Event

ถนนสีรุ้ง พร้อมต้อนรับชาว LGBTQIAN+ ในงาน บางกอกไพรด์ 2023

Pinterest LinkedIn Tumblr


บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด จับมือ กรุงเทพมหานคร พร้อมภาคประชาสังคมและภาคเอกชน จัดงาน “บางกอกไพรด์ 2023 (Bangkok Pride 2023) เพื่อสร้างการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยและพื้นที่สร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมสำหรับชุมชน LGBTQIAN+ โดยในปีนี้ปังกว่าที่เคย ภายใต้แนวคิด “Beyond Gender ประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศใดที่คุณอยากก้าวข้าม” งานจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้และเป็นกระบอกเสียงให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับความเท่าเทียมในสังคมไทยในทุกมิติ โดยในงานแถลงข่าวครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมงาน


“วาดดาว – ชุมาพร แต่งเกลี้ยง” ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด กล่าวถึงการจัดงาน บางกอกไพรด์ 2023 ในครั้งนี้ว่า “เราพร้อมเป็นพื้นที่ให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIAN+ ได้แสดงออกและเรียกร้องสิทธิในด้านต่างๆ ที่ควรได้รับ และโชว์ศักยภาพ ความสามารถ ความเข้มแข็งให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาสังคมไทยและสังคมโลก งานนี้จึงเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ในการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจให้หมุนเวียนในประเทศ การจัดงานบางกอกไพรด์ในปีนี้เราตั้งเป้าหมายในการเข้าร่วมเป็นเครือข่าย Rainbow Cities Network เพื่อพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกเพศ และคว้าโอกาสสำคัญในการพากรุงเทพฯเป็นเจ้าภาพการจัดงาน World Pride ในปี 2028”


สำหรับกิจกรรมภายในงาน บางกอกไพรด์ 2023 ที่นำยานแม่ลงจอดเพื่อเหล่าชาวสีรุ้งจะได้ตื่นตา ตื่นใจ คือกิจกรรมบนเวทีฉลองความหลากหลายทางเพศหรือ Pride Stage บริเวณหน้าลานเซ็นทรัลเวิลด์ และการเดินขบวนพาเหรดสุดสร้างสรรค์ 6 ขบวน สุดสร้างสรรค์จากแนวคิด “สุขภาวะของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+ well-being)” เพราะการมีสุขภาวะที่ดีสำคัญต่อคุณภาพชีวิต พร้อมนำแนวเพลงต่างๆ มาสร้างสรรค์กับขบวนพาเหรดด้วยความสนุกสนานและปลอดภัย ประกอบด้วย ขบวนที่ 1 มาพร้อมประเด็น Gender X พร้อมเพลงแนว POP, ขบวนที่ 2 จัดจ้านด้วยประเด็น My Body My Choice และเพลงแนว HIPHOP, ขบวนที่ 3 เพิ่มสีสันด้วยแนวเพลงหมอลำ บอกเล่าเรื่อง Chosen Family) และสมรสเท่าเทียม, ขบวนที่ 4 บอกเล่าถึง Peace & Earth โดยนำเพลง JAZZ BLUE สร้างสรรค์ร่วมกับขบวนพาเหรด, ขบวนที่ 5 สะท้อนไปยังการเข้าถึงสิทธิทางการแพทย์อย่างเท่าเทียม (Equal Rights to Health) นำเสนอผ่านแนวเพลง K-POP T-POP และ J-POP และขบวนที่ 6 มาพร้อมแนวเพลง ROCK ที่จะบอกเล่าถึง I’m Home โดยมีแนวคิดหลักของขบวนเพื่อการยืนยันถึงสิทธิในการที่มีความปลอดภัยในชีวิตของ LGBTQIAN+

สำหรับพันธมิตรหรือภาคีเครือข่าย ที่ร่วมจัดงานในครั้งนี้ทางบริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด ได้ค้นหาองค์กรที่มีการขับเคลื่อนหรือมีแนวทางในการสนับสนุนสิทธิเสรีภาพของพนักงาน LGBTQAIN+ หรือมีเป้าหมายในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ อาทิ วอลล์ คอร์นเนตโต, ลีวาย (Levi’s), นูด แคปซูล (Nude Capsule), ทริงเก็ต (Trinket), คลีเน็กซ์ (Kleenex) และ กูเกิล (Google) มาร่วมสร้างพื้นที่แห่งความสร้างสรรค์ในปีนี้


โดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “กรุงเทพมหานครพร้อมสนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยในปีนี้ร่วมมือกับนฤมิตไพรด์ทีมผู้จัดบางกอกไพรด์ในการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ตลอดเดือนมิถุนายน รวมถึงการพัฒนาสวัสดิการของพนักงานเพศหลากหลายของกรุงเทพมหานคร บริการด้านสาธารณะสุขของกรุงเทพมหานคร คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย (BKK Pride Clinic) เพื่อพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกเพศตามนโยบายความหลากหลายของกรุงเทพมหานคร”


ด้าน นายอะบิจิต กุลคาลนิ ผู้อำนวยการธุรกิจไอศกรีมประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ในปัจจุบันมีภาพของ LGBTQIAN+ ที่ถูกนำเสนออยู่บนสื่อมีข้อจำกัดในการแสดงออกอยู่ คอร์นเนตโตจึงเป็นอีกหนึ่งเสียงสำคัญที่อยากสนับสนุนให้ทุกคนกล้าที่จะแชร์ความรักในหลากหลายมุมมอง ผ่านแคมเปญ “No Wrong Way to Start” พร้อมด้วยไอศกรีมรสชาติใหม่ล่าสุด “Cornetto Pride” เพื่อเป็นสื่อกลางในการชวนทุกคนมาร่วมเฉลิมฉลองความรักที่ไม่จำกัดรูปแบบในเดือน Pride Month ไปด้วยกัน สามารถติดตามกิจกรรมดีๆ จากทางคอร์นเนตโตเพิ่มเติมได้ทาง www.facebook.com/CornettoThailand

ในส่วนของผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการด้านเทคโนโลยีอย่าง Trinket (ทริงเก็ต) แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยุคใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นบนแนวคิดของการผนวกรวมเรื่องของสะสม, เวลา และสถานที่เข้าไว้ด้วยกัน ผู้ใช้สามารถสร้าง หรือ “ดร็อป (Drop)” เพื่อรวบรวมโมเม้นท์และสร้างหมุดหมายความทรงจำว่าคุณเคยอยู่ที่ตรงนั้น สำหรับงาน Bangkok Pride 2023 Trinket หวังว่าจะเป็นศูนย์กลางของการสร้างความทรงจำของทุกคนในงาน Bangkok Pride เพื่อให้ผู้เข้าร่วมทุกคนสามารถแสดงให้โลกเห็นและยืนยันว่าพวกเขาเคยเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลอง ณ เวลาและที่แห่งนี้ และพวกเขาสามารถพกพาสมบัติแห่งความทรงจำเหล่านี้ติดตัวไปในรูปแบบของ Trinket


ด้านบริษัทระดับโลกอย่าง Google ที่มาร่วมสนับสนุนขบวนบางกอกไพรด์ในปีนี้นำโดย คุณสายใย สระกวี หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรและมวลชนสัมพันธ์และหัวหน้ากลุ่ม Pride Google ประเทศไทย กล่าวว่า เราให้ความสำคัญต่อ Diversity, equity, และ Inclusion (DEI) เสมอมา โดยทาง Google ประเทศไทยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของ Bangkok Pride ในปีนี้”

นอกจากพาเหรดไพรด์ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 4 มิถุนายนแล้ว อีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่ นฤมิตไพรด์ จัดขึ้นในวันที่ 29 พฤษภาคม คือ การจัดแสดงผลงานศิลปะ Road To Bangkok World Pride 2028 ขนาด บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการเดินทางสู่การเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลกอย่าง World Pride


วาดดาว – ชุมาพร กล่าวเพิ่มเติมว่า “การจัดงานบางกอกไพรด์มีเป้าหมายในการผลักดันให้ไทยจัดงานระดับโลก World Pride เพื่อเป็นจุดหมายปลายทางของ LGBTQIAN+ จากทั่วโลก เพราะเชื่อมั่นว่าชุมชนผู้มีความหลากหลายในประเทศไทยมีศักยภาพในการจัดงานระดับโลก World Pride ในปี 2028 ได้ โดยเป้าหมายในการจัดงานไม่เพียงเป็นการเฉลิมฉลอง แต่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีความหลากหลายทางเพศให้สามารถฉลองความไพรด์ได้ตลอดทั้งปี และหากถ้า Bangkok Pride ทำได้สำเร็จจะถือว่าเป็นประเทศแรกในเอเชียและเป็นการเปิดประตูความหลากหลายทางเพศให้กับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้”


ภาพปรากฏการณ์ผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 25,000 คน บนถนนสีรุ้ง ที่สร้างปรากฎการณ์ความสำเร็จถูกพูดถึงและได้รับ Engagement กว่า 300 ล้านครั้งจากทุกแพลตฟอร์มจะกลับมาอีกครั้ง เตรียมพบกับไฮไลท์ธงสีรุ้ง สัญลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศ ความยาว 144.8 เมตร โดยเป็นตัวเลขที่มีความหมายจากการเรียกร้องเพื่อต้องการให้เกิดการแก้ไขกฎหมายมาตรา 1448 สมรสเท่าเทียม ซึ่งนับว่าเป็นธงสีรุ้งที่ยาวที่สุดในประเทศไทย โดยจะโบกสะบัดใจกลางกรุงเทพฯ พร้อมส่งต่อการจัดงานไพรด์ทั่วประเทศไทยอีกมากกว่า 22 ครั้ง ใน 12 จังหวัด

พบกับประสบการณ์การเดินพาเหรดที่สนุกสนาน เป็นมิตรกับทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงผู้ให้ความใส่ใจสำหรับผู้พิการ ในงาน “บางกอกไพรด์ 2023” ผ่านขบวนพาเหรดที่เริ่มตั้งแต่บริเวณแยกปทุมวัน ถนนพระราม 1 ฝั่งสยามพิวรรธน์ จนถึงแยกราชประสงค์ บริเวณลานเซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมด้วยธงสีรุ้งยาวที่สุดในประเทศไทย ที่จะโบกสะบัดเพื่อประกาศชัดถึงความเท่าเทียมกันของผู้มีความหลากหลายทางเพศ พร้อมทั้งไฮไลท์กิจกรรมงานตลอดเส้นทาง ในวันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน 2566 ตั้งแต่เวลา 14:00 – 20:00 น.

Comments are closed.

Pin It