Interview

เปิดใจ “ธนกร ฮุนตระกูล” เจ้าพ่อโรงแรมบนเกาะสมุย ถอดบทเรียนโควิด ให้ธุรกิจไม่ติดลบ!?

Pinterest LinkedIn Tumblr


หลายคนอาจจะคุ้นชื่อ “กบ-ธนกร ฮุนตระกูล” ทายาทของ “อากร ฮุนตระกูล” ผู้ก่อตั้งโรงแรมเครืออิมพีเรียล ในฐานะผู้ที่สร้างชื่อเสียงให้กับโรงแรมท้องทราย เบย์ คอทเทจ แอนด์ โฮเต็ล รีสอร์ตระดับ 5 ดาว แห่งแรกของเกาะสมุย ที่โดดเด่นในฐานะโรงแรมที่ใส่ใจในเรื่องการดูแลและอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่หลังจากเจอโควิด-19 พ่นพิษ ทำให้ธนกรต้องกลับมาทบทวนและปรับแผนบริหารงานครั้งใหญ่ ด้วยการตัดสินใจรีโนเวต และเปลี่ยนชื่อโรงแรมใหม่เป็น “การ์รียา ท้องทราย เบย์ สมุย” (Garrya Thongsai Bay Samui) โดยให้ การ์รียา (Garrya) ซึ่งเป็นแบรนด์น้องใหม่ของบันยันทรีเข้ามาบริหาร


สาเหตุที่เลือกแบรนด์การ์รียา เพราะนอกจากจะเป็นโรงแรมภายใต้แบรนด์การ์รียาแห่งแรกในประเทศไทย แนวคิดของแบรนด์ที่เน้นเรื่องความสมดุลและเชื่อมโยงกับธรรมชาติ สุขภาพ และการพักผ่อน ที่จะช่วยดูแลสุขภาพกายใจของผู้เข้าพักในแนวคิด “Asian Wellbeing” ยังตรงกับคอนเซ็ปต์หลักของโรงแรมเดิม ที่เป็นภาพจำของนักเดินทางมาตลอดอีกด้วย

“ผมย้ายออกจากเกาะสมุย กลับมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2009 แล้ว แต่ยังบริหารโรงแรมท้องทราย เบย์ คอทเทจ แอนด์ โฮเต็ล เหมือนเดิม อาศัยทำงานผ่านออนไลน์ เพราะผมมีจีเอ็ม (GM) อยู่ที่โรงแรม จนพอเกิดโควิด-19 ทำให้ต้องปรับตัวหลายอย่าง และเริ่มตั้งคำถามกับอนาคตในการบริหารโรงแรมว่า ผมยังอยากจะบริหารโรงแรมเองแบบนี้ไปเรื่อยๆ หรือจะลองให้เชน (Chain) โรงแรมที่มีความเป็นมืออาชีพเข้ามาช่วยบริหาร เพราะข้อดีของการมีเชนเข้ามาบริหารคือ เขามีคอนเนกชัน มีระบบ และการทำการตลาดที่ดีกว่าเราทำเอง รวมถึงเรื่องการบริหารคน (HR) ถ้ามีเชนจะได้เปรียบกว่า เวลามีคนเข้า-คนออก โดยเฉพาะ ตำแหน่งสำคัญๆ เพราะส่วนใหญ่ พนักงานก็อยากทำงานกับแบรนด์ที่มีชื่อเสียง”


ที่สุด หลังจากทบทวนอย่างถี่ถ้วน ธนกรจึงตัดสินใจทำสัญญาเป็นเวลา 15 ปี กับเชนบันยันทรี พร้อมเปิดตัวโรงแรมใหม่ “การ์รียา ท้องทราย เบย์ สมุย” เมื่อกลางเดือนธันวาคม ปี 2565

“เรามีห้อง 11 ประเภท รวมถึงพูลวิลล่าพร้อมวิวทะเลกับสระว่ายน้ำส่วนตัว โดยเรามีการรีโนเวตใหม่หลายส่วน เพื่อให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ของเชน อย่าง ห้องพักที่มีอยู่ 80 กว่าห้อง เราก็รีโนเวตใหม่หมด ตอนนี้ทยอยทำไปแล้ว 60 กว่าห้อง ส่วนล็อบบี้เราก็เพิ่มพื้นที่ Co-Working Space เข้าไป สำหรับห้องอาหาร เรานำเสนอประสบการณ์ที่แตกต่าง มีทั้งห้องอาหารที่เน้นรสชาติแบบท้องถิ่น, ห้องอาหารที่เอาใจสายรักสุขภาพ รวมถึงอาหารมังสวิรัติ และห้องอาหารที่เน้นอาหารทะเลสดใหม่จากท้องถิ่น มารังสรรค์เมนูอาหารทั้งแบบไทยและแบบตะวันตก เช่นเดียวกับ สปา เราเปลี่ยนเป็น 8LEMENTS SPA ที่ยังคงใช้ทีมงานเดิมก็จริง แต่เรามีการส่งไปเทรนกับทางบันยันทรี”

อีกหนึ่งจุดเด่นที่ขาดไม่ได้ของ “การ์รียา ท้องทราย เบย์ สมุย” คือ ยังคงเน้นย้ำเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โดยพุ่งเป้าไปสู่การเป็นโรงแรมสีเขียวแบบ 100% พร้อมกับโครงการอนุรักษ์แบบยั่งยืน โดยเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ขวดน้ำพลาสติก และมีการคัดแยกขยะต่างๆ ภายในรีสอร์ต


ถามว่า หลังจากมีเชนเข้ามาช่วยบริหารแล้ว แตกต่างจากตอนที่บริหารเองอย่างไร ผู้บริหารคนเก่งตอบอย่างน่าสนใจว่า ทำให้ได้สัมผัสกับบทบาทการเป็นเจ้าของโรงแรมมากขึ้น

“ที่ผ่านมา เรามีจีเอ็มก็จริง แต่ในฐานะเจ้าของ บางครั้งเราก็ต้องลงไปดูในส่วนของโอเปอเรชัน แต่พอเรามีเชนเข้ามาช่วยบริหารโรงแรม หลังจากที่เราเลือกจีเอ็ม ซึ่งทางเชนจะส่งมาให้เราเลือกสองรอบ รอบละสามคน โดยเขาจะระบุในสัญญาเลยว่า เราต้องเลือกจากคนที่เขานำเสนอมา แต่ถ้าส่งมารอบสองแล้ว เรายังไม่ถูกใจ ทางเชนจะเป็นฝ่ายเลือกเอง ซึ่งตอนนั้นของเรา เราเลือกจีเอ็มได้ตั้งแต่รอบแรก โดยจีเอ็มที่เราเลือกมา เราชอบที่เขามีประสบการณ์ในการบริหารโรงแรมไทยมาก่อน จึงมีความเข้าใจคนไทยและวัฒนธรรมไทย โดยหลังจากได้จีเอ็มมาแล้ว เขาก็จะมาช่วยดูแลภาพรวม จัดทำงบประมาณมาให้ว่า ต้องใช้จ่ายในส่วนไหน หน้าที่ของเราคือ ดูเรื่องงานพิจารณาว่าจะอนุมัติหรือไม่ ทำให้เหนื่อยน้อยลง”


ถอดบทเรียนโควิด -19

อย่างไรก็ตาม กว่าจะนำพาธุรกิจมาถึงวันนี้ แน่นอนว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะ ในช่วงโควิด-19 โรงแรมถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่กระทบหนักในเวลานั้น เพื่อกอบกู้สถานการณ์ในช่วงที่รายได้เป็นศูนย์ สิ่งที่ธนกรทำคือ หาวิธีลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นให้ได้มากที่สุด

“ในส่วนของพนักงาน ซึ่งช่วงก่อนโควิด เรามีพนักงานประมาณ 230 คน ซึ่งถือว่าเยอะถ้าเทียบกับจำนวนห้องพัก พอเกิดวิกฤติเราจึงมีโครงการจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานที่สมัครใจลาออก แต่ด้วยความที่ไม่มีใครรู้ว่าวิกฤติจะจบลงเมื่อไหร่ ทำให้พนักงานส่วนใหญ่เลือกที่จะรับเงินก้อน เพื่อไปทำอาชีพอื่น ทำให้เราต้องปรับแผน จะจ้างออกทั้งหมดก็คงไม่ไหว เลยพิจารณาเป็นรายบุคคลไป”


นอกจากค่าพนักงานที่พอจะแบ่งเบาภาระไปได้ ธนกรยังลงดีเทลไปถึงการจัดการค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นอื่นๆ เช่น ค่าเคเบิลทีวี เป็นต้น

“ปกติโรงแรมจะทำสัญญาจ่ายค่าเคเบิลทีวีตามจำนวนห้องพัก แต่พอช่วงที่เกิดโควิด-19 แทบไม่มีแขก หรือถึงเปิดให้บริการก็ไม่ได้เต็มจำนวน แทนที่เราจะเสียเงินกินเปล่าทุกเดือน เราก็เจรจาขอลดจำนวนช่องและจำนวนห้องที่ใช้บริการลง ขณะเดียวกัน พอช่วงไหนสถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศไทยเริ่มคลี่คลาย เราก็เริ่มปรับมายิงแอดฯ เฟซบุ๊ก ทำการตลาดกับคนไทยมากขึ้น จากที่แต่ก่อนไม่เคยทำ เพราะเราเห็นว่ารัฐบาลก็มีแคมเปญเที่ยวด้วยกัน ทำให้โรงแรมพอมีรายได้เข้ามาบ้าง ถึงจะไม่สามารถทดแทนค่าใช้จ่าย แต่ก็ยังประคองตัวมาได้ เพราะถ้ามองย้อนไป ช่วงที่สถานการณ์หนักสุดคือ ปี 2021 ที่มีการระบาดหลายระลอก จนปี 2022 เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ขาดทุนน้อยลง พอมาถึงปี 2023 เริ่มทำกำไรได้ต่อเนื่อง จากการที่ภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมา”


ถ้าถามว่า วิกฤติโควิด-19 ให้บทเรียนอะไรที่สำคัญที่สุด ธนกรมองว่า เรื่องการบริหารต้นทุน และการใส่ใจรายละเอียดต่างๆ เป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้าม

“อย่างพนักงาน แต่ก่อนเรารับคนเพิ่ม โดยที่ไม่ได้มีการวางแผนชัดเจน พอหัวหน้าแผนกมาแจ้งว่าคนไม่พอเราก็รับเพิ่มให้ ทั้งที่จริงๆ แล้วเราควรต้องมีเพดานว่า แผนกนี้ปีนี้รับพนักงานได้กี่คน แล้วถ้าอนาคตจำนวนห้องเพิ่ม แขกเพิ่ม จะปรับโควตาให้เท่าไหร่ หรืออย่างค่าใช้จ่ายต่างๆ โควิด-19 ทำให้เรารู้ว่าเราต้องลงในรายละเอียดมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หรือค่าใช้จ่ายบางอย่างที่มีภาระผูกพันระยะยาว แทนที่จะเน้นทำสัญญารายปี อาจจะลองปรับมาทำสัญญาระยะสั้น หรือมีการปรับให้สัญญามีความยืดหยุ่นมากขึ้น เผื่อว่าเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน อย่าง โรคระบาด หรือสงคราม เราจะได้สามารถเจรจาเพื่อปรับลดค่าใช้จ่ายได้ เป็นต้น” ธนกรกล่าวทิ้งท้าย

Comments are closed.

Pin It