Lifestyle

“กตัญญู สว่างศรี” กับก้าวช้าๆ แต่มั่นคง บนเส้นทางน้ำหมึก

Pinterest LinkedIn Tumblr

กตัญญู สว่างศรี
คอลัมน์ : โต๊ะน้ำหมึก
 

“กตัญญู สว่างศรี” เป็นชื่อจริงนามสกุลจริงของนักเขียนหนุ่มหน้าใหม่ของวงการวรรณกรรม อันที่จริงน่าจะจัดว่าอยู่ในระดับใหม่มากเลยก็ว่าได้ แต่หากว่ากันในความเป็นสื่อมวลชนแล้ว กตัญญู ถือว่าไม่ใหม่เท่าไหร่นักเพราะตลอด 3 ปี ตั้งแต่เรียนจบจาก คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เขาก็ระหกระแห่ร่อนแร่อยู่ในแวดวงสื่อที่หลากหลาย โดยเขาเคยเขียนบทละครสั้นๆ เพียงสองตอนกับ “โต๊ะกลมการละคร” ก่อนจะเปลี่ยนมาทำนิตยสารบันเทิงเชิงศิลปะอย่าง “happening” ซึ่งที่นี่เองที่เขาเริ่มมีผลงานเขียนมากขึ้นจนกระทั่งมีคอลัมน์เป็นของตนเองเป็นเรื่องเล่าเรื่องยาวชื่อ “อยู่กับกู๋”
จากนั้นเขาก็พาตนเองผจญภัยไปกับรายการ “คนค้นฅน” ในฐานะพิธีกร แต่ทำได้เพียงไม่นานเขาก็ค้นพบว่าตนเองไม่เหมาะกับการทำงานด้านโทรทัศน์ จึงหันมาทำงานที่ตนเองสนใจจริงๆ อย่างงาน “หนังสือ” ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเพราะทำให้เขาได้มีโอกาสทำงานกับ สำนักพิมพ์หนึ่ง ได้ใกล้ชิดและทำงานกับนักเขียนและบรรณาธิการที่มีคุณภาพ
จากการซึมซับต่างๆ ทำให้เขามุ่งมั่นและมีความจริงจังที่จะเป็นนักเขียน ระหว่างนั้นเองนิยายขนาดสั้น “อยู่กับกู๋” งานของเขาที่พิมพ์เป็นคอลัมน์ในนิตยสาร happening ก็มากพอที่จะรวมเล่มได้ 
 

และนี่ก็ถือเป็นผลงานรวมเล่มชิ้นแรกของกตัญญูนั่นเอง ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ตุลาคม 2553

เรื่องราวของ “อยู๋กับกู๋” เล่าถึงครอบครัวๆ หนึ่ง ที่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้มีอาการทางประสาท ไม่ถึงขั้นบ้าแต่ก็ไม่เต็มเต็ง เรื่องถูกเล่าเป็นตอนๆ เหมือนดูละครซีรีย์อะไรสักอย่างนั้น ซึ่งมีบางช่วงที่เป็นเรื่องต่อเนื่องกัน ความน่าสนใจในงานของกตัญญู คือ ภาษาง่ายๆ ที่เขียนออกมาได้สนุกสนาน ทว่าเรื่องเล่าง่ายๆ สนุกๆ นั้นก็มีมุมน่าขบคิดน่าสนใจแฝงอยู่ในเนื้อหาอีกด้วย ซึ่งนั่นถือเป็นสไตล์ของเขาที่ติดมาตั้งแต่งานเขียนสารคดีหรือสัมภาษณ์ต่างๆ ที่เคยทำงานมา

นอกจากงานเรื่องเล่าสนุกๆ อย่าง “อยู่กับกู๋” แล้ว กตัญญู ยังมีความสนใจในแวดวง “เรื่องสั้น” อย่างจริงจัง ก่อนหน้านี้เพียงไม่นาน เรื่องสั้นของเขาก็มีโอกาสออกสู่สายตาสาธารณชน โดยงานของเขาได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรม “ช่อการะเกด” ซึ่งถือเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับนับถือมากที่สุดเล่มหนึ่งในวงการเรื่องสั้นและวรรณกรรมไทย เรื่องสั้นของเขาปรากฎอยู่ในนิตยสารช่อการะเกดฉบับ 55 ชื่อเรื่องว่า “ความทรงจำ” ซึ่งถือเป็นเรื่องราวที่แตกต่างออกไปจากงาน อยู่กับกู๋ อย่างสิ้นเชิง เนื้อหาในเรื่องสั้นของเขาดูจะจริงจังหรืออาจจะเรียกว่า “เข้มข้น” มากกว่าพอสมควร
กตัญญู ยอมรับว่า แปลกใจมากที่ฝันบนเส้นทางสายวรรณกรรมของเขาเริ่มจะเป็นจริงขึ้นมาเรื่อยๆ และถึงแม้ว่าเขาจะเป็นนักเขียนหน้าใหม่ แต่เขาก็ยินดีและยอมรับอีกเช่นกันว่าอยากให้งานของตนเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
“คืองานผมมันไม่ค่อยไปถึงคนหมู่มากอย่าง อยู่กับกู๋ ที่พิมพ์กับ สนพ. happening ก็มีขายเฉพาะที่ เช่น ประตูสีฟ้า,คิโนะคุนิยะ, ดอกหญ้า ฯลฯ เพราะว่าเป็นสำนักพิมพ์ใหม่ไม่ได้พิมพ์เยอะมาก ส่วนงานใหม่อีกเล่มอย่างเรื่องสั้น “คำสาป” (คาดว่าจะเสร็จเดือน มี.ค.) ที่ผมกำลังตั้งใจทำนี่ยิ่งน้อยไปใหญ่ คงจะมีขายแต่ตามร้านเล็กๆ เท่านั้น และล่าสุดผมได้เขียนงานลงหนังสือชื่อ “รักครั้งแรก” ของ สนพ.สยามอินเตอร์บุ๊ค ที่น่าจะหาอ่านกันได้ง่ายหน่อย เล่มนี้เป็นการรวมนักเขียนหลายคนมาเขียนเรื่องรักครั้งแรกกัน โดยออกมา 2 เล่ม ของผมลงเล่ม 2วางแผงวันที่14 ก.พ.วันวาเลนไทน์ พอดีเลย”
ปัจจุบัน กตัญญู ยังไม่ได้ทำงานประจำที่ไหนและกำลังพยายามปลุกปั้นเรื่องสั้น “คำสาป” ของตนอย่างจริงจังเพื่อรวมเล่ม กตัญญูยังเล่าให้ฟังอีกว่าเขาคิดจะตั้งสำนักพิมพ์ของตนเองสนุกๆ เพื่อรวมงานเขียนของตนเองและพิมพ์ด้วยสำนักพิมพ์ตนเอง
“มันเป็นเรื่องสนุกๆ มากกว่าครับ” กตัญญู เล่าถึงไอเดียพิมพ์เองขายเอง “ผมมีรุ่นพี่ที่เคารพ 2-3คนแนะนำว่างานเขียนมันต้องมีต่อเนื่อง ซึ่งผมก็ทำต่อเนื่องมาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าทุกวันนี้โอกาสที่จะได้พิมพ์เผยแพร่มันไม่ง่าย จริงๆ เรื่องนี้ผมเคยมีโอกาสได้คุยกับคุณมกุฏ อรดี แกบอกว่า คนหนุ่มเดี๋ยวนี้ใจร้อนเกินไป ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับแกนะ คือผมก็คิดอยู่เหมือนกันว่าเราใจร้อนไปหรือเปล่าจะมาลงทุนพิมพ์หนังสือเอง หลายปีก่อนนี้สัก 5 ปีที่แล้ว ผมกับเพื่อนสนิทเคยทำอย่างนี้ก็คือพิมพ์เป็นหนังสือทำเอง ผมไม่อยากเรียกว่าทำมือเพราะว่าผมไม่ได้ไปเย็บเองอะไรเอง ส่งเข้าโรงพิมพ์หมด จำได้ว่าตอนนั้นสนุกมากผมขนหนังสือไปขายที่เชียงใหม่ในงานแฟตเฟสติวัล ตอนนั้นพิมพ์ไป 100 เล่ม ปรากฏขายหมดแต่หักกลบค่ารถค่าที่พักแล้วก็ไม่ได้ขาดทุนอยู่ดี” เขาเล่าไปหัวเราะไป

“แต่ผมอยากได้ความรู้สึกแบบนั้นอีกครั้ง อีกอย่าง ผมคิดว่านี่อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้วก็ได้ แต่ก็ไม่แน่นะ ถ้าขายดีก็ไม่แน่ คือผมอยากได้หนังสือแบบตามใจตัวเองมากที่สุดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ปก ฟร้อนต์ รูปแบบ เนื้อหา เรียกว่าตามใจตัวเองไปจนกระทั่งมีการตั้งชื่อสำนักพิมพ์ด้วยว่า “สำนักพิมพ์นกเค้า” เขายิ้ม
“มีคนถามว่าทำไมไม่ นกฮูก หรือ นกเค้าแมว ตอนแรกผมจะตั้งนกฮูก ปรากฏว่ามีคนทำแล้วก็เลยเปลี่ยนเป็นนกเค้าแมว แต่แม่บอกว่าชื่อมันไม่ลงตัวตามศาสตร์การตั้งชื่อ ท่านบอกให้เอาคำว่าแมวออก ผมก็เฮ้ย! มันจะได้หรอ พอไปหาข้อมูลถามเพื่อนที่เก่งภาษาไทยก็ได้ความว่า นกฮูก สามารถเรียกว่านกเค้า ได้ อันนี้ก็ไม่แน่ใจนะ แต่ฟังๆ ไปแล้วก็ชอบ”
กตัญญู ยังเล่าความฝันของการมีสำนักพิมพ์ของตนเองอีกว่า “เขาชอบความหมายของนกเค้า เพราะมันเป็นสัตว์ที่ตีความได้หลากหลายมาก หลายชนชาติมักเชื่อว่านกเค้าแมวเป็นนกปีศาจนำมาซึ่งความโชคร้ายและความตาย เช่นคนไทยเชื่อว่าถ้า “นกเค้าแมว” หรือ “นกแสก” บินข้ามหลังคาบ้านใครหรือไปเกาะอยู่ใกล้ ๆ บ้านนั้นจะต้องมีผู้เสียชีวิตเพราะถือว่านกฮูกเป็นยมทูตส่งวิญญาณ คล้ายคลึงชาวโรมันและชาวโรมาเนีย ชาวไอริช ที่เชื่อว่า หากนกเค้าแมวบินเข้าบ้านต้องฆ่าให้ตายทันทีมิเช่นนั้นจะนำพาความโชคดีให้บินไปพร้อมกับตัวนก
แต่สำหรับชาวอินเดียแดงกลับเชื่อว่านกเค้าแมวเกี่ยวข้องกับเวทมนตร์แห่งปีศาจการมีขนนกฮูกไว้ในครอบครองแสดงถึงการเล่นเวทมนตร์คาถา สำหรับชาวแอสเทก ในบางวัฒนธรรมนกเค้าแมวก็หมายถึงสติปัญญา เป็นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ เช่นคติของกรีกโบราณที่นกเค้าแมวเป็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับเทพีอธีนาเทพีแห่งสติปัญญาและการสงคราม
“การตีความได้หลากหลายเหล่านี้ผมรู้สึกว่ามันคล้ายกับงานวรรณกรรม ก็เลยรู้สึกชอบ อยากนำชื่อนี้มาตั้งชื่อเป็น สำนักพิมพ์ของตัวเองดู แผนการก็ไม่มีอะไรมากแค่พิมพ์หนังสือขายในราคาถูกพิมพ์น้อยขายน้อย” เขาหัวเราะ
นี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นของการเดินทางบนถนนสายนี้ แต่ กตัญญู สว่างศรี ก็มุ่งมั่นและพยายามรังสรรผลงานของเขาให้มีออกมาอย่างต่อเนื่อง และใครที่อยากอัปเดตผลงานข่าวสารของนักเขียนหนุ่มไฟแรง (ไปจนถึงเรื่องส่วนตัว) ผู้นี้สามารถเข้ามาได้ที่ http://katanyuu.wordpress.com และu_naki_69@hotmail.com

เรื่องโดย : หยกดารินทร์

Comments are closed.

Pin It