงสาวให้ควงไม่ซ้ำหน้า จะทำธุรกิจอะไรก็ดูจะประสบความสำเร็จไปเสียหมด และถ้ามีคุณสมบัติ “รูปหล่อ พ่อรวย ควยใหญ่” อยู่ครบ หญิงสาวน้อยคนนักจะปฏิเสธ

Repair มีผู้หญิงคนไหนบ้างที่ไม่อยากจะสวยและดูดี ถ้าวันใดวันหนึ่งพวกเธอคิดจะพึ่งศัลยกรรมบ้าง ไม่ว่ากับส่วนไหนของร่างกาย จงปล่อยให้พวกเธอได้ใช้สิทธิ์นั้น เพราะมันคือ “เส้นทางลูกผู้หญิง” ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตอยากจะสร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้กับตัวเองโดยไม่เดือดร้อนผู้ใด

“บัณฑิตตลาดนัด” ผู้เรียนหนักยังไม่พอ แต่ยังมีภาระหนักส่งตัวเองเรียน และยอมรับเถอะน่าเรื่องนักศึกษาขายตัวส่งตัวเองเรียน พวกผู้ใหญ่หลายคนก็ชอบซื้อบริการจากพวกเธอมิใช่หรือ

กรอกหูกันอยู่นั่นว่าการศึกษาคือการลงทุน แล้วไหนทุนที่ควรจะให้ได้และให้เปล่า เห็นมีแต่โครงการให้กู้ที่ดูสวยหรูเหมือนว่าช่วยเหลือ แต่ถามหน่อยคือการซ้ำเติมไหม? กู้แล้ว ค่าหน่วยกิจแพงขึ้น  จบออกไปเป็น “บัณฑิตเงินกู้” หางานทำยังไม่ทันจะได้ แต่มีหนี้ก้อนใหญ่ติดตัวไปพร้อมใบปริญญา

“หมื่นเก้าพันหกร้อยเก้าสิบห้า” ชื่อของงานประติมากรรมดินเผาที่มีลักษณะคล้ายหัวต่างๆ ตั้งชื่อตามตัวเลขที่มีความเกี่ยวพันกับมงคล เพราะถ้าลองเอา 365 ไปหาร ก็จะได้ 44 เท่ากับอายุของเขาพอดี

นอกจากนี้เขายังทำหน้าที่เป็นนายแบบในส่วนของภาพถ่ายด้วยตนเอง งานชุดนี้อยากจะบอกทำนองว่าทุกคนต่างมีหัวโขน ที่ถูกยัดเยียดให้ตั้งแต่เด็ก ไม่มีสิทธิที่จะได้ใช้หัวที่แท้จริงของตัวเอง แถมยังหัวโขนนั้นไปหลอกคนอื่นว่าเป็นหัวที่ดี “คน หัว ควย” มงคลอยากสบถคำนี้จริงๆ เพราะคุณคู่ควร

“สังคมนิยม” สังคมใหญ่ที่ประกอบด้วยสังคมเล็กๆ แต่ไม่ให้ความสำคัญกับสังคมเล็กๆ กำหนดทุกอย่างให้เป็นทิศทางเดียวกันหมด จนทำให้ความเป็นสังคมเล็กๆถูกทำลาย “สังคมสีคราม” นี่ก็สังคมหนึ่ง อย่าได้หลงลืมว่าหนึ่งสังคมมีคนหลากหลายเพศ

“สุสานความเลว” ทำไมจะมีบ้างไม่ได้ เพราะโลกไม่ได้มีแต่คนดีที่เราต้องสร้างอนุสาวรีย์ให้ และคนจะดีหรือเลวได้ ก็เพราะ “โรงเพาะชำ” อยู่ที่การเลี้ยงดู การบ่มเพาะ เหมือนต้นไม้

“ผมไม่อยากให้ใครมาดูงานผมโดยการใช้ตาดูอย่างเดียว ควรใช้สมองดู ไม่ได้บอกว่าคนที่ดูงานศิลปะต้องฉลาดนะ หรือคนที่สะสมงานศิลปะคือคนที่มีสติปัญญา ไม่ใช่นะ คนทุกคนมีความดี มีความเลว มีความโง่อยู่ในตัวอยู่แล้ว เพียงแค่คุณเลือกใช้ช่วงเวลาไหน มาดูงานผม คุณไม่ต้องเป็นคนดีก็ได้ คุณไม่ต้องเป็นคนฉลาดก็ได้ เพียงแค่คุณเป็นคนที่มีเสรีภาพ ที่มันไม่จำกัดว่าคุณต้องเป็นคนประเภทไหน ผมเชิญชวนให้มาดูงาน

เหมือนผม ผมอายุมากแล้ว ไม่อยากมีคนมาสั่งสอน ผมพูดกับเพื่อน กูอายุ 40 เมื่อไหร่นะ กูไม่สนแล้วโลกนี้ เพราะรู้แล้วว่าเราอยู่ในประเทศนี้ในลักษณะแบบนี้ เราจะต้องปฏิบัติยังไง เวลาก็เหลือไม่กี่ปีแล้ว ถึง 60 ปี จะไปทำอะไร ผมจะทำงานได้ขนาดนี้หรือ เดี๋ยวคนก็หาว่าผมตัณหากลับ อายุ 60 ยังมาปั้นกระจู๋ ผมก็ต้องใช้ช่วงเวลานี้ที่เหมาะสม“

เมืองคนลวง โดย มงคล เกิดวัน

วันนี้ – 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 เวลา 08.30-16.00 น. ณ หอศิลป์คณะจิตรกรรมประติมากรรมภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ

Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : วรวิทย์ พานิชนันท์







ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It