Art Eye View

เรียบง่ายคือความงาม ศาสตราจารย์พิเศษ ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา

Pinterest LinkedIn Tumblr

Photo by  ศิวกร เสนสอน
แม้จะมีโอกาสได้ชื่นชมความงามของงานศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยอันทรงคุณค่าของแผ่นดินมามากต่อมาก แต่ ศาสตราจารย์พิเศษ ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา ราชสกุลในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กลับชื่นชมในความงามของสิ่งเรียบง่าย

และหากให้ยกตัวอย่างงานศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ในยุคปัจจุบัน และศาสตราจารย์พิเศษ ทองต่อ มีความชื่นชมเป็นพิเศษ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก

วัดที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสรับสั่งให้สร้างเป็น วัดขนาดเล็ก ยึดหลักความประหยัด เรียบง่าย และสามารถเอื้อประโยชน์ต่อชุมชน

ดังนั้นภายในรั้ววัดแห่งนี้ จึงประกอบด้วย พระอุโบสถ กุฏิ หอระฆัง โรงครัว ศาลาอเนกประสงค์ ฯลฯ ที่มีขนาดเล็กๆ อีกทั้งพื้นที่โดยรอบ ยังมีการปลูกพันธุ์ไม้นานาชนิด ทั้งพันธุ์ไม้ป่าและพันธุ์ไม้หายากในลักษณะป่าผสมผสาน ก่อให้เกิดร่มเงาและความร่มเย็นแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไปที่เข้ามาประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา

“หัวใจของศิลปะในทัศนะของผม ความเรียบง่ายคือความงาม ผมเป็นคนที่ชอบสังเกตต้นไม้ คุณลองเด็ดใบไม้มาดูสักใบ หรือ เด็ดดอกไม้มาดูสักดอกสิ คุณจะเห็นถึงของความงามของเส้นใบทั้งสองข้าง เห็นถึงความงดงามในความเรียบง่าย งานศิลปะไอ้ที่วิจิตรพิสดารมากๆ ผมดูแล้วก็อย่างงั้นๆแหล่ะ รกในตา(หัวเราะ)”

อาจเติบโตมาบนเส้นทางของการเป็นนักรัฐศาสตร์ แต่ตลอดมา อดีตปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้นี้ ได้รับความชื่นชมจากคนรอบข้างในด้านอื่นๆด้วย ทั้งในด้านอักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม รวมถึงการเป็นผู้ที่รอบรู้เกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินของบ้านเมืองเรา เป็นอย่างดี

ทว่าทุกครั้งที่ได้ยินได้ฟังคำชื่นชมในด้านต่างๆ ศาสตราจารย์พิเศษ ทองต่อ มักจะบอกเสมอว่า

“ผมแถลงชัดเจนมาโดยตลอด ว่าผมไม่ใช่นักอะไรทั้งสิ้น แต่เป็นคนที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องไทยๆ และความเป็นมาของชาติไทยเราเท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ”

ศาสตราจารย์พิเศษ ทองต่อ เป็นผู้หนึ่งที่เชื่อว่า สิ่งต่างๆในโลกนี้ หนีไม่พ้นกฎของไตรลักษณ์ ที่ย่อมมี เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ในที่สุด รวมถึงศิลปะไทย ที่แม้ในทัศนะของท่าน มันไม่อาจดับสูญไปโดยง่ายก็ตาม หากทุกคนยังคงช่วยกันรักษาแบบแผนดังที่เคยมีมา

“ศิลปะไทยแบบประเพณี แบบที่เป็นแบบแผน เป็นต้นฉบับจริงๆมันดัดแปลงไม่ได้ ควรเก็บเอาไว้ ให้คนเขามาศึกษา ให้เห็นว่ามันมีการคลี่คลายไปอย่างไร และอีก 50 ปี มันจะเปลี่ยนไปอย่างไร เพราะ ถ้าเราไม่มีต้นตอ เราก็จะไม่รู้ว่าที่มาของปัจจุบัน มันมีความเป็นมาอย่างไร

และในขณะเดียวกันให้เรารู้ด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงมันเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เพราะทุกอย่างในโลกนี้ มันมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่ว่าจะเป็นคน หรือสิ่งของ หนีไอ้กฏนี้ไม่พ้น จะเร็วหรือช้าเท่านั้นเอง งานศิลปะก็เหมือนกัน”

ศาสตราจารย์พิเศษ ทองต่อ กล่าวว่า ครั้งที่ กรุงศรีอยุธยา ถูกเผา เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ บ้านเมืองถูกทำลายเพราะฝีมือพี่ไทยที่พากันไปรื้อหาสมบัติ

มาถึงยุคนี้ ภายใต้บริบถของสังคมที่เปลี่ยนไป หากศิลปะไทยจะถูกทำลายให้ดับสูญไปเร็วขึ้น ก็น่าจะเป็นเพราะ ถูกภาวะทางเศรษฐกิจบังคับ ความมักง่าย และที่สำคัญคือ การขาดความรู้ ความเข้าใจ

“เพราะความสะเพร่า เอาเร็ว เอาง่ายเข้าว่า แล้วก็เรื่องของเศรษฐกิจบังคับ ทำให้ทำอย่างเต็มที่อย่างของเดิมไม่ได้ เพราะมันแพง และความรู้ไม่จริงเกี่ยวกับงานศิลปะไทย

ดังนั้นการให้ความรู้ ต้องมาเป็นอันดันหนึ่ง เป็นมันสมอง เป็นหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ความรู้เป็นต้นตอ เป็นคลัง เป็นครูบาอาจารย์ของเรา เรื่องเงินเรื่องทองยังเป็นเรื่องเล็ก มาทีหลัง เพราะเราสามารถดัดแปลงได้”

คืออีกหนึ่งความปรารถนาดีของผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้เฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆของบ้านเมืองเรา มาอย่างยาวนาน
 
Text by ฮักก้า

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 – 4488 ต่อ 1530 Email: thinksea@hotmail.com

Comments are closed.

Pin It