Interview

“ชลภัทร นฤนาถวานิช” อดีตนักบิน มาสู่ผู้นำเข้าสินค้าดังจากอเมริกา

Pinterest LinkedIn Tumblr


แม้จะเรียนจบมาสายบริหาร แต่พอวันหนึ่งต้องโบกมือลาอาชีพ “นักบิน” มาสวมบทผู้บริหารธุรกิจ ก็ถือว่าเป็นโจทย์ที่หินไม่เบา ยังไม่รวมวิกฤตโควิด-19 ที่ซัดโครมเข้าใส่โลกธุรกิจเข้าอย่างจัง ทำให้ 2 ปี ของการตัดสินใจเข้ามาสานต่อธุรกิจของ “นิค-ชลภัทร นฤนาถวานิช” กลายเป็นอีกหนึ่งแชปเตอร์ของชีวิตที่เต็มไปด้วยความท้าทาย
“ผมเพิ่งเข้ามารับหน้าที่ MD ช่วยคุณพ่อดูแลธุรกิจนำเข้าผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม Paul Mitchell และ Takara Belmont เมื่อปี 2021 สำหรับ Paul Mitchell เป็นแบรนด์จากอเมริกา ก่อตั้งมา 40 ปี ส่วนใหญ่จะเป็น Professional Haircare Product ที่จำหน่ายให้ร้านทำผมเป็นหลัก มีผลิตภัณฑ์ครอบคลุมตั้งแต่ แชมพู ครีมนวด ทรีตเมนต์ สีผม เซ็ตติ้ง รวมถึงน้ำยาดัดผม
ส่วน Takara Belmont เป็นแบรนด์ผลิตเก้าอี้บาร์เบอร์ระดับไฮเอนด์จากญี่ปุ่น ก่อตั้งมานับ 100 ปี แต่คุณปู่ผมนำเข้ามาเมืองไทยได้ 50 ปี จุดเด่นของเก้าอี้บาร์เบอร์และเตียงสระของ Takara Belmont คือใช้วัสดุที่เป็นหนังแท้ มาพร้อมดีไซน์ที่มินิมัลก็จริง แต่มีฟังก์ชั่นซ่อนอยู่เยอะ รองรับกับสรีระผู้ใช้ แถมยังออกแบบให้ประหยัดพื้นที่ ผลิตในญี่ปุ่นทั้งหมด”


นิคบอกว่าก่อนจะมานั่งแท่นผู้บริหาร เขาเคยเป็นนักบินของสายการบินไทยอยู่ร่วม 7 ปี จนช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 คุณพ่อเลยทาบทามว่าให้กลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัว เพราะไหนๆ ก็เรียนจบปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรมอุตสาหการ จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเรียนจบปริญญาโท 2 ใบคือ ด้านบริหาร ที่มหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ประเทศอังกฤษ และทางด้านระบบโลจิสติกส์ ที่มหาวิทยาลัยวอร์ริค ประเทศอังกฤษ

“จริงๆ สมัยเด็กผมมีความฝันว่าอยากเป็นผู้กำกับ เพราะชอบดูหนัง (หัวเราะ) กับอีกความฝันคือ อยากเป็นนักบิน ซึ่งผมก็ได้เป็นจริงๆ แต่ที่ตัดสินใจทิ้งอาชีพนักบินมาทำธุรกิจ เพราะด้วยจังหวะชีวิตหลายๆ อย่างตอนนั้น ทั้งโควิด-19 ที่ทำให้อนาคตการบินดูไม่แน่นอน บวกกับผมเองก็มีครอบครัว มีลูก เลยคิดว่า ถ้ามุ่งมาทำธุรกิจของตัวเองน่าจะดีกว่า อย่างน้อยจะได้มีอะไรตกทอดให้ลูกด้วย”


ด้วยสถานการณ์ที่ไม่เป็นใจ บวกกับยังเป็นมือใหม่ในโลกธุรกิจ ทำให้ช่วงปีแรกของการผันตัวเองมาทำธุรกิจ ก็ค่อนข้างสาหัสเหมือนกัน เพราะเป็นช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ทำให้ร้านทำผมต้องปิด ออร์เดอร์ที่เคยเข้ามาก็หายไป

“ช่วงๆ แรกก็หนักอยู่ต้องทั้งปรับตัวและเรียน แต่ตอนนี้ผ่านมา 2 ปีแล้ว​ เริ่มจับทางถูก สิ่งที่เราคิดและทดลองทำก็เริ่มเห็นผล เพราะเราพยายามปรับเปลี่ยนองค์กร ด้วยการนำระบบ นำเทคโนโลยีที่อยู่รอบตัวมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น ​แทนที่จะทำงานกันผ่านกระดาษ ก็มาทำงานผ่านออนไลน์ เซ็นเอกสารออนไลน์ แทนที่เซลจะต้องเสียเวลาเข้าบริษัทมาประชุม ก็ประชุมผ่านทาง Zoom เน้นสื่อสารผ่าน LINE ซึ่งช่วยประหยัดเวลาและต้นทุน นอกจากนี้ ยังใช้โซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์ ในการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ”


ถ้าถามว่าอะไรคือความแตกต่างหรือความยาก ในการเปลี่ยนสเตตัสจากนักบินมาเป็นนักธุรกิจ นิคมองว่าเรื่องของ “คน”

“พอเราเป็นคนใหม่ที่เข้ามารับช่วงต่อ เราก็อาจจะมีไอเดียหลายอย่างที่อยากจะเปลี่ยนแปลง แต่ช่วงแรกๆ ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ เข้ากับภาพรวมของอุตสาหกรรมเปลี่ยนไปจากโควิด-19 ต้องปรับวิธีการทำงาน อย่างที่บอกว่า ปีแรก อาจจะยังงงๆ แต่พอผ่านไป 1 ปี ทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง ทีมเริ่มคิดและเห็นภาพไปในทางเดียวกัน ​ที่สำคัญ ไอเดียที่เราเสนอไปก็เริ่มเห็นผลที่ชัดเจน ซึ่งก็เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าสิ่งที่เราคิดมาถูกทาง”


ส่วนสิ่งที่แตกต่าง สำหรับการมาสวมบทนักธุรกิจ ที่อยู่ในวงการทำผม คือ เนื้องาน เพราะจากงานนักบินที่ได้เดินทางไปยังสถานการต่างๆ มีตารางงานชัดเจนว่า อยู่บนเครื่องบินคือทำงาน พอนำเครื่องไปถึงที่หมายก็จบภารกิจ แต่พอมาทำงานบริหารกลายเป็นว่า ต่อให้หมดเวลางาน บางครั้งก็ยังต้องนั่งเช็กเมลหรือคิดงานต่อ

“เพราะคู่แข่งของเราไม่อยู่กับที่ เราเองก็อยู่นิ่งๆ ไม่ได้เช่นกัน ส่วนตัวผมมองว่างานนักบินกับงานบริหารก็สนุกคนละแบบ งานนักบินอาจจะได้เดินทางไปเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ตลอดเวลาผมก็ยังรู้สึกว่าเราเป็นเฟืองตัวหนึ่งในเครื่องจักรมากกว่า แต่สำหรับงานบริหาร เวลาสิ้นเดือนเราเห็นผลลัพธ์ออกมาดี ก็อดภูมิใจไม่ได้ เพราะรู้สึกผลของงานมาจากน้ำพักน้ำแรงของเรา”
นิคเล่าอย่างออกรส ก่อนเสริมถึงอีกหนึ่งความต่างที่สัมผัสได้นั่นคือ การได้ออกจาก Comfort Zone จากที่ไม่เคยฟอกสีผมมาตลอดชีวิต กลายเป็นว่า พอมาอยู่ในวงการทำผม ก็ได้ลองทำ

“ผมว่าเหมือนเป็นการปลดล็อกตัวเอง ผมไม่เคยคิดว่า การเปลี่ยนสีผมจะเปลี่ยนลุคให้คนๆ คนหนึ่งไปได้ขนาดนี้ ซึ่งลุคที่ว่ารวมไปถึงเรื่องการแต่งตัว ทำให้เราแต่งตัวได้สนุกขึ้นด้วย”


ฉายภาพให้เห็นมุมการทำงานไปแล้ว มาถึงไลฟ์สไตล์ของนิค ซึ่งนอกจากจะชื่นชอบการเดินทางและการถ่ายรูป เขายังหลงใหลในการดื่มกาแฟและตระเวนชิมอาหารอร่อยๆ แต่หลังจากแต่งงานและมีลูก เวลาส่วนใหญ่ของนิคเขาเลือกทุ่มเทให้กับครอบครัว ถ้าจะแฮงก์เอาต์กับเพื่อนส่วนใหญ่ก็จะนัดมาที่บ้านมากกว่า

สำหรับอนาคต นิคตั้งใจว่าอยากจัด Work-Life balance ให้ดีขึ้น เพราะทุกวันนี้ บางวันตารางงานแน่นจนแทบไม่ได้เจอลูก และแทบไม่ได้ออกกำลังกาย ในส่วนธุรกิจเขามองว่า ปี 2022 ยังเป็นปีแห่งการปรับเปลี่ยนองค์กร แต่ปี 2023 จะเป็นปีที่ขยายฐานไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่​ๆ

“ตั้งแต่ ปี 2022 เราปรับเปลี่ยนองค์กร ไปหาลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เป็นเจนฯ ที่เด็กกว่าเดิม เป็นการ Rebranding แบบซอฟต์ๆ ให้คนรุ่นใหม่รู้จัก แต่ปีหน้าตั้งใจว่าจะขยายฐานลูกค้าให้แน่นกว่าเดิม” ผู้บริหารหนุ่มทิ้งท้าย

**ขอขอบคุณ MOTIF ชั้น 4 เซ็นทรัล เอ็มบาสซี เอื้อเฟื้อสถานที่ถ่ายภาพ**

Comments are closed.

Pin It