Lifestyle

เบื้องหลังโรงละครลอยได้แห่งแรกของโลก

Pinterest LinkedIn Tumblr


>>หลังการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของโรงละคร “สิงห์ ดีลักษณ์ ซีเนมาติก เธียเตอร์” โรงละครลอยได้แห่งแรกของโลก ใจกลางพัทยา บนเนื้อที่กว่า 10 ไร่ รองรับผู้ชมได้ถึง 1,400 ที่นั่งต่อรอบ ภายใต้คอนเซ็ปต์การแสดงสดที่นำเทคนิคระดับโลกมาใช้ในการแสดง ผสานกับเรื่องราววรรณคดีไทยชั้นยอด รวมไปถึงการผสมผสานกับศิลปะแห่งการออกแบบทั้งแอนิเมชัน เครื่องแต่งกาย ศาสตร์การแสดงและเคลื่อนไหว ทั้งนาฏยศิลป์ กายกรรม การเต้นรำร่วมสมัย เป็นต้น ตลอด 90 นาทีของโชว์ ในชื่อ “KAAN” ที่ผ่านมาได้รับการชื่นชม และกล่าวขานถึง ความงดงาม อลังการ ของโรงละครแห่งนี้ จากผู้ที่มีโอกาสเข้าเยี่ยมชม จนอาจกล่าวได้ว่า การสะท้อนความฝันและจินตนาการผ่านการตกแต่งพื้นที่ ที่สอดรับกับงานแสดงแบบไลฟ์โชว์ของโรงละครแห่งนี้ กำลังจะกลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของเมืองพัทยา

จากความตั้งใจของกลุ่มปัจลักษณ์และนักลงทุน ที่ต้องการสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ ด้วยแนวคิดการออกแบบ “ที่มีความเรียบง่าย แต่กลับทรงพลัง ทั้งยังสื่อสารถึงสิ่งลวงตาได้ดีและมีประสิทธิภาพที่สุด
ด้วยสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ ภายใต้แนวคิดของ Levitating” หรือ “การลอยตัว” ในการออกแบบ จึงส่งผลให้ “สิงห์ ดีลักษณ์ ซีเนมาติก เธียเตอร์” (SINGHA D’LUCK Cinematic Theatre) กลายเป็น Levitating Theatre โรงละครลอยได้แห่งแรกของโลก

ศศิวิมล สินธวณรงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ บริษัท จาร์เค็น จำกัด (JARKEN Co., Ltd.) ได้รับมอบหมายให้ดูแลการออกแบบสถาปัตยกรรมภายในทั้งหมดของโรงละครแห่งนี้ เผยว่า “นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายและน่าตื่นเต้นกับทีมงานเป็นอย่างมาก ในครั้งแรกที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ต่อยอดความงดงามของสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ ทำอย่างไรให้สถาปัตยกรรมภายในโรงละครสัมพันธ์กับตัวอาคารภายนอก มีความเชื่อมโยงกับเนื้อหาของการแสดง ซึ่งนั่นหมายถึงว่า เรากำลังร่วมกันดึงเรื่องราวของความเป็นไทยมานำเสนอในรูปแบบสากล

จากสถาปัตยกรรมภายนอกของโรงละคร ที่ถูกสื่อสารในคอนเซ็ปต์ MAGIC ILLUTION หรือ “ภาพลวงตา” ให้ออกมาในรูปแบบของอาคารที่ดูเหมือนยกตัวลอยได้ โดยดึงคอนเซ็ปต์จากการแสดงที่นำมาจากตัวละคร KAAN ซึ่งเป็นการพูดถึงการกำเนิดใหม่ของทุกๆ สิ่ง หรือ “อุบัติ” หมายถึงการก่อกำเนิดชีวิตทุกชีวิตที่เกิดขึ้นจากน้ำ จากการเคลื่อนไหว พัฒนาไปสู่การออกแบบดีไซน์ และนำคอนเซ็ปต์ FLOW มาเล่นกับพื้นที่ด้านหน้าของอาคาร ในส่วนของงานแลนด์สเกปด้วย

ในส่วนของงานออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน ทีมงานจาร์เค็นได้หยิบยกเอาศิลปะการแสดงไทย หรือ นาฏยกรรมสมัยโบราณที่เรียกว่า “รำประเลง” ซึ่งเป็นการรำเบิกโรงของ “ละครใน” ในสมัยก่อน (ละครชาววังในอดีตเพื่อสิริมงคล และปัดเป่าสิ่งไม่ดีที่จะเป็นอุปสรรคออกไปจากการแสดง) มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบด้วยนัยยะที่ได้จากการร่ายรำโดยการใช้ผู้ร่ายรำ 2 คน แต่งกายด้วยชุดสีเขียวมรกต สวมหน้ากากสีเหลืองทองและเขียวเพื่อปกปิดใบหน้าในการแสดง นำไปสู่การสร้างคอนเซ็ปต์การออกแบบ “การซ่อน ปกปิด อำพราง” และการถือกำหางนกยูงสะบัดตวัดไปมาเป็นท่าร่ายรำ นำไปสู่คอนเซ็ปต์ของการออกแบบที่ใช้ “เส้นโค้งตวัด” ในการเชื่อมต่อดีไซน์จากภายนอกสู่ภายใน เช่นเดียวกับแนวคิดของ “การลอยตัว” ที่ไม่ใช่เพียงตัวโรงละครเท่านั้นที่ลอยได้ แต่ยังรวมถึงทุกรายละเอียดของงานออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน ที่ให้ความรู้สึกเหมือนลอยได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแสงเงา ฝ้า ผนัง กระจก และพื้นผิวต่างๆ”

นอกจากนี้ยังดึงเอาลักษณะเส้นโค้งของสถาปัตยกรรมไทยอย่าง “การย่อมุมไม้สิบสอง” มาใช้ในงานตกแต่งในส่วนของโถงล็อบบี้ และใช้กระจกในงานตกแต่งห้องน้ำภายในโรงละครเพื่อเชื่อมโยงส่วนของงานตกแต่งจากตัวสถาปัตยกรรมภายนอกและภายใน ทำให้ผู้ที่เข้ามาในบริเวณห้องน้ำเกิดความรู้สึกเหมือนหลุดเข้ามาอยู่ในมิติมายากล รวมถึงการเพิ่มไฮไลต์บางอย่างก่อนการแสดง โดยใช้ลวดลาย “กบิลปักษา” ซึ่งอ้างอิงกับเนื้อเรื่องการแสดง บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวละครหนุมาน และปักษา ตัวละครใน KAAN มาเชื่อมโยงกับการตกแต่ง เบื้องต้น ผู้ชมอาจจะเห็นเป็นลายไทยทั่วไป แต่จริงๆ แล้ว ผนังไม้แต้มด้วยสีทองจะถูกออกแบบโดยการเจาะรูทำเป็นลายต่างๆ และจัดแสงจากด้านบนในการช่วยสร้างบรรยากาศ ให้ผู้ชมได้เตรียมตัวก่อนจะถึงเวลาละครฉาย ซึ่งแต่เดิมในโรงละครจะไม่มีฝ้า และจะมืดสนิทเมื่อการแสดงเริ่ม ดังนั้น เมื่อผนังส่องสว่างก็จะเป็นการล่อหลอกสายตาคนจากฝ้าและเวทีที่ค่อยๆ มืดลง

ปิดท้ายด้วยส่วนของร้านขายของที่ระลึก ที่ยังคงรักษาอารมณ์จากการดูโชว์ เพื่อที่จะให้ผู้ที่เข้ามาซื้อของ รับรู้ได้ถึงอารมณ์และความรู้สึกของละครต่อเนื่อง ด้วยการนำฉากๆ หนึ่งในเนื้อเรื่องของละครมาเป็นคอนเซ็ปต์ในการตกแต่งเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงให้ถึงความรู้สึกภายในอย่างมีมิติ ที่พยายามสร้างความต่อเนื่องให้ทั้งผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม ได้รู้สึกสนุกและประทับใจตั้งแต่แรกเห็นจนจุดสุดท้ายของโรงละคร ที่พยายามสื่อสารถึงกันให้ได้มากที่สุด ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ทรงคุณค่า ที่นอกจากจะได้รับรางวัลจาก SINGAPORE INTERIOR DESIGN AWARDS (SIDA) สาขา Public Space ซึ่งจัดโดย Society of Interior Designers, Singapore (SIDS) ภายในงาน SingaPlural Celebrating Design 2017 เมื่อต้นปีที่ผ่านมาแล้ว การสร้างสรรค์งานในครั้งนี้ จะทำให้คนไทยได้มีโอกาสรับรู้เรื่องราวในเชิงประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่า อีกด้านหนึ่งของเราด้วย” ศศิวิมลกล่าวปิดท้ายอย่างมั่นใจ
















Comments are closed.

Pin It