Art Eye View

ปรีชา ปั้นกล่ำ กับพิพิธภัณฑ์ศิลปะ “ตาโต ตัวพอง” นามว่า “นกฮูก”

Pinterest LinkedIn Tumblr



ART EYE VIEW — จากที่เคยรู้สึกหวาดกลัว “นกฮูก” หรือ “นกเค้าแมว” ราวกับว่ากลัวผี เพราะ นอกจากมันจะเป็นสัตว์ที่ออกหากินกลางคืนแล้ว บางชนิดยังมีเสียงร้องคล้ายเสียงผีหรือเสียงแม่มด ที่ทำให้ยิ่งน่ากลัวมากขึ้น

จากที่เคยคิดไม่ถึงว่า เจ้าสัตว์ ตาโต ตัวพองนี้ จะถูกเล่าขาน ผ่านงานศิลปะ งานออกแบบ ตลอดจนงานฝีมือของช่างพื้นบ้านเอาไว้อย่างมากมายทั่วโลก

ยามนี้ความหวาดกลัวและคิดไม่ถึงของใครหลายคน แปรเปลี่ยนเป็นความน่ารัก น่าเอ็นดู และเชื่อว่ามีอยู่จริง

เมื่อได้แวะไปเยือน พิพิธภัณฑ์ศิลปะนกฮูก ณ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ซึ่งก่อตั้งโดย ปรีชา ปั้นกล่ำ ศิลปิน,นักออกแบบ และอาจารย์ประจำ คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร ศิษย์เก่าสาขาภาพพิมพ์ คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ และคณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร


ปรีชา กล่าวว่า เขาเองก็ไม่ต่างกับใครหลายๆ คน ที่แรกรู้จักสัตว์ชนิดนี้ ผ่านด้านที่น่าหวาดกลัวและเชื่อว่าจะนำโชคร้ายมาสู่ ก่อนจะได้ทำความรู้จักในอีกหลากหลายแง่มุม

“ตอนเด็ก ผมอยู่ต่างจังหวัด (จ.อุตรดิตถ์)จะมีโอกาสได้เห็นพวกนกฮูกและนกอะไรต่างๆพวกนี้ บ่อยๆอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็ได้สัมผัสกับความเชื่อที่ค่อนข้างจะรุนแรง และเชื่อแบบสนิทใจว่า นกฮูก,นกแสก อะไรต่างๆเนี่ย ถ้าไปเกาะที่บ้านใคร จะต้องมีคนในบ้านเสียชีวิต

พอโตขึ้น เราก็เริ่มจะลืมเรื่องราวเหล่านั้นไปบ้าง จนวันนึงเราต้องมาเลี้ยงลูก ความรู้สึกนั้นมันจึงมีกลับมาอีก

แต่ไม่ใช่เรื่องของความน่ากลัว ความโชคร้าย อย่างเดียวแล้ว ยังมีเรื่องของความน่ารัก และการเป็นสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของความเฉลียวฉลาดเข้ามาปะปนด้วย

ไปๆมาๆ ผมก็ใช้นกฮูกนี่แหล่ะ เป็นตัวนำในการเล่านิทานกล่อมให้ลูกนอน เล่าแบบแต่งเรื่องขึ้นมาเอง ขึ้นอยู่กับว่าวันนี้เราอยากจะสอนลูกให้คิดเรื่องอะไร

เล่าถึงนกฮูกทั้งในแง่บวกและลบ เพื่อให้เค้าตัดสินใจเองว่าเค้าจะเชื่อในด้านไหน”

ในเวลาต่อมา เขา,ภรรยา(สุภาภรณ์ ปั้นกล่ำ) และ ลูกสาว(น้องปราชญ์) ยังเลือกที่จะสะสมสิ่งของที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับนกฮูกร่วมกัน

“เพราะผมอยากจะสอนให้ลูกรู้จักดูแลสิ่งของ และเรียนรู้ที่จะรักอะไรสักอย่าง พ่อ แม่ ลูก คุยกันไปคุยกันมา จึงมาลงเอยที่นกฮูก ส่วนหนึ่งก็คงเนื่องมาจาก เราเคยเล่านิทานเกี่ยวกับนกฮูกให้เค้าฟังบ่อยๆ เค้าก็คงจะฝังใจ”

ผ่านมาถึงอีกช่วงวัยหนึ่ง เมื่อลูกสาวหันเหความสนใจไปให้กับสิ่งอื่นมากกว่า ขณะที่พ่อและแม่ยังหลงใหลในนกฮูกไม่เสื่อมคลาย อีกยังพบว่า สิ่งของที่สะสมเกี่ยวกับนกฮูกมีอยู่มากมายก่ายกอง จึงเกิดความคิด ที่จะนำมาแบ่งปันกับผู้คน

เพราะเห็นว่ามีองค์ความรู้ ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม ความเชื่อ และอะไรหลายๆอย่างซ่อนเร้นอยู่ในงานศิลปะ งานออกแบบ และงานฝีมือ เกี่ยวกับนกฮูกที่เขาสะสมและได้มาจากหลายที่ทาง ทั้งในและต่างประเทศ

“นกฮูกเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นและในแต่ละประเทศ อย่างในญี่ปุ่น นกฮูกเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี โชคลาภและความมั่งมีศรีสุข

ยุโรปบางประเทศ นกฮูกเป็นสัญลักษณ์ของความโชคร้าย คล้ายๆกับบ้านเรา ขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็เชื่อถึงขนาดว่าเป็นเทพยดา

ในอินเดียนกฮูกเป็นเหมือนพาหนะของพระแม่ลักษมี มเหสีของพระนารายณ์ หรืออย่างพม่า ใกล้ๆบ้านเรา เชื่อตรงกันข้ามกับบ้านเราเลยว่า นกฮูกเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในบ้านเรา นกฮูกจะเป็นสัญลักษณ์ในทางที่ไม่ดี แต่มีพระบูชาบางรุ่นที่ถูกทำขึ้นเป็นหน้านกฮูก

“มีหลายสำนักที่ทำเป็นพระหน้านกฮูก เช่น รุ่นหลวงปู่พิน ที่ผมยังหามาเก็บไว้ไม่ได้ แต่ที่มีโชว์ในพิพิธภัณฑ์ฯ เนี่ย เป็นพระหน้านกฮูกที่ได้รับอิทธิพลมาจากทางเวียงจันทร์ และเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อในเรื่องของการมีโชคลาภ อะไรต่างๆ”

นอกจากความเชื่อเกี่ยวกับนกฮูกจะมีหลากหลาย ศิลปะ งานออกแบบ และงานฝีมือ ที่นำเสนอเกี่ยวกับนกฮูกก็มีความหลายหลายเช่นกัน

หนึ่งในจำนวนชิ้นงานที่ปรีชาได้มาครอบครองและมักจะหยิบมานำเสนอกับผู้คนเสมอ คือ งานแกะไม้เป็นนกฮูก ซึ่งได้มาจาก พิพิธภัณฑ์ศิลปะ ฮาโกเน่ ประเทศญี่ปุ่น

“มันเป็นความฉลาดของช่างที่รู้จักใช้เครื่องมือและใช้วัสดุธรรมชาติมาสร้างเป็นงานได้อย่างลงตัว งานชิ้นนี้เค้าแกะพียงไม่กี่ที มันก็สามารถเป็นไปได้อย่างที่เค้าต้องการ โดยไม่ต้องสลักหรือขัดเกลาอะไรมากมาย”

นอกจากงานศิลปะและงานออกแบบที่ทำในฐานะศิลปินและนักออกแบบ , งานสอนในฐานะอาจารย์ และงานดูแลจัดการในฐานะเจ้าของพิพิธภัณฑ์

ปรีชายังทำงานวิจัยเกี่ยวกับงานหัตถกรรมร่วมสมัย และกำลังร่วมงานกับ ศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนางานหัตถกรรมบ้านอรัญญิกให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว

ดังนั้นนอกจากงานศิลปะ งานออกแบบ และงานฝีมือเกี่ยวกับนกฮูกที่เขาได้มาจากหลายที่ทาง ภายในพิพิธภัณฑ์ศิลปะนกฮูก ก็ยังมีตัวอย่างของงานบางชิ้น ที่เป็นส่วนหนึ่งของการที่เขาพยายามส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์  เช่น ฮูกตาโขน และ ครกฮูกหินอ่างศิลา


เช่นกันว่า การเกิดขึ้นของ “พิพิธภัณฑ์ศิลปะนกฮูก” ปรีชาก็ได้ดึงศักยภาพด้านศิลปะและการออกแบบของตัวเองออกมาใช้อยู่เรื่อยๆ

นับตั้งแต่การออกแบบป้ายทางเข้าพิพิธภัณฑ์ ไปจนถึงตัวอาคาร

“จริงๆแล้ว ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น มันไหลไปตามสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมเดิม มันเป็นอย่างไร ผมอยากให้มันคงสภาพธรรมชาติเดิมอยู่อย่างนั้น โดยที่เราไม่ต้องไปปรับเปลี่ยนอะไรมากนัก เราก็แค่อาศัยความรู้ทางศิลปะ และอะไรบางอย่างเข้าไปปรับแต่งปรุงแต่งนิดหน่อย เพื่อให้มีความงามเกิดขึ้น

ในเรื่องของการออกแบบตัวพิพิธภัณฑ์ ผมพยามยามออกแบบเพื่อให้ใช้พลังงานให้น้อยที่สุด ผมไม่ต้องการติดแอร์ ผมจึงพยายามดีไซน์ให้ผนังมันโปร่ง ลมพัดเข้าไปได้ และการที่ผมตัดสินใจเลือกพื้นที่ตรงนี้ ก็เพราะว่าลมมันดี ไม่มีอะไรมาบัง พื้นที่โดยรอบมีความเป็นธรรมชาติอยู่เยอะ และอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าเราติดแอร์ มันก็ยิ่งจะทำให้เรามีค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงมีค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลที่จะตามมาอีกในอนาคต”

ก่อนที่พิพิธภัณฑ์จะเปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงต้นปี 55 ปลายปี 54 ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำท่วม เขาได้แปลงวิกฤติเป็นโอกาส ด้วยการใช้เวลาไปกับการทำงานเซรามิกที่เกี่ยวกับนกฮูก

“ชิ้นงานที่ผมทำเองกับมือ คือชิ้นงาน ฮูกครอบครัว ซึ่งเป็นงานต้นแบบปลาสเตอร์สีขาวๆ พอดีตอนช่วงน้ำท่วม มีโอกาสหนีน้ำไป 2 เดือน เป็นช่วงว่างๆ คิดว่าเราจะเปิดพิพิธภัณฑ์แล้ว แต่ยังไม่มีงานโชว์ที่เป็นของตัวเองเลย ก็เลยปั้นงานขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากความรัก ความผูกพัน ของคนในครอบครัว”

หรือแม้แต่ตอนที่พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมได้ระยะหนึ่ง ปรีชาได้หาทุนเริ่มต้นสำหรับสร้าง สนามเด็กเล่น ภายในพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้เด็กๆในละแวกได้เข้ามาใช้ ด้วยการทำงานศิลปะขึ้นมาชุดหนึ่งเช่นกัน

“พอดีผมเป็นคนที่อยากจะทำนู่นทำนี่มากมาย แต่เป็นคนไม่มีสตางค์ ก็เลยหาวิธีชวนคนในอื่นๆ ในสังคม มาช่วยกันดูแลสังคม และคิดว่าน่าจะมีคนที่อยากจะสนับสนุนเรา ผมจึงเอางานวาดเส้นที่ผมทำไว้เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับทำเสื้อยืดจำหน่ายในพิพิธภัณฑ์ มาออกประมูลผ่าน FACEBOOK เพื่อหาเงินสร้างสนามเด็กเล่น ทำมา 6 ชิ้น ประมูลได้ทั้งหมด ซึ่งก็ได้เงินมาจำนวนหนึ่ง สำหรับเป็นเงินทุนเริ่มต้น”

เจ้าของสถานที่อยากให้พิพิธภัณฑ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะในทุกระดับ นอกจากมาดู มาชม สิ่งของที่นำเสนอในพิพิธภัณฑ์ ใครที่เกิดคันไม้คันไม้อยากจะสร้างงานศิลปะเกี่ยวกับนกฮูกตามจินตนาการของตัวเอง ที่นี่ก็มีคอร์สสอนศิลปะเอาไว้รองรับ

และในอนาคตเขาอยากจะสร้างให้ที่นี่เป็นศูนย์พัฒนาด้านหัตกรรม

“กำลังเตรียมความพร้อมในเรื่องของเครื่องไม้เครื่องมือ แล้วก็วิทยากรที่คอยดูแลเกี่ยวกับงานหัตกรรม เช่น งานจักสาน งานแกะไม้ งานปั้นดิน ฯลฯ เพราะผมอยากให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ทุกระดับ เพราะว่าเรามีเครือข่ายทุกระดับไม่ว่าจะเป็นช่างชาวบ้าน หรือศิลปินที่ทำงานศิลปะบริสุทธิ์”

พิพิธภัณฑ์ศิลปะนกฮูก อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ค่าเข้าชม เด็ก 20 บาท ผู้ใหญ่ 40 บาท โทร. 034- 339-721 และ 081-809-6867
+

Text by  ฮักก้า   Photo by   อัจฉรา นวลสวาท และ พิพิธภัณฑ์ศิลปะนกฮูก

>>หนึ่งเสียงของคุณมีความหมาย ใครคือศิลปินไทย ที่คุณชื่นชอบ ใน “ชีวิต” และ “ผลงาน”<<

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com และ เซคชั่น LIVE หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ Email: thinksea@hotmail.com

Comments are closed.

Pin It