Art Eye View

อาลัย “รศ.สมโภชน์ ทองแดง” ศิลปินและอาจารย์ แห่ง “ครุศิลป์ จุฬาฯ” ในวันที่ “เมืองยังมัว บัวยังหมอง”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW— “ผมมองดูสังคม ผมดูเหตุการณ์ต่างๆ ผมเป็นคนแคร์สังคม เห็นใจคน เห็นอะไรที่ไม่ดีก็อยากจะเขียนถ่ายทอดผ่านรูปของผม เหมือนคนบ่น เหมือนคนรำพึงรำพันออกมาเป็นภาษารูป”

คือความในใจส่วนหนึ่งของ รองศาสตราจารย์สมโภชน์ ทองแดง ศิลปินและอาจารย์ ประจำสาขาศิลปศึกษา ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บอกเล่ากับ ART EYE VIEW เมื่อครั้งจัดแสดงเดี่ยวผลงานศิลปะชุด “เมืองมัว บัวหมอง” ในปี พ.ศ.2548 ณ หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


โดยผลงานศิลปะจำนวน 17 ชิ้นที่ รศ.สมโภชน์นำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนั้น ขณะที่คำว่า “เมืองมัว” สะท้อนถึง

“เมืองที่มีแต่ความมัวหมอง ไม่ชัดเจนสักอย่าง มีความซ่อนเร้น ไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมจริงเท็จเป็นอย่างไร”

ในส่วนคำว่า “บัวหมอง” สะท้อนถึงปัญหาเรื่องน้ำ ในฐานะที่เป็นคนเกิดใกล้น้ำ เป็นชาว อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ และเป็นผู้หนึ่งที่สนใจศึกษาปัญหาเรื่องน้ำ

“ปู่ย่าตาทวดทำนา ปลูกข้าวให้คนกิน แล้วผมก็เคยคลุกโคลนคลุกปักตัวดำปี๋ หลังๆครอบครัวก็ย้ายมาอยู่ที่พระประแดง จ.สมุทรปราการเช่นกัน แต่ทว่าเป็นสังคมอุตสาหกรรม ที่นาที่เคยมีอยู่ก็ขายบ้าง ให้เค้าสร้างโรงเรียนไปบ้าง ตอนหลังก็เริ่มหมด เพราะอาชีพทำนาสมัยก่อน มันแทบจะหาช่องทางรวยไม่ได้เลย

ผมก็เลยย้อนนึกถึงปัญหาน้ำ ว่ามันเป็นปัญหาที่สำคัญ และมันจะเป็นปัญหาที่รุนแรงมากในอนาคต ตอนนี้น้ำมันมันวิกฤต แต่เราลองคิดดูว่าถ้าเราไม่มีน้ำมันเราไม่ตาย ถามว่าเดือดร้อนไหมก็นิดหน่อย แต่ถ้าเราขาดน้ำเมื่อไหร่เราตาย”

รศ.สมโภชน์ จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีและโท คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับ ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี ,เริงศักดิ์ บุญยวานิชกุล ฯลฯ ) ผลงานศิลปะเคยได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง จากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ และยังได้รับรางวัลจากการประกวดศิลปกรรมต่างๆ อีกหลายรางวัล

ความรู้ด้าน “ศิลปะไทย” เมื่อครั้งเรียนในระดับปริญญาตรี และความรู้ด้าน “จิตรกรรมร่วมสมัย” เมื่อครั้งเรียนในระดับปริญญาโท ส่งผลให้ผลงานศิลปะของ รศ.สมโภชน์ มีความผสมผสานกันระหว่างความเป็นไทยและความร่วมสมัย

และเพื่อให้สมกับนามสกุล “ทองแดง” ของตัวเอง รศ.สมโภชน์ยังเคยเลือกใช้โลหะอย่าง “ท่อทองแดง” และ “แผ่นทองแดง” มาสร้างเป็นผลงานบางชิ้น อีกด้วย

“งานของผมไม่โดดไปเป็นร่วมสมัยจ๋า และผมก็ไม่ทำแบบงานไทยประเพณีสุดโต่ง พยายามหาแนวทางใหม่ในการทำงาน ถามว่าผมประสบความสำเร็จไหม ก็ยังไม่มั่นใจในตัวเอง เพราะไอ้ความที่เป็นไทยแบบแบนๆตัดเส้น และไอ้ความมีมิติ เป็นร่วมสมัย มันจะเข้ากันได้ไหม มันต้องใช้เวลา บางทีก็เลยต้องแก้โดยการใช้สี ใช้พื้นผิว ใช้ตัววัสดุช่วย ผมยังอยู่ในช่วงทดลอง แต่ผมก็พอใจกับผลงานถามว่าทั้งหมดไหม สุดๆ ไหม ก็ยัง”


เมื่อครั้งจัดแสดงเดี่ยวผลงานชุด “เมืองมัว บัวหมอง” เป็นช่วงเวลาที่ รศ.สมโภชน์เว้นช่วงจากการจัดแสดงเดี่ยวผลงานศิลปะในฐานะศิลปินคนหนึ่งมานานพอสมควร หลังจากที่เมื่อปี พ.ศ.2535 เคยจัดแสดงเดี่ยวผลงานชุด “แรงบันดาลใจจากศิลปกรรมไทย” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถ.เจ้าฟ้า และอีก 3 ปีต่อมา จัดแสดงผลงานงานชุดเล็ก “ภาพร่างทางความคิด” วาระเปิดหอศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต

เนื่องจากชีวิตของการเป็นอาจารย์สอนทั้งในระดับปริญญาตรีและโท ประจำสาขาศิลปศึกษา ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เป็นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 อีกทั้งภาระที่ต้องดูแลครอบครัว ทำให้ รศ.สมโภชน์ไม่มีเวลาทำงานศิลปะออกมาได้จำนวนมากชิ้น จากที่หนึ่งอาทิตย์เคยทำงานออกมาได้หนึ่งชิ้น เปลี่ยนมาเป็นหนึ่งเดือนต่อชิ้นเท่านั้น

แต่เวลาที่มีอยู่น้อยนิดนั้นก็มีผลดีต่อการทำให้ครุ่นคิดกับงานศิลปะแต่ละชิ้นได้มากขึ้น และ ในฐานะอาจารย์สอนศิลปะ รศ.สมโภชน์ถือเป็นผู้มีส่วนสร้างคนรุ่นใหม่ให้กับวงการศิลปะ จำนวนมาก

มนชัย พิทยวราภรณ์,อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี,จุไรรัตน์ กุลพาณิชย์ ปิ่นนุช ปิ่นจินดา, เบิ้ล – ธีรยุทธ สินเจริญ,นนทวัฒน์ เจริญชาศรี,ธนชัย อุชชิน หรือ ป๊อด โมเดิร์นด็อก,อิทธิพงศ์ กฤดากร ณ อยุธยา หรือ ต้า อดีตนักร้องนำ และมือกีตาร์ วง Paradox ฯลฯ เหล่านี้คือตัวอย่างคนรุ่นใหม่ ในวงการศิลปะที่เคยเป็นลูกศิษย์ของ รศ.สมโภชน์ เมื่อครั้งเรียน “ครุศิลป์ จุฬาฯ”

“ศิลปินสีน้ำที่ผมชอบคนแรกเป็นอาจารย์ของผมเอง คือ อาจารย์สมโภชน์ ทองแดง เมื่อก่อนผมก็กลัวกับการวาดสีน้ำ พอมาเรียนกับ อ.สมโภชน์ ที่ครุศิลป์ จุฬาฯ ฟังที่อาจารย์สอน ก็รู้สึกว่าการวาดสีน้ำสนุกจังเลย แถมตอนที่เรียนยังได้คะแนนดีด้วย ก็เลยเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้วาดภาพสีน้ำ แล้วสำหรับผม อ.สมโภชน์เป็นศิลปินวาดภาพสีน้ำที่เก่งมาก”

อิทธิพงศ์ กฤดากร ณ อยุธยา หรือ ต้า Paradox ให้สัมภาษณ์กับ ART EYE VIEW เมื่อครั้งถูกเชิญให้ไปเป็นหนึ่งในวิทยากร โครงการเสริมศักยภาพทางด้านศิลปะ (Art Learning) ของ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม โครงการศิลปะในโรงเรียนที่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง และ รศ.สมโภชน์ อาจารย์ของเขา ได้มีส่วนให้คำแนะนำ รวมถึงเป็นวิทยากรให้กับโครงการฯ

ขณะที่ลูกศิษย์คนอื่นๆ ได้แสดงความชื่นชมในความเป็นอาจารย์ของ รศ.สมโภชน์ หลังจากที่ได้ทราบข่าวการจากไปอย่างกะทันหันของ รศ.สมโภชน์ เมื่อช่วงบ่ายของวันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2559 ว่า

“อาจารย์ไม่ได้สอนแค่ศิลปะนะครับ อาจารย์สอนความเป็นครูให้พวกเราด้วย ขอให้อาจารย์ไปสู่สุคติครับ”

พร้อมกับได้แชร์คลิปสัมภาษณ์ที่ รศ.สมโภชน์เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปี พ.ศ.2555 ที่แม้เสียงในคลิปจะไม่ชัดเจนนัก แต่บางช่วงบางตอนก็สะท้อนถึงความคิดเห็นส่วนตัวและความปรารถนาดีที่มีต่อสังคมในด้านการเรียนการสอนศิลปะ ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

“เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยทุ่มเท สมัยก่อนส่วนใหญ่มีเป้าหมายชีวิตชัดเจน และก็เอาจริงเอาจัง ยุคนี้เป็นยุค ไม่ค่อยทุ่มเทเท่าไหร่ เรียนสบายๆ ผมว่าเด็กรุ่นใหม่เรียนสบายจะตาย ผมก็เลยสอนสบายไปด้วย
 
ผมเป็นคนตามใจเด็กฮะเวลาสอน ไม่เอาก็ไม่ให้ สั่งงานแล้วให้ทำงานแล้วไม่สนใจ..ปล่อย นึกออกไม๊ ถ้าจริงจังก็ให้ ก็ทำแบบนี้มาตั้งนาน แต่ถ้าเด็กคนไหนขยัน มีอะไรเราก็ให้เขา ค้นคว้า เจออะไรดีๆเราก็ให้เขา ถ้าเขาสนใจ ถ้าไม่สนใจ..ปล่อย เพราะว่าป่วยการที่จะไปยัดเยียด”

คลิกอ่าน….รองศาสตราจารย์ สมโภชน์ ทองแดง [ด้วยรักจากลูกศิษย์ดื้อๆ คนหนึ่ง]

หมายเหตุ : พิธีรดน้ำศพ รองศาสตราจารย์ สมโภชน์ ทองแดง ศิลปินและอาจารย์ ประจำสาขาศิลปศึกษา ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มีขึ้นในวันนี้(วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2559) เวลา 16.00 น. และพิธีสวดอภิธรรม ระหว่างวีนที่ 4 – 10 พฤษภาคม พ.ศ.2559 เวลา 19.00 น. ณ ศาลาไชยสุวรรณ ริมน้ำ วัดครุนอก ซ.สุขสวัสดิ์ 47 ต.บางครุ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ  และจะมี พิธีพระราชทานเพลิงศพ ในวันอาทิตย์ ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2559 เวลา 16.00 น.

รายงานโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ ภาพโดย : MGR Online

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It