Art Eye View

4 ภาพถ่ายแห่งแผ่นดิน ที่ “ในหลวง” มีพระบรมราชวินิจฉัยตัดสิน

Pinterest LinkedIn Tumblr

มีมาให้ชมกันอีกครั้งสำหรับผลงานภาพถ่ายที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการส่งเข้าประกวด ภาพถ่ายแห่งแผ่นดิน ชิงถ้วยพระราชทาน

ปีล่าสุดนี้ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จัดประกวด 6 หัวข้อ คือ พระคุณของคุณพ่อ,ความรักความผูกพันของคุณแม่ ,ยิ้มสยาม, โลกแห่งจินตนาการ,อนาคตของชาติ และเมืองไทยที่ใฝ่ฝัน

จากจำนวนภาพถ่ายกว่า 2,000 ภาพ ที่มีผู้สนใจส่งเข้าประกวด คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปะและการถ่ายภาพ 42 ท่าน ได้ทำการคัดเลือกภาพถ่ายให้เหลือเพียง 43 ภาพ จากนั้นจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยตัดสินภาพถ่าย

4 ภาพถ่ายที่ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยตัดสิน ให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ 4 หัวข้อคือ

ภาพถ่ายชื่อ อุ่นใจ ผลงานของ นางสาวพิชชาพร พฤกษ์รัสมีพงศ์ ชนะเลิศ หัวข้อ พระคุณของคุณพ่อ รับถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 

 ภาพถ่ายชื่อ สายใยแห่งรัก ผลงานของ นายหรรษา ตั้งมั่นภูวดล ชนะเลิศ หัวข้อ ความรักความผูกพันของคุณแม่ รับถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
 

ภาพถ่ายชื่อ ยิ้มของเด็กสุพรรณ  ผลงานของ นายบุญมี  ถนอมสุขสันต์  ชนะเลิศ หัวข้อ  ยิ้มสยาม รับถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
 

ภาพถ่ายชื่อ Trees dances ผลงานของ นายบูชาชน เพชรธัญญะ ชนะเลิศ หัวข้อ โลกแห่งจินตนาการ รับถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

ส่วน อีก 2 หัวข้อ คือ อนาคตของชาติ และเมืองไทยที่ใฝ่ฝัน ไม่มีภาพใดที่เหมาะจะได้รับรางวัลชนะเลิศ

ช่างภาพทั้ง 4 คนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้ บอกถึงแนวคิดในนำเสนอภาพถ่ายของตัวเองว่า..

“แนวคิดของภาพนี้คือ เด็กน้อยที่นอนหลับอย่างสบายบนไหล่ของพ่อ สื่อให้เห็นถึงความรู้สึกปลอดภัย อุ่นใจ ไม่มีกังวลใดๆ เพราะพ่อเป็นผู้ให้ความอบอุ่น ปกป้องให้ลูกปลอดภัยจากอันตราย และเปรียบเหมือนเสาหลักของครอบครัว”

นางสาวพิชชาพร พฤกษ์รัสมีพงศ์ ผู้ชนะเลิศ หัวข้อ “พระคุณของคุณพ่อ” เจ้าของภาพถ่ายชื่อ “อุ่นใจ”

“ต้องการถ่ายทอดความรักความผูกพันของแม่ที่มีต่อลูกผู้พิการซ้ำซ้อน แม้ฐานะจะยากจน แต่ก็ไม่ทอดทิ้งลูกไป ภาพปฏิทินที่มีสมเด็จย่าและในหลวงเป็นภาพที่คุ้นเคยที่ผมรู้สึกประทับใจ และซาบซึ้งใจทุกครั้งที่ได้เห็น และยังจดจำได้ดีถึงภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคอยดูแล เอาพระทัยใส่ สื่อให้เห็นการแสดงความรักต่อองค์สมเด็จย่าตลอดพระชนม์ชีพตราบจนวินาทีสุดท้าย

เชื่อได้ว่า ชาวไทยทุกคนรับรู้ได้ถึงความรักความผูกพันอันยิ่งใหญ่ที่ในหลวงทรงปฏิบัติต่อพระมารดา เป็นการตอกย้ำให้ทุกคนประพฤติปฏิบัติตามในความกตัญญูรู้คุณบุพการี เปรียบดั่งพระองค์ท่านทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่างด้วยพระองค์เอง สอนให้คนไทยดำเนินชีวิตเป็นคนดีของสังคม โดยเริ่มต้นด้วยการเป็นลูกที่ดีในครอบครัวเราเองก่อน”

นายหรรษา ตั้งมั่นภูวดล ผู้ชนะเลิศ หัวข้อ “ความรักความผูกพันของคุณแม่” เจ้าของภาพถ่ายชื่อ “สายใยแห่งรัก”

“วันนั้นผมออกทริปไปกับสมาคมถ่ายภาพฯ ไปเที่ยวหาถ่ายวิถีชีวิตของคน ความจริงตั้งใจจะไปถ่ายภาพคนเฒ่าคนแก่เล่นน้ำ แต่ไปเจออีกมุมที่สะดุดตามากกว่านั้นคือเด็กๆ กำลังเด็ดบัว เล่นน้ำ ด้วยรอยยิ้มด้วยของพวกเค้า ทำให้ทุกๆ คนไปรุมถ่ายภาพเด็กๆ แทนกันทั้งหมด ผมจึงได้ภาพนี้ออกมา”

นายบุญมี ถนอมสุขสันต์ ผู้ชนะเลิศ หัวข้อ “ยิ้มสยาม” เจ้าของภาพถ่ายชื่อ “ยิ้มของเด็กสุพรรณ”

“ผมถ่ายภาพในหัวข้อ “โลกแห่งจินตนาการ” โดยแนวความคิดใช้ภาพถ่ายแบบ “กึ่งนามธรรม” คือต้องการให้ผู้ชมภาพเกิดจินตนาการ เหมือนอยู่ในสภาวะคู่ขนานระหว่าง โลกแห่งจินตนาการกับโลกแห่งความจริง โดยมี  “ต้นไม้” เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างความจริงและจินตนาการ

เนื่องจากบรรยากาศโดยรวมให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว จากการพัดของลม หรือ การเคลื่อนไหวจากสายตาของผู้ชมเอง เมื่อบรรยากาศโดยรวมของภาพมีสภาวะไม่หยุดนิ่ง ผู้ชมจะเกิดความรู้สึกเคลื่อนไหวทางความคิดและจินตนาการ ต่อเนื่องออกไปจากภาพเป็นอนันต์ (Infinite)

ภาพนี้มีชื่อว่า “Trees dances” ตอนนั้นผมไปเที่ยวถ่ายภาพที่ Churchill Canada ขณะนั่งรถผ่าน ทุ่ง tundra เป็นภาพติดตาอย่างมาก เพราะบรรยากาศที่เห็นนั้นแปลกและประทับใจมากจึงนำมาเป็นแรงบันดาลใจ ในการส่งภาพถ่ายชิ้นนี้เข้าประกวด”

นายบูชาชน เพชรธัญญะ ผู้ชนะเลิศ หัวข้อ “โลกแห่งจินตนาการ” เจ้าของภาพถ่ายชื่อ Trees dances
……………………………………………………..


“ในหลวงโปรดภาพ ที่มีความงดงามเป็นธรรมชาติ”

“วรนันท์ ชัชวาลทิพากร”  ศิลปินแห่งชาติ ด้านภาพถ่าย

เป็นที่ทราบกันดีว่า การถ่ายภาพเป็นศิลปะสาขาหนึ่งที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยอย่างจริงจัง ทรงศึกษาและทรงฝึกฝนด้วยพระองค์เองมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

จนถึงเวลานี้ไม่ว่าจะทรงเสด็จพระราชดำเนินไป ณ ที่แห่งใด จะทรงมีกล้องถ่ายภาพติดพระองค์ไปด้วยเสมอ

ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรงพระยศเป็นพระอนุชา ทรงถ่ายภาพรามเกียรติ์ที่ผนังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานให้พิมพ์ในหนังสือพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร

นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เสมือนช่างภาพส่วนพระองค์ในขณะตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลอีกด้วย เมื่อขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ก็ทรงโปรดถ่ายภาพสิ่งต่าง ๆ เป็นประจำ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์ปรากฏบนปกนิตยสารต่าง ๆ เสมอ เช่น วารสารแสตนดาร์ดของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร พระองค์ทรงเคยมีพระราชดำรัสด้วยพระอารมณ์ขันแก่คนใกล้ชิดว่า

“ฉันเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ฉันก็ยังมีอาชีพเป็นช่างภาพของหนังสือพิมพ์แสตนดาร์ด ได้เงินเดือนเดือนละ 100 บาท ตั้งหลายปี มาแล้ว จนบัดนี้ก็เห็นเขายังไม่ขึ้นเงินเดือนให้สักที เขาก็คงถวายไว้เดือนละ 100 บาทอยู่เรื่อยมา”

“ในหลวงทรงเป็นอัครศิลปิน ด้านการถ่ายภาพ” คือสิ่งที่ วรนันท์ ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน ภาพถ่ายแห่งแผ่นดิน รู้สึกไม่แตกต่างจากใครหลายคน

และกล่าวถึงภาพถ่ายที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยตัดสิน ให้ได้รับรางวัลในปีนี้ว่า

ไม่ใช่ภาพที่ถ่ายในสตูดิโอ แต่เป็นภาพที่ถ่ายในสถานที่จริง ไม่มีการเซ็ทถ่าย แสงและองค์ประกอบทุกอย่างที่ปรากฎในภาพ จึงดูมีความงดงามเป็นธรรมชาติ

ยังสามารถไปชมผลงานภาพถ่าย ที่ได้รับรางวัลและได้รับคัดเลือกให้จัดแสดงในนิทรรศการ ภาพถ่ายแห่งแผ่นดิน ประจำปี 53  วันนี้ – 10  ก.ค.54 ณ แฟชั่นฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน

Text by ฮักก้า

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 – 4488 ต่อ 1530 Email: thinksea@hotmail.com

Comments are closed.

Pin It