World Celeb

ประมูลระดับโลกยังอู้ฟู่หลายพันล้าน หลังเศรษฐีใช้ช่องทางออนไลน์

Pinterest LinkedIn Tumblr

Sotheby
ขณะที่หลากหลายธุรกิจถูกโจมตีด้วยโรค Covid-19 ทว่า สถาบันการประมูล ที่ปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการปรับเปลี่ยนไปสู่การจัดประมูลแบบไลฟ์ออกชันออนไลน์ โดยเฉพาะ สถาบันประมูลระดับไฮเอนด์ 2 ยักษ์ใหญ่ ที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ในปี 2020 ที่ผ่านมา

สำหรับสถาบันโซเธอบีส์ สร้างรายได้จากการประมูลไปถึง 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แซงหน้าคู่แข่งคนสำคัญอย่าง สถาบันคริสตีส์ ที่มีรายได้ 4,400 ล้านดอลลาร์ไปได้ฉลุย

Guillaume Cerutti
แม้ว่ารายได้ที่เข้ามาจะไม่ได้ขี้เหร่ แต่ก็ลดลงไปก็ราวๆ 25% เห็นจะได้ กิลโยม เซอรุตติ ผู้บริหารสถาบันคริสตีส์ บอกว่า ปี 2020 นั้นช่าง “น่าตกใจและปั่นป่วนจริงๆ ก่อนหน้านั้นเราเคยมีรายได้จากการประมูลสูงถึง 5,300 ล้านดอลลาร์ในปี 2018”

ขณะที่คู่แข่งอย่างโซเธอบีส์นั้น สามารถพัฒนาระบบการประมูลออนไลน์ของเขาได้ล้ำสมัย จนเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมในแพลตฟอร์มใหม่ได้ถึง 30% ทำให้รายได้รวมลดลงไปไม่มากนัก “พอมีการล็อกดาวน์เราก็รีบปรับเปลี่ยนธุรกิจของเราทันที ทำให้เราเปิดประมูลแบบไลฟ์ออกชั่นพร้อมกันทั่วโลกได้มากกว่า 400 ครั้ง”

Sebastian Fahey
เซบาสเตียน ฟาเฮย์ กรรมการผู้จัดการโซเธอบีส์ เล่าอีกว่า โปรแกรมการประมูลสด ต้องปรับเปลี่ยนสู่รูปแบบการประมูลออนไลน์ในชั่วข้ามคืน “ต้องยกเครดิตทั้งหมดให้ทีมงาน ที่ร่วมแรงร่วมใจกันเป็นอย่างดี ผมว่า เป็นการก้าวกระโดดที่สำคัญครั้งหนึ่งของเรา”

Francis Bacon
การไลฟ์ออกชันออนไลน์แบบสาธารณะครั้งแรกของโซเธอบีส์ ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม โดยมีชิ้นงานศิลปะ Triptych Inspired by the Oresteia of Aeschylus (1981) ของ ฟรานซิส เบคอน เป็นไฮไลต์ ซึ่งสร้างรายได้ในการประมูลแบบออนไลน์ถึง 84.5 ล้านดอลลาร์

Christies
ด้านคริสตีส์เองก็เติบโตในแพลตฟอร์มไฮเทคด้วยเช่นกัน เมื่อพูดถึงในด้านของการเพิ่มฐานลูกค้า นับว่า เพิ่มขึ้นมาถึง 262% จากปีก่อน เพียงแต่ว่า ก่อนหน้านี้ในปี 2018 สถาบันฯ เคยได้รับเงินจากการประมูลภาพเขียนที่ราคาแพงที่สุดในโลก อย่าง Salvator Mundi ของเลโอนาร์โด ดา วินชี ที่ 450 ล้านดอลลาร์มาแล้ว บวกกับประติมากรรมกระต่าย Rabbit (1986) ของเจฟฟ์ คูนส์ อีก 91 ล้านดอลลาร์ ทำให้เมื่อมองภาพรวมทางด้านรายได้ของปีที่ผ่านมาตกลงไปเยอะ

Roy Lichtenstein
ภาพเขียนที่ประมูลได้ราคาสูงสุดของคริสตีส์ ในปี 2020 คือ Nude with Joyous Painting (1994) ของ รอย ลิกเตนสไตน์ ที่ 46.24 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่อเทียบกับสถาบันคู่แข่งแล้ว แพ้ไปกว่าครึ่งเลยทีเดียว

ทั้ง 2 สถาบันประมูลยังมีกรประมูลแบบเอ็กซ์คลูสีฟ ที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำอีก อย่าง ประติมากรรม Grande Femme I (1960) ของอัลแบร์โต จาโคเมตติ ที่สถาบันโซเธอบีส์จัดประมูลที่ราคาเริ่มต้นถึง 90 ล้านดอลลาร์

การประมูลแบบปิดที่คริสตีส์ก็เพิ่มขึ้น 57% จากปีก่อน โดยพวกเขาขายภาพวาด 3 ชิ้นได้ในราคารวมกันมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ เอริน แมคแอนดรูว์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของคริสตีส์ อินเตอร์เนชีนนัล บอกว่า เป็นเรื่องเหนือความคาดหมายมากๆ

Giacometti
“ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจเอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่ผู้คนยังให้ความสนใจการประมูลออนไลน์ โดยเฉพาะไพรเวทเซลส์ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

“ดิฉันคิดว่าในอนาคต หลังจากยุค Covid-19 แวดวงการประมูลคงจะอาศัยการผสมผสาน ทั้งการประมูลสดและออนไลน์ ที่ทำให้โลกทั้งใบสามารถเข้าร่วมได้ในเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นตลาดฮ่องกง ลอนดอน หรือนิวยอร์ก”

กิลโยม เซอรุตติ เสริมว่า ลูกค้าคนสำคัญของสถาบันประมูลตอนนี้อยู่ที่ทวีปเอเชีย “จากสถิติปี 2020 ที่ผ่านมา เรามีลูกค้าที่ประมูลมาจากเอเชียมากกว่าในสหรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้ บรรดานักสะสมชาวเอเชีย ก็เป็นลูกค้ารายใหญ่ของสถาบันประมูลในยุโรปมาติดต่อกันถึง 5 ปีแล้ว”

เควิน เชียง ผู้บริหารโซเธอบีส์ เอเชีย ก็อ้างว่า ยอดรายได้จากการประมูลของเอเชียสูงขึ้นมาก “หากพวกเขาเข้าร่วมการประมูล 10 ครั้ง จะปิดการขายได้ถึง 9 ครั้ง ปีที่ผ่านมา โซเธอบีส์ เอเชีย มีรายได้จากการประมูล 932 ล้านดอลลาร์ มากกว่าปีก่อนๆ มากว่า 2 เท่าตัว

“ที่น่าสนใจคือ พวกเขาเป็นนักสะสมรุ่นใหม่ ซึ่งจะนิยมสรรหาผลงานของศิลปินเก่งๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ และเป็นคนในรุ่นมิลเลนเนียลเหมือนๆ กัน”

Comments are closed.

Pin It