Advice

สาวๆ ปฏิบัติตัวอย่างไร ช่วงวันนั้นของเดือน?

Pinterest LinkedIn Tumblr


สาวๆ หลายคนอาจมีปัญหาในช่วงวันนั้นของเดือน ก็เพราะในหนึ่งเดือนของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ จะมีช่วงที่ร่างกายและจิตใจเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก นั่นคือ ช่วงที่มีประจำเดือน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อร่างกายพอสมควร เพราะภูมิต้านทานต่ำกว่าปกติ ระบบข้อต่อ กระดูก กล้ามเนื้อมีการคลายตัวมากเกินไป ทำให้ข้อต่อกล้ามเนื้อหลวม ซึ่งหากแข็งแรงไม่พอจะทำให้ร่างกายไม่สามารถต้านอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น

เมื่อมีภาวะนี้ เพ็ญพิชชากร แสนคำ นักกายภาพบำบัด จากคลินิกกายภาพบำบัดอริยะ ชั้น 1 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (อาคารคิวเฮ้าส์ ลุมพินี) กล่าวว่า ช่วงมีประจำเดือนระบบกระดูกกล้ามเนื้อของอุ้งเชิงกราน หน้าท้อง ขา ไม่แข็งแรงหรือมีความทนทานไม่มากพอ จะถูกยืดยาวออก หลวมตัวมากไป ทั้งข้อต่อและกล้ามเนื้อ ไม่เพียงพอที่จะพยุงร่างกายให้ต้านกับแรงโน้มถ่วง หรือไม่ทนทานต่อการใช้กล้ามเนื้อในการทำกิจวัตรประจำวันในช่วงนั้นของเดือนได้ เมื่อเจอภาวะเช่นนี้ร่างกายจะมีกลไกบอกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นั่นคือ อาการเจ็บปวดต่างๆ ซึ่งแตกต่างกันออกไปแล้วแต่สภาวะแต่ละส่วนของร่างกาย ความไม่ทนทานหรือความไม่แข็งแรงของกระดูกกล้ามเนื้อนี้ จัดได้ว่าเป็นส่วนของโครงสร้างร่างกายที่ไม่สมดุลด้วย ระบบกระดูกกล้ามเนื้อคือระบบโครงสร้างร่างกาย มีความสำคัญเสมือนเสาหลักของร่างกาย เป็นศูนย์รวมของเส้นประสาท ระบบหลอดเลือด ระบบน้ำเหลือง เหล่านี้เป็นส่วนที่ประกอบขึ้นมาให้ร่างกายอยู่ได้ หลังช่วงล่างเป็นทางออกของรากประสาท ที่มาควบคุมอวัยวะภายในช่องท้องทั้งหมด รวมถึงมดลูกด้วย

ฉะนั้น หากกล้ามเนื้อหน้าท้อง อุ้งเชิงกราน สะโพกและขาไม่แข็งแรงพอ ทั้งจากการไม่ได้ออกกำลังกาย หรือออกกำลังกายไม่ถูกต้อง หรือเกิดจากการสะสมของไขมันมากเกินไป จะส่งผลให้หลังแอ่นและมีผลให้การควบคุมการทำงานของอวัยวะในช่องท้องลดลง การดูแลเบื้องต้น นักกายภาพบำบัดแนะนำว่า


1. ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ ท่าบริหารหน้าท้องและกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานง่ายๆ คือ แขม่วท้อง ขมิบก้นให้เคยชิน

2. ช่วงที่เป็นและมีอาการ ให้เอาความร้อนประคบ เช่น แผ่นร้อนไฟฟ้า ถุงน้ำร้อน วางบนหน้าท้อง หรือบริเวณที่มีอาการ เช่น หลัง ก้น ต้นขา

3. ช่วงที่เป็นควรเลือกอาหารอ่อน เน้นผักผลไม้ เพราะแป้งและเนื้อสัตว์จะส่งผลให้การทำงานของอวัยวะในช่องท้องยิ่งบีบตัว อาจทำให้ปวดมากขึ้น อาหารบางอย่างก็ไม่ควรกิน เช่น น้ำมะพร้าว และผลิตภัณฑ์ ที่ทำจากถั่วเหลือง เพราะมีฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่จะไปสกัดกั้นการขับระดู

4. ในช่วงที่เป็นควรหลีกเลี่ยงภาวะที่ต้องยืนหรือเดินนานๆ ให้หาที่นั่งจะดีกว่า


5. งดการใส่ส้นสูงในช่วงที่เป็น เพราะการใส่ส้นสูงจะทำให้ข้อต่อที่หลัง สะโพก เข่า และข้อเท้าต้องเสียดสีกันมากขึ้น เพราะในช่วงนี้ร่างกายและข้อต่อจะหลวมกว่าปกติ

6. หากเป็นไปได้ควรหาซัพพอร์ตหลัง หรือกางเกงที่ช่วยพยุงกล้ามเนื้อสะโพกและขา แต่ต้องเป็นกางเกงที่พยุงได้จริงจนถึงจะช่วยบรรเทาอาการได้จริง

7. ทำจิตใจให้สบาย ช่วงนี้จะหงุดหงิดมากกว่าปกติ ทุกครั้งที่หงุดหงิดควรหามุมให้ตัวเอง นั่งเอนหลัง หลับตา หายใจเข้าลึกๆ เอาจิตอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกสัก 4-5 นาที ถ้าทำได้เช่นนี้จะไม่ทรมาน หรือเป็นกังวลกับวันนั้นของเดือน

Comments are closed.

Pin It