Interview

"นพดล นฤตรรกกุล" ตอบโจทย์ทางรอดธุรกิจจัดเลี้ยง บริหารอย่างไรท่ามกลางวิกฤตโควิด

Pinterest LinkedIn Tumblr


เป็นอีกหนึ่งคนที่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาต้องรับบทหนัก เพราะทุกธุรกิจในมือล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนั้น สำหรับ “ต่าต๊า-นพดล นฤตรรกกุล” ซีอีโอของเครือ Water Library Group และ Hong Bao Group ที่มีกิจการธุรกิจจัดเลี้ยง จัดอีเวนต์ Catering และสารพัดแบรนด์ร้านอาหารในมือ อย่าง Water Library, Hong Bao, Ciao Pizza, DUKE, ร้านอาหารไทยพลู, ข้าวมันไก่คุณลี ฯลฯ


“ช่วงที่ผ่านมา การใช้สถานที่ของร้านเราจัดงาน เรียกได้ว่าแทบจะเป็นศูนย์ เพราะทั้งการจัดงานอีเวนต์ต่างๆ ของแบรนด์ที่น้อยลง แถมยังมีมาตรการลดระยะห่างทางสังคมของรัฐบาล ที่สั่งไม่ให้มีการรวมกลุ่มกันสังสรรค์ ไม่ให้นั่งทานในร้านที่ยาวนานมาหลายเดือนแล้ว ธุรกิจในส่วนของการใช้สถานที่จัดงานของเราในช่วง 2 ปีตั้งแต่มีโควิด จึงหายไปโดยปริยาย”

ถึงแม้การบริการด้านนี้จะหยุดชะงัก แต่โชคดีที่นภดลมีธุรกิจที่หลากหลาย ทำให้เขายังมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ “ผมเชื่อว่าสถานการณ์ดีขึ้นเมื่อไหร่ เราจะเดินหน้ากันต่อไปได้ อย่างที่ผ่านมามีเรื่องที่น่าแปลกใจคือ การรับประทานอาหารที่ร้าน หรือการเช่าใช้สถานที่ร้านลดลง แต่ธุรกิจ Catering กลับมีผลตอบรับดีขึ้น อันนี้กล่าวย้อนไปช่วงปีที่แล้ว ครึ่งปีหลังที่สถานการณ์โควิดในบ้านเราไม่หนักหนานัก ตอนนั้นคนหันมาจัดเลี้ยงที่บ้าน หรือจัดงานไพรเวทส่วนตัว ไม่ไปเลี้ยงกันตามร้านหรือโรงแรม ทำให้คนหันมาใช้บริการ Catering กันเยอะ เราเคยรับงานที่มีแขกถึง 350 คน พอตัวเลขโควิดขึ้นสูง แม้เราจะโดนแคนเซิลไปหลายงาน งานสังสรรค์เดิมๆ จะหายไป แต่เราก็ยังมีกลุ่มฟังก์ชั่นไพรเวทเล็กๆ เพราะอย่าลืมว่า ไลฟ์สไตล์คนเรามันก็ยังต้องมีอยู่ ยังต้องมีสังคม อย่างฉลองวันพิเศษ หรืองานวันเกิด

อย่างลูกค้าประจำของทางร้าน อยากรับประทาน สั่งไปจัดให้เสิร์ฟที่บ้านก็มี หรืออย่างแบรนด์รถยนต์หรู เวลาลูกค้าออกรถใหม่ ก็ให้เราไปจัดเลี้ยงเล็กๆ แบบงานไพรเวทให้ และผมมองว่า ในอนาคตเทรนด์ทางด้านนี้น่าจะยังไปได้อีก เพราะคนเราเริ่มปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์แล้ว คนที่ไม่สะดวกใจจะเดินทางไปรับประทานที่ร้าน ก็เลือกให้ยกความอร่อยมาเสิร์ฟให้ที่บ้าน เป็นบริการแบบ Exclusive แทน”


ส่วนธุรกิจร้านอาหารเอง ทางนพดลก็ต้องปรับทัพการบริการกระบวนใหญ่ “ตอนนี้ต้องเน้นขายแบบเดลิเวอรี่แถมยังต้องปรับโปรดักต์ด้วย อย่างในส่วนของร้านอาหารจีน เรามีนวัตกรรมเป็น heat box ที่เพียงใส่น้ำไปก็จะอุ่นอาหารให้ร้อนพร้อมรับประทานเลย รวมทั้งการจัดโปรโมชั่นพิเศษ และปรับวิธีการขาย ตั้งโต๊ะคอมพิวเตอร์ เตรียมมือถือ นั่งรับออดอร์หน้าร้านเลย”

นอกจากนี้ ในส่วนการบริการหลังบ้านก็ต้องจัดระบบใหม่ “เราจัดพนักงานเป็นทีม เพราะถ้าเกิดมีใครติดโควิดปุ๊บ เราสามารถดูแลได้ ก็สับเปลี่ยนทีมเข้ามารับผิดชอบได้ทันที และตั้งแต่รัฐบาลอนุมัติให้ใช้การตรวจแบบ ATK ผมหมดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เป็นหลักล้านแล้วครับ ตรวจให้พนักงานบ่อยมาก เพราะในฐานะผู้ให้บริการเราต้องมั่นใจ สร้างความปลอดภัยให้กับลูกค้าเรา อยากบอกเลยว่าไม่ใช่แค่ลูกค้าที่ระมัดระวัง กลัวเสี่ยงโควิด ทางร้านและพนักงานของเราก็กลัว และระวังไม่น้อยเหมือนกัน เราทำกฎระเบียบเข้มมาก ทุกคนใส่แมสก์ตลอด ไม่รับประทานอาหารด้วยกัน ไม่นั่งจับกลุ่มคุยกัน ทำความสะอาดอย่างละเอียดเสมอ”


แถมเขายังสบโอกาสลุยช่องทางการตลาดใหม่ๆ โดยวางแผนที่จะขยายเปิดร้านอาหารเพิ่มอีก 3-4 สาขา “จากการจัดโปรโมชั่นบุฟเฟ่ต์ติ่มซำให้เลือกสั่งเป็นชุด ลูกค้าให้ความสนใจมาก ทำให้เราเห็นศักยภาพกลุ่มลูกค้านี้ จากที่เคยเปิดแต่ร้านใหญ่ๆ แบบภัตตาคาร ตอนนี้เราทำร้านแบบขนาดย่อมลงมาเหลือ 100 ตารางเมตร เน้นขายเมนูรับประทานง่ายๆ ที่คนนิยม อย่าง ติ่มซำและข้าวมันไก่ ซึ่งเป็นเมนูขึ้นชื่อของแบรนด์ในเครือเราอยู่แล้ว โดยติ่มซำจะรสชาติเดียวกับที่ขายในภัตตาคารเลย เพราะเราทำจากครัวกลาง ควบคุมการผลิตมาตรฐานเดียวกัน จะซื้อจากร้านใหญ่ หรือร้านเล็ก ก็อร่อยเหมือนกัน โดยเล็งแถวๆ ย่านรัชดาฯ พัฒนาการ ศรีนครินทร์ ซึ่งน่าจะเปิดบริการได้ภายใน 1-2 เดือนนี้

รวมทั้งรอสถานการณ์ดีขึ้น จะได้เริ่มปัดฝุ่นแผนการเปิดแฟรนไชส์ร้านอาหารจีนอีกครั้ง “ก่อนหน้านี้เรามีการเริ่มทำแฟรนไชส์ไปแล้ว คือที่ภูเก็ต แต่เปิดปุ๊บก็เจอกับโควิดพอดี ส่วนที่กัมพูชา กำลังสร้างอยู่ ตามแพลนเดิมคือเปิดช่วงปลายปีนี้ แต่ตอนนี้ก็คงต้องเลื่อนไปก่อน ถ้าทุกอย่างดีขึ้นก็จะเดินหน้าลุยต่อ เพราะเราวางไว้ว่าอยากมีแฟรนไชส์ไปเปิดตามจังหวัดใหญ่ทั่วทุกภูมิภาคของไทย เพราะผมว่าร้านอาหารจีนดีๆ ในต่างจังหวัดยังมีไม่มาก ทั้งๆ ที่มีกลุ่มลูกค้าที่ต้องการในส่วนนี้เยอะอยู่นะครับ ก็ได้แต่หวังว่าสังคมเราจะได้กลับมาใช้ชีวิตกันได้แบบปกติได้โดยเร็ว และบริษัทจะได้เดินหน้าเรื่องการขยายแฟรนไชส์อย่างที่ตั้งใจไว้ครับ”

Comments are closed.

Pin It