Interview

สุดปัง! “อภิชัย ภักดีบุตร” ผู้ฝากลายเส้นในนิตยสารดังของเยอรมนี จนมีแฟนคลับเป็นถึงท่านทูต

Pinterest LinkedIn Tumblr


หากลองค้นหาชื่อ “หนู-อภิชัย ภักดีบุตร” ในกูเกิล คุณอาจจะพบเรื่องราวของการจัดนิทรรศการศิลปะของเขา หรือทราบเพียงว่าเขาคือ สามีของ “รี่-พัชทรี ภักดีบุตร” ดีไซเนอร์มากความสามารถ ผู้ก่อตั้งและบริหารผลิตภัณฑ์แบรนด์ เอิบ (Erb) แต่สำหรับในวงการโฆษณา อภิชัยเป็นที่รู้จักในฐานะผู้กำกับโฆษณาและนักวาดรูปฝีมือเยี่ยม แถมยังเคยฝากผลงานไว้ในนิตยสาร MAD Magazine ฉบับภาษาเยอรมัน ซึ่งถือเป็นพอร์ตโฟลิโอชั้นเลิศไม่พอ ใครจะคิดว่าผลงานหลายสิบชิ้นในนิตยสารชื่อดังนั้นยัง ทำให้เขามีแฟนคลับเป็นถึงเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย ที่ครั้งหนึ่งเคยมาเยี่ยมชมนิทรรศการของเขาด้วยตัวเอง!


มากกว่าความภูมิใจที่ได้สร้างสรรค์ผลงานมากมาย สำหรับ อภิชัย ผลงานทั้งหมดคือร่องรอยแห่งความทรงจำ ที่คิดถึงเมื่อไหร่ก็ชวนให้ยิ้มได้เสมอ

“ผมไปเรียนต่อที่เยอรมนีตั้งแต่อายุ 18 ปี เพราะมีลูกพี่ลูกน้องแต่งงานไปอยู่ที่นั่น และผมเองก็สนใจด้านออกแบบ ซึ่งถ้าจะเรียนต่อที่ไทยก็ยาก เพราะยุคนั้นมหาวิทยาลัยบ้านเราที่มีสาขานี้มีแค่ไม่กี่แห่ง ถ้าไม่จุฬาฯ ก็ต้องศิลปากร จะหวังสอบติดเองก็ยาก เลยตัดสินใจไปเยอรมนีดีกว่า ตอนนั้นพูดภาษาเขาก็ไม่ได้ ไปเรียนที่สถาบันเกอเธ่ก่อนไป เอาแค่พอพูดได้ แต่ก็ยังไม่ดี กะไปเอาตัวรอดข้างหน้า คิดว่าเหมือนคนว่ายน้ำไม่เป็นกระโดดลงน้ำไปก็ว่ายได้เอง” อภิชัยพาย้อนวันวานอย่างออกรส


“พอไปถึง เราตั้งต้นอยากเรียนออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนของเขาที่เน้นด้านทักษะ ผมต้องไปเวิร์กชอปก่อน 6 เดือน ไปหัดเลื่อยไม้ ไสกบ ทุกอย่างเราต้องทำมือได้ เรียนรู้จากพื้นฐานก่อนเลย ขนาดที่แบบเอาไม้บรรทัดเหล็กมานาบ แล้วไปส่องไฟดูว่ามีแสงลอดหรือเปล่า เพื่อดูว่าไสไม้ออกมาได้เรียบจริงมั้ย ถามว่าเรียนไปเพื่อจบไปไสกบมั้ย คำตอบคือ ไม่ เพราะเขามีเครื่องมือทุกอย่างทันสมัย มีเครื่องขัดกระดาษทราย เครื่องตัดอยู่แล้ว แต่อยากให้ฝึกเรียนรู้ทุกขั้นตอนอย่างแท้จริง พอเรียนๆ ไป เริ่มรู้สึกว่ายาก งานหนักมาก เลยตัดสินใจเบนเข็มมาเรียนด้านศิลปะแทน”


แน่นอนว่า ต่อให้ย้ายสาขา การเรียนทุกอย่างก็ต้องเริ่มต้นจากศูนย์เช่นกัน “ผมเรียนออกแบบตัวพิมพ์ (Typography) เขาก็ให้ไปเริ่มตั้งแต่หัดเรียงตัวพิมพ์ตะกั่วที่ต้องอ่านกับกระจกก่อน ทั้งที่ตอนนั้นมีเครื่องพิมพ์แล้ว พอมาเรียนที่นี่ผมได้รู้จักเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งเขารับจ้างเขียนการ์ตูนให้นิตยสาร MAD Magazine ฉบับภาษาเยอรมันอยู่ก่อน พอเห็นว่าทางนิตยสารต้องการหาคนเพิ่ม เขาเลยลากผมมาทำด้วย ผมเลยมีโอกาสได้มาเขียนการ์ตูนให้ที่นี่ส่วนตัวผมประทับใจการทำงานของเขามากนะ เป็นระบบมาก ก่อนจะวาดการ์ตูนจะมีนักเขียนคิดมุก ทำเป็นสคริปต์ส่งมาให้ บก.ดูก่อน ถ้าเขาให้ผ่านถึงส่งมาให้ผม พอผมวาดเสร็จก็จะส่งกลับไปให้ บก.ดูอีกทีว่าโอเคมั้ย ถึงจบกระบวนการ”


จากโอกาสที่ได้รับ ทำให้ชีวิตวัยรุ่นในต่างแดนของเขามีสีสันไปอีกแบบ ได้ทั้งเรียนและทำงานไปด้วย ช่วงปิดเทอมถ้าอยากมีรายได้เพิ่ม ก็ไปทำงานพิเศษอย่างอื่น

“ผมเคยไปทำงานที่โรงงานรถเบนซ์ เป็นกรรมกรเลยครับ แต่เงินดีมาก พอได้เงินมาก็เอาไปซื้อเครื่องเสียง” อภิชัยเล่าไปขำไป

“ผมอยู่ที่เยอรมนีประมาณ 5 ปีกว่าก็กลับมาเมืองไทย ช่วงที่กลับมาก็ยังเขียนการ์ตูนให้ Mad อยู่ อาจเพราะว่าเราทำงาค่อนข้างเข้าขากัน พอกลับมาเลยยังทำงานด้วยกันถึงสมัยนั้นจะยังไม่มีอินเตอร์เน็ตก็จริง ทำให้กระบวนการมันยุ่งยากว่าปัจจุบัน ติดต่อกันก็ลำบาก ต้องส่งอาร์ตเวิร์กกันทางไปรษณีย์ แต่ด้วยเนื้องานที่มีการปิดต้นฉบับล่วงหน้าอยู่แล้ว ผมสามารถเขียนการ์ตูนจากเมืองไทยแล้วส่งไปรษณีย์ขึ้นเครื่องบินไป ใช้เวลาประมาณ 3 วันก็ถึง ก็เลยสามารถทำได้ ซึ่งก็ทำงานข้ามประเทศกันแบบนี้อยู่หลายปีเหมือนกัน มีโอกาสวาดภาพประกอบทั้งในเล่มและหน้าปก ร่วมๆ 10 ปีได้”


ถามว่า เสน่ห์หรือเอกลักษณ์ในการเขียนการ์ตูนของ Mad คืออะไร อภิชัยฉายภาพให้เห็นว่า “การวาดการ์ตูนมีหลายสไตล์ ของผมเป็นสไตล์ตะวันตก เพราะด้วยความที่นิตยสาร Mad ออริจินัลมาจากนิวยอร์ก ถ้าเป็นเวอร์ชันภาษาอังกฤษ ขายในอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย ถ้าในยุโรป เวอร์ชันภาษาเยอรมัน (ตอนนั้นยอดพิมพ์ประมาณ 3 แสนเล่ม) ขายในเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย

“จุดเด่นของนิตยสาร จะเรียกว่าออกแนวหัวขบถนิดหนึ่งก็ได้ กระตุ้นให้ผู้อ่านคิดนอกกรอบ โดนใจวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ แต่จะเน้นเรื่องไม่สนับสนุนเรื่องยาเสพย์ติดและการใช้กำลัง นำเสนอโดยสอดแทรกมุกตลกแต่ไม่ลามก ไม่หยาบคาย เป็นแนวกวนๆ มากกว่า”


นอกจากจะยังรับงานเขียนการ์ตูนอย่างต่อเนื่อง อภิชัยยังนำความสามารถในการวาดภาพและการเล่าเรื่องของตัวเองมาต่อยอด โดยตั้งต้นจากสายงานในวงการโฆษณา ซึ่งเขามองว่าใกล้เคียงกับสิ่งที่ทำอยู่เดิมมากที่สุด

“ตอนที่กลับมาก็ไม่รู้จะทำอะไรดี รู้แต่ว่าวาดรูปได้ เล่าเรื่องเป็น สามารถวาดภาพและเล่าเรื่องเป็นช่องๆ เลยไปสมัครงานเป็น Visualizer หรือ คนเขียนสตอรี่บอร์ด ทำอยู่ประมาณ 1 ปี ได้เลื่อนเป็น Art Director ที่ Leo Burnett บริษัทโฆษณาชื่อดัง ทำงานอยู่กับคุณภาณุ อิงคะวัต ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารกลุ่มบริษัท Greyhound”


ผ่านมาร่วม 40 ปีแล้วที่อภิชัยโลดแล่นอยู่ในวงการโฆษณา เจ้าตัวยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่ตัวแปรที่สำคัญที่สุดคือ ดิจิทัล ดิสรัปชัน

“สมัยก่อน โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ถือว่าเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลมาก จะหาพื้นที่บนหน้าหนังสือพิมพ์ 1 หน้า หรือเวลาออกอากาศสัก 1 นาที เป็นอะไรที่ยากมาก ผิดกับสมัยนี้มีสื่อออนไลน์ มีเวลาให้ออกอากาศเพื่อขายสินค้าได้ยาว 10 นาที เปลี่ยนมุมมองคนทำโฆษณา จากแต่ก่อนที่ต้องคิดให้ออกว่าจะขายสินค้าภายในเวลา 15-30 วินาทีอย่างไร ยิ่งมาเจอโควิด-19 วิธีการทำงานยิ่งเปลี่ยน ทุกอย่างกระชับขึ้น จากแต่ก่อนลูกค้าบรีฟเอเจนซี เอเจนซีบรีฟครีเอทีฟ เดี๋ยวนี้ลูกค้าบรีฟตรงเลยเพื่อรวบรัด จะว่าไปหลายอย่างเปลี่ยนไป ทุกคนต้องปรับตัวให้ทันกับโลก”


ถามว่า ในฐานะคนทำงานที่ได้สัมผัสทั้งในวงการโฆษณาและการทำงานศิลปะไปด้วย มีความต่างอย่างไร อธิชัยเฉลยสั้นๆ ว่า “อิสระในการทำงาน ถ้าเป็นงานศิลปะ งานเราเอง ไม่มีโจทย์ ไม่มีใครบ่นไม่ชอบ แต่ในงานโฆษณามีลูกค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง ถึงจะมีประสบการณ์มากี่ปี เก่งแค่ไหน ก็อาจเจอลูกค้าที่เด็กกว่าติหรือบอกว่าไม่ชอบงานของคุณได้ อีกข้อคือ วัตถุประสงค์ในการสร้างสรรค์ผลงานไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นงานศิลปะ ผลงานที่ออกมาคือ สินค้า แต่การทำโฆษณา ผลงานที่ออกมาเป็นเพียงแค่สื่อ หรือพาหนะที่จะพาผู้บริโภคไปซื้อสินค้าชิ้นใดชิ้นหนึ่ง จะว่าไปผมก็ยังโชคดีเข้ามาอยู่ในวงการโฆษณาในยุคที่รุ่งเรืองสุดๆ ประมาณปี 80 เป็นช่วงที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ บูมมาก ใครๆ ก็อยากเข้า”


มาถึงวันนี้ แน่นอนว่าศิลปะยังเป็นงานที่รัก และไลฟ์สไตล์วันว่างของอภิชัยยังหนีไม่พ้นศิลปะ ทุกคืนวันจันทร์ถ้าไม่มีนัดหมายที่ไหน เขาจะไปวาดรูปกับกลุ่ม The Drawing Corner BKK ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของคนที่ชอบวาดรูป โดยแต่ละคนจะลงขันกัน เพื่อจ้างนายแบบ-นางแบบมาโพสต์ท่าเป็นแบบให้

“ความสุขของผมเวลาที่ได้วาดรูปคือ ความเพลิดเพลิน รู้สึกสงบเหมือนเราหลุดไปอยู่กับภาพที่วาด การวาดภาพเหมือนเป็นการฝึกสมาธิอย่างหนึ่ง ที่สำคัญ สามารถทำควบคู่ไปกับการทำงานประจำ ที่ตอนนี้งานก็ลดน้อยถอยลงกันทั้งวงการ”


อีกหนึ่งความสุขที่ประเมินค่าไม่ได้จากการาดรูปคือ การได้รู้ว่าอย่างน้อยผลงานที่ผ่านมาไม่ได้สูญเปล่า แต่ทำให้มีแฟนคลับอยู่ทั่วโลกโดยไม่รู้ตัว

“ก่อนหน้านี้ผมจัดนิทรรศการส่วนตัว ซึ่งทางเกอเธ่เป็นสปอนเซอร์ให้ ใครจะคิดว่า ท่านทูตเยอรมันประจำประเทศไทย ทำจดหมายมาเลยว่า ท่านจะมาเยี่ยมชมนิทรรศการของผม เขาบอกว่าสมัยเด็กเติบโตมากับนิตยสาร MAD และประทับใจในลายเส้นของผมมาก เรียกว่าเป็นแฟนคลับกิตติมศักดิ์ของผมเลยก็ว่าได้” อภิชัยทิ้งท้ายอย่างอารมณ์ดี

Comments are closed.

Pin It