Interview

“ถาวร โกอุดมวิทย์” ศิลปินที่ความเก๋าไม่เคยหายไป!

Pinterest LinkedIn Tumblr


ในยุคที่ดิจิทัลเทคโนโลยีกำลังดิสรัปทุกสิ่ง ไม่เว้นแม้กระทั่ง อาร์ตแกลอรี่ ที่กำลังค่อยๆ หมดความสำคัญลงไป แต่สำหรับ “ศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์” ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2564 สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) ยังคงเชื่อว่า ศิลปินต้องปรับตัวตามสมัย แต่ในขณะเดียวกัน ศิลปินก็ต้องสร้างสรรค์ผลงานที่มี “คุณค่าในตัวของมัน” เองด้วย ศิลปะถึงจะยั่งยืน

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ อาจารย์ถาวรในวัยใกล้เลข 7 ยังคงทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ การทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการและภัณฑารักษ์ของหอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล (Ardel Gallery of Modern Art) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 โดยนิทรรศการล่าสุด “The Portrait” นิทรรศการการเขียนภาพเหมือนบุคคล ผลงานของศิลปินชั้นแนวหน้าของเมืองไทย 16 ท่าน เพิ่งเปิดให้เข้าชมได้ฟรี เมื่อไม่นานนี้


จะว่าไป นิทรรศการ “The Portrait” ก็ละม้ายคล้ายชีวิตของอาจารย์ถาวรยิ่งนัก เพราะภาพพอร์ตเทรต (Portrait) ตามหลักวิชาศิลปะ (Academic Art) มีความหลากหลายจากรูปแบบการนำเสนอ ทักษะฝีมือ และความเชี่ยวชาญในเทคนิคที่แตกต่างกันตามสไตล์ของจิตรกร โดยอาจารย์ถาวรเล่าว่า “ผมเพิ่งกลับมาเขียนพอร์ตเทรตที่ทิ้งไปกว่า 40 ปี ในช่วงโควิดที่ผ่านมานี้เอง เพราะตั้งแต่เข้าเรียนที่ศิลปากรมา ก็เริ่มทำงาน “ภาพพิมพ์” มาตลอด ทุกอย่างจึงเหมือนเริ่มต้นใหม่อีกครั้้ง”

“โควิดทำให้เราต้องหนีไปอยู่บ้านที่เขาใหญ่ เป็นช่วงเวลาที่ดีที่ได้ทบทวนตัวเอง อะไรที่ไม่เคยทำก็ได้ทำอีกครั้ง เพราะมันว่างมาก อย่างเขียนพอร์ตเทรตนี่ก็เริ่มต้นใหม่หมด เราทิ้งไปนาน ต้องเริ่มเรียนรู้ถามลูกศิษย์บ้าง ถามเพื่อนบ้าง แต่ด้วยความที่เราเรียนจบจิตรกรรม ศิลปากรมา ทักษะพื้นฐานที่เด็กคณะนี้ต้องมีคือการวาดภาพ พอกลับมาเขียนใหม่ก็เหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง รื้อฟื้นนิดหน่อยก็ได้ละ ต้องถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดี”


เมื่อให้เปรียบเทียบระหว่างการเขียนพอร์เทรตกับภาพพิมพ์ อาจารย์ถาวรเล่าย้อนกลับไปว่า “สมัยนั้นผมเลือกเรียนภาพพิมพ์เพราะมันน่าสนใจ แล้วกระบวนการในการทำภาพพิมพ์ก็สอนเราเยอะ โดยเฉพาะ การจัดการกับชีวิต เช่นคุณทำบล็อกไม่ดี งานก็ออกมาไม่ดี ถ้าคุณทำบล็อกดี แต่คุณพิมพ์ไม่ดี ก็เป็นปัญหา คุณทำบล็อกดี แต่เตรียมกระดาษไม่ดี ความชื้นสัมพัทธ์ในกระดาษไม่พอ รูปก็ออกมาไม่ดี และถึงแม้คุณจะทำทุกอย่างมาดีแล้ว แต่ขั้นตอนการขึงกระดาษไม่ดี รูปก็ออกมาไม่ดีเช่นกัน กระบวนการทำงานภาพพิมพ์นี้ มันก็สอนชีวิตเรา ต้องดูทั้งกระบวนการ ทุกขั้นตอน จากจุดเริ่มไปถึงจุดจบมีขั้นตอนอย่างไร ต้องคิดให้ละเอียดรอบคอบ

แต่ผมไม่ได้บอกว่าการเพ้นติ้งด้วยสีจะง่ายนะ อย่าง ภาพพอร์เทรตที่กลับมาเขียนใหม่นี้ ก็ต้องนำกระบวนการแบบภาพพิมพ์มาใช้เหมือนกัน เช่นเวลาเราวาดรูปเสร็จ เสื้อผ้าของแบบที่เราลงสีไปครั้งแรกมันอาจจะดูซอฟต์ไป อาจจะต้องเพนต์ทับไปอีกรอบ เพื่อเก็บรายละเอียดให้มันดูมีมิติขึ้นตามที่เราต้องการ”


อาจารย์ถาวรมองวงการศิลปะไทยว่า “พัฒนาขึ้นมากนะ มากแบบที่เราสู้ต่างชาติได้สบายๆ เพราะพื้นฐานคนไทยมีความละเมียดละไมอยู่ในตัว และเรามีการวางระบบเอาไว้ค่อนข้างดี พอต้องมาทำงานศิลปะ สิ่งเหล่านั้นมันก็สะท้อนออกมาในชิ้นงาน ทั้งงานภาพพิมพ์ ภาพสีน้ำมัน งานแกะสลัก ฯลฯ เด็กเราเวลาส่งงานไปประกวด จึงมักจะมีรางวัลติดมือกลับมาเสมอ”

“แต่ในจุดแข็งมันก็มีจุดอ่อน โดยเฉพาะ Business Art ของเราที่ล้าหลัง ระบบของเรายังไม่ได้เป็นไปตามที่สากลนิยมสักเท่าไหร่ เช่น อาร์ตแกลอรี่ในต่างประเทศ เขาจะบุ๊กศิลปินจะมีการเพิ่ม Value Assets ให้กับตัวของศิลปิน อันนี้ไม่ได้พูดถึง คุณค่าของตัวชิ้นงาน เพราะเรื่องงานนี่ศิลปินเราสู้เขาได้อยู่แล้ว แต่เรื่องระบบรอยัลตีระหว่างอาร์ตแกลอรี่กับตัวศิลปิน มันต้องเดินไปคู่กัน เรื่องนี้บ้านเราไม่ได้สอนกันจริงจัง ทำให้ศิลปินหลายคนไม่เข้าใจว่า ทำไมอาร์ตแกลอรี่ต้องเก็บ 30% แต่ถ้าคุณมองกระบวนการให้ครบ คุณต้องเข้าใจว่า ตึกนี้หรืออาร์ตแกลอรี่ต่างๆ ได้มาอย่างไร พนักงานที่มาทำงาน เขามาทำเพราะรักศิลปะหรือ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ใช่ แต่เขาก็ต้องกินต้องใช้ต้องเดินทาง เพราะฉะนั้น การทำอาร์ตแกลอรี่ที่หนึ่งก็ต้องใช้เงินไม่น้อย เงินพวกนี้มาจากไหน?


เราถูกปลูกฝังมาแต่อดีตว่า อาร์ตแกลอรี่ คือปีศาจร้ายของศิลปิน คอยเอาเปรียบศิลปิน ซึ่งในสมัยก่อน “ใช่” แต่ปัจจุบันไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว ระบบการจัดการอาร์ตแกลอรี่แบบสากล คุณต้องเป็นเหมือนนักปั้นศิลปิน อย่าง แกรมมี่ ที่ต้องตาแหลม มองให้ทะลุว่าเด็กคนนี้งานมันเจ๋งขนาดไหน ต้องเอามาปั้นให้ดัง ต้องสนับสนุนศิลปินเด็กๆ ให้มีพื้นที่แจ้งเกิด อย่างผมเมื่อสมัย 30 ปีก่อน ผมก็เคยสังกัดแกลอรี่ในญี่ปุ่น เราก็สร้างผลงานส่งไป ขายได้เขาก็ส่งเงินมา เวลาจะจัดนิทรรศการทีเขาก็ส่งตั๋วเครื่องบินมาให้ เราก็บินไป เขาทำเป็นระบบ องค์ประกอบครบทุกขั้นตอน

แต่ก็ใช่ว่าอนาคตอาร์ตแกลอรี่จะไม่เจอปัญหา สมมติเราสอนจริงแล้ววันนี้ แต่ปัจจุบันศิลปินเขาก็ไม่ต้องพึ่งอาร์ตแกลอรี่แล้ว เพราะเทคโนโลยีมันทำให้เขามีพื้นที่แสดงผลงาน สามารถขายของเองได้ตรงกับลูกค้า ในอนาคตผมว่าอาร์ตแกลอรี่เองก็จะลำบาก โลกมันเปลี่ยน ทุกคนต้องปรับตัว”


นอกจากรางวัลด้านศิลปะจำนวนมาก และหอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล ที่ อาจารย์ถาวรเป็นผู้ก่อตั้งแล้ว เขายังมีกิจการอีกหนึ่งแห่งคือ “หน้าผา เขาใหญ่ รีสอร์ต” ที่เปิดมาได้เกือบ 7 ปีแล้ว “อันนี้น่าจะเป็นวิบากกรรมใหม่ของผม เพราะตัดสินใจมาสร้างบ้านที่เขาใหญ่ในปีที่กรุงเทพฯ เกิดน้ำท่วมใหญ่ (ปี 2554) ตอนนั้นไม่รู้จะไปไหน ก็เลยหนีมาอยู่เขาใหญ่ชั่วคราว จนกระทั่ง เพื่อนของภรรยามาเสนอขายที่ตรงนี้ ตอนแรกก็ไม่อยากได้ แต่คุยไปคุยมา คุยกับลูกชายด้วย เขาจบสถาปนิกพอดี เราก็ถามว่าอยากทำรีสอร์ตไหม? โอเค อยากทำ เราจึงซื้อที่ตรงนี้ ยิ่งได้มาเห็นพื้นที่จริงด้วย เราก็นึกออกว่าจะทำรีสอร์ตออกมาอย่างไร เอาความเป็นศิลปะใส่ลงไปตรงไหนบ้าง

แต่ที่ว่าเป็นวิบากกรรมใหม่ ก็เพราะพอทำออกมาแล้วมันต้องดูแล เหมือนเราจะแต่งงาน เราเลือกแล้ว เราก็ต้องดูแลให้ดีที่สุด ต้องปรับทัศนคติใหม่ว่าจะทำให้มันสนุกทุกวันอย่างไร ให้คนที่เขาเข้ามาแล้วชอบในงานศิลปะของเราที่เตรียมไว้ ช่วงแรกๆ ก็เบื่อมากนะ เพราะอย่างที่รู้ๆ กันอยู่ว่า เขาใหญ่เป็นเมืองที่มีเทิร์นโอเวอร์เรื่องพนักงานสูงมาก บางคนมาทำไม่กี่วันก็ออก ฉะนั้น เราจะใช้ระบบแบบกรุงเทพฯ คงไม่ได้ เราก็ต้องคิดระบบใหม่ทั้งหมด เราต้องรื้อทฤษฎีการบริหารโรงแรม ที่เคยมีคนมาสอนเราใหม่ทั้งหมด อะไรที่เราเคยเจอและไม่ชอบเราไม่ทำ

อย่างเวลาเราต้องไปพักที่อื่น ต้องรอเช็กอินเป็นเวลาใช่ไหมครับ แต่ที่นี่ไม่จำเป็น ถ้าคุณมาถึง 10 โมงแล้วห้องว่าง คุณเช็กอินเข้าห้องได้เลย หรือเวลาที่คุณจะเช็กเอาต์ จะเลตหน่อยไม่เป็นไร เราไม่ว่ากัน ถ้าไม่มีคนมาจ่อคิวต่อ ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แล้วเราก็เคยไปเจอมากับตัว ซึ่งเราไม่ชอบ เราก็จะไม่ทำกับคนที่มาพักที่รีสอร์ตของเรา


ชื่อ “หน้าผา” และตัวสถาปัตยกรรมของรีสอร์ต นี่ก็มีที่มาที่ไปเช่นกัน อาจารย์ถาวรเล่าว่า “ตอนที่เห็นพื้นที่มุมเหมืองหินอ่อนร้างในบริเวณใกล้เคียง เรานึกถึงหน้าผา แล้ววันที่เรามาดูพื้นที่เป็นช่วงพลบค่ำ มันมืดแล้ว ชื่อหน้าผานี่ก็คลิกขึ้นมาทันที แล้วเราก็เห็นรีสอร์ตบนหน้าผาผุดขึ้นในจินตนาการ เราก็มาคิดว่าจะเติมไฟลงไปเป็นจุดๆ ด้วยการทำอาคารเหมือนบล็อกหรือกล่องใส่ตะเกียง

แต่ละหลังก็ทำเป็นแกลอรี่วิลล่า ที่ลดหลั่นจากด้านบนสู่ด้านล่าง คล้ายๆ กับห้องพักเป็นอัฒจันทร์นั่งชมการแสดง ในโคลีเซียมของโรมัน โดยห้องพักแต่ละห้องจะตกแต่งภายในแตกต่างกันไป มันคือการ Improvise ตามพื้นที่ ถ้าคุณเคยมาพักที่ห้องหนึ่ง ครั้งต่อไปมาพักอีกห้องบรรยากาศจะเปลี่ยนไป ซึ่งลูกค้ารีเควสได้ว่าห้องนี้เคยนอนแล้ว ขอเปลี่ยนเป็นห้องอื่น ห้องพักทั้งหมดมี 10 ห้อง 8 ห้องเป็นวิลล่า ที่เหลือเป็นห้องพักแบบโบกี้รถไฟที่เรามาแปลงโฉม”


สำหรับบั้นปลายของชีวิต อาจารย์ถาวรบอกว่า “ตอนนี้มีแต่โปรเจกต์อยากเที่ยว (หัวเราะ) เพราะเราอายุมากแล้ว ต้องมาคิดว่าอะไรที่เรายังไม่ได้เติมเต็มบ้าง ที่สำคัญตอนนี้ยังแข็งแรง ยังเดินไหว ถ้าจะไปต้องรีบไป อะไรที่เรายังไม่ได้ทำก็ควรรีบทำ และตอนนี้งานอดิเรกที่ทำอีกอย่างคือ ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้กับชาวบ้านที่เขาไม่มีงานทำให้ได้มีอะไรทำ พอทำๆ ไปเราก็นึกถึงพระพันปีหลวงว่า ที่ท่านทรงงานศิลปาชีพให้กับชาวบ้านมีงานทำ ท่านทรงมีเมตตากับชาวบ้านจริงๆ พอเราได้มาทำตรงนี้บ้าง เราก็ดีใจที่เราได้เป็นผู้ให้บ้าง เป็นความรู้สึกที่ปีติมาก”

(หมายเหตุ : นิทรรศการ “The Portrait” จัดแสดงวันนี้-16 ก.ค. 66ที่ หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล (ถ.บรมราชชนนี) ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.30-19.00 น. และอาร์เดลเธิร์ดเพลส แกลอรี่ (ทองหล่อ ซ.10) ทุกวันจันทร์-เสาร์ เวลา 10.00-18.00 น.)

Comments are closed.

Pin It