Art Eye View

“เราเป็นแค่จุดเล็กๆ ไม่ใช่แค่บนโลกใบนี้” พงสวัฒน์ ดุษฎีโหนด ช่างภาพมือสมัครเล่นผู้หลงใหล “ทางช้างเผือก”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—จากภาพครอบครัว ภาพเพื่อนที่โรงเรียน ภาพดอกไม้ที่ภรรยาเป็นคนลงแรงปลูก

หลายปีมาแล้วที่ความสนใจของ พงสวัฒน์ ดุษฎีโหนด (ช่างภาพผู้ยังขอเรียกตัวเองว่ามือสมัครเล่น )ได้ทอดยาวไปไกลบนทางสายหนึ่งบนท้องฟ้า ที่เราเรียกกันว่า  ทางช้างเผือก  หรือ Milky way

“ผมเริ่มสนใจถ่ายภาพมาตั้งแต่เด็ก เพราะที่บ้านชอบถ่ายภาพ และจะมีภาพครอบครัวอยู่เยอะมาก เห็นแล้วทำให้อยากถ่ายภาพเป็นบ้าง พออยู่มัธยมก็จะขอยืมกล้องของคุณพ่อไปถ่ายภาพที่โรงเรียนเวลามีงาน ถ่ายมาเรื่อยๆครับ บางช่วงก็หยุดถ่ายไปหลายปี พอทำงานก็ไม่ค่อยได้ถ่าย

พอแต่งงาน ภรรยาชอบดอกไม้ แล้วก็ปลูกดอกไม้ไว้ที่บ้านเยอะมาก ก็เลยกลับมาถ่ายใหม่อีกครั้ง ยิ่ง 2-3 ปีหลัง ถ่ายบ่อยขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นภาพธรรมชาติ ดอกไม้ใบหญ้า

แต่ก่อนหน้านี้เมื่อ ปี 2541-2542 ตอนนั้นมีปรากฏการณ์ฝนดาวตก ทำให้เริ่มสนใจมองฟ้าตอนกลางคืน อยากถ่ายให้ได้ภาพที่ดี โดยพยายามดูหาดูภาพจากอินเตอร์เนตไปเรื่อย จนไปเจอภาพถ่ายทางช้างเผือก จึงเริ่มสนใจ อยากถ่ายได้บ้าง”



ปลายฝน ยลทางช้างเผือก

สำหรับคนที่ยังไม่รู้จักว่า “ทางช้างเผือก” คืออะไร ? นอกจากเคยอินกับ “วิญญานฉันรอที่ทางช้างเผือก” บางท่อนในบทเพลงประกอบละครเรื่อง “คู่กรรม” และความรู้ที่เคยได้รับในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ก็ได้ส่งคืนครูไปเรียบร้อยแล้ว พงสวัฒน์ ช่วยอธิบายให้เข้าใจง่ายๆว่า

“ทางช้างเผือก คือ กาแล็กซี่ ที่เราอยู่ กาแล็กซี่ทางช้างเผือก แต่โลกของเราอยู่ประมาณขอบๆของกาแล็กซี่ ภาพถ่ายทางช้างเผือก ที่ผมถ่ายติดกลุ่มดาวเป็นกลุ่มใหญ่ที่เห็นนั่นคือใจกลางของกาแล็กซี่ แต่เราไม่สามารถเห็นใจกลางของกาแล็กซี่ได้ตลอด เพราะโลกของเราโคจรไปเรื่อยๆ บางครั้งก็หันออกนอกกาแล็กซี่ จึงทำให้เราไม่เห็นใจกลางของมัน”

เขาบอกด้วยว่า ช่วงปลายฝน หรือช่วงเดือนตุลาคมนี้นี่เองที่เป็นช่วงที่ดีที่สุดสำหรับการถ่ายภาพทางช้างเผือก

“เพราะเราจะสามารถเห็นได้ตั้งแต่หลังพระอาทิตย์ตก ไปจนถึงประมาณสองทุ่ม จากนั้นทางช้างเผือกก็จะตกลับขอบฟ้าไปเหมือนกัน

ช่วงเดือนมีนาคมและ เมษายนเป็นต้นมาก็ถ่ายได้ แต่ช่วงเวลาที่จะถ่าย ควรจะป็นช่วงย่ำรุ่ง ทางช้างเผือกจะเริ่มขึ้น แต่พอฟ้าสว่างก็จะถ่ายไม่ได้ เป็นไปตามการโคจรของโลกเราครับ

อุปสรรคที่สำคัญต่อการเห็นทางช้างเผือกคือเมฆฝน ดังนั้นหน้าฝนก็จะเห็นได้ยาก เพราะเมฆเยอะ ยิ่งเมืองจันท์ลำบากหน่อย เพราะหน้าฝนเพราะฝนชุก”



เกษตรกรสวนลำไย หลงใหลการถ่ายภาพ

พงสวัฒน์เกิดและโตที่กรุงเทพฯ จบชั้นมัธยมจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และจบด้านวิศวะเครื่องกล จากมหาวิทยาลัยรังสิต

เมื่อเรียนจบเข้าทำงานในองค์กรด้านอุตสาหกรรมการเกษตร กระทั่งช่วงหนึ่งป่วยหนัก จึงผลันตัวเองมาเป็นเกษตรกรทำสวนลำไย ที่จังหวัดจันทบุรี

“ป่วยเมื่อปี44 เป็นไวรัสขึ้นสมอง ตอนนั้น หมอบอกว่า โอกาสมีสามทาง คือ หายสนิท ,หายแต่มีอาการไม่ปกติ และ ไม่รอด แต่ก็รอดมาได้ครับ พักฟื้นอยู่เป็นปี พอดีมีญาติอยู่ทางแถบจันท์-ระยอง อยู่แล้ว

และพอดีช่วงนั้น ลำไยเริ่มเป็นผลไม้ที่ดี ของทางนี้ เพราะเริ่มจะบังคับให้ออกนอกฤดูได้ ไม่ล้นตลาดเหมือนทางเหนือ แล้วตลาดส่งออกก็ดีมาก คุณน้าก็เลยชวนมาทำตั้งแต่ตอนนั้น”

ดังนั้น Location หรือสถานที่ประจำสำหรับถ่ายภาพทางช้างเผือกของเขา จึงอยู่ไม่ไกลจากละแวกจังหวัดจันทบุรี

“สำหรับผมถ้าจะถ่ายภาพทางช้างเผือกก็ต้องแถวอำเภอโป่งน้ำร้อน หรือให้สวยๆหน่อยก็แถบเขาสอยดาวในอำเภอสอยดาว เพราะสถานที่ค่อนข้าง จะเป็นป่าหน่อย ส่วนสถานที่อื่นๆที่คนนิยมไปท่องเที่ยวกันของเมืองจันท์ จะถ่ายภาพทางช้างเผือกยากหน่อย เพราะเจริญแล้ว กลางคืนไฟสว่าง”



ภาพถ่าย landscape แบบที่มีทางช้างเผือก

พงสวัฒน์เล่าให้ฟังถึงการเตรียมตัวก่อนออกไปถ่ายภาพทางช้างเผือกแต่ละครั้งว่า

“ก็ต้องหาสถานที่ๆไม่มีแสงรบกวน และต้องเป็นต่างจังหวัด ซึ่งโชคดีที่ตัวผมเองอาศัยอยู่นอกเมืองอยู่แล้ว จากนั้นอันดับต่อมาก็ต้องหาที่ๆเราคิดว่าน่าสนใจพอที่จะถ่าย ถ่ายมาแล้วภาพมีองค์ประกอบอย่างที่เราต้องการ

ภาพถ่ายทางช้างเผือกที่ดีสำหรับผม คือภาพ landscape แบบที่มีทางช้างเผือก ร่วมอยู่ในภาพด้วย

แล้วเราจะเห็นทางช้างเผือกได้อย่างไร เราก็ต้องอาศัยแผนที่ดาว โดยจะเป็นแผนที่กระดาษแบบเก่า หรือแบบสมัยนี้ที่มีโปรแกรมแผนที่ดาวบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งทำให้สะดวกมากขึ้นก็ได้

ตอนกลางวันเราก็ออกไปเลือกสถานที่ไว้ ใช้แผนที่ดาวดู แล้วนึกตามไปว่าทางช้างเผือกจะอยู่ทิศไหน เวลาไหน แล้วก็กลับไปถ่ายภาพอีกครั้งในตอนกลางคืน”
 


คนบ้านนอกชีวิตไร้แสงสี แต่ไม่ไร้สีสัน

ดูท่าชีวิตเกษตรกรผู้รักการถ่ายภาพเช่นเขาจะมีความสุขไม่น้อย แม้จะอยู่บ้านนอก หรืออยู่นอกเมือง ในที่ๆไม่ค่อยมีแสงสีให้ได้สัมผัส

แต่ชีวิตก็ใช่จะไร้สีสัน เพราะเมื่อแหงนไปมองบนท้องฟ้า ธรรมชาติก็ได้ประทานปรากฎการณ์มากมายให้ได้ชมอยู่เรื่อยๆ ไหนจะเป็นธรรมชาติอื่นๆรอบตัว โดยเฉพาะดอกไม้ที่ภรรยายังขยันปลูก และเขายังไม่เบื่อบันทึกภาพ

“ปัจจุบันนี้ก็เรียกตัวเองได้ว่าเป็นเกษตรกรเต็มตัว มีเวลามีโอกาสก็ถ่ายภาพเท่านั้นเอง เห็นเพื่อนหลายคนที่รักการถ่ายภาพ ไม่ว่าแนวไหน อยู่ที่ไหน ทำงานอะไร พอมีเวลามีโอกาสก็จะต้องคว้ากล้องออกไปถ่ายภาพกันทั้งนั้น”

เราเป็นแค่จุดเล็กๆ ไม่ใช่แค่บนโลกใบนี้

ภาพถ่ายทางช้างเผือก และภาพถ่ายอื่นๆ ทุกภาพที่ถ่ายมาได้ พงสวัฒน์ยังไม่ได้มีจุดมุ่งหมายนำไปใช้เพื่อการใดเป็นพิเศษ นอกจากเก็บไว้ดูเองและแบ่งปันกับคนที่รักการถ่ายภาพเหมือนๆกัน รวมไปถึงเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสุขให้ตัวเองที่สามารถทำบางอย่างได้สำเร็จ

“แค่อยากถ่ายให้ได้ ถ่ายเก็บไว้ดู คือถ้าเป็นคนชอบถ่ายภาพ การที่ได้ถ่ายภาพสิ่งที่เราอยากถ่ายแล้วถ่ายได้สำเร็จ มันก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ผมเป็นแค่มือสมัครเล่น พอถ่ายได้ก็ดีใจแล้ว เท่านั้นเอง”

นอกจากนี้ทุกครั้งที่มองดูธรรมชาติรอบๆตัวหรือแหงนหน้ามองฟ้าหาทางช้างเผือก เขายังได้รับบางอย่างที่มากไปกว่าภาพถ่ายอันเป็นผลผลิตจากการท้าทายตัวเอง

“เราได้ระลึกเสมอว่าเราเป็นแค่จุดเล็กๆ ที่ไม่ใช่แค่บนโลกใบนี้ แต่ยังรวมถึงท้องฟ้าที่กว้างมากกว่า จนเราไม่สามารถมองเห็นฟ้าทั้งหมดได้ในทีเดียว

ทำให้คิดต่อไปได้ว่า เวลาเรามองอะไรไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ เราอาจมองเห็นได้แค่ด้านเดียวหรือเห็นมันได้ไม่ทั้งหมด

นอกจากนั้นแล้ว เวลาที่ออกไปถ่ายภาพในที่ๆค่อนข้างมืดสนิท และได้อยู่ในที่เงียบๆ รู้สึกว่าชีวิตสงบดี”

Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It