Art Eye View

9 ช่างภาพ ตะวันตก มอง “เอเชีย” ทั้งแปลกใหม่และคุ้นเคย

Pinterest LinkedIn Tumblr

ผลงานของ ลอรองช์ เลอ บลอง(Laurence Le blanc)
เคยนำผลงานของศิลปินไทยที่เคยไปพำนักและแสดงงานศิลปะที่เยอรมัน มาจัดแสดงใน นิทรรศการ Return Ticket: Thailand – Germany เมื่อปีที่แล้ว

มาปีนี้ สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย มอบหน้าที่ให้ ช่างภาพชาวเยอรมัน โวล์ฟกัง เบลวิงเคล(Wolfgang Bellwinkel) ทำหน้าที่ภัณฑารักษ์ (Curator) คัดเลือกผลงานของช่างภาพชาวยุโรป 8 คน และอเมริกัน 1 คน มาร่วมกันถ่ายทอดมุมมองที่มีต่อประเทศในเอเชีย ผ่านผลงานภาพถ่าย และนำมาจัดแสดงให้ชมใน นิทรรศการ แปลกใหม่ และ/หรือ คุ้นเคย(Foreign – Familiar)

โวล์ฟกัง กล่าวว่า ช่างภาพเหล่านี้ ได้แก่ เฟริต คูญาส(Ferit Kuyas),โอลิวิเยร์ พิน – ฟัต(Olivier Pin – Fat),มาเรียเก้ เดอ มาร์(Marrigje De Maar),นิก นอสติส(Nick Nostitz),บรูโน เกงเก้ต์(Bruno Quinquet),พีเตอร์ สไตน์เฮาเอ้อร์(Peter Stein Hauer),ลอรองช์ เลอ บลอง(Laurence Le blanc),กราเซียลล่า อันโตนินี่(Graziella Antonini) รวมถึงตัวเขาที่เป็น 1 ใน 9 ช่างภาพของนิทรรศการนี้ด้วย ต่างมีความสัมพันธ์กับทวีปเอเชีย ในหลายๆรูปแบบ

ไม่ว่าจะ เคยใช้ชีวิตอยู่ในบางประเทศของเอเชีย, เคยเดินทางไปท่องเที่ยว, แต่งงานกับสาวเอเชีย หรือ มีเลือดในร่างกายครึ่งหนึ่งเป็นเอเชีย

แม้ความเป็นเอเชียที่พวกเขาสัมพันธ์อยู่ จะสร้างความรู้สึกที่ “แปลกใหม่” ให้กับพวกเขา ในขณะเดียวกันพวกเขาก็รู้สึก “คุ้นเคย” อยู่ไม่น้อย ทั้งที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม รับรู้การมาอยู่ของพวกเขาแค่ในฐานะ “คนนอก”

โวล์ฟกัง เชื่อว่ามุมมองและประสบการณ์ที่แตกต่าง ซึ่งนำเสนอผ่านภาพถ่ายในนิทรรศการครั้งนี้ จะเป็นอีกช่องทางของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและทำให้เกิดความเข้าใจในความแตกต่าง ตามวัตถุประสงค์ที่ สถาบันเกอเธ่ มีมาโดยตลอด
ผลงานของ โวล์ฟกัง เบลวิงเคล(Wolfgang Bellwinkel)
ผู้ชมบางคน … อาจชอบความงามในความไม่ชัดเจนของภาพอิริยาบถของเด็กๆ ที่ ลอรองช์ เลอ บลอง นำเสนอผ่านภาพภาพถ่ายขาวดำ ชุด ริธี เชอา คิม ชูและคนอื่นๆ (Rithy,Chea,Kim Sour Et Les Autres)

แต่ที่มาของภาพถ่ายชุดนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ช่างภาพหญิงผู้นี้ เห็นและรู้จักกัมพูชาผ่านภาพถ่ายมาก่อน เธอรู้สึกสลดหดหู่ใจเป็นอย่างยิ่งกับภาพเหล่าเชลยที่ถูกกระทำทารุณกรรมและสังหารในค่ายกักกัน ในยุคที่เขมรแดงยึดครองกัมพูชา และเวลาต่อมาเธอได้สร้างสรรค์ผลงานภาพถ่ายขึ้นโดยมุ่งความสนใจไปที่ประสบการณ์ครั้งแรกของเด็กๆที่มีต่อโลก

“สำหรับเด็กๆเหล่านี้แล้ว คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ชีวิตของพวกเขาจะเป็นเช่นไร ภายใต้ความทรงจำอันหนักอึ้งที่ตอกย้ำถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ที่โหดร้ายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเช่นนี้”

ผู้ชมบางคน… อาจตั้งคำถามว่าในภาพถ่ายชุด บาเบล (Babel) จึงเป็นตึกสูงรูปทรงต่างๆจาก กรุงเทพฯและจาการ์ตา ที่บ้างเป็นตึกที่ดูยิ่งใหญ่มหึมาและเรารับรู้กันดีว่า ณ ปัจจุบันยังมีปัญหา

ขณะที่ชาวคริสต์ โดยเฉพาะชาวตะวันตก คุ้นเคยกับ บาเบล (Babel) ที่ โวล์ฟกัง เบลวิงเคล เจ้าของภาพถ่าย นำมาตั้งเป็นชื่อภาพถ่ายชุดนี้ของเขาเป็นอย่างดี เพราะมีเล่าไว้ในคัมภีร์ไบเบิล เกี่ยวกับความหวังอันสูงสุดของผู้ที่อยากจะไปอยู่ใกล้ชิดพระเจ้า จึงพยายามสร้างตึกสูงขึ้นไปบนฟ้า แต่ที่สุดก็ถูกพระเจ้าลงโทษ ด้วยการให้เกิดมาพูดคนละภาษา เพื่อจะได้สื่อสารกันยาก ส่งผลให้ยากต่อการที่จะระดมพลมาช่วยกันสร้างตึกสูง ขึ้นไปหาพระเจ้าอีก

แต่สำหรับโวล์ฟกัง ผู้หลงใหลในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในสังคมและนครต่างๆในเอเชีย มันคือภาพที่สะท้อนถึงอำนาจและความล้มเหลว

ผู้ชมบางคน…อาจค้นพบเพื่อนร่วมชะตากรรมของตนเอง ในภาพถ่ายชุด มนุษย์เงินเดือน(Salary Man) ซึ่งนำเสนอให้เห็นภาพชีวิตตลอด 12 เดือน ของพนักงานออฟฟิศชายชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง ที่เคยทำให้ บรูโน เกงเก้ต์ ที่ปัจจุบันยึดอาชีพเป็นช่างภาพและใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่น ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแสดงผลงานของนักศึกษาปีสุดท้าย ของ สถาบันทัศนศิลป์ Tokyo Visual Arts เมื่อปี ค.ศ.2009

หรือผู้ชมบางคน… อาจสัมผัสได้ถึงความสวยงามของสิ่งที่ดูรกหูรกตา เมื่อได้ชมภาพถ่ายชุด ภาพสะท้อนของความยุ่งเหยิงและความสงบ(Refections of Chaos and Chalm) ของ พีเตอร์ สไตน์เฮาเอ้อร์ ลูกชายของอดีตทหารผ่านศึกจากสงครามเวียดนาม

“เอเชียคือดินแดนที่ผมอยู่แล้วสบายใจที่สุด ทั้งในฐานะปัจเจกบุคคลคนหนึ่ง และในด้านอาชีพการงาน ในฐานะนักถ่ายภาพ ที่นี่มีสาระมากมายให้ผมทำงานได้ไม่สิ้นสุดบนความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่รายล้อม”
ผลงานของ บรูโน เกงเก้ต์(Bruno Quinquet)
และนี่คือตัวอย่างหนึ่งของนิทรรศการที่น่าสนใจในรอบสัปดาห์นี้ ที่ ART EYE VIEW อยากเชิญคน “คุ้นเคย” เช่นคุณไปสัมผัส ไม่แน่เหมือนกันว่า ภาพบางภาพของช่างภาพบางคน อาจสร้างความรู้สึกที่ “แปลกใหม่” ให้กับคุณ โดยไม่ต้องเดินทางไปที่ไหนไกลๆ

ดังคำกล่าวของ วาลเด้นเฟลส์ ที่กล่าวไว้เมื่อ ค.ศ.1977 และ โวล์ฟกังได้นำมาแลกเปลี่ยนกับเราในนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“สิ่งแปลกใหม่ใช่ว่าจะ 'มี' อยู่แค่ในที่อื่นไกล แต่มัน 'เป็น' ที่อื่นในโลกแห่งความคิดของเราด้วย”

นิทรรศการ แปลกใหม่ และ/หรือ คุ้นเคย(Foreign – Familiar) วันนี้ – 30 มิ.ย.54
ณ ชั้น 4 หอศิลป์ กทม. สี่แยกปทุมวัน โทร.0 -2287- 0942 – 4

Text by  ฮักก้า

ขอบคุณ Translator คุณหรรษา วงศ์สิริพิทักษ์
ผลงานของ พีเตอร์ สไตน์เฮาเอ้อร์(Peter Stein Hauer)
ผลงานของ เฟริต คูญาส(Ferit Kuyas)
ผลงานของ โอลิวิเยร์ พิน – ฟัต(Olivier Pin  - Fat)
ผลงานของ กราเซียลล่า อันโตนินี่(Graziella Antonini)
ผลงานของ มาเรียเก้ เดอ มาร์(Marrigje De Maar)
ผลงานของ นิก นอสติส(Nick Nostitz)
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 – 4488 ต่อ 1530 Email: thinksea@hotmail.com

Comments are closed.

Pin It