Guru Talk

เครียดยิ่งกว่ามีรอยเท้ากา เมื่อสาว 30+ ยังต้องเผชิญกับ “สิว”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ใครว่า “สิว” เกิดได้เฉพาะในช่วงวัยรุ่น เพราะสาว 30 อัพ หลายคนยังต้องเผชิญกับปัญหาสิว หมอปุ่น- แพทย์หญิงเดือนเต็ม จ่างพันธุ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง ความงาม และเลเซอร์ จาก อิมเมจินี่และ เดซี่ ดีว่า คลินิก อาสามาเผยถึงสาเหตุของการเกิดสิวในกลุ่มวัยทำงานว่า ส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยภายนอก

คุณหมอเล่าถึงสาเหตุของการเกิดสิวว่า สิวเกิดจากการที่ฮอร์โมนแอนโดรเจนกระตุ้นต่อมไขมันโตขึ้นประกอบกับการอุดตันของต่อมไขมัน การผลิตไขมันที่มากเกินไป และเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า P.acnes ทำให้เกิดการอับเสบและเป็นตุ่มสิวหนองได้ ตามปกติต่อมไขมันพบหนาแน่นบริเวณหน้า แผ่นหลังและหน้าอก จึงทำให้มักพบสิวเกิดขึ้นตามบริเวณดังกล่าวข้างต้นได้บ่อยกว่าตามผิวหนังบริเวณอื่นของร่างกาย นอกจากนี้สิวมักพบในกลุ่มวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่

หมอปุ่น-แพทย์หญิงเดือนเต็ม จ่างพันธุ์
“แต่สำหรับวัย30 ขึ้นไป อาจยังคงพบสิวได้เนื่องจากสิวยังมีสาเหตุอื่นๆจากปัจจัยภายนอก เช่น การใช้เครื่องสำอางบางชนิดที่มีส่วนผสมของน้ำมัน หรือบางคนมีประวัติการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ การรับประทานยากลุ่มฮอร์โมน หรือบางคนอาจแพ้สารเคมีบางชนิดในยาย้อมผม ยาสระผมหรือน้ำมันใส่ผม หรือบางคนต้องสัมผัสกับความร้อนหรือน้ำมันในชีวิตประจำวัน เป็นต้น การล้างหน้าหรือสัมผัสบริเวณหน้าบ่อยๆก็มีผลให้เกิดการระคายเคืองทำให้เป็นสิวได้เช่นกัน ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดสิวอีกด้วย” คุณหมอเล่า

สำหรับความเกี่ยวเนื่องกับอาหารมีบางการศึกษาพบว่าอาหารที่อยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์นมเนย หรืออาหารที่มีค่าความหวานสูง เช่น ไอศกรีม เค้ก ขนมหวานต่างๆ ช็อกโกแลตมีผลกระตุ้นให้เกิดสิวได้ เพราะฉะนั้นไม่แปลกใจเลยที่เมื่อผ่านพ้นวัยรุ่นไปแล้วแต่ทำไมบางคนยังพบปัญหาสิวให้กวนใจเกิดขึ้นได้อีก สิวถือเป็นเรื่องธรรมชาติไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายแต่เป็นปัญหาที่พบบ่อยในทางผิวหนัง สิวมีผลบั่นทอนทางด้านจิตใจ ทำให้ผู้ที่เกิดปัญหานี้ขาดความเชื่อมั่นและส่งผลต่อบุคลิกภาพในการเข้าสู่สังคม

เมื่อทราบถึงสาเหตุของสิวกันแล้ว มาเรียนรู้วิธีการป้องกันตัวเองและลดโอกาสการเกิดสิวกันบ้าง ได้แก่ พยายามรักษาความสะอาดผิวหน้า โดยล้างหน้าเพียงวันละ 2-3 ครั้งพอเพื่อลดความมันบนใบหน้า โดยไม่ควรถูหน้าแรงๆ ไม่ควรแคะแกะเกาสิวเพราะจะก่อให้เกิดแผลเป็นได้ ห้ามใช้มือที่ไม่สะอาดสัมผัสใบหน้า พยายามเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของน้ำมัน และเป็นชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดสิวอุดตัน โดยสังเกตที่ผลิตภัณฑ์ควรเขียนว่า “oil free, non comedogenic ” ควรใช้สบู่อ่อนในการล้างหน้า ดูแลความสะอาดของเส้นผมเป็นประจำอย่าปล่อยให้เป็นรังแค อย่าปล่อยให้ผมมัน พร้อมทั้งงดการใช้น้ำมันใส่ผม พยายามอย่าเครียดและอย่านอนดึกหรืออดนอน

คุณหมอเผยถึงวิธีจัดการกับปัญหาสิวว่า “เมื่อเป็นสิวแล้ว แนวทางการดูแลรักษาจะขึ้นกับระดับความรุนแรงของสิว การรักษาสิวอาจจะต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ถึงเดือน กรณีที่เป็นสิวเล็กน้อยไม่รุนแรงอาจใช้เฉพาะยาทาเช่น ยาฆ่าเชื้อปฏิชีวนะชนิดครีมหรือโลชันที่นิยมคือตัวยาคลินดาไมซินและอีริโทรมายซิน ยาละลายสิวอุดตันทำให้สิวหลุดลอกชนิดเบนซอยล์เปอร์ออกไซด์ ยาทากลุ่มกรดวิตามินเอ ยับยั้งการสร้างสิวอุดตันและป้องกันการเป็นซ้ำของสิว”

กรณีที่สิวอักเสบรุนแรงมากอาจต้องใช้ยารับประทานร่วมด้วยต่อเนื่อง ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ เช่น เตตร้าซัยคลิน อิริโทรมายซิน เป็นต้น ยาประเภทฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด กรณีที่สิวรุนแรงมากและรักษาโดยวิธีอื่นไม่ได้ผลแพทย์จะพิจารณาให้ยากลุ่มกรดวิตามินเอ เช่น ไอโสเตตริโนอิน ซึ่งมีฤทธิ์ในการลดการผลิตไขมันที่ต่อมไขมัน ลดจำนวนเชื้อ P.acnes ลดการอุดตันและการอับเสบของสิว แต่การใช้ยานี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้นเนื่องจากมีผลข้างเคียงของยาหลายประการ ห้ามผู้รับประทานยานี้ตั้งครรภ์และต้องหยุดการใช้ยาอย่างน้อย 1 เดือนจึงจะตั้งครรภ์ได้
การรักษาเสริมเพิ่มเติมวิธีอื่นนอกเหนือจากวิธีมาตรฐาน ได้แก่ การกดสิว การฉีดสิวด้วยสเตียรอยด์ในสิวตุ่มนูนใหญ่หรือชนิดถุงน้ำ

การรักษาด้วยแสงและเลเซอร์ เพื่อลดเชื้อแบคทีเรีย P.acnes และกรณีรักษารอยดำ รอยแดง หรือหลุมแผลเป็นจากสิว การใช้ไอเย็นพ่นลดการอักเสบของสิว การลอกผิวด้วยกรดความเข้มข้นอ่อนเพื่อรักษาแผลเป็นชนิดตื้นกรณีที่ไม่เป็นสิวอักเสบแล้ว เป็นต้น

คุณหมอฝากทิ้งท้ายว่า หากเริ่มเป็นสิวแล้วควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาสิวให้ถูกวิธีตั้งแต่แรกแม้เริ่มต้นเป็นเพียงเล็กน้อย เพื่อลดโอกาสที่สิวจะรุนแรงมากขึ้นและลดโอกาสการเป็นหลุมแผลเป็นอันก่อให้เกิดความไม่เรียบเนียนของผิวหน้าให้รบกวนรำคาญใจ

Comments are closed.

Pin It