Interview

“จริยดี สเป็นเซอร์” ใช้ “ศิลปะ” เป็นยาชูใจ ต่อให้โควิด-19 มาเยือน ก็ไม่หวั่น!

Pinterest LinkedIn Tumblr


สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบไปทั้งโลก และกลายเป็นฝันร้ายของแทบทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่ในแวดวงศิลปะที่เงียบเหงาไปทันตา แต่ในมุมมองของคนรักศิลปะ อย่าง “เปิ้ล–จริยดี สเป็นเซอร์” กลับพบว่า ต่อให้ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตที่สาหัสแค่ไหน สุดท้ายแล้วมนุษย์ยิ่งต้องการศิลปะเพื่อจรรโลงจิตใจ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เมื่อรัฐบาลเริ่มมีการคลายล็อกดาวน์ แวดวงศิลปะจะเริ่มกลับมาสร้างสีสันอีกครั้ง


ศิลปะความงามที่ต้องสัมผัสด้วยตา
“เปิ้ลไม่ใช่ศิลปินแต่ชอบศิลปะ โดยเฉพาะ สามี (เจย์ สเป็นเซอร์) ที่สะสมงานศิลปะไว้ไม่น้อย เปิ้ลเองก็ซึมซับและมีความสุขกับการได้ชื่นชมงานศิลปะไปด้วย” เปิ้ลเปิดฉากเล่าถึงแพสชั่นที่มีจนกลายเป็นแรงบันดาลใจ ในการรีโนเวทตึกเก่าย่านสาทรของครอบครัว ที่ไม่ได้ใช้ทำอะไรมาเกือบ 20 ปี ให้เป็น วูฟแพคสเปซ (Woof Pack Space) พื้นที่เช่าสำหรับออฟฟิศ แกลอรี่เพื่อจัดแสดงผลงานศิลปะ และยังเป็นสเปซสำหรับจัดงานอีเวนต์ในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น

ด้วยคอนเซ็ปต์ที่แปลกใหม่และเรียกได้ว่าเป็นอีกสีสันของย่านธุรกิจ อย่าง สาทร ทำให้ วูฟแพคสเปซ ได้รับการตอบรับอย่างดีนับตั้งแต่เปิดตัว แต่เมื่อต้องเจอกับวิกฤตโควิด-19 ก็ไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ จนเมื่อเริ่มมีการคลายล็อกดาวน์ วูฟแพคสเปซจึงกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง พร้อมโจทย์ใหม่ที่แค่ปรับตัวตามสถานการณ์ไม่พอ แต่ต้องเตรียมพร้อมรับ New Normal

“เราเริ่มทยอยนำนิทรรศการที่วางไว้ว่าจะจัดตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกันยายน แต่ต้องเลื่อนยาวมาจัดแสดงตอนนี้ ซึ่งได้รับผลตอบรับค่อนข้างดีมาก เพราะนอกจากเรื่องโลเกชั่นและทราฟิกของตึกที่ค่อนข้างดีแล้ว เรามองว่าอรรถรสของการดื่มด่ำงานศิลปะ ยังเป็นกิจกรรมที่โลกออนไลน์แทนที่ไม่ได้ เพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งที่คนเสพงานศิลป์ต้องการคือ ประสบการณ์ซึ่งมีเรื่องประสาทสัมผัส อย่าง กลิ่นของสีหรือเทกเจอร์บางอย่าง และยิ่งมาเจอสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี ความเครียด ทำให้คนอยากหาแรงบันดาลใจ ผ่อนคลายจากศิลปะ”

สำหรับสิ่งที่เปลี่ยนไป เปิ้ลฉายภาพให้เห็นว่า จากปกติต้องใช้เวลาเตรียมการในการจัดแต่ละนิทรรศการ ประมาณ 6 เดือนล่วงหน้า ตอนนี้ลดเหลือ 3 เดือน โดยยังคงระยะเวลาในการจัดแสดงเท่าเดิม เปลี่ยนแปลงคือแต่ก่อนพอจบ 1 งานจะปล่อยพื้นที่ว่าง 3 อาทิตย์ แต่ตอนนี้ก็ต้องจัดสรรเวลาให้ลงตัวขึ้น


“เราพยายามทำให้ศิลปะเป็นสิ่งที่เข้าถึงง่าย ที่สำคัญ เราไม่ใช่แกลอรี่ เวลาที่ไม่ได้โชว์งานศิลปะ สเปซของเรายังสามารถแปลงร่างเป็นอะไรก็ได้ ตอบโจทย์ออร์กาไนเซอร์ หรือองค์กรที่มองหาสถานที่จัดงาน เพราะโถงที่จัดนิทรรศการ เวลาเอาผลงานศิลปะออก จะกลายเป็นพื้นที่โล่ง โอบล้อมด้วยผนังสีขาว ง่ายต่อการเนรมิตหรือแปลงโฉมห้องให้ตรงกับธีมงานต่างๆ เลยทำให้มีลูกค้าติดต่อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งตอนนี้เราสังเกตว่า เทรนด์การจัดงานขององค์กรต่างๆ เปลี่ยนไป ไม่ได้เน้นปริมาณคนมากๆ เหมือนแต่ก่อน แต่เน้นจัดงานเล็กแบบเข้าถึง หรือต่อให้ต้องการเข้าถึงคนจำนวนมาก ก็อาจจะแบ่งจัดเป็นหลายๆ รอบแทน เพื่อให้สามารถโฟกัสกับผู้ร่วมงานได้อย่างทั่วถึง”

ขณะเดียวกัน ในส่วนออฟฟิศให้เช่า ด้วยส่วนผสมที่ลงตัว ทำให้แม้เทรนด์การทำงานจะเปลี่ยนไป หลายบริษัทเริ่มใช้นโยบายทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) แต่ก็ยังมีผู้เช่าที่สนใจพื้นที่ของเราอย่างเนืองแน่น และ มีลูกค้าที่จะรอเข้ามาถ้ามีพื้นที่

นอกจากนี้ เปิ้ลยังเสริมด้วยว่า ด้วยความรักในงานศิลปะ เธอและสามียังมีความสุขและยินดี กับการได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนวงการศิลปะอย่างต่อเนื่อง

“ในฐานะเจ้าของสถานที่ หลายครั้งเราก็เป็นสปอนเซอร์สถานที่ให้นักศึกษามาโชว์ผลงาน เป็นสถานที่ถ่ายทำหนังของนิสิต ไปจนถึงการสนับสนุนงาน Sunday Art Market ซึ่งเป็นงานที่รวมตัวศิลปินเก่งๆ ของไทยไว้มากมาย เราเองอย่างที่บอกไม่ได้เป็นศิลปิน ก็ไปจอยในฐานะ Space provider ช่วยโปรโมตเอาผลงานศิลปะที่เรามี ซึ่งต้องบอกก่อนว่า ปกติเราไม่ขาย แต่ก็มีบางชิ้นที่เราได้มาเพราะช่วยซื้อ อยากสนับสนุน เราก็จะแบ่งมาขายในงาน อาจจะมีเอาชิ้นที่รักไปโชว์อย่างเดียวไม่ขาย เพื่อเป็นการเรียกแขกบ้าง (หัวเราะ)”


โควิด-19 มอบบทเรียนชีวิต (ที่เปลี่ยนไป)
ไม่เพียงอัปเดตถึงธุรกิจที่ทำด้วยแพสชั่นอย่างออกรส เวิร์กกิ้งมัมคนเก่งยังสะท้อนมุมมองชีวิตที่โควิด-19 ทำให้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงได้ครบรสไม่แพ้กัน

“เปิ้ลทำงานในสิ่งที่รักมาตลอดอยู่แล้ว แต่ก่อนเป็นคนเอนจอยกับการทำงานมาก สามารถทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน แต่ตอนนี้นิ่งขึ้น และมองว่าโควิด-19 ก็เหมือนน้ำที่กำลังเชี่ยว ไปขวางก็เหนื่อย สู้ใช้เวลานี้กลับมาโฟกัสกับสิ่งที่สำคัญกับชีวิตดีกว่า นั่นก็คือ ครอบครัว”

ย้อนไปช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ไม่นาน เธอเพิ่งกลับมาเริ่มงานพิธีกรอีกครั้ง ซึ่งเป็นงานที่เธอพูดได้อย่างเต็มปากว่า เป็นงานที่รักที่สุด โดยก่อนหน้านี้เคยเป็นพิธีกรรายการบนช่องฟรีทีวี แต่พักไปเพราะตั้งท้องลูกคนแรก จนพอโอกาสเหมาะ เธอกลับมาเป็นทำรายการ Mrs. S ออนไลน์ทางยูทูบของตัวเอง โดยรับหน้าที่เป็นพิธีกร เนื้อหาของรายการจะเน้นการเดินทางสุดเอ็กซ์คลูซีฟสไตล์ครอบครัวที่มีลูกเล็ก

งานนี้เปิ้ลเล่าด้วยน้ำเสียงเสียดายว่า “รายการกำลังไปได้ดี หลังจากทริปฮ่องกง ศรีลังกา South Africa ก็มาเจอโควิด-19 เลยต้องพับแผนเดินทางต่างประเทศ หันมาปักหมุดเที่ยวไทย และเน้นไปที่ไลฟ์สไตล์ด้านการทำอาหาร ที่แม้จะไม่ได้เป็นเชฟ แต่ก็สามารถสวมวิญญาณแม่บ้าน ทำอาหารให้สามี ลูก และอาหารสุขภาพให้น้องหมาสุดที่รักแทน”

เปิ้ลยังบอกด้วยว่า การได้ทำงานที่ชอบแล้วได้เงินเหมือนเป็นรางวัล แต่ถ้าทำแล้วชีวิตครอบครัวถดถอย เธอยอมไม่ทำ!

“โควิด-19 เป็นตัวสอนว่า มีเงินเท่าไหร่ถ้าป่วยก็ต้องต่อแถวเพื่อรอรับการรักษาเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เงินไม่ใช่ทุกอย่าง สุขภาพสำคัญ ครอบครัวสำคัญ สุดท้ายตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้ คุณอยากตายแบบหน้าเหี่ยวเฉา หรือตายไปแบบมีความสุข(หัวเราะ) เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าระหว่างครอบครัวกับงานอะไรสำคัญกว่า ตอบได้เลยว่า ครอบครัว แต่ก่อนงานกับครอบครัวคู่กัน แต่ตอนนี้ครอบครัวเบอร์หนึ่ง เงินทองไม่สำคัญ คือถ้ามีก็ดี แต่ถ้ามีแล้วทำให้ครอบครัวทุกข์ พ่อทำงาน แม่ทำงาน ลูกๆ ไม่มีใครดูแล อย่างนี้เปิ้ลไม่ไหว คุณพ่อของเปิ้ลเคยพูดเลยว่า มีเงินเท่าไหร่ก็อยู่ได้ แค่ต้องบริหารจัดการชีวิตให้เป็น


เปิดตำราคุณแม่สุดแอกทีฟ
มาถึงวันนี้ กุญแจสำคัญในการใช้ชีวิตคือ การจัดลำดับความสำคัญ “บางอย่างไม่เสร็จคือไม่เสร็จ แต่ก็ไม่ใช่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน เราต้องรับผิดชอบเต็มที่เหมือนเดิม เพียงแต่ไม่มีหน้าที่เยอะเหมือนแต่ก่อน อีกอย่างที่ทำให้นิ่งคือ อายุ คือ Energy ยังเหมือนเดิม แต่เรา Mature ขึ้น แต่ก่อนมีเป้าหมาย ทำงานเก่ง เปิดโปรดักชัน เฮาส์ เดินทางรอบโลกวันนี้พอมานั่งย้อนคิด เราคิดว่าชีวิตนี้เราทำอะไรมาเยอะมาก ในบางมุมก็ต้องรู้จักพอเหมือนกันนะ”

อย่างไรก็ตาม ด้วยบทบาทความเป็นแม่ เธอย้ำชัดว่า เธอไม่ได้อยากเดินทางเพียงลำพังกับสามีอีกต่อไป แต่อยากพาลูกๆ เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ นอกห้องเรียน ทุกวันนี้ทริปของเธอจึงได้กระเตงลูกชายวัย 5 ขวบกว่า และลูกสาววัยขวบกว่าไปด้วยตลอด

“อยากให้เขารู้จักการเอาตัวรอด การที่ไปเห็นโลกกว้าง วัฒนธรรมใหม่ๆ จะช่วยให้เขาได้ซึมซับการใช้ชีวิต โดยทริปที่เราพาไป ไม่จำเป็นต้องเป็นยุโรป อาจจะเป็นเคนย่าก็ได้ ที่ไหนก็ได้ที่เขาจะได้เห็นชีวิต เพราะเปิ้ลให้คุณค่ากับประสบการณ์มากกว่าจุดหมายปลายทาง ฉะนั้น ทริปของครอบครัวเรา ถ้าไปในที่ที่ไม่เคยไป แน่นอนว่าต้องไปจุดท่องเที่ยวยอดนิยม แต่ที่ต้องพ่วงทุกทริปคือ แกลอรี่ หรือ มิวเซียม ที่ขาดไม่ได้ คือ สวนสาธารณะ เพราะเป็นสถานที่ที่จะได้เห็นชีวิตจริงของคนท้องถิ่นนั้นๆ เวลาไป เราพกเสื่อไปนั่งปิกนิกเพื่อไปดูว่าคนท้องถิ่นที่นั่นทำอะไรกัน

อายุมากขึ้น เปิ้ลไม่ได้เที่ยวเหมือนสมัยเด็กๆ ที่ต้องไปทุกที่ เช็กลิสต์ให้ครบ พอมีลูกจะยืดหยุ่นกว่าเดิม ไปแค่ 1 ที่ต่อวันก็ได้ แต่พยายามซึมซับประสบการณ์สิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้มากที่สุด เช่น ไปเคปทาวน์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ตื่น 10 โมง นั่งจิบกาแฟที่ระเบียงแบบไม่เสียดายเวลา เปิ้ลอยากดื่มด่ำกับรสชาติกาแฟที่เขาบอกว่าเด็ดที่สุด และซึมซับวิว Lion's Head และ Table Mountain จากที่พัก ก่อนจะไปพุ่งไปใช้เวลาอีกครึ่งวันหลังปีนขึ้นเขาค่ะ “ชีวิตช้าลง แต่เป้าหมายชัดขึ้นนะคะ” เปิ้ลทิ้งท้าย

Comments are closed.

Pin It