Lifestyle

แย้มภาพเมืองศรีลำดวน ผ่านสองหญิงเก่งเบื้องหลัง 100 ภาพ 1000 เรื่องเมืองศรีสะเกษ

Pinterest LinkedIn Tumblr

จิระนันท์ พิตรปรีชา
เมืองชายแดน ศรีสะเกษ เขตขุขันธ์
ดุจแดนฝัน สวยสะกด ทุกบทเบื้อง
ดอกลำดวน อวดกลิ่น รินรักเรือง
แหล่งลือเลื่อง ทุเรียน ภูเขาไฟ
ปราสาทขอม อ้อมผ้ามอ ทอน้ำตก
มรดก วัฒนธรรม น้ำใจใส
สี่เผ่าชน ร่วมแบ่งปัน สร้างสรรค์ไทย
งามวิไล แผ่นดินทอง ท่องบูรพา

บทกลอนทรงคุณค่าจากปลายปากกาของกวีซีไรต์รุ่นใหญ่ “จิระนันท์ พิตรปรีชา” ที่ได้แรงบันดาลใจจากการพาทีมช่างภาพและกวีเลาะล่องท่องเที่ยวเมืองศรีลำดวน “ศรีสะเกษ” จังหวัดที่น้อยคนนักจะพูดถึงหรือนึกถึงขึ้นมาได้ในชั่วพริบตาว่ามีอะไรบ้าง??? ทั้งที่ดินแดนแห่งนี้เต็มไปด้วยแหล่งอันซีนหลายที่ เตรียมเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ, วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์
รณิดา เหลืองฐิติสกุล
นางรณิดา เหลืองฐิติสกุล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดศรีษะเกษ เผยถึงแนวคิดในการจัดทำ “นิทรรศการภาพถ่าย 100 ภาพ 1000 เรื่องเมืองศรีสะเกษ ขึ้นเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวของจังหวัดโดยโรดโชว์จัดที่ในกรุงเทพฯ และหอประชุมใหญ่ของจังหวัดเผยว่า

“น่าจะเป็นประสบการณ์ตรงของหลายๆ คน สมัยก่อนเวลาท่องวิชาสังคม จะรู้จัก ศรีสะเกษ ว่าเป็นจังหวัดยากจนสุดในประเทศไทย จนต่อมามีโครงการอีสานเขียว เอาน้ำไปให้ เอาผลไม้จากภาคใต้ไปให้ปลูก เนื่องจากภาคใต้อุดมสมบูรณ์ ปลูกได้ทุกอย่าง แล้วก็ขายได้ ขณะที่ศรีสะเกษในตอนนั้น ปลูกอะไรก็ยาก ผลผลิตไม่ดี ไม่ได้ราคา เนื่องจากดินล้วนๆ เพราะแต่ก่อนดินดีคือดินร่วนสีดำ ขณะดินศรีสะเกษเป็นดินสีแดง แต่ใครเลยจะคิดว่าวันหนึ่ง จังหวัดนี้ ปลูกอะไรก็ได้ ณ วันนี้ต้องเรียนว่าผลผลิตออกมาไม่แพ้ที่ไหน อร่อย หอม แห้ง ไม่ว่าจพเป็นทุเรียน, ลองกอง, หัวหอม, กระเทียม ฯลฯ ซึ่งใครๆก็ต้องยกนิ้วให้ที่นี่ จุดเด่น คือ กลิ่นหอม แห้ง รสเผ็ด ไม่เน่า เพราะไม่แฉะชื้นจึงเน่ายาก โดยเฉพาะทุเรียนภูเขาไฟ จ.ศรีสะเกษ เมื่อเร็วๆ นี้ทำลายสถิติสูงสุด โลละ 1,500 บาทที่ศูนย์การค้าพารากอน”

เรื่องดินเป็นตัวอย่างวิกฤติที่พลิกเป็นโอกาสมาก เนื่องจากมีจุดข้อบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ด้วย แต่เดิมอดีตชาติมาบอกว่าดินแดนแห่งนี้เป็นดินภูเขาไฟ ซึ่งความจริงก็คือเป็นดินจากเทือกเขาพนมดงรัก จึงมีแร่ธาตุ, กำมะถัน อยู่เยอะ ทำให้ผลไม้ที่ปลูกมีรสชาติดี และคุณสมบัติเฉพาะแปลกออกไป เช่น ร่อน แห้ง เม็ดเล็ก แม้กระทั่งสะตอศรีสะเกษ กลิ่นไม่ฉุน ทานแล้วสามารถคุยกับใครต่อได้ ด้านทุเรียน เรามีสโลแกนที่ทางท่านผู้ว่าฯ ตั้งให้ คือ เนื้อเนียน กลิ่นไม่ฉุน ละมุนลิ้น ก่อนเป็นที่นิยม ทุเรียนภูเขาไฟ หน้าสวนขายไม่ได้ราคา ทั้งที่ปลูกมานาน แต่ไม่มีการเปิดให้คนอื่นรู้ว่ารสชาติต่างจากคนอื่นอย่างไร ทำให้ไม่มีใครนึกถึงเรา บางคนคิดว่าเป็นดินแดนแห้งแล้ง อีสานใต้ มีทุเรียนด้วยเหรอ ทุกวันนี้คนยังถามอยู่เลย อีกอย่างที่นี่มีสี่ชนเผ่า คือ เขมร ฮุยหรือส่วย เยอ ลาว ความหลากหลายรวมอยู่ได้ด้วยกัน พื้นที่ทางธรรมชาติก็ยังสวยงามร้อยเปอร์เซนต์ เมื่อเรามีของดีตั้งหลายอย่างเลยคิดว่าน่าจะบอกออกไป บวกกับนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้เกิดเป็นนิทรรศการฯ นี้ขึ้น 100 ภาพ 1000 เรื่องเมืองศรีสะเกษ พูดยังไงก็พูดไม่หมด”
ภาพในนิทรรศการ
ด้าน “จิระนันท์ พิตรปรีชา” เผยถึงขั้นตอนการทำงานกับกลุ่มสห+ภาพ ในการร้อยเรื่องราวผ่านเลนส์จนกลายเป็นความประทับใจของผู้ชมว่า

“เป็นความฝันตั้งแต่เด็ก อยากจะเป็นช่างภาพ ภาพสารคดีนะไม่ใช่ภาพสวยงาม แต่ชะตาชีวิตไงคะ ไปเข้าป่า เรียนนอก กลับมาอีกทีไหนๆ ไม่ได้เป็นช่างภาพ มาขลุกอยู่ในวงการช่างภาพนี่ล่ะ ไหนๆ ก็เป็นคนเขียนมาแล้ว สำหรับภาพถ่าย ในความเห็นของพี่ ภาพที่สวยกับภาพที่ดี ต่างกันนะ ภาพที่สวยก็คือนางงามนั่นแหล่ะ ยิ้มประทับใจ สัดส่วนสวยไปหมด แต่ว่าภาพที่ดีมันต้องมีเรื่องราว บางภาพไม่ใช่ภาพสวย แต่เป็นภาพสะท้านโลก”

“พูดถึงการเสพสื่อยุคปัจจุบัน ภาพถ่ายถ้ามีที่ลงอันเหมาะเจาะก็สามารถสร้างอิมแพคได้ อย่างเช่นนิทรรศการครั้งนี้ ศรีสะเกษ เป็นจังหวัดเล็กๆ ถูกมองข้าม คนนึกถึงเขาพระวิหาร เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งจะมีทุเรียนภูเขาไฟ ทั้งที่จริงแล้วมีอะไรอีกเยอะแยะมากมายรอมาสัมผัสนะคะ จาการที่เรามาทำงานให้ศรีสะเกษในฐานะช่างภาพกลุ่มสหภาพและช่างภาพท้องถิ่น จังหวัดมี 22 อำเภอ ไปไม่หมดค่ะ เสียดายมาก จึงใช้แค่เส้นทางหลักรวมทั้งอันซีนมาประกอบกัน เป็นนิทรรศการครั้งนี้ เห็นแล้วมีแต่คนบอกอยากมาเที่ยว ส่วนรูปที่ประทับใจที่สุด (คิดนาน) รูปนี้แล้วกัน คือ คนถ่ายเป็นคนภาคกลาง ความที่ไม่เคยเห็นศรีสะเกษ เลยถ่ายหัตกรรม แต่แทนที่จะถ่ายกระบุง ตระกร้า วางเรียงกัน กลับเชิญชาวบ้านมาเป็นแบบและใช้แบ๊คกราวน์สมัยใหม่สีเขียว สีชมพูเลย เป็นภาพที่ได้อารมณ์มาก เห็นแล้วแบบ คิดได้เลยว่า คือ วิถีเดิมๆ นี่แหล่ะ คือเสน่ห์ศรีสะเกษ เช่น ครั้งหนึ่งพอเดินเข้าไปถ่ายรูปในหมู่บ้านนั้น ชาวบ้านจูงควายผ่านมาพอดี สำหรับช่างภาพคือเมจิกโมเมนท์เลยนะ”
ภาพในนิทรรศการ
นอกจากนี้ ท่องเที่ยว ยังได้ฉุกคิด มีคติชีวิตมากมาย แต่ไม่ต้องลึกซึ้งอะไรมากหรอกนะ เอาแค่หลักการ ทำอะไรแล้วมีความสนุกกับมัน ความสุขตามมา แล้วผลได้ที่ทำให้คนอื่น ส่วนรวม สังคม กฌคือความสุขชนิดหนึ่งที่ไม่จำเป็นมีตัวเลขตอบแทน อย่างรูปถ่ายพวกนี้ แม้เราไม่ใช่ช่างภาพแต่เกิดขึ้นเพราะเรา คนดูมีความสุข อยากมาเที่ยวเราก็ปลื้มแล้ว

แม้งานนิทรรศการฯ จะจบลงไปแล้ว ภาพถ่ายดังกล่าวไม่มีพื้นที่ให้จัดแสดงฟรีอีกต่อไป แต่ก็เชื่อว่าออกเดินทางตีตั๋วไปจ.ศรีสะเกษ เพื่อมองทุกอย่างด้วยตาเปล่า น่าจะฟินกว่ามากๆ
ภาพในนิทรรศการ
ภาพในนิทรรศการ
ภาพในนิทรรศการ
ภาพในนิทรรศการ
ภาพในนิทรรศการ



Comments are closed.

Pin It