Travel

อิ่มบุญวิสาขบูชา แวะสักการะพระพุทธ 9 แผ่นดิน

Pinterest LinkedIn Tumblr

ประชาชนร่วมสักการะพระบรมสารีริกธาตุ
>>เทศกาลสำคัญสำหรับพุทธศาสนาอย่างวันวิสาขบูชาที่กำลังจะเวียนมาถึงในวันที่ 24 พฤษภาคมนี้ บางคนอาจจะเตรียมตัวไปทำบุญ ไหว้พระ เวียนเทียนที่วัด บางก็เห็นว่าเป็นวันหยุดยาวสบโอกาสที่จะไปวิปัสสนา แต่ถ้าใครยังไม่ได้วางแผนกิจกรรมไหนไว้ มีอีกหนึ่งสิ่งที่เราอยากจะแนะนำนั่นคือ การไปสักการะพระพุทธปฎิมา ๙ ยุค ๙ สมัย ๙ แผ่นดิน ที่เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน

โดยงานนี้ได้ความร่วมมือของห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์, จังหวัดนนทบุรี, กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด มาร่วมกันจัดงานเชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนมาร่วมสักการะพระพุทธปฎิมาแห่งแผ่นดิน ๙ ยุค ๙ สมัย ๙ แผ่นดิน ในงาน “วิสาขบูชา มหามงคล ปรุงจิต สร้างปัญญา” ตอน “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง
9 ยุค
ภายในงานจะนำ “พระพุทธปฎิมาแห่งแผ่นดิน ๙ ยุค ๙ สมัย ๙ แผ่นดิน” ที่สะท้อนความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนา มาจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการ โดยไล่เรียงความเป็นมาของพระพุทธศาสนา ในยุคอดีต ๙ ยุค ๙ สมัย ๙ แผ่นดิน ตั้งแต่สมัยทวาราวดี, ศรีวิชัย, ลพบุรี, เชียงแสน-ล้านนา, สุโขทัย, อู่ทอง, อยุธยา, รัตนโกสินทร์ และยุครัชกาลปัจจุบัน

ซึ่งว่ากันว่า พระพุทธศาสนาได้เดินทางมาถึงยังดินแดนสุวรรณภูมิ ที่ที่ตั้งของประเทศไทยในปัจจุบัน นับได้กว่า 2,000 ปีแล้ว พระพุทธรูปตั้งแต่ในสมัยโบราณจนถึงยุคปัจจุบันก็ได้มีวิวัฒนาการพัฒนามาโดยตลอด ในทางโบราณคดีแล้ว มีคำกล่าวกันว่า พระพุทธรูปที่ปรากฎในประเทศไทย หากต่างยุคกันแล้ว พุทธลักษณะจะเป็นตัวบอกถึงยุคได้ หรือแม้แต่หน้าตา จะมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นในทางโบราณคดีเพียงเห็นหน้าพระพุทธรูปก็บอกถึงยุคได้แล้ว

บางยุคพระพุทธรูปจะมีหน้าตาอวบอิ่ม เนื่องจากคนยุคนั้นบ้านเรือนสงบสุข บางยุคหน้าตาดุดัน เนื่องจากอยู่ในยุคแผ่กระจายอำนาจ หรือบางยุคพระพุทธรูปหน้าตาผอมเรียว เนื่องจากบ้านเมืองอยู่ในภาวะสงคราม ซึ่งศิลปะในทางศาสนาของไทยเรานั้นแบ่งออกเป็น 9 ยุค ไล่เรียงมาตั้งแต่

1.ศิลปะยุคทวารวดี พบที่บริเวณภาคกลางของประเทศไทย
2.ศิลปะยุคศรีวิชัย พบที่บริเวณภาคใต้
3.ศิลปะยุคลพบุรี พบที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)
4.ศิลปะยุคเชียงแสน-ล้านนา พบบริเวณภาคเหนือตอนบน
5.ศิลปะยุคสุโขทัย พบที่บริเวณภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน
6.ศิลปะยุคอู่ทอง พบที่บริเวณภาคกลาง
7.ศิลปะยุคอยุธยา พบที่บริเวณภาคกลาง
8.ศิลปะยุครัตนโกสินทร์ พบที่บริเวณภาคกลางของประเทศไทย
9.ศิลปะยุครัชกาลปัจจุบัน
พระพุทธรูปยุคทวาราวดี
พระพุทธปฏิมายุคทวารวดี

ยุคทวาราวดี จะอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 8-9 ถือเป็นยุคต้น ๆ ที่พระพุทธศาสนาเข้ามาในประเทศไทย พระพุทธรูปส่วนใหญ่จะนิยมสร้างด้วยสำริด(Bronz) หรือหินจากภูเขา รวมถึงนิยมสร้างรูปสัญญลักษณ์ตัวแทน เช่น กงล้อแห่งวัฐฎะสงสาร

พระพุทธรูป พระพิมพ์ เครื่องปูนปั้น ดินเผาและมีทั้งประทับนั่งและยืน ลักษณะของพระพุทธรูปสมัยทวารวดีมีลักษณะที่สำคัญ ดังนี้ มีขมวดพระเกศใหญ่ พระพักตร์แบบพระขนงทำเป็นเส้นนูนโค้งติดต่อกันดังรูปปีกกา

พระเนตรโปน พระนาสิกแบน พระโอษฐ์แบะและใหญ่ พระหัตถ์และพระบาทใหญ่ สำหรับพระพิมพ์เริ่มมีขึ้นในอินเดีย เพื่อเป็นที่ระลึกว่าประชาชนอินเดียที่นับถือ พุทธศาสนาได้ไปบูชาสังเวชนียสถานในพุทธศาสนา แต่ต่อมาประชาชนอินเดียที่นับถือพุทธศาสนา ได้สร้างขึ้นไว้เป็นที่เคารพบูชา และเพื่อให้พระพุทธรูปและพระธรรมอันเป็นหัวใจ ศาสนาปรากฏอยู่ ดังนั้นคนในสมัยโบราณจึงชอบสร้างพระพิมพ์เป็นจำนวนมาก เพื่อบรรจุไว้ในเจดีย์สถานเป็นการสืบอายุ พระพุทธศาสนา พระพิมพ์สมัยทวารวดี ชอบสร้างด้วยดิน
พระพุทธรูปยุคศรีวิชัย
พระพุทธปฏิมาสมัยศรีวิชัย

อยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 9-10 พระพุทธรูปยุคนี้นิยมสร้างโดยใช้สำริด (Bronze) หินทราย และดิน ศรีวิชัยเป็นชื่ออาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองมาก ในหมู่เกาะอินโดนีเซีย ได้ปกครองสุมาตรา ชวา มาลายู และดินแดนบางส่วน ทางภาคใต้ของไทย ดังนั้นศิลปกรรมที่เกิดขึ้นทางภาคใต้ ของไทยในขณะนั้น จึงได้ชื่อว่า ศิลปะแบบศรีวิชัย แต่ก็มีการถกเถียงกันมากระหว่างนักโบราณคดีและประวัติศาสตร์ว่า อาณาจักรศรีวิชัยมีศูนย์กลางอยู่ที่ใดกันแน่ ระหว่างเมืองไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีของไทย กับเมืองปาเล็มบังในเกาะสุมาตรา

ทั้งพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ ตลอดจนพระพิมพ์ดินเผาและดินดิบ ประติมากรรมแบบศรีวิชัย ได้รับอิทธิพลจาก 1. ศิลปอินเดีย แบบคุปตะ และหลังคุปตะ, ศิลปอินเดียแบบปาละ เสนะ, ศิลปขอมหรือลพบุรี ซึ่งพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ส่วนมากทำด้วยสัมฤทธิและศิลาพบที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี สันนิฐานว่าที่อำเภอไชยา คงเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณที่สำคัญ ในสมัยศรีวิชัย เพราะโบราณวัตถุต่างๆ จะพบที่ไชยาทั้งสิ้น พระโพธิสัตว์ที่เก่าที่สุดคือพระโพธิสัตว์ซึ่งสลักด้วยศิลา ถูกค้นพบที่อำเภอไชยา ซึ่งได้รับอิทธิพลแบบคุปตะ ส่วนพระโพธิสัตว์ที่สวยงามที่สุด คือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
พระพุทธรูปยุคลพบุรี
พระพุทธปฏิมายุคลพบุรี

ยุคนี้จะมีอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 7-13 พระพุทธรูปยุคนี้นิยมสร้างจากสำริด(Bronze) หรือหินทราย เป็นต้น ได้มีการค้นพบประติมากรรมและสถาปัตยกรรมสมัยลพบุรี ทางภาคกลาง ได้แก่ เมืองลพบุรี และ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ กาฬสินธุ์ มหาสารคาม เป็นต้น ซึ่งมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับประติมากรรมและ สถาปัตยกรรม ของขอมในประเทศกัมพูชามาก ศิลปะขอมได้รับอิทธิพลจากอินเดีย และได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง จนมีลักษณะเป็นของตนเอง ศิลปะขอมมีทั้งที่ทำขึ้นในศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์

ถ้ากษัตริย์องค์ใดนับถือพุทธศาสนาจะสร้างศิลปะในพุทธศาสนา ถ้ากษัตริย์องค์ใดนับถือศาสนา พราหมณ์ ก็จะสร้างศิลปะในศาสนาพราหมณ์ ศิลปะขอมได้แผ่เข้ามาทางภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยเฉพาะที่ลพบุรีหรือละโว้ ว่ากันว่าขอมส่งอุปราชเข้ามา ปกครอง ดังนั้นลพบุรีจึงใช้เป็นชื่อศิลปะลักษณะนี้ คำว่าศิลปะลพบุรีนั้นใช้รวมถึง โบราณสถานขอมซึ่งค้นพบในประเทศไทยด้วย

ลักษณะพระพุทธรูปสมัยลพบุรี มีหน้าผากกว้าง คางเป็นเหลี่ยม ปากแบะ ริมฝีปากหนา พระขนงนูนเป็นสัน พระนาสิกโค้งและยาว พระหณุเป็นปมป้าน ไรพระศกที่ต่อกับพระนลาฏหนาโต อุณหิศใหญ่เป็นรูปฝาชี มีลวดลายคล้ายมงกุฎเทวรูป มีทั้งพระพุทธรูปประทับนั่งและยืน ในสมัยนี้ชอบสร้างพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิปางนาคปรกกันมาก พระพุทธรูปมีทั้งหล่อด้วยสัมฤทธิ์ และสลักด้วยศิลา สำหรับพระพุทธรูที่หล่อด้วยสัมฤทธิ์มักชอบหล่อเป็นพระพุทธรูปองค์เดียว หรือหลายองค์ อยู่เหนือฐาน อันเดียวกันนอกจากนี้ก็ยังมีพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือนางปัญญาบารมี เทวรูปก็มี เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ นอกจากนี้ก็ยังมีพระพิมพ์ ทั้งที่สร้างด้วยดินเผาและโลหะ พระพิมพ์สมัยนี้มักมีรูปพระปรางค์ เข้ามาประกอบเสมอ
พระพุทธรูปยุคเชียงแสน
พระพุทธปฏิมายุคเชียงแสน

อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 15-17 พระพุทธรูปส่วนใหญ่นิยมสร้างจากสำริด มีลักษณะเป็นแบบผู้ชายเต็มตัว อกกว้าง มีกล้ามลักษณะกลม แสดงถึงความบึกบึน กล้าหาญ สำหรับพระพุทธรูปในยุคนี้ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน เช่น พระพุทธสิหิงค์

โดยพระพุทธรูปเชียงแสนมี 2 รุ่น คือ รุ่นที่ 1 เป็นพระพุทธรูปที่มีพระรัศมีเป็นดอกบัวตูมหรือลูกแก้ว ขมวดพระเกศาใหญ่ พระพักตร์กลมอมยิ้ม พระหนุ (คาง) เป็นปม พระองค์อวบอ้วน พระอุระนูนและกว้าง ดุจหน้าอกสิงห์ ชายจีวรเหนือพระอังสาซ้ายสั้นปลายมีแฉกเป็นเขี้ยวตะขาบชอบทำปางมารวิชัยและขัดสมาธิเพชร (แลเห็นฝ่าพระบาททั้ง 2 ข้าง)และที่ฐานจะทำเป็นรูปบัวคว่ำและบัวหงายเป็นพระพุทธรูปที่มีอิทธิพลแบบปาละของอินเดีย

ส่วนรุ่นที่ 2 เป็นพระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย มีลักษณะที่สังเกตได้คือ พระรัศมี เป็นดอกบัวตูมที่สูงขึ้น บางครั้งก็เป็นเปลวแบบสุโขทัย ขมวดพระเกศาเล็ก พระวรกาย บางองค์ก็อวบอ้วนและพระอุระนูน แต่มีชายจีวรยาวลงมาถึงพระนาภี ชอบทำนั่งขัดสมาธิราบ
พระพุทธรูปยุคสุโขทัย
พระพุทธปฏิมายุคสุโขทัย

มีลักษณะสวยมาก หน้ารูปไข่ มีรอยยิ้ม อ่อนช้อยคล้ายผู้หญิง มองดูเรียวงามไปทั่วทั้งองค์อิ่มเอิบสวยงามมาก บ่งบอกถึงศิลปะขั้นสูง ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่าเป็นเพราะชาวเมืองสุโขทัย มีความอยู่ดีกินดี มีความสุข ศิลปะที่แสดงออกมาจึงเป็นดังที่เห็นกันเช่นพระพุทธรูปในสมัยนั้น ศิลปะสุโขทัยได้รับการยอมรับกันว่าเป็นสมัยที่ศิลปะไทยเจริญถึงขั้นสูงสุด (Classic) มีความงดงามเป็นเยี่ยม โดยเฉพาะการสร้างพระพุทธรูปมีลักษณะเป็นของตนเองมากที่สุด และมีการสร้างพระพุทธรูปครบทั้ง 4 อิริยาบถ คือ พระพุทธรูปยืน นั่ง เดิน นอน

โดยมีพระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปองค์เดียวมีลักษณะสวยงามที่สุด สร้างสมัยปลายสุโขทัย ลักษณะพระพักตร์เป็นแบบสุโขทัยกับเชียงแสน และพระพุทธรูปปางลีลาศิลปะสมัยสุโขทัย ก็จัดว่าเป็นศิลปะที่งดงามที่สุดของไทย
พระพุทธรูปยุคอู่ทอง
พระพุทธปฏิมายุคสมัยอู่ทอง

มีลักษณะรูปเหมือนคนธรรมดามาก แสดงความรู้สึกออกมาให้เห็นชัด หน้าดุ ส่วนใหญ่เป็นพระนั่ง
ยุคอู่ทอง (ราวพุทธศตวรรษที่ 17 -20) เป็นศิลปะที่เกิดจากการรวมกันของศิลปะทวารวดี และอารยธรรมขอม ตัวอย่างของสถาปัตยกรรมอู่ทองเช่น พระปรางค์องค์ใหญ่ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี

ศิลปะอู่ทอง เป็นศิลปะที่เกิดขึ้นในภาคกลางของประเทศไทย เป็นศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะทวารวดี ขอม เชียงแสนและศิลปะสุโขทัย ศิลปะอู่ทองพบมากที่สุดในบริเวณรอบเกาะเมืองอยุธยา เมืองลพบุรี สุพรรณบุรี และเมืองสรรค์บุรี (อยู่ในเขตจังหวัดชัยนาท) ศิลปะอู่ทองเป็นศิลปะอันเนื่องมาจากพระพุทธศาสนานิกายหินยาน รูปแบบของศิลปะก็รับอิทธิพลจากศิลปะทวารวดี ขอม และสุโขทัย

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวว่า พระพุทธรูปในสมัยอู่ทองเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะเฉพาะตัวดียิ่งกว่า พระพุทธรูปในสมัยรัตนโกสินทร์เสียอีก ซึ่งก็หมายความว่าช่างสมัยอู่ทองสร้างพระพุทธรูปแบบอู่ทอง โดยประมวลเอาอิทธิพลจากสมัยต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างแยบยล จนได้พระพุทธรูปที่มีลักษณะเฉพาะตัว ลักษณะโดยทั่วๆ ไป ของพระพุทธรูปแบบอู่ทอง มีไรพระศก ชายจีวรหรือสังฆาฏิตัดเป็นเส้นตรง ประทับขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย และมีฐานเป็นหน้ากระดานแอ่นเป็นร่องเข้าข้างใน สำหรับอิทธิพลทวารวดีและขอมผสมกัน พระพุทธรูป มักมีรัศมีเป็นรูปบัวตูม ส่วนอิทธิพลขอม หรือลพบุรี พระพุทธรูปจะมีรัศมีเป็นเปลว
พระพุทธรูปยุคอยุธยา
พระพุทธปฏิมายุคสมัยอยุธยา

ศิลปะสมัยอยุธยาไม่ค่อยสวยนัก อาจเป็นเพราะประชาชนในสมัยนั้น ไม่ค่อยมีจิตใจที่จะทำอะไรกันนัก เนื่องจากมีสงครามเกิดขึ้นบ่อยๆ ครั้ง และมีช่างน้อย แต่พุทธศิลป์ในยุคนี้ถือว่าเป็นยุคที่เฟื่องฟูมากที่สุด เนื่องจาก อยุธยามีอายุนานถึง 417 ปี ดังนั้นจึงมีการสร้างสถาปัตยกรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างมากมาย ยุคนี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 15-18 พระพุทธรูปนิยมสร้างด้วยสำริด

ศิลปะอยุธยาเริ่มต้นพร้อมกับการสร้างกรุงศรีอยุธยา เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีใน พ.ศ.1893 และสิ้นสุดลงเมื่อเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 ความเชื่อของชาวกรุงศรีอยุธยามีลักษณะแตกต่าง ไปจากความเชื่อของชาวสุโขทัย แม้ว่าจะนับถือศาสนาพุทธนิกายหินยานเหมือนกันก็ตามกรุงศรีอยุธยานั้นปกครองด้วยระบบกษัตริย์โดยเชื่อว่ากษัตริย์คือ สมมติเทพ อันเป็นความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิเทวราชของขอม ซึ่งขอมนับถือศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู

บางสมัยก็นับถือศาสนาพุทธแบบมหายาน เมื่อไทยได้รับอิทธิพลทางศาสนาและวัฒนธรรมจากขอม ความเชื่อระบบกษัตริย์และพิธีกรรมต่างๆ ของฮินดู ก็มาปรากฏในพิธีการต่างๆ ของอยุธยาด้วยการสร้างศิลปกรรมของอยุธยาจึงปรากฏอิทธิพลขอมเข้ามาด้วยอย่างชัดเจน เช่น การสร้างปรางค์หรือปราสาทแบบขอม และการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง เป็นต้น ขณะเดียวกันก็รับแบบอย่างทางศิลปะจากสุโขทัยและอู่ทองด้วย
พระพุทธรูปยุครัตนโกสินทร์
พระพุทธปฏิมายุครัตนโกสินทร์

ยุคนี้ถือว่าเป็นยุคปัจจุบัน ถือว่าศิลปะที่เกิดขึ้นจะมีอายุเริ่มที่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ พระพุทธรูปนิยมสร้างกันด้วยเนื้อหาหลายๆ อย่าง เช่น เงิน ทองคำ สำริด หรือชิน เป็นต้น

เริ่มตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสถาปนากรุงเทพพระมหานครฯ ขึ้นเป็นราชธานี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๒๕ ทรงโปรดให้สร้างพระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดารามและวัดวาอารามต่างๆ มีการก่อสร้างสถาปัตยกรรมตามคติแผนผังกรุงศรีอยุธยา การสร้างบ้านเมืองขณะนั้นทำให้บรรดาช่างก่อสร้าง ช่างปั้น ช่างเขียน จากสกุลช่างอยุธยา กรุงธนบุรี ร่วมใจกันสร้างงาน จิตรกรรม ประติมากรรม และงานประณีตศิลป์ขึ้น เพื่อพัฒนาและฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยในแต่ละรัชกาลพระพุทธรูปก็มีความแตกต่างกันออกไป ทั้งด้วยยุคสมัย และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งในนิทรรศการนี้จะมีการบรรยายถึงรายละเอียดของศิลปะในรัชสมัยต่างๆ พร้อมด้วยพระพุทธรูปองค์ที่สะท้อนความโดดเด่นของลักษณะในแต่ละแบบ
พระพุทธรูป ภปร
พระพุทธปฏิมาสมัยรัชกาลที่ 9 หรือยุคปัจจุบัน

เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2489 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นราชกาลที่ ๙ สืบต่อมา ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา และทรงเป็นศาสนูปถัมภก ทรงให้การอุปถัมภ์แก่ทุกศาสนา และทรงปกครองบ้านเมืองโดยสงบร่มเย็น ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในรัชสมัยรัชกาลปัจจุบัน ได้มีการส่งเสริมพุทธศาสนาด้านต่างๆ มากมาย

ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวัดอาทิตย์ขึ้นเป็นแห่งแรก ณ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อเปิดการสอนพุทธศาสนาแก่เด็กและเยาวชน จนได้แพร่ขยายไปทั่วประเทศ ส่วนในต่างประเทศได้มีการสร้างวัดไทยในต่างประเทศหลายวัด เช่นวัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย เป็นวัดไทยแห่งแรกในต่างประเทศ ต่อจากนั้นได้มีการสร้างวัดไทยในประเทศตะวันตก คือวัดพุทธประทีป กรุงลอนดอน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเปิดเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ นับเป็นวัดไทยวัดแรกในประเทศตะวันตก

ปัจจุบันมีวัดไทยในสหรัฐอเมริกา ประมาณ ๑๕ วัด นอกจากนั้นได้มีองค์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศของคณะสงฆ์ไทย ได้จัดให้มีการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศขึ้นประจำทุกปี เพื่อส่งไปเผยแผ่พุทธศาสนาในต่างประเทศ โดยเฉพาะทางตะวันตก ปัจจุบันนี้ชาวตะวันตกได้หันมาสนใจพุทธศาสนากันมาก ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้มีการจัดตั้ง สำนักงานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกขึ้น ณ ประเทศไทย ( พ.ส.ล. ) เพื่อเป็นศูนย์กลางของชาวพุทธทั่วโลก

โดยลักษณะของพระพุทธรูปจะมีการผสมผสานจากศิลปะในยุคอดีตต่างๆ อย่าง พระพุทธรูปภปร. พ.ศ. ๒๕๐๘ : ปางประทานพร พุทธศิลป์ผสมผสานใกล้เคียงสมัยสุโขทัย ประดับผ้าทิพย์ด้วยตราพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. เนื้อสำริดรมดำ หน้าตัก ๙ นิ้ว หรืออย่าง พระนาคปรก ๙ เศียร มรา สูง ๖๐ เมตร หน้าตักกว้าง ๓๒ เมตร พุทธศิลป์แบบรัตนโกสินทร์ ของวัดอ้อน้อย จ. นครปฐม

โดยนอกจากพระพุทธรูปจาก 9 ยุคนี้แล้ว ในงานนี้ยังเต็มเปี่ยใปด้วยกิจกรรมบุญตามวิถีชีวิตของพุทธศาสนิกชนต่างๆ มากมาย อาทิ การสักการะพระบรมสารีริกธาตุ จากประเทศศรีลังกา อัญเชิญมาจากวัดญาณนาวาวรวิหาร ประทานโดย พระพรหมวิชรญาณ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดยานนาวา

การสักการะ ๙ พระเกจิ อาจารย์ดัง ได้แก่ สมเด็จพุฒาจารย์ โต พรหมฺรังสี, หลวงปู่ทวด, หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ, หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ, พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข), ครูบาศรีวิชัย,
ท่านพุทธทาสภิกขุ, หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และหลวงพ่อเกษม เขมโก

การบรรยายธรรมโดยพระอาจารย์ชื่อดัง อาทิ พระพยอม กัลยาโณ วัดสวนแก้ว,พระอาจารย์คึกฤทธิ์ วัดนาป่าพง,พระมหาสมปอง วัดสร้อยทอง,พระไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ, พระราชวิจิตรปฏิภาณ (เจ้าคุณพิพิธ) วัดสุทัศนเทพวราราม, พระราชธรรมวาที วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร, พระมหากิตติศักดิ์ โคตรมสิสฺโส (ศ.สียวน) วัดพระเชตุพน, พระสาสนโสภณ วัดโสมนัสราชวรวิหาร ฯลฯ,

การจัดแสดงพระพุทธรูป ๑๐๘ ปางให้ได้ร่วมสักการะกันอย่างครบครัน, การทำบุญพระประจำวันเกิด, ทำบุญทอดผ้าป่า, กัณฑ์เทศน์มหาชาติ, ทำบุญสังฆทาน, ทำบุญถวายใบโพธิ์ทอง, ทำบุญแผ่นกระเบื้อง ปูน เพื่อนำไปสร้างห้องน้ำ และทำบุญตักบาตรข้าวสาร อาหารแห้ง จำนวน ๙ บาตร เป็นต้น

งานนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 24 พฤษภาคม 2556 ที่ MCC HALL ชั้น ๔ เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน :: Text by FLASH

>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net และ ติดตาม CelebStagram ได้ที่ http://www.manager.co.th/celebonline/celebstagram/

Comments are closed.

Pin It