Art Eye View

ยูดิท วีรสตรีผู้กล้าหาญเยี่ยงชายชาตรี

Pinterest LinkedIn Tumblr

>>>คอลัมน์ : 108-1000 – ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน
1.Donatello: ยูดิทและโฮโลเฟอร์เนส (Judith and Holofernes), ระหว่าง ค.ศ. 1453-1457, สำริด รมดำ, สูง 236 ซม. (ไม่รวมฐาน), Palazzo Veccio, Florence
สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน เนื่องจากวันศุกร์ที่ 8 มีนาคมนี้ เป็น วันสตรีสากล ดิฉันจึงขอถือโอกาสนำผลงานศิลปะที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับวีรกรรมอันกล้าหาญเยี่ยงชายอกสามศอกของสาวงามนางหนึ่ง นามว่า ยูดิท (Judith) มาให้ทุกท่านได้ชมกันเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นทัศนคติเกี่ยวกับวีรสตรีผู้นี้ ซึ่งแตกต่างไปตามศิลปินผู้สร้างสรรค์งานและเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยของสังคมตะวันตก
2.รายละเอียดจากภาพที่ 1
เรื่องราวของยูดิท วีรสตรีของชนชาติยิว ซึ่งเป็นเรื่องเล่าจากพระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาเก่า ถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะบ่อยครั้งโดยศิลปินหลายต่อหลายท่านและในหลายยุคหลายสมัย

 แต่การตีความและการนำเสนอเรื่องราวของศิลปินในแต่ละยุคแต่ละสมัยจะแตกต่างกันไปตามความเข้าใจ และค่านิยมที่เปลี่ยนไปของสังคมในสมัยนั้นๆ เช่น ในยุคกลางเรื่องราวของยูดิทนับเป็นตัวอย่างหนึ่งของมารยาหญิงที่มีหลายร้อยเล่มเกวียน ส่วนในสมัยเรอเนสซองซ์กลับเป็นเยี่ยงอย่างวีรกรรมอันห้าวหาญของอิสตรี สำหรับในสมัยบาโรคการกระทำของยูดิทถือเป็นตัวอย่างอันดีของการเสียสละอันยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติของผู้หญิงคนหนึ่ง

ยูดิทป็นแม่ม่ายสาวสวยและรวยทรัพย์แห่งเมืองเบทูเลีย เมืองหน้าด่านของกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งขณะนั้นกำลังถูกกองทัพอัสซีเรียของกษัตริย์เนบูคัดเนซซาร์ (Nebuchadnezzar) แห่งบาบิโลน ภายใต้การนำทัพของแม่ทัพโฮโลเฟอร์เนส (Holofernes) นำกำลังทหารล้อมเมืองไว้อย่างหนาแน่น และใช้ยุทธวิธีตัดเส้นทางการลำเลียงน้ำเข้าสู่เมืองเพื่อบีบบังคับให้เมืองเบทูเลียยอมจำนนโดยเร็วยิ่งขึ้น ยูดิทจึงอาสาเสี่ยงภัยไปสังหารแม่ทัพใหญ่แห่งอัสซีเรียเพื่อช่วยบ้านเมืองให้พ้นภัยวิบัติในครั้งนั้น
 

ยูดิทและสาวใช้ของนางทำทีเป็นลักลอบออกจากเมืองเบทูเลีย และออกอุบายสร้างเรื่องขึ้นมา จนสามารถเข้าไปในค่ายของอัสซีเรียได้ ความงดงามของยูดิทและแผนการอันแยบยลในการเข้าโจมตีและยึดครองเมืองเบทูเลียที่นางนำมาเสนอแนะ ทำให้โฮโลเฟอร์เนสไว้วางใจนาง ความพึงพอใจในความงามของยูดิททำให้โฮโลเฟอร์เนสหวังจะพิชิตตัวนาง
 

คืนวันหนึ่งโฮโลเฟอร์เนสจึงเชิญนางมาเลี้ยงฉลองในกระโจมที่พักของเขา ยูดิทจึงฉวยโอกาสนี้มอมเหล้าโฮโลเฟอร์เนส เมื่อเขาเมามายจนไม่ได้สติแล้ว นางจึงสังหารเขาโดยการตัดศีรษะของโฮโลเฟอร์เนสด้วยดาบของเขาเอง ยูดิทและสาวใช้ของนางหลบหนีออกไปจากค่ายอัสซีเรียในยามวิกาลพร้อมกับศีรษะของแม่ทัพใหญ่ เมื่อทหารอัสซีเรียเห็นศีรษะของแม่ทัพตนแขวนอยู่เหนือกำแพงเมืองเบทูเลียในเช้าวันรุ่งขึ้น จึงเกิดความระส่ำระสายไปทั่วทั้งกองทัพ ในที่สุดกองทัพที่แตกกระจายเพราะไร้ซึ่งแม่ทัพ จึงจำต้องเลิกทัพกลับไปยังอัสซีเรีย ทำให้เมืองเบทูเลียกลับคืนสู่ความสงบสุขอีกครั้งหนึ่ง
 

ประติมากรรมกลุ่ม ยูดิทและโฮโลเฟอร์เนส (รูปที่ 1) ซึ่งปั้นและหล่อโดย โดนาเทลโล (Donatello) ประติมากรเอกสมัยเรอเนสซองซ์ตอนต้นของอิตาลี เป็นสัญลักษณ์แห่งเอกราชและอิสรภาพของสาธารณรัฐฟลอเรนซ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นสัญลักษณ์ของผู้อ่อนแอที่สามารถมีชัยชนะเหนือศัตรูผู้กล้าแข็งได้ด้วยศรัทธาอันมั่นคงต่อพระผู้เป็นเจ้า โดนาเทลโลจัดวางองค์ประกอบรูปประติมากรรมได้อย่างเป็นธรรมชาติและอย่างผู้มีชัยชนะเหนือโดยให้ยูดิทยืนคร่อมร่างของโฮโลเฟอร์เนส เท้าซ้ายของนางเหยียบลงบนข้อมือขวาของแม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่ในทุกสนามรบ แต่กลับต้องมาพ่ายแพ้แก่มารยาหญิงและเสน่ห์เล่ห์กลของสาวงามแห่งเบทูเลีย
 

 ร่างกายที่อ่อนปวกเปียกไร้ซึ่งวิญญาณของโฮโลเฟอร์เนสพิงอยู่ระหว่างท่อนขาอันเรียวงามของ ยูดิท มือซ้ายของเธอขยุ้มลงบนปอยผมเพื่อดึงศีรษะของโฮโลเฟอร์เนสมาพาดวางบนต้นขาของนางในลักษณะที่สะดวกต่อการลงดาบครั้งที่สอง (รูปที่ 2) มือขวาที่กำดาบไว้แน่นยกสูงขึ้นในท่าเงื้อง่าเพื่อเตรียมพร้อมที่จะตัดศีรษะของโฮโลเฟอร์เนสออกจากร่าง (รูปที่ 3) และในวินาทีนี้นี่เอง ที่ถือเป็นวินาทีสุดท้ายที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นวินาทีแห่งชัยชนะอันเด็ดขาด และการสิ้นสุดภารกิจที่สำคัญของเธออย่างสมบูรณ์แบบ

มิเคลันเจโล ดา คาราวัจโจ (Michaelangelo da Caravaggio) จิตรกรเอกสมัยบารอค (Baroque) ตอนต้นของอิตาลี ได้บรรยายภาพการสังหารโหดแม่ทัพใหญ่ของอัสซีเรียไว้อย่างสมจริงและน่าสยดสยองยิ่ง (รูปที่ 4) สาวน้อยยูดิทที่ดูอ่อนหวานน่ารักและอ้อนแอ้นอรชรกำลังใช้มือซ้ายดึงผมของโฮโลเฟอร์เนสไว้มั่น ส่วนมือขวากำดาบอันคมกริบซึ่งกำลังใช้บั่นศีรษะของแม่ทัพใหญ่ออกจากร่างที่ดิ้นรนกระเสือกกระสนให้พ้นจากความตาย ถึงแม้ว่ายูดิทจะเบือนหน้าหนีเพียงเล็กน้อยจากภาพอันน่าสยดสยองที่อยู่ตรงหน้า แต่เธอก็สามารถควบคุมสติของตนเองเอาไว้ได้อย่างมั่นคงและโดยปราศจากความพรั่นพรึง

ใบมีดคมกริบสร้างบาดแผลฉกรรจ์ที่กว้างลึกและตัดเส้นเลือดใหญ่บริเวณลำคอของโฮโลเฟอร์เนสจนขาดกระจุย โลหิตสดๆ ไหลทะลักและพุ่งกระฉูดออกมาราวกับสายน้ำไหล ความเจ็บปวดรวดร้าวจากบาดแผลฉกรรจ์ทำให้กล้ามเนื้อทุกส่วนในร่างกายของแม่ทัพใหญ่เขม็งเกร็งไปทุกส่วน ปากที่เปิดกว้างเพื่อร้องขอความช่วยเหลือปราศจากซึ่งเสียงร้องโหยหวนเล็ดลอดออกมา เนื่องจากหลอดเสียงของเขาได้ถูกคมมีดตัดขาดไปแล้ว ดวงตาที่เหลือกถลนด้วยความหวาดกลัวและความเจ็บปวดทรมานอย่างแสนสาหัสเหลือบขึ้นมองใบหน้าของผู้กำลังพิฆาตตนอย่างประหวั่นพรั่นพรึง
3.รายละเอียดจากภาพที่ 1
4.Michaelangelo da Caravaggio: การตัดศีรษะโฮโลเฟอร์เนส (The Beheading of Holofernes), ค.ศ. 1595/96, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 144x195 ซม. Galleria Nazionale di Arte Antica. Rome
5.Sandro Botticelli: การคืนสู่เหย้าของยูดิท (The Return of Judith), ราว ค.ศ. 1469/70, สีฝุ่นบนไม้, 31x24 ซม. Galleria degli Uffizi, Florence
ซานโดร บอตติเชลลี (Sandro Botticelli) จิตรกรเอกสมัยเรอเนสซองซ์ตอนต้นของอิตาลี นำเสนอภาพยูดิทในลักษณะที่ต่างไปจากศิลปินคนอื่นๆ โดยเลือกนำเสนอภาพ การคืนสู่เหย้าของยูดิท (รูปที่ 5) เพื่อหลีกเลี่ยงการแสดงภาพอันโหดเหี้ยมอำมหิตในงานจิตรกรรมของเขา ภาพสาวน้อยยูดิทกำลังเดินด้วยอาการเหม่อลอยเพื่อกลับเข้าสู่เมืองเบทูเลีย ตามติดมาด้วยสาวใช้คนหนึ่งซึ่งทูนถาดใส่ศีรษะของโฮโลเฟอร์เนสไว้บนหัว สาวน้อยยูดิทกำดาบเปื้อนเลือดกระชับไว้ในมือขวา ส่วนมือซ้ายถือช่อมะกอกอันเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ

การนำเสนอภาพยูดิทในลักษณะนี้สื่อความหมายโดยนัยว่าภารกิจอันยิ่งใหญ่ของเธอได้สิ้นสุดลงแล้ว และเธอสามารถนำสันติสุขกลับคืนสู่บ้านเกิดเมืองนอนของตนได้สำเร็จ สาวใช้ที่เร่งฝีเท้าเดินตามหลังนายสาวมาติดๆ และต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้นอยู่ริมทางด้านขวามือสุดของภาพ ช่วยเน้นการปรากฏกายของยูดิทให้เด่นยิ่งขึ้น จังหวะการเคลื่อนไหวอันคล้องจองกันของแขนทั้งสองข้างของยูดิทและสาวใช้สร้างภาพการเคลื่อนไหวอันนุ่มนวลอ่อนช้อยราวกับการร่ายรำให้กับการเยื้อย่างกายของหญิงสาวคู่นี้ ซึ่งบอตติเชลลีน่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากการร่ายรำของหญิงสาวในริ้วขบวนแห่และละครเวที

ปีเตอร์ พอล รูเบน (Pieter Paul Rubens) จิตรกรเอกสมัยบารอคแห่งแคว้นแฟลนเดิส ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเบลเยี่ยม นำเสนอภาพยูดิทในลักษณะคล้ายกับว่า เธอกำลังก้าวเดินออกมาจากความมืดมิดในกระโจมของ แม่ทัพอัสซีเรีย (รูปที่ 6) สายตาของเธอที่กระทบกับแสงเทียนซึ่งอยู่ในมือของหญิงชราทอประกายเจิดจ้า มือขวาของเธอยังคงกำดาบไว้แน่น มือซ้ายที่เปรอะเปื้อนไปด้วยคราบโลหิตสดๆ อยู่ในลักษณะยื่นศีรษะของโฮโลเฟอร์เนสออกมาเบื้องหน้ายังผู้ชม สายตาที่มองต่ำออกมานอกภาพยังผู้ชมทอประกายประหลาดดูราวกับท้าทาย มั่นใจ และปราศจากซึ่งความสะทกสะท้าน

หญิงชราที่คอยช่วยเหลือยูดิทในภารกิจนี้ถือเทียนเล่มหนึ่งไว้ในมือขวา ส่วนมือซ้ายยื่นออกมาช่วยประคองศีรษะของโฮโลเฟอร์เนสไว้ สีแดงสดของแขนเสื้อข้างซ้ายของหญิงชราดูราวกับถูกจุ่มลงในเลือดสดๆ ดวงตาของนางแฝงไว้ซึ่งความรู้สึกที่คละเคล้ากันไปด้วยความรู้สึกเสียดายและความชื่นชมในตัวแม่ทัพชาวอัสซีเรียน แสงเทียนที่สว่างวอมแวมสาดส่องไปกระทบบนไปหน้า ลำคอที่เปลือยเปล่า และทรวงอกที่เต่งตึงของยูดิท รวมทั้งใบหน้าอันสง่างามสมชายชาตินักรบของโฮโลเฟอร์เนส จากรายละเอียดดังกล่าวมานี้เผยให้เห็นความต้องการของศิลปินที่ต้องการชูประเด็นสัมพันธ์สวาทอันสับสนระหว่างชายหญิงหรือวีรสตรีและศัตรูของนางเป็นสำคัญ

การนำเสนอภาพยูดิทของรูเบนมีลักษณะคล้ายกับการนำเสนอภาพยูดิทผู้อ่อนหวาน น่ารัก และท้าทายของ ทิเซียโน จิตรกรเอกสมัยเรอเนสซองซ์ของอิตาลี (ภาพที่ 7) เพียงแต่รอยยิ้มหวานปานน้ำผึ้งของเธอกลับซ่อนความโหดอำมหิตและความเลือดเย็นไว้เบื้องหลัง

หมายเหตุ: ชื่อเฉพาะภาษาต่างประเทศในบทความนี้สะกดตามคำอ่านในภาษานั้นๆ
6.Pieter Paul Rubens: ยูดิทกับศีรษะของโฮโลเฟอร์เนส (Judith with the Head of Holofernes), ราว ค.ศ. 1616, สีน้ำมันบนผ้าใบ, Herzog Anton-Ulrich-Museum, Braunschweig
เรียนรู้ศัพท์ศิลปะกับ 108-1000-ศิลป์

Donatello ประติมากรเอกสมัยเรอเนสซองซ์ตอนต้นของอิตาลี มีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1386 – 1466

Renaissance ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ หรือ เรอเนสซองซ์ ในทวีปยุโรป เริ่มต้นราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17

Michaelangelo da Caravaggio จิตรกรเอกสมัยบารอคตอนต้นของอิตาลี มีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1573-1610

Baroque ศิลปะที่มีอิทธิพลครอบคลุมในทวีปยุโรประหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 17 จนถึงทศศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 18

Sandro Botticelli จิตรกรเอกสมัยเรอเนสซองซ์ตอนต้นของอิตาลี มีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1445-1510

Pieter Paul Rubens จิตรกรเอกสมัยบารอคแห่งแคว้นแฟลนเดิส ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเบลเยี่ยม มีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1577-1640

Tiziano Vecellio จิตรกรเอกสมัยเรอเนสซองซ์ของอิตาลี มีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1476/77-1576
7.Tiziano Vecellio: ยูดิทกับศีรษะของโฮโลเฟอร์เนส (Judith with the Head of Holofernes), ระหว่าง ค.ศ. 1560-1570, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 112x93 ซม. Institute of Arts, Detroit

รู้จัก … รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน

จบมัธยมศึกษาตอนปลายจาก โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และปริญญาตรี อักษรศาสตร์บัณฑิต (Bachelor of Art) (ภาษาอังกฤษ) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม

 จากนั้นจึงได้ไปศึกษาต่อยังประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ที่มหาวิทยาลัย Technische Universität Carolo-Wilhelmina แห่งเมือง Braunschweig จนจบหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต (Magistra Artium)

ต่อมาได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาต่อจนจบปริญญาดุษฎีบัณฑิต (Doktors der Philosophie/Dr. Phil.) (ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก) ด้วยระดับ “magna cum laude” จากมหาวิทยาลัย Osnabrück แห่งเมือง Osnabrück

ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2546 ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการหอศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร

พ.ศ. 2544 ได้รับทุนจากสถาบันเกอเธ่ ให้ไปเข้าร่วมการสัมมนาด้านวัฒนธรรม ณ เมือง Weimar และ Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 1 เดือน พร้อมทั้งได้นำเอาผลงานศิลปะของศิลปินไทย 3 คน คือ ดำรง วงศ์อุปราช อภิชัย ภิรมย์รักษ์ และ เด่น หวานจริง ไปเผยแพร่ในรูปการจัดแสดงนิทรรศการเป็นครั้งแรกในประเทศเยอรมนี ณ Kunstverein Talstrasse แห่งเมือง Halle ด้วย

พ.ศ. 2545 ได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ของทวีปยุโรป ณ กรุง Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 3 เดือน 

พ.ศ. 2548 ดำรงตำแหน่งประธานสภาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2552 ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปัจจุบันรับราชการในตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ ระดับ 9 ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

นอกจากงานประจำด้านการสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แล้ว ยังมีผลงานที่เป็นบทความทางวิชาการ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน ที่พิมพ์เผยแพร่อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี และผลงานสร้างสรรค์ศิลปะที่แสดงร่วมกับคณาจารย์ในคณะอีกด้วย

ผลงานอื่นๆ ได้แก่ การแต่งตำราประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก การออกแบบหนังสือและสูจิบัตร การกำกับและจัดวางรูปแบบนิทรรศการศิลปะ และการจัดทำ (การกำกับ) VCD

เมื่อ พ.ศ.2549 เคยมีผลงานหนังสือ “ศิลปะคลาสสิก” ซึ่งแต่งขึ้น จากการศึกษาและค้นคว้าตำราต่างประเทศหลายสิบเล่มเป็นเวลานานกว่าสิบปี

และ พ.ศ.2552 รศ.ดร.กฤษณา มีผลงานหนังสือ “เผยความลับที่ไม่ลับ ของ รหัสลับดาวินชี” ออกมาเปิดโปง ความจริงที่ถูกปิดบัง ซ่อนเร้น และบิดเบือนอย่างมโหราฬ ใน รหัสลับดาวินชี (The Da Vinci Code) นวนิยายอาชญากรรมเชิงสืบสวนสอบสวนของ แดน บราวน์ ที่โด่งดังและขายดีที่สุดเมื่อหลายปีที่ผ่านมา

ART EYE VIEW เชิญ รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา มาร่วมให้ความรู้แก่ผู้ชมงานศิลปะ ด้วยเห็นว่า ความรู้ที่มี ไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ ในรั้วสถาบันการศึกษา

ติดตามอ่าน …108-1000 – ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์  ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน  ได้ทุกอาทิตย์ ทาง  ART EYE VIEW

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It