World Celeb

สตรีผู้ลี้ภัยที่โลกต้องจดจำ

Pinterest LinkedIn Tumblr


นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งสงครามกลางเมืองในประเทศต่างๆ มาจนถึงสงครามการเมือง และสงครามกับโรคระบาด ทำให้ต้องมีผู้อพยพลี้ภัยกว่า 80 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งหากนับตั้งแต่ ปี 2018 – 2020 ที่ผ่านมา คน 42% ที่เกิดใหม่ในโลก คือ ผลิตผลจากคนที่อยู่ในฐานะผู้ลี้ภัย

หลายคนอาจจะมองพวกเขามาเป็นตัวปัญหา แต่ผู้ลี้ภัยที่สร้างสิ่งดีๆ ไว้ให้กับโลกก็ยังมีอีกมาก


นาเดีย มูรัด

นาเดีย มูรัด (Nadia Murad) เป็นชนกลุ่มน้อยเชื้อสายยาซีดี เธอเกิดในโคโช ประเทศอิรัก เมื่อปี 1993 โดยในปี 2014 รัฐที่เธออยู่ในตกเป็นข้อพิพาทระหว่างอิรักและซีเรีย แล้วการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนที่มีเชื้อสายยาซีดีก็เริ่มต้นขึ้น ผู้ชายส่วนใหญ่จะถูกสังหาร ส่วนผู้หญิงและเด็กถูกจับเป็นตัวประกัน รวมทั้งตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศ

เคราะห์ดีที่ นาเดีย สามารถหลบหนีออกมาได้ และขอลี้ภัยมายังเยอรมนี และเธอก็กลายเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ถูกกดขี่คุกคามชีวิตและทางเพศ โดยเฉพาะการตีแผ่เรื่องราวในหมู่บ้านของเธอให้โลกรู้ จนนำไปสู่การตัดสินความผิดของผู้นำรัฐอิสลามในอิรักและซีเรีย สำหรับอาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทำให้เธอได้รับรางวัโนเบลสันติภาพ ในปี 2018


วอร์ซาน ไชร์

กวีสาวชาวโซมาลีที่เกิดในเคนยา แต่ต้องออกไปเติบโตไกลถึงกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ วอร์ซาน ไชร์ เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะกระบอกเสียงของหญิงแอฟริกันพลัดถิ่น เธอเริ่มเขียนบทกวีตั้งแต่เป็นวัยรุ่น บทกวีของเธอได้รับการทำให้โด่งดังโดยเพลง Lemonade ของบียอนเซ ไปก่อนหน้านี้

‘บ้าน’ หนึ่งในบทกวีชื่อดังของเธอ ที่แสดงออกอย่างชัดเจนถึงเส้นทางการต่อสู้เรียกร้องเพื่อผู้ลี้ภัย และคนที่ช่วยเหลือพวกเขา…

“ไม่มีใครควรต้องจากบ้านมา
เว้นเพียงว่า บ้านกลายเป็นปากของฉลาม
สิ่งเดียวที่ทำได้คือ หนี
เมื่อคุณเห็นว่า ไม่มีใครสามารถอยู่ที่นี่ได้”

วอร์ซานคว้ารางวัลกวีเยาวชนยอดเยี่ยมในปี 2014


มายา

มายา (เอ็ม.ไอ.เอ.) หรือ มาธัญกิ อรุณพระเกษม ผู้ลี้ภัยจากสงครามกลางเมืองในศรีลังกามายังลอนดอน เป็นแรปเปอร์ชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ และรางวัลแกรมมีในปีเดียวกัน

ตอนที่แรปเปอร์สาวต้องลี้ภัยออกจากศรีลังกานั้น เธอมีอายุเพียง 9 ขวบ มายาอาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมา เป็นข้อมูลสำหรับสร้างสรรค์ดนตรีและศิลปะ ซึ่งทำให้โลกได้รับรู้ถึงความเจ็บปวดและยากลำบากของคนที่ต้องบ้านแตกจากสงคราม

ในปี 2015 เธอกลายเป็นข่าวพาดหัว เมื่อกำกับมิวสิควิดีโอเพลง Borders เล่าเรื่องการเดินทางอพยพ ที่เต็มไปด้วยภยันตรายรอบด้านของผู้ลี้ภัย


อิลฮาน โอมาร์

สมาชิกสภาผู้แทนชาวโซมาลี-อเมริกันคนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งของสหรัฐ อิลฮาน โอมาร์ อพยพหนีสงครามในโซมาเลีย ผ่านทางเคนยามาถึงแคมป์ผู้ลี้ภัยในสหรัฐตอนอายุ 12

ตอนที่เธอสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในสภา เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้เธอย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อ 23 ปีก่อน ซึ่งเธอเดินทางมาจากเคนยา ก็ต้องมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่สนามบินของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. นี้เช่นเดียวกัน “วันนี้ฉันกลับมาที่สนามบินแห่งเดิมอีกครั้ง แต่ในฐานะ สส. ผู้ทรงเกียรติในสภาคองเกรส”


เอดอต อาเคตช์

จากผู้ลี้ภัยสู่นางแบบแถวหน้า และตอนนี้ เอดอต อาเคตช์ ยังกลายเป็นโฉมหน้าความงามของเอสเต ลอเดอร์ แบรนด์เครื่องสำอางสุดหรูที่ก่อตั้งโดยนักลงทุนสตรี โดยแบรนด์เชื่อว่า บุคลิกและความสวยของ เอดอต สามารถเชื่อมโยงและเป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ได้อย่างดี

เอดอต อาเคตช์ เกิดในค่ายผู้ลี้ภัยที่ซูดานใต้ ก่อนจะมาโตที่ค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองคาคูมะ ประเทศเคนยา ก่อนที่จะอพยพมายังเมืองอเดเลด ประเทศออสเตรเลีย เธอยึดอาชีพนางแบบไปพร้อมกับส่งตัวเองเรียน โดยมีโอกาสครั้งใหญ่ในโชว์ของอีฟส์ แซงต์ โลรองต์

จากนั้นเธอก็กลายเป็นนางแบบแถวหน้าของออสเตรเลีย ได้ร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลก ทั้งอเล็กซานเดอร์ แมคควีน คาลวิน ไคลน์ มิวมิว และปราดา ฯลฯ ทั้งได้ขึ้นปกแมกกาซีนมากมาย นอกจากได้รางวัล นางแบบแห่งปี 2019 และ ไทม์ 100 ปีเดียวกันแล้ว เรื่องราวในอดีตของเธอสร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วโลก

Comments are closed.

Pin It