ART EYE VIEW—ภาพเขียนซึ่งเขียนด้วยเทคนิคสีน้ำมันบนผืนผ้าใบชื่อ “มือเทวดา 2555” ภาพนี้ เป็นหนึ่งในผลงานศิลปะจำนวน 70 ชิ้น ที่ศิลปินอาวุโส ช่วง มูลพินิจ นำมาจัดแสดงให้ชมใน “แดนสนธยา” นิทรรศการศิลปะชุดล่าสุด ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ช่วงกล่าวถึงที่มาและแรงบันดาลใจในการเขียนภาพนี้ว่า
“เดิมทีเป็นรูปเล็กๆ ตอนนั้นมีคนมาให้เขียนเพื่อที่จะนำเผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ก่อนเขียน ผมนึกไปถึงผลงานของพระองค์ภาพหนึ่ง ชื่อว่า “ฝ่ามือแดง” ซึ่งเป็นภาพฝ่ามือสีแดง เทคนิคใช้มือตบสีแล้ววางลงบนผ้าใบ
ผมจึงเอาแรงบันดาลใจตรงนั้นมาทำงานชิ้นนี้ เพื่อที่จะบอกผู้ชมว่า นี่แหล่ะฝ่ามือของเทวดา ฝ่ามือแห่งความพอเพียง มนุษย์ไม่มีฝ่ามือนี้ นอกจากเทวดาเท่านั้น และมนุษย์ไม่ปรารถนาฝ่ามือนี้ด้วย
เพราะฉนั้นหาเสียงทุกครั้งไม่มีใครอ้างความพอเพียง เพราะถ้าอ้างเมื่อไหร่สอบตก แต่ถ้ายุให้โลภให้รวยได้ เค้าจะคะแนนสูง เพราะฉนั้นผมสงสารในหลวง พระองค์ท่านหัวเดียวกระเทียมลีบ”
และหากถามว่าปัจจุบันช่วงนำแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับใช้ของตนเองอย่างไรบ้าง ช่วงตอบสั้นๆว่า
“มนุษย์เราต้องมีความพอดี เกินไปก็ไม่ได้ น้อยไปก็ไม่ดี พวกคุณที่เป็นนักสัมภาษณ์ชอบถามว่า อาจารย์ แล้วความพอดีมันอยู่ตรงไหน
มันเป็นคำตอบอยู่แล้วนี่ พอดี พอเมื่อไหร่ ดีเมื่อนั้น มันเป็นคำถามและคำตอบในตัวมันเอง พอเมื่อไหร่แหล่ะดีเมื่อนั้น กินข้าวอิ่มก็ดีแล้ว พอคือดี และดีคือพอ”
สำหรับระยะเวลา 10 ปีที่ห่างหายไปจากการแสดงผลงาน ช่วงกล่าวว่า ไม่ได้ใช้จ่ายชีวิตไปกับเรื่องใดมากไปกว่า ทำงานศิลปะ
“เขียนรูปอย่างเดียวครับ ชีวิตจึงได้เรียนรู้เรื่องการทำงานศิลปะมากที่สุด ได้เรียนรู้มากขึ้น แต่อาจจะยังไม่ถึงที่สุด คนเราจะเรียนรู้อะไรได้ล่ะ นอกจากการทำงาน การทำงานคือการเรียนรู้อย่างยิ่ง อยากบอกทุกๆคนว่า อย่าหยุดมัน ถ้าหยุดเมื่อไหร่ การเรียนรู้จบลง”
เนื้อหาที่นำเสนอผ่านผลงานชิ้นใหม่ๆในรอบสิบปี ของช่วง มีคละเคล้ากันไป
“เห็นดอกบัว เขียนดอกบัว เห็นมด เขียนมด เห็นปลา เขียนปลา ผู้หญิงผู้ชาย อะไรก็ตามที่มันมากระทบความรู้สึกส่วนตน แล้วทำให้อยากสนองความต้องการของตัวเอง
วินเซนต์ แวนโก๊ะ ยังเขียนภาพรองเท้าพังๆแค่คู่นึงได้เลย ดังนั้นกำหนดไม่ไหรอกว่าจะเขียนอะไร เมื่อใดก็ตามที่ตาเราเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นศิลปะเมื่อไหร่ เขียนได้”
เช่นกันว่า ชื่อที่มาของชื่อนิทรรศการครั้งนี้ ซึ่งไม่ได้มีที่มาจากภาพรวมทั้งหมดของผลงานที่นำมาจัดแสดง แต่หมายความถึง ช่วงเวลาของชีวิต ณ ปัจจุบัน ของศิลปิน วัย 73 ปี
“ แดนสนธยาไม่ใช่รูป แต่มันคือผม ที่ชีวิตมันถึงเวลาที่ต้องนอนแล้ว
และสำหรับผม ชีวิตของมนุษย์เปรียบเสมือนหนึ่งวันเท่านั้นเอง เกิดมาตอนเช้า ตอนหนุ่มก็คือช่วงเที่ยงและช่วงบ่าย แล้วตอนสุดท้าย คือช่วงเย็น ตอนโพล้เพล้ จะค่ำแล้ว พอมืดลง จบแล้วชีวิตวันหนึ่ง ชีวิตมีแค่วันเดียว พอมืดก็เลิกกัน”
ในฐานะศิษย์ที่เคยร่ำเรียนกับ ศาสตาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะพบว่านิทรรศการครั้งนี้ ช่วงมีภาพเขียนที่เป็นภาพใบหน้าของ ศ.ศิลป์ อยู่หลายภาพ นอกจากนี้ บริเวณชั้น 2 ภาพแรกบริเวณซ้ายมือยังดึงดูดสายตาผู้ชมด้วยภาพเขียน ศ.ศิลป์ และประโยคที่ว่า “สาสนาของฉันคือศิลปะ”
“มีที่มาจากการที่มีคนชอบถามอาจารย์ศิลป์ว่า อาจารย์นับถือศาสนาอะไร เพราะท่านมาจากกรุงโรม ประเทศอิตาลี
แล้วท่านก็ตอบว่า ศาสนาของฉันคือศิลปะ ฉันอบรมสั่งสอน เผยแพร่ศิลปะ บางทีฉันอาจจะเป็นพุทธก็ได้ ท่านอธิบายว่า นึกถึงศาสนามันมีแต่การแก่งแย่ง รบรา ฆ่าฟันกัน แต่ศิลปะมีแต่การแบ่งปันความปราโมทย์ ความยินดีต่อกัน ไม่มีใครที่มีงานศิลปะดีๆหรือมีเพลงดีๆแล้วไม่ชวนเพื่อนฝูงมาดูมาฟังหรอก นอกจากสตางค์เท่านั้นแหล่ะ ที่เขาไม่ให้กันใช้
ศิลปะคือความดีงาม คำโบราณของคริสต์บอก ซึ่งเป็นสัจธรรมที่น่าเชื่อถือใช่ไหม ถ้าศาสนาเป็นความดีงาม ก็คือศิลปะ
คนชอบพูดว่าดอกบัวเกิดมาเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า แต่ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าต่างหากใช้ดอกบัวไปเผยแพร่ศาสนา ดอกบัวเกิดก่อนพระพุทธเจ้าตั้งเยอะ ดอกบัวมีความงาม พระพุทธเจ้าใช้ความงาม ศาสนาจึงคือความงามนั่นเอง เราอย่าเข้าใจผิด อย่าเทิดทูนพระพุทธเจ้ามากกว่าดอกบัว และอย่าเทิดทูนศาสนา หรือสิ่งก่อสร้างมากกว่าคนทำ
โบสถ์ซิสติน (sistine chapel) ถ้าไม่มี ไมเคิล แองเจิลโล ก็ไม่สวยงาม สังฆราชกี่ร้อยองค์ก็ทำไม่ได้ ไมเคิล แองเจิลโล ใช้ศิลปะเพื่อเผยแพร่ศาสนา ให้คนมามุงดูโบสถ์ ดังนั้น พอเข้าใจนะว่า ทำไม ศาสนาของฉัน จึงคือศิลปะ”
นิทรรศการชุด แดนสนธยา (TWILIGHT ZONE) ของ ช่วง มูลพินิจ เปิดให้เข้าชม วันที่ 3 มีนาคม – 30 เมษายน พ.ศ.2556 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าฯ เชิงสะพานผ่านฟ้า ถ.ราชดำเนินกลาง
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.