Art Eye View

มากคนมากความ เยาวราชบ้านฉัน “ชาญชัย แซ่ฉั่ว”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—แบกกล้องเดินทางไปถ่ายภาพมาแล้วทุกจังหวัดทั่วประเทศ มากกว่า 3 รอบ ทั้งในฐานะช่างภาพให้กับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และบริษัทโฆษณา

แต่ 4 – 5 ปีที่ผ่านมานี้ มากกว่าภาพถ่ายทั่วไปที่รับจ้างถ่ายในฐานะช่างภาพอิสระและภาพถ่ายจากหลากหลายกิจกรรมของบรรดาเพื่อนศิลปินที่คุ้นเคยกัน

คลังภาพถ่ายส่วนตัวของ ชาญชัย แซ่ฉั่ว เริ่มมีภาพชีวิตในย่านที่เขาเติบโตขึ้นมาอย่าง “เยาวราช” มากขึ้นเรื่อยๆ

“ความจริงผมมีภาพที่เก่ากว่านี้อีก เมื่อก่อนมีถ่ายฟิล์มเก็บไว้ด้วย แต่หาไม่เจอ เพราะตอนนั้นเรายังถ่ายน้อยไง ยังถ่ายเยาวราชไม่มาก เน้นไปเที่ยวทะเลกับภูเขาแล้วก็เดินป่ามากกว่าครับ”


เด็กเยาวราช บ้านใกล้ สน.พลับพลาไชย

ชาญชัยบอกเล่าว่าลืมตาดูโลกจำความได้ เขาก็พบว่าตัวเองวิ่งเล่นอยู่บนถนเยาวราชที่ทุกคนรู้จักกันดีแล้ว และบ้านของเขาอยู่ไม่ไกลจากสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย ช่วงวัยเด็กเป็นช่วงที่ครอบครัวกำลังก่อร่างสร้างตัว บ่อยครั้งที่ต้องแบ่งเบาภาระครอบครัวด้วยการช่วยไปส่งของ เนื่องจากที่บ้านเคยเปิดเป็นร้านขายของและทำแปรงขัดพื้น

ต่อมาด้วยความที่อยากเป็นสถาปนิก และนักออกแบบ จึงเลือกเข้าเรียนต่อด้านการออกแบบที่ไทวิจิตรศิลป์

แต่เมื่อไปหลงใหลในเสน่ห์ของกล้องถ่ายภาพ เวลาต่อมาจึงสอบเข้าเรียนต่อเพื่อเป็นนักศึกษารุ่นแรก แผนกภาพถ่าย คณะจิตกรรรม (ปัจจุบัน คณะออกแบบ)ของรั้วเพาะช่าง ได้มีโอกาสเรียนกับ อ.พูล เกษจำรัส ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่ายศิลปะ),อ.ทวี เจนขจร และอ.รังสรรค์ ศิริชู

และเมื่อจบออกมาได้มีโอกาสร่วมงานกับ สุนทร อำพันทอง ช่างภาพการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งทำให้ได้มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวและถ่ายภาพทั่วประเทศ รวมทั้งได้สุนทรเป็นครูสอนใช้กล้องถ่ายภาพหลากประเภทให้ด้วย

กระทั่งลาออกมาทำงานเป็นช่างภาพให้กับห้างเมโทร แต่เมื่ออยากฝึกฝนการถ่ายภาพให้มากกว่าการถ่ายภาพด้วยกล้องตัวเดียว จึงไปสมัครเป็นผู้ช่วยช่างภาพที่เย็นอากาศสตูดิโอ จึงทำให้ได้รับความรู้และรู้จักกับช่างภาพรุ่นใหญ่ในวงการโฆษณาหลายคน ณ ขณะนั้น

ต่อมาช่วง วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง บริษัทโฆษณาปิดตัวเป็นจำนวนมาก ชาญชัยจึงเลือกไปทำงานและเรียนรู้การถ่ายภาพเคลื่อนไหวที่รายการสารคดีชื่อดังอย่าง กระจกหกด้าน และบางกอกขจี

เมื่อผ่านการทำงานด้านการถ่ายภาพมาหลายที่ มั่นใจตนเองว่าพอมีวิทยายุทธเก่งกล้าพอสมควรแล้ว จึงลาออกมาเป็นช่างภาพอิสระกระทั่งบัดนี้


มองใหม่จากมุมเดิม

ช่างภาพวัย 48 ปี บอกถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้กลับมามองหาเรื่องราวจากสิ่งใกล้ๆตัวมากขึ้นว่า

“ตอนหนุ่มเราก็ไปปีนเขา แก่แล้วไปปีน มันก็เหนื่อย”

แม้ว่าจะเป็นเรื่องราวที่เขาได้สัมผัสมาจนชินตาแล้วก็ตาม “ความน่าสนใจ มันเกิดจากความไม่เคยชิน ถนนเส้นนี้ผมเห็นทุกวัน มันไม่แปลก แต่ถ้าเป็นคนจากที่อื่นหรือชาวต่างชาติที่เพิ่งเคยมาก็จะรู้สึกว่า โอ้ very good เพราะมันแปลกของเขา ไม่เคยเจอแบบนี้ “

อย่างไรก็ตามเรื่องราวของเยาวราชโดยรวมที่ชาญชัยให้ความสนใจ เมื่อต้องกลับมามองใหม่จากมุมเดิมๆของตัวเองที่นอกเหนือจากสิ่งที่คนอื่นมองเข้ามาว่าเป็นย่านที่เหมาะแก่การเสาะหาของกิน มาซื้อทองคำและสัมผัสความเป็นวัฒนธรรมจีน ดังเช่น Chinatownในประเทศอื่นๆ

“ภาพวิถีชีวิตของคนเมือง การแก่งแย่ง รถติด บ้านเมืองอลหม่าน แสงสี ภาพความนิ่งของคนแก่ในยามค่ำคืน ภาพของคนยากไร้ คนที่ไม่ค่อยมีโอกาสในสังคมเท่าไหร่ ชีวิตบนถนนเส้นนี้ มันมีหลากหลาย ซึ่งผมคิดว่ามันน่าสนใจ”

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ขณะนั่งสนทนาอยู่ใน Double Dogs Tea Room ร้านชาร้านประจำของตนเอง ชาญชัยยังชี้ชวนให้ทอดสายออกไปมองชีวิตบนถนนอยู่เป็นระยะๆ

“ผมพามานั่งร้านนี้ เพื่อที่เราจะได้เห็นชีวิตของคนเยาวราช ชีวิตในแต่ละวันมันก็จะซ้ำๆ วนๆ อยู่อย่างนี้ แต่ก็มีความแตกต่างขึ้นมาให้เห็นตลอด

คนที่เดินผ่านไปผ่านมาถนนเส้นนี้วันหนึ่งเป็นแสนเป็นล้านคนนะ เมื่อชีวิตมันเยอะ เรื่องราวมันก็เยอะ”



กลอนประตูและผู้ยากไร้

แม้ว่าจะบันทึกภาพของเยาวราชไว้หลากหลายเรื่องราว แต่ก็มีบางเรื่องราวที่ชาญชัยให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ อาทิ กลอนประตูของบ้านไม้เก่าๆ

“ผมชอบกลอนประตู ผมถ่ายเก็บไว้เป็นซีรีย์เลย เป็นกลอนประตูของบ้านไม้เก่าๆในเยาวราช ในความรู้สึก ผมว่ามันสวย มันมีเรื่องราวอะไรเยอะมาก ผมชอบที่จะได้เจออะไรพวกนี้

รวมไปถึงภาพคนยากไร้ที่นอนอยู่บนท้องถนน ตัวอย่างเช่นภาพของชายคนหนึ่งที่นอนแผ่หราอยู่ริมฟุตบาตไม่ไกลจากวัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่

“ผู้ชายคนนี้ ผมไปเจอเขาครั้งแรกตอนประมาณสองทุ่ม เขาก็นอนท่านี้แหล่ะ พอผมกลับเขาบ้าน อีกเช้าต่อมาผมก็มาเจอเขานอนอยู่ที่จุดเดิม แต่แตกต่างจากที่เราเห็นครั้งแรกในตอนกลางคืนคือ ตัวเขาเปียกปอน ซึ่งผมรู้สึกสะเทือนใจ”

และภาพของอาคารหลังโทรมๆซึ่งเป็นที่พักอาศัยของหลายครอบครัว “เป็นตึกที่ตลาด คนเยาวราชส่วนหนึ่งใช้ชีวิตเหมือนอยู่ในรังเลยนะ แต่ละห้องก็จะมีเรื่องราวชีวิตของแต่ละคน แต่ละครอบครัวอยู่ในนั้น

ภาพส่วนหนึ่งของผมจึงต้องการจะสื่อว่า แม้เยาวราชจะเป็นย่านที่มีคนร่ำรวยอาศัยมาก แต่ก็มีคนยากจนอยู่”

มากคนมากความ

ภาพถ่ายในด้านที่สวยงามของวัฒนธรรมจีนอย่างอุปรากรจีน หรือ งิ้ว ,การแห่มังกร, การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ ชาญชัยก็บันทึกเก็บไว้ไม่น้อยเช่นกัน

“เรื่องราวของเยาวราชมันเยอะ มันกว้าง เราเป็นคนชอบถ่ายภาพ บางทีเห็นตรงไหนว่ามันสวยเราก็ถ่าย มันเหมือนเราบันทึก มองว่าภาพนี้น่าถ่ายนะ ผมไม่ได้ผูกตัวเองกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งของเยาวราช เพราะว่าชีวิตของคนมันมีหลายเรื่องให้สนใจ(หัวเราะ)

ทุกที่ที่ผมเคยไปถ่ายภาพมันต่างก็มีจิตวิญญาณของสถานที่นั้นๆอยู่ เพียงแต่ว่าเยาวราชจะค่อนข้างเยอะ เพราะว่าคนมันเยอะ เรื่องราวมันเยอะ เรื่องราวของมนุษย์มันเยอะ ที่เขาบอกไงว่า มากคนมากความ

เยาวราชเหมือนปลากระป๋อง พอยัดอะไรลงไปเยอะๆ มันก็อึดอัด ทุกคนก็อยากให้มันดูเรียบร้อย แต่คนมันเยอะ หนาแน่น เบียดเสียด ชีวิตในเมืองมันก็เหมือนกับฟันเฟืองตัวใหญ่ที่มันหมุนเร็ว แล้วตัวเล็กๆ ก็ต้องหมุนตาม”



เวลาที่สวยงามของเยาวราชในสายตาช่างภาพ

ชาญชัยบอกว่าช่วงเวลาที่ควรถ่ายภาพบนถนนเยาราชนั้นเขาเห็นว่าควรเป็นช่วงเช้าและก่อนมืดเพราะเราสามารถถ่ายภาพเก็บแสงไฟรถได้

และสำหรับชาญชัยที่ผ่านมาหากต้องการภาพถ่ายแลนด์สเคปของเยาวราชในแบบที่พอใจ ช่วงเก้าโมงเช้าและสามโมงเย็น คือช่วงเวลาที่เหมาะสมในการคว้ากล้องออกไปถ่ายภาพสำหรับเขา

“ เป็นช่วงที่แสงมันจะมีน้ำหนัก มีมิติในการถ่ายภาพขึ้นมา แต่มันไม่ใช่สูตรสำเร็จนะ”

แต่ช่วงเวลาที่ทำให้เขาสนุกกับถ่ายภาพที่สุดคือช่วงกลางคืน “เพราะจะมีแสงสีที่สวยงาม ผู้คนหลากหลาย มาหาของกิน พอถึงช่วงสงกรานต์ตอนเย็นๆก็มีคนมาซื้อทอง ภาพบรรยากาศของร้านทองก็ได้อีกอารมณ์นึง หรือพอเดินเข้าไปในซอกของร้านทองก็อีกอารมณ์นึงนะ

การถ่ายภาพมันสนุก มันมีความสุข มันเหมือนเราชอบกินขนมอะไรสักอย่าง พอเราได้กินมัน เรามีความสุข”

ความชัดเจนในความพร่าเลือน

นอกจากเพื่อเป็นการณ์บันทึกเหตุการณ์ไว้ ชาญชัยบอกว่า สำหรับเขาการถ่ายภาพก็เหมือนกับการวาดภาพ การได้สร้างภาพดีๆขึ้นมาภาพหนึ่ง แล้วมีความสุขกับมัน

ซึ่งไม่แปลกที่เขาจะมีมุมมองเช่นนั้น เพราะในช่วงที่เรียนไทวิจิตรศิลป์ และเพาะช่าง เจ้าตัวเคยฝึกฝนมาหมดแล้วทั้งการวาดภาพและการปั้นรูป

“มุมมองของภาพถ่ายที่ออกมา บางทีมันขึ้นอยู่กับความรู้สึกของแต่ละคน ผมมองภาพถ่ายของผมแบบจิตรกรมองภาพวาดของเขา บางทีเราอยากจะถ่ายมุมกว้างบ้าง หรือบางทีเราก็อยากจะถ่ายมุมแคบ หรืออยากถ่ายโคลสอัพบ้าง มันอยู่ที่ว่า ตอนนั้นอารมณ์เราเป็นยังไงและเราพบอะไรมากกว่า ถ้าไปติดทฤษฎี ไม่ผ่านหรอก”
 
ดังเช่นภาพถ่ายเรื่องราวอื่นที่ไม่ใช่เยาวราช บางครั้งชาญชัยก็จะถ่ายทอดมาไม่ต่างจากภาพวาดนามธรรรม

“บางทีภาพถ่ายของเราจะดูพร่าเลือนหมดเลยก็ได้ ไม่จำเป็นต้องชัดเลย เพียงแต่ว่าภาพนั้น มันสามารถทำให้คนรู้สึกได้กับความพร่าเลือนนั้นไม๊

ดังนั้นในความพร่าเลือนของผมก็จะมีความชัดเจนอยู่”

Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : ปัญญพัฒน์ เข็มราช








+


ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It