Event

5 ไฮไลท์โขนศิลปาชีพฯ ตอน “สะกดทัพ” รู้ก่อนเข้าชมเพื่อเพิ่มอรรถรส!

Pinterest LinkedIn Tumblr

ขบวนไมยราพและหุงสรรพยา
มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เตรียมเปิดม่านการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี พ.ศ. 2565 ตอน “สะกดทัพ” ในระหว่างวันที่ 30 ต.ค.-5 ธ.ค. 65 ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

พร้อมกลับมาสร้างความตระการตาหลังห่างหายไปถึง 2 ปี สำหรับการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี พ.ศ. 2565 เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “สะกดทัพ”ครั้งนี้ ซึ่งได้เตรียมไฮไลท์พิเศษมากมาย เพื่อสร้างความประทับใจแก่ผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูกระบวนท่ารำที่หาชมได้ยาก ฉากการแสดงที่มีการเพิ่มสีสันให้อลังการ รวมทั้งด่านพิเศษหลายด่าน เพื่อเพิ่มความสนุกในการผจญภัยของหนุมาน ให้ตื่นเต้นเร้าใจยิ่งขึ้น เรียกว่าคุ้มค่ามากสำหรับผู้ชมทุกเพศทุกวัย

โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “สะกดทัพ” เป็นการนำบทพระราชนิพนธ์ฉบับในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มาเป็นบทการแสดง จึงใช้ตัวสะกดชื่อ “ไมยราพ” ตามบทพระราชนิพนธ์ ซึ่งต่างจากตอน “ศึกมัยราพณ์” ที่เคยจัดแสดงในปี 2554 อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ ฉบับในสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

เพื่อความสนุกในการเข้าชมในวันแสดงจริง วันนี้จึงนำไฮไลท์เด่น 5 เรื่อง จากตัวละครหลักในตอนนี้ มาให้ผู้ชมได้รู้จักกันก่อน เพื่อเพิ่มอรรถรสในการชม

ไมยราพ
:: “ไมยราพ” ปี 2565 กับเพลงหน้าพาทย์และถนิมพิมพาภรณ์ที่จะปรากฏแก่สายตาผู้ชมเป็นครั้งแรก

1. ครั้งแรกที่มีการฟื้นฟูเพลงหน้าพาทย์ดำเนินพราหมณ์ ที่ใช้กับตัวโขนไมยราพ

มีความเป็นมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดย อาจารย์ประเมษฐ์ บุณยะชัย ที่ปรึกษาอาวุโส กล่าวถึงความพิเศษของโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เป็นโขนที่ใช้องค์ความรู้จากครูผู้เชี่ยวชาญทุกสาขา ทั้งโขน ละคร ดนตรี คีตศิลป์ ร่วมกันทำงานด้วยความวิริยะอุตสาหะ ทุกขั้นตอนทำด้วยความประณีต มีกระบวนท่ารำที่ไม่ค่อยปรากฏที่ไหน เช่น เพลงหน้าพาทย์ที่ใช้บรรเลงประกอบตัวโขนไมยราพ เป็นหน้าพาทย์ดำเนินพราหมณ์ที่เก่าแก่ มีประวัติความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งแทบจะสูญไปแล้ว แต่ครูอร่าม อินทรนัฎ สืบทอดกระบวนการรำนี้ไว้สู่ศิลปินรุ่นหลัง สำหรับการแสดงโขน ตอน “สะกดทัพ”

2.ไมยราพแต่งองค์ทรงเครื่อง ตามบทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1

ไมยราพบวชเป็นฤๅษี จึงแต่งกายด้วยเครื่องทรงสีแดงสดงดงามเพื่อเข้าโรงพิธี นอกจากนี้ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ยังสร้างเครื่องแต่งกายของไมยราพและตัวโขนอื่น ๆ เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ อีกกว่า 100 ชุด

หนุมานรบมัจฉานุ
:: “หนุมาน” ผจญภัยด่านต่างๆ ในสำนวนบทพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 1

3.สนุกสนานเร้าใจกับการผจญภัยในหลากหลายด่าน ที่ยอดทหารวานรต้องฝ่าฟัน

ต้องใช้นักแสดงที่รับบทหนุมานถึง 7 คนในการแสดงแต่ละรอบ โดย ดร.สุรัตน์ จงดา ผู้กำกับการแสดงและเขียนบท เล่าว่า “รามเกียรติ์มีหลายสำนวน โดยครั้งนี้นำบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ที่ใช้ในการเรียนการสอนในวิชาภาษาไทยในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น มาจัดทำบทการแสดง ซึ่งมีวิธีการเล่าเรื่องและการดำเนินเรื่องที่แตกต่างออกไป จึงเป็นตอนที่มีฉากผจญภัยมากมาย ที่มาพร้อมความสนุกสนานจากเรื่องราวการต่อสู้ของหนุมาน ยอดวานรทหารเอกของพระราม ต้องฝ่าด่านต่างๆ เช่น ด่านช้างตกมัน ด่านเขากระทบกัน ด่านยุงตัวเท่าแม่ไก่ ด่านหนุมานรบมัจฉานุ ฯลฯ เพื่อช่วยพระรามกลับมา ซึ่งผู้ชมจะได้ลุ้นระทึกไปกับการผจญภัยของหนุมาน ที่เป็นขวัญใจของผู้ชมทุกเพศทุกวัยอย่างเต็มอิ่ม”

4. ตื่นตาฉากไฮไลท์ใหม่ๆ เพิ่มเทคนิคกลไกสุดอลังการ

ครั้งนี้ท้ายเรื่องมีฉากไฮไลท์ที่เพิ่มเติมจากตอน ‘ศึกมัยราพณ์’ ที่เคยแสดงเมื่อ 10 ปีก่อน ได้แก่ ฉากหนุมานต้องแผลงฤทธิ์ แปลงร่างใหญ่ยักษ์ 4 พักตร์ 8 กร สูงเทียมฟ้า เคลื่อนไหวด้วยกลไกทันสมัย รวมทั้งฉากที่เคยสร้างความประทับใจอื่นๆ ซึ่งจะมีการปรับเพิ่มเติมเทคนิคให้น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งขึ้น เช่น ฉากที่หนุมานต้องหักก้านบัว แล้วกระโดดลงบ่อ และฉากหนุมานอมพลับพลา ที่จะโชว์ความประณีตอลังการของการสร้างสรรค์ฉากที่ชวนตื่นตาตื่นใจมากยิ่งขึ้น

นักแสดงเด็กผู้รับบท มัจฉานุ
:: ความเก่งกาจของนักแสดงรุ่นจิ๋วในบท “มัจฉานุ”

5. ชมความสามารถของนักแสดงโขนรุ่นเยาว์
เป็นครั้งแรกที่ใช้เด็กประถมศึกษาอายุตั้งแต่ 9 ปี ที่ได้รับการฝึกฝนอย่างเข้มข้นจำนวน 7 คน เพื่อรับบท มัจฉานุ ลูกชายของหนุมานกับนางสุวรรณมัจฉา โดยในฉากรบมัจฉานุยังมีกระบวนท่ารำที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ท่าขึ้นลอยมัจฉานุ ซึ่งเป็นกระบวนท่ารบที่ต้องแสดงพลังของนักแสดงโขนเป็นอย่างมาก

หนุมานรบยุงตัวเท่าแม่ไก
ผู้สนใจชมการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ 2565 ตอน “สะกดทัพ” ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซื้อบัตรได้ที่ไทยทิกเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา หรือ www.thaiticketmajor.com บัตรราคา 1,820/1,520/1,020/820/620 บาท รอบนักเรียน นักศึกษา บัตรราคา 200 บาท (หยุดพักการแสดงทุกวันจันทร์และอังคาร) ดูรายละเอียดทาง FB: Khon Performance โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ

หนุมาน

มัจฉานุ

อ.ประเมษฐ์ บุณยะชัย

ดร.สุรัตน์ จงดา

Comments are closed.

Pin It