Interview

สาวน้อยสุดแอกทีฟ “เอแคลร์ ภิรดา” ลูกสาว “ภิมุข สิมะโรจน์” เลขาฯ ผู้ว่าฯ กทม.

Pinterest LinkedIn Tumblr


เรียกว่าตัวแทนคนรุ่นใหม่ไฟแรง ที่กล้าคิดกล้าทำสมวัยจริงๆ สำหรับ “เอแคลร์-ภิรดา สิมะโรจน์” ลูกสาวคนโตของ “คุณพ่อเอ้-ภิมุข สิมะโรจน์”เลขานุการผู้ว่าฯ กทม. กับ “คุณแม่อลิสา สิมะโรจน์” ที่แม้จะเตรียมขึ้นปี 2 แต่ก็วาดอนาคตไว้รอแต่เนิ่นๆ แถมยังใช้เวลาช่วงปิดเทอมไม่กี่เดือนให้เป็นประโยชน์ ด้วยการไปชิมลางหาประสบการณ์ทำงานที่บริษัทยักษ์ใหญ่ อย่างเอไอเอ ประเทศไทย ถือเป็นโบนัสก่อนเริ่มเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน


ปัจจุบันเอแคลร์เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเอกซิเตอร์ (University of Exeter) มหาวิทยาลัยระดับท็อปเทนของประเทศอังกฤษ ตอนนี้กำลังจะขึ้นชั้นปี 2 เอแคลร์เฉลยเหตุผลที่เลือกเรียนสาขาบริหารธุรกิจและการจัดการ เพราะก่อนหน้านี้ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองชอบด้านไหน บวกกับเห็นคุณพ่อแม่ทำธุรกิจมาตั้งแต่เด็ก เลยเลือกที่เรียนต่อด้านนี้

“พอมาเรียนจริง ๆ ก็สนุกค่ะ จากตอนแรกที่ลังเลว่า การทำธุรกิจอาจจะไม่ได้มีอะไรให้เรียนเท่าไหร่ แต่พอมาเรียนจริง ถึงรู้ว่ามีอะไรอีกเยอะมากที่เราต้องรู้ เช่น ทฤษฎีต่างๆ รวมไปถึงเรื่องราวความล้มเหลวที่เคยเกิดในอดีต เพื่อให้เราพอรู้ว่าอนาคตควรและไม่ควรทำอะไร”


งานนี้อินกับวิชาที่เรียนขนาดไหนไม่รู้ แต่เพื่อให้ตัวเองเข้าใจโลกธุรกิจและการทำงานจริงแบบรอบด้านและติดสปีดมากยิ่งขึ้น ช่วงที่ปิดเทอมกลับมาอยู่ที่เมืองไทย ก่อนจะกลับไปเรียนต่อช่วงปลายเดือนกันยายน เอแคลร์เลือกใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ด้วยการขอคุณพ่อคุณแม่ไปฝึกงาน เพื่อหาประสบการณ์ในโลกการทำงานจริง

พอเป็นแบบนี้ คุณแม่ซึ่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการที่ บริษัท เอไอเอ ประเทศไทย เลยจัดให้ ด้วยการให้ลูกสาวลองส่งโปรไฟล์ไปขอฝึกงานที่แผนก Business Development กับ Partnership ของ ALIVE แอปพลิเคชันด้านสุขภาพในเครือเอไอเอ จนได้โอกาสไปฝึกงานสมใจ

“ตอนแรกตั้งใจว่าจะไปฝึกแค่ 1 เดือน แต่พอเอาเข้าจริงก็ต่อเวลามาเรื่อยๆ จนตอนนี้ฝึกงานมาเดือนกว่าแล้วค่ะ และตั้งใจว่าอาจจะขอขยายเวลาฝึกต่อ​ เพราะพอมาฝึกงานแล้วสนุกมาก ต้องขอบคุณพี่ๆ ในแผนกที่ค่อนข้างเปิดโอกาสให้ได้ทำหลายอย่าง นอกจากจะได้ติดต่อประสานงาน เวลามีไปถ่ายโฆษณาโปรโมทแอปฯ ก็ได้ไปอยู่ในกองถ่ายจริงๆ นอกจากจะได้ช่วยเลือกนักแสดง ยังได้ช่วยลงเสียง Voice Over ที่ใช้ในโฆษณาด้วย”


ถามว่า ระหว่างเรียนในมหาวิทยาลัยกับมาลองทำงานจริง เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

“จริงๆ การเรียนกับทำงานก็สนุกคนละแบบ อย่าง เวลาเรียนจะไม่ได้ลงมือทำเยอะ เน้นเรียนในตำรา หรือถ้าอย่างที่มหาวิทยาลัยจะเน้นให้เรียนรู้ด้วยตัวเอง แล้วพอมาทำงานเราไม่ได้เรียนรู้จากการนั่งฟัง แต่เรียนรู้จากการลงมือทำ และสังเกตคนอื่น เพราะฉะนั้น ถ้าให้เลือกก็เลยชอบการทำงานมากกว่า“


อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่การฝึกงานของแอแคลร์ แต่ก่อนหน้านี้ เธอเคยมีประสบการณ์ฝึกงาน ตั้งแต่ตอนที่ไปเรียนต่อโรงเรียนประจำที่อังกฤษ

“ก่อนหน้านี้เคยไปฝึกงานที่แผนกการตลาดของ โวดาโฟน (Vodafone) บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ ตอนนั้นไปฝึกงานกับเพื่อน โดยเราเป็น 1 ใน 30 คน ที่ได้อยู่แผนกการตลาด และได้ทำแคมเปญเปิดตัว iPhone 12 5G ซึ่งถือว่าโชคดีมากที่ได้ไปฝึกก่อนที่จะเกิดโควิดพอดี เพราะพอมีโควิด ก็ต้องย้ายกลับมาเรียนออนไลน์ที่ไทย


ทั้งนี้ เอแคลร์ยอมรับว่า ชีวิตนักเรียนที่อยู่ในช่วงคาบเกี่ยวจะเข้ามหาวิทยาลัยในช่วงโควิด ก็ท้าทายไม่เบา เพราะเรียนได้ไม่เต็มที่เหมือนได้ไปห้องเรียนจริงๆ และยังมีปัญหาเรื่องไทม์โซน ดังนั้น จึงต้องอาศัยการวางแผนที่ดี เพื่อเรียนตามเพื่อนให้ทัน

“เรียนออนไลน์แค่ตอน ม.6 ปลายๆ กับปี 1 เทอม 1 พอเทอม 2 ก็ได้กลับไปเรียนปกติแล้วค่ะ หลักๆ ที่ต้องปรับตัวคือ โควิด-19 อาจจะทำให้หลายคนเฟรนด์ลี่น้อยลง พยายามพูดคุยกันน้อยลง แถมยังต้องสวมหน้ากาก ดังนั้น พอไปเรียนที่โน่น ถ้าอยากจะหาเพื่อน ก็อาจจะต้องยิ่งทำตัวเฟรนด์ลี่มากขึ้น เข้าหาเพื่อนมากขึ้นกว่าเดิม(หัวเราะ)”


อัปเดตชีวิตวัยเรียนไปแล้ว มาถึงไลฟ์สไตล์ของเอแคลร์ ที่ต้องบอกว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะนอกจากจะชอบเล่นกีฬา โดยเฉพาะ บาสเกตบอลและว่ายน้ำ ถึงขนาดเคยรวมกลุ่มไปแข่งกับมหาวิทยาลัยอื่นที่เป็นคนไทยด้วยกัน เธอยังหลงใหลในเสียงดนตรีแบบเข้าเส้น โดยเฉพาะ การร้องเพลง

“จริงๆ คุณแม่ให้เรียนเปียโนมาตั้งแต่ 4 ขวบ ตอนแรกก็ไม่ชอบ เพราะต้องเรียนทฤษฎีก่อน แต่พอโตขึ้นเริ่มรู้สึกว่า การเล่นดนตรีได้เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ก็เลยเริ่มฝึกต่อเอง ส่วนกีตาร์เกิดจากเห็นคุณพ่อและน้องสาว (แพนเค้ก-อลิณฎา สิมะโรจน์) เล่น ด้วยความที่เคยเล่นอูคูเลเล่มาบ้าง เลยลองฝึกเอง จากยูทูบ แต่ตอนนี้ที่สนใจมากที่สุดน่าจะเป็นการร้องเพลง ซึ่งก็ไม่ได้ไปลงเรียนจริงจัง อาศัยฝึกเองและร้องเพลงกับเพื่อนบ้าง”


งานนี้ แม้เอแคลร์จะดูเป็นสาวหวาน ลุคคุณหนู แต่จริงๆ แล้ว เอแคลร์กลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น

“ช่วงที่ไปเข้าโรงเรียนประจำที่อังกฤษ เป็นช่วงได้ฝึกเรียนรู้ทักษะการเอาตัวรอด​ ตอนที่ไปแรกๆ คิดถึงบ้านมาก เพราะไปคนเดียว แถมยังเป็นคนไทยคนเดียวในโรงเรียน แต่พอปรับตัวได้มีเพื่อน ก็โอเค แถมยังได้ฝึกการช่วยตัวเอง เช่น การทำอาหาร ทำงานบ้าน ได้ประสบการณ์ชีวิต อย่าง การเดินทาง เพราะมีครั้งหนึ่งเคยนั่งรถไฟแล้วหลงไปอีกเมือง ประสบการณ์แบบนี้ ทำให้ดูแผนที่เก่งขึ้น กล้าถามคนแปลกหน้า เดี๋ยวนี้เลยไปไหนมาไหนเองได้สบาย”

ถามว่าเป็นลูกสาวคุณโต คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้มงวดเป็นพิเศษหรือไม่ เอแคลร์บอกว่า คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงมาแบบให้อิสระ ไม่ได้ตีกรอบว่าต้องทำอะไร แต่พร้อมซัพพอร์ต ไม่ว่าอยากเรียนด้านไหน หรือสนใจธุรกิจแบบนี้ จะแนะนำให้

“คุณพ่อคุณแม่จะไม่ได้ตีกรอบว่าห้ามทำอะไร เพราะรู้ว่าเด็กสมัยนี้ยิ่งห้ามก็ยิ่งทำ พวกท่านจะเป็นผู้ฟังที่ดีมากกว่า เลยกลายเป็นว่าไม่เคยต้องแหกกฎหรือโกหก เพราะทำอะไรก็บอกได้หมดเลย แต่เราเองก็รู้จักว่าอะไรผิดอะไรถูก เพราะฉะนั้น ก็จะไม่ทำอะไรที่คุณพ่อคุณแม่จะไม่โอเค”


ส่วนคำสอนของคุณพ่อคุณแม่ที่จำไม่ลืม คือให้คิดก่อนทำ ซึ่งใช้ได้กับทุกเรื่อง

“อย่างช่วงก่อนเข้ามหาวิทยาลัย เวลาเพื่อนชวนไปเที่ยวเราก็จะคิดก่อนว่า ​ถ้าไปแล้วผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร จะมีเวลาอ่านหนังสือหรือเปล่า เพราะสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่บอกเสมอว่า ไม่ว่าจะทำอะไรต้องทำเต็มที่ ถ้าเราทำเต็มที่แล้วไม่ได้ ก็ไม่ต้องไปเสียใจ

ปิดท้ายด้วยกิจกรรมยามว่างกับครอบครัวกันบ้าง “ปกติเราจะมีนัดไปกินข้าวเย็นด้วยกันทุกวันอาทิตย์ หลักๆ คือเน้นใช้เวลาด้วยกัน โดยที่ทุกคนจะไม่ดูโทรศัพท์ บางทีก็เล่นดนตรีด้วยกัน โดยคุณพ่อเล่นกีตาร์ เอแคลร์ร้องเพลง หรือบางครั้งก็จะชวนน้องสาวไปฟิตเนส เพราะตอนนี้กำลังฟิตหุ่นอยู่ หรืออย่างก่อนหน้านี้ ก็จะตามคุณพ่อไปทำงานจิตอาสา เช่น เอาของไปบริจาคให้เด็กกำพร้า ช่วงโควิด ก็ซื้อข้าวกล่องไปแจก”


อนาคตถ้าถามว่า อยากตามรอยคุณพ่อเข้าสู่สนามการเมืองหรือไม่ เอแคลร์ตอบว่า ยังไม่ได้วาดภาพไปไกลขนาดนั้น คิดแค่ว่าถ้าเรียนจบปริญญาตรี อยากจะฝึกงานจริงจัง ก่อนจะไปเรียนต่อปริญญาโทที่สหรัฐฯ ส่วนจะกลับมาทำงานหรือเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเอง ให้เป็นเรื่องของอนาคต

“เรายังไม่ได้มีภาพชัดว่าจะทำธุรกิจอะไร แค่คิดว่าน่าจะเกี่ยวกับแฟชั่น ความสวยความงาม หรือไม่งั้นอาจจะเอาดีไปทางสายดนตรี วงการบันเทิง ส่วนงานการเมือง น่าจะไม่ใช่ทางของเรา” เอแคลร์ทิ้งท้าย

Comments are closed.

Pin It