Art Eye View

Solar D Gallery มิวเซียมแกลเลอรี่กลางเมือง

Pinterest LinkedIn Tumblr


ตั้งแต่ลืมตาตื่นจนกระทั่งหลับตาใฝ่ฝัน มนุษย์ในโลกสมัยใหม่ล้วนเกี่ยวพันและพึ่งพาพลังงานอย่างสูง แต่กระนั้น เมื่อพูดถึงสินค้าและบริการในกลุ่มธุรกิจพลังงาน ภาพจำที่หลายคนมีมักเป็นภาพของความน่าเบื่อและไร้จินตนาการ ยิ่งไปกว่านั้น โลกพลังงานมักถูกมองว่าอยู่ไกลห่างจากโลกศิลปะ เหมือนเป็นเส้นขนานที่ไม่มีวันมาบรรจบ แต่ Solar D Gallery กำลังบอกทุกคนว่า “Energy Can Marry Art.” พลังงานและศิลปะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ และยิ่งรวมตัวกัน ยิ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงอันทรงพลังให้เกิดแก่โลกได้รวดเร็วขึ้น


Solar D Gallery คือพื้นที่มิวเซียมแกลเลอรี่ใจกลางเมืองของบริษัท โซลาร์ ดี คอร์ปอเรชัน จำกัด ที่ต้องการสื่อสารความงดงามของโลกพลังงานผ่านเวทมนตร์ของศิลปะ ดังนั้นแทนที่จะสร้างโชว์รูมเพื่อจัดแสดงสินค้า บริษัทจึงเลือกสร้างมิวเซียมแกลเลอรี่ขึ้นมาแทน เพื่อเปลี่ยนพลังงานที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ให้เป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรม จับต้องและมองเห็นได้ แต่ยังคงทิ้งร่องรอยอันอัศจรรย์ไว้ในหัวใจผู้มาเยือน
“นวัตกรรมกักเก็บพลังงานอย่าง Tesla Powerwall เป็นอะไรที่มหัศจรรย์ แต่ซับซ้อน ทีมโซลาร์ ดี จึงคิดว่าจะสื่อสารความมหัศจรรย์นี้ออกมาให้ทุกคนเข้าใจได้อย่างไรบ้าง ซึ่งแทนที่จะจัดวางสินค้าแล้วมีแผ่นป้ายเขียนระบุคุณสมบัติ เรากลับคิดว่า เล่าผ่านมิวเซียมแกลเลอรี่น่าจะงดงาม และทำให้ทุกคนได้เข้าใกล้ความมหัศจรรย์ของโลกพลังงานแบบอิ่มเอมที่สุด จึงเป็นจุดกำเนิดของ Solar D Gallery ขึ้นมา โดยเราคิดจากมุมคนทั่วไปเป็นหลัก ไม่ใช่ว่าทุกคนจะอยากเดินเข้าโชว์รูมพลังงาน แต่มิวเซียมแกลเลอรี่เป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างและโอบรับทุกคน โดยในอนาคต Solar D Gallery จะเปลี่ยนชิ้นงานที่จัดแสดงไปเรื่อยๆ รวมถึงจะเป็นพื้นที่สำหรับจัดแสดงวิสัยทัศน์ และผลิตภัณฑ์ของโซลาร์ ดี และพันธมิตร” สัมฤทธิ์ สิทธิวรานุวงศ์ ผู้ก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท โซลาร์ ดี คอร์ปอเรชัน จำกัด เผยถึงแนวคิดเบื้องหลังในการสร้างสรรค์ Solar D Gallery ที่ฉีกไปจากขนบเดิมของวิธีคิดในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน


“ใน Solar D Gallery จะประกอบด้วยสามส่วนที่สำคัญ คือ ส่วน Interior, ส่วน Wall Art, และส่วน Projection Mapping ซึ่งทั้งสามส่วนนี้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยมืออาชีพของวงการ เพื่อเผยโฉมให้ผู้ชมได้สัมผัสความงดงามของโลกพลังงานแบบใกล้ชิดที่สุด ซึ่งในส่วนของ Interior ได้ วสุ วิรัชศิลป์ จากบริษัท Vaslab Architecture ช่วยออกแบบ ส่วนของ Wall Art เป็นผลงานของ อาจารย์สิริพร ด่านสกุล จาก KAIDAN workshop และเอกรัตน์ จิรายุพงศ์ จาก Solid Design ขณะที่ Projection Mapping เป็นงานสร้างสรรค์ของทีม Decide Kit” สัมฤทธิ์ กล่าว


อาจารย์สิริพร ด่านสกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง KAIDAN workshop ทั้งยังเป็นสถาปนิก นักทดลองศิลปะจัดวาง และอาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เปิดเผยถึงแนวคิดเบื้องหลังการสร้างสรรค์ Wall Art ที่ผสมผสานเทคนิคการพับกระดาษแบบญี่ปุ่น หรือโอริกามิ กับทรงปริซึ่ม เข้าด้วยกัน พร้อมเลือกใช้ฟอร์ม Spiral หรือเกลียวหมุนวน เพื่อสื่อสารสภาวะของพลังงานในจักรวาลและบนโลก ที่หมุนวน ส่งต่อ ถูกกักเก็บ ถูกใช้งาน แปรรูป และส่งต่ออีกครั้ง ซึ่งก็เหมือนแสงอาทิตย์หรือ Solar ที่ส่งต่อพลังงานมายังโลก หมุนวนและถูกกักเก็บใน Tesla Powerwall ก่อนจะถูกใช้งานในรูปแบบพลังงานไฟฟ้า เพื่อทำให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้น

“Wall Art ตัวนี้เป็นประตูไปสู่แนวคิดของ Tesla Powerwall ที่ใช้กักเก็บพลังงานไฟฟ้า โดยเรามองว่าไฟฟ้าคือนวัตกรรมหนึ่งในชีวิต โดยแม้ในการเล่าเรื่องตรงนี้ ตัวพลังงานไฟฟ้าตัวจริงจะไม่ปรากฏตัวขึ้น แต่ด้วยการผสานเทคนิคของ Interior, Wall Art, และ Projection Mapping เข้าด้วยกัน ทำให้เราสามารถสื่อสารให้ผู้ชมรับรู้ถึงการหมุนวนของพลังงานได้ โดยยังรู้สึกว่าเสพงานศิลปะอยู่” อาจารย์สิริพร ด่านสกุล กล่าว


“ถ้าเดินเข้ามาใน Solar D Gallery จะเห็นโถงภายในที่เป็นทรงม้วนเกลียว หรือ Spiral Form ซึ่งโถงนี้ทางสถาปนิกและอินทีเรียร์ดีไซเนอร์ คือ คุณวสุ ออกแบบเพื่อให้เกิดพื้นที่ที่สื่อถึงการหมุนวน ซึ่งพอเราต้องออกแบบ Wall Art บนผนังของโถงเกลียว เราจึงดีไซน์ต่อเนื่องให้มีเกลียวหมุนวนขึ้นอีกที่ตัวผนัง เกิดเป็นงานศิลปะที่สื่อสารถึงสภาวะหมุนวนของพลังงาน ต่อเนื่องกับงานอินทีเรียร์แบบไม่ขาดตอนกัน และ Projection Mapping ก็นำส่วนนี้ไปเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาในลำดับต่อไป” อาจารย์สิริพร ขยายความ ก่อนเล่าต่อว่า

“ใน Wall Art นี้ เราเลือกใช้เทคนิคการพับกระดาษญี่ปุ่นหรือโอริกามิ โดยโอริกามิจะสื่อถึงการเล่นกลของพลังงาน เพราะปกติ โอริกามิจะเริ่มต้นด้วยกระดาษบางๆ ที่มีความแข็งแรงน้อย แต่เมื่อนำมาพับ วัสดุอย่างแผ่นกระดาษก็จะมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นหลายทิศทาง เหมือนการเล่นกล เช่นเดียวกับวิธีการทำงานของ Tesla Powerwall ที่เมื่อเราสร้างนวัตกรรมหนึ่งมาเก็บกักพลังงานที่กำลังหมุนวน ก็เหมือนกับเรากำลังเล่นกลกับพลังงาน นอกจากนี้ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่าโอริกามิถูกพับเป็นทรงปริซึ่ม โดยรูปแบบของพลังงานที่ถ่ายเทไปมานั้นจะคล้ายกับทรงปริซึ่มของแสง ในขณะเดียวกันก็ดูเหมือนแสงที่กระจายตัวออกมาระหว่างเดินทาง ซึ่งมีนัยยะบางอย่างให้นึกไปถึงภาพวาด The Starry Night ของวินเซนต์ แวนโก๊ะ”


Solar D Gallery ถือเป็นการพลิกโฉมการนำเสนอโชว์รูมพลังงานและเทคโนโลยีในแนวทางใหม่ โดยนำเรื่องราวพลังงานที่เข้าถึงยาก มีความเฉพาะกลุ่มและซับซ้อน มานำเสนอด้วยการตีความใหม่ให้กลายเป็นงานศิลปะในรูปแบบแกลเลอรี่ เพื่อให้ทุกกลุ่มคนดูสามารถเข้าถึงและร่วมตีความแง่มุมพลังงานด้วยได้ ทั้งนี้ Solar D Gallery จะกลายเป็นพื้นที่สำหรับจัดแสดงวิสัยทัศน์และผลิตภัณฑ์ของโซลาร์ ดี และพันธมิตร รวมถึงเปิดโอกาสให้ทุกคนได้สัมผัส “อิสรภาพทางพลังงาน” อย่างเป็นรูปธรรม

เยี่ยมชม Solar D Gallery พื้นที่มิวเซียมแกลเลอรี่ที่นำพาโลกพลังงานและโลกศิลปะรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกัน ที่ชั้น 4 เซ็นทรัล เอ็มบาสซี รวมทั้งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์แห่งอนาคตอย่าง Tesla Powerwall ก่อนใครในไทยที่ https://www.solar-d.co.th/

Comments are closed.

Pin It