Art Eye View

"จงสร้างแสงสว่างให้ตัวเอง แล้วโลกจะขานรับเราเอง" เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ ผู้หยดสี วาดปัตตานี

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—ใช่เพียงแค่รูปภาพที่ เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ ขนขึ้นรถไฟมาเพื่อนิทรรศการศิลปะครั้งสำคัญของตัวเองที่กรุงเทพฯ แต่ยังรวมหมดทั้ง รูป รส กลิ่น เสียง และวิถีชีวิตของชาวมลายูท้องถิ่นปัตตานี ที่ติดตามเขามาด้วย

หลักฐานปรากฎชัดในวันเปิดนิทรรศการ ที่นอกจากจะมีผลงานศิลปะกว่า 100 ชิ้นติดผนังรอต้อนรับผู้ชมและผู้ไปร่วมแสดงความยินดี ยังมีอาหาร อย่าง ข้าวยำ โรตี ชาชัก ฯลฯ ดนตรีมุสลิม และการแสดงที่สื่อถึงอัตลักษณ์ของบ้านเกิดของศิลปินผู้นี้ มาให้ทุกคนได้ลิ้มรสและทำความรู้จัก

และเขายังได้ควักทุนส่วนตัว เหมาโบกี้รถไฟ นำนักศึกษา สาขาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กว่า 40 ชีวิต ซึ่งเป็นลูกศิษย์ มาเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการด้วย

ดังนั้นเพื่อให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปตามความตั้งใจ เขาจึงต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนถึง 6 แสนบาท เพื่อนิทรรศการครั้งนี้

เพราะว่านิทรรศการครั้งนี้ มีความสำคัญสำหรับเขาในหลายประการ

ประการแรกเขาต้องการที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกศิษย์ของตัวเองว่า เส้นทางศิลปะที่เลือกเดิน สามารถนำพาทุกคนไปสู่ความสุขและความสำเร็จได้

“เพื่อให้เค้ามั่นใจและเห็นว่า สิ่งที่เขาเลือกเรียน เส้นทางที่เขาเลือกเดินอยู่ตอนนี้ มันทำให้เขาดำรงชีวิตอยู่ได้ เติบโตได้ และเดินต่อไปได้ เป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่เยาวชนในพื้นที่ภาคใต้ สามารถที่จะเลือกมัน ผมอยากสร้างความมั่นใจให้กับพวกเค้า”

ประการที่สอง เขาอยากสื่อสารไปถึงคนทั่วประเทศผ่านงานศิลปะว่า ท่ามกลางปัญหาที่กำลังร้อนระอุของชายแดนใต้ ยังมีความงามซ่อนอยู่

“อยากให้คนมองชายแดนใต้ ในแง่บวกบ้าง ผ่านอัตลักษณ์ของคนมลายูท้องถิ่นปัตตานี ที่ผมนำเสนอ เพราะว่าเรื่องร้ายๆที่ ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ นับวันก็เท่ากับไปคอยเฉือนบาดแผลที่เขามีอยู่

เปิดทีวีดู เปิดหนังสือพิมพ์อ่าน ก็มีแต่ข่าวที่รายงานว่า มีการยิงกันตายตรงนั้นตรงนี้ ผมอยากให้คนทั่วประเทศได้สัมผัสในสิ่งดีๆของคนในพื้นที่บ้าง และเพื่อให้คนในพื้นที่รู้สึกอุ่นใจ มีความสุข ในการใช้ชีวิต”
ลูกศิษย์ 2 คน ที่เพิ่งกลับจากอเมริกา คืออีกความภาคภูมิใจ
นี่คือเจตนาของศิลปินมุสลิมวัย 29 ปี (ศิษย์เก่ารุ่นแรกของ สาขาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และปริญญาโท ภาควิชาศิลปไทย คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) ส่วนงานศิลปะจะขายได้หรือไม่นั้น เขาบอกว่านั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

“ผมไม่สนใจเลย ถ้าผมคิดถึงเรื่องเงิน ผมคงบ้าไปแล้ว เพราะว่าครั้งนี้ ผมลงทุนไปมหาศาล เป็นเงินที่สามารถนำไปสร้างบ้านได้เลย ที่บ้านก็ไม่รู้ว่าผมลงทุนขนาดนี้

และเงินจำนวนนี้ ผมสามารถพาพ่อแม่ไปเมกกะได้ 2 รอบ เพราะการไปครั้งหนึ่ง ต้องใช้เงิน 3 แสนบาท ต่อ 2 คน

ที่ผ่านมา นอกจากฝันที่จะทำงานศิลปะ ส่วนหนึ่งผมก็ฝันที่จะพาพ่อแม่ไปเมกกะ เป็นความฝันอันสูงสุด ที่ผมอยากจะตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่ และปีนี้ผมก็ได้พาไปแล้ว”

ซึ่งการที่เขาสามารถทำความฝันในฐานะลูกให้บรรลุได้ ก็เนื่องมาจากการทำงานศิลปะ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว และ เมื่อครั้งที่เรียนจบ ป.6 ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนให้เรียนหนังสือต่อด้วยซ้ำไป เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน

แต่เขาต่อสู้ ทำงานรับจ้างทุกอย่าง ส่งเสียตัวเองเรียนและแสวงหาโอกาส กระทั่งได้รับความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ทั้งสำหรับพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ และท้องถิ่นที่เขาเติบโตมา

หลายคนรู้จักเขาในฐานะ นักเรียนกองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาดีเด่น ระดับประเทศ,ผู้ได้รับทุนจากสภาศิลปกรรมไทยในสหรัฐอเมริกา และสวช.กระทรวงวัฒนธรรม ไปศึกษาดูงานศิลปะ กับ โครงการเผยแพร่ผลงานทัศนศิลป์(จิตรกรรม) ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2

และเจ้าของรางวัลจากเวทีประกวดศิลปะอีกหลายรางวัล โดยเฉพาะ รางวัลเหรียญทอง จิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 20 ซึ่งทำให้เขาได้รับโอกาสไปศึกษาดูงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกาอีก เป็นครั้งที่ 3 กระทั่งวันนี้ มีลูกศิษย์ของเขาหลายคนที่ได้รับโอกาสนี้ไม่ต่างจากเขา

จนทำให้มีความผูกพันธ์กับศิลปินรุ่นใหญ่ อย่าง กมล ทัศนาญชลี,เดชา วราชุน และถวัลย์ ดัชนี เป็นพิเศษ โดยเฉพาะศิลปินท่านหลังที่มักสอนเขาว่า

“จงสร้างแสงสว่างให้ตัวเอง แล้วโลกจะขานรับเราเอง”

เจะอับดุลเลาะ เติบโตมา ท่ามกลางสภาพแวดล้อมและศิลปวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว มีพ่อประกอบอาชีพเป็นช่างต่อเรือกอและ มีแม่เป็นช่างเย็บปักถักร้อย มีพี่เป็นช่างเขียนป้าย มีศาสนาอิสลามเป็นที่ยึดเหนี่ยวใจ

สิ่งต่างๆเหล่านี้ มีอิทธิพลต่อการนำเสนอเรื่องราวในงานศิลปะของเขา ตั้งแต่ผลงานชุด  แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ,เรือกอและ,รูปลักษณ์จากท้องถิ่นปัตตานี,สีสันจากท้องถิ่น,พระจันทร์ คือ ชีวิต,รูปลักษณ์ของท้องถิ่นปัตตานี,ดอกไม้งามที่ซ่อนเร้นในปัตตานี และความงามในความมืดที่ปัตตานี โดยเฉพาะงานชุดสุดท้ายนี้ เขาต้องการสื่อสารกับผู้ชมเรื่องความตาย

ภาพใบหน้าของหญิงสาวมุสลิมที่หันเข้าหากัน เปรียบดั่ง ความเป็น และความตาย ที่กำลังเผชิญหน้ากันอยู่ ส่วนช่องว่างระหว่างกลาง ปรากฎเป็นรูปทรงของเสากุโบ สำหรับใช้ปักหลุมฝังศพ

“หลักการของอิสลาม ศาสดาสอนให้ประชาชาติอิสลามระลึกถึงความตายทุกวันทุกเวลา วันละกว่า 70 ครั้ง เพื่อเตือนสติ พอจะทำความชั่ว เราจะได้เตือนตัวเองว่า เฮ้ยไม่ได้ๆ อะไรอย่างนี้

สตีฟ จอบส์ ยังอ้างอิงในหนังสือเลยว่า เอาหลักการของศาสนาอิสลามมาใช้ ชีวิตเค้าก็เลยทำเต็มที่ในแต่ละวัน เพราะรู้ว่าไม่วันใด วันหนึ่งต้องตาย แต่ไม่สามารถล่วงรู้วันเวลาได้ ผมก็ใช้หลักการนี้ ในการทำงาน เพราะว่าคนเรามักจะหลงในโลก แต่หลงลืมความตาย”

ขณะที่เทคนิคที่เขาเลือกใช้สำหรับการสร้างสรรค์ผลงาน ก็มีความน่าสนใจเช่นเดียวกัน เพราะเขาไม่ได้วาดภาพลงบนเฟรมผ้าใบหรือกระดาษที่ไปซื้อหามา แต่เป็นกระดาษใช้แล้ว ที่เขาทดลองนำมาปั่น ผสมกับกาว แล้วทำออกมาเป็นแผ่นๆ

“เป็นกระดาษรีไซเคิล ผมเอากล่อง เอาลังไปวางตามร้านถ่ายเอกสาร เอากระสอบไปวางที่ออฟฟิศ ให้คนใส่ อันไหนที่เค้าไม่ใช้ บางร้านเค้าก็ขาย บางร้านเค้าก็ให้ฟรี จนคนเค้านึกว่าผมเป็นคนขายกระดาษ เอากระดาษไปช่างกิโลขาย ผมก็ดีใจเหมือนกัน ได้อีกตำแหน่งหนึ่ง นอกจากเป็นศิลปิน เป็นอาจารย์ ยังได้เป็นคนเก็บขยะขายกระดาษด้วย(ยิ้ม)”

อีกทั้งในงานชุดที่สองเป็นต้นมา เขาสนุกกับการสร้างงานด้วยเทคนิคการหยดสี ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเขียนผ้าบาติกของช่างพื้นบ้าน

“ชานติ้งที่เค้าใช้หยดเทียน เวลาเขียนผ้าบาติก ผมเห็นช่างพื้นบ้านเค้าลากแบบ โอ้โห แม่นยำมาก สนุกมาก ผมก็เลยลองใช้สีของผมมาหยดดู ทั้งหยดเป็นจุดๆ และหยดตัดเส้น แต่ไม่ได้ใช้ชานติ้ง ใช้ขวดพลาสติกที่คล้ายๆขวดซอส เพราะผมนึกถึงตอนที่กินข้าวไข่เจียว แล้วต้องบีบซอสพริก ซอสมะเขือเทศ”

ผลงานทุกชุดของเขา ขณะนี้ถูกนำมารวมไว้ในนิทรรศการเดียวที่มีชื่อว่า “รูปลักษณ์ของชาวมลายูท้องถิ่นปัตตานี” และมีความตั้งใจที่จะนำรายได้ส่วนหนึ่ง ไปใช้สำหรับการก่อสร้างหอศิลป์และมูลนิธิในาม Contemporary Art In Pattani Foundation

นอกจากจะเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะทั้งประเภทถาวรและหมุนเวียน ยังจะเป็นพื้นที่สนับสนุนให้เยาวชนสร้างงานศิลปะ ให้ทุนการศึกษาศิลปะ และพร้อมจะเป็นที่พำนัก เพราะเขาได้เตรียมนาข้าวและบ่อเลี้ยงปลาเอาไว้ด้วย

“ผมว่าคนมาซื้องานผม เค้าได้บุญนะฮะ เหมือนที่ คุณหญิงชดช้อย (โสภณพนิช),ดร.ก้องเกียรติ (โอภาสวงการ) และม.ร.ว.สุขุมพันธ์(บริพัตร) ที่ซื้องานผมไปก่อนหน้านี้

ผมได้ใช้เงินที่ได้มา ไปอย่างคุ้มค่ามากเลย ผมไม่ได้ใช้เพื่อตัวผมคนเดียว ผมให้ทุนเด็ก ซื้ออุปกรณ์ให้เด็ก พาไปโน่นพาไปนี่ ผมทำทุกอย่างที่เป็นประโยชน์ เพราะผมคิดว่า เงินมันมาเร็วไปไว เหมือนเราไม่ได้ยึดติดกับตัวเงินตรงนั้นแล้ว แต่พยายามคิดว่า เราจะใช้ประโยชน์กับเงินเหล่านั้นยังไง”

เวลานี้เขาได้ให้สถาปนิกออกแบบหอศิลป์ และทำการลงเสาเข็มไปเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสร้างเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้านี้ บนที่ดินของเขาเอง ณ ต.ดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

เป็นความตั้งใจของเขาที่อยากจะสร้างโอกาสให้ผู้อื่น หลังจากที่เขาเคยได้รับการหยิบยื่นโอกาสมาก่อนหน้านี้ และในฐานะที่ศิลปะได้ดูแลเขาเสมอมา ดังถ้อยคำที่เขาติดไว้หน้าทางเข้านิทรรศการว่า

…นอกจากหลักคำสอนทางศาสนาและคำสอนของบิดา มารดา ครูบาอาจารย์ ที่ช่วยดูแลข้าพเจ้า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ข้าพเจ้าก็ได้ค้นพบว่า ศิลปะยังคงดูแลข้าพเจ้าเสมอ…

“เหมือนกับเค้าได้ดูแลเรา ทั้งใจและก็กาย ใจนี้หมายถึงว่า เราทำแล้วเรามีความสุข มันสามารถปลอบประโลมเราจากความทุกข์ทั้งหมดที่พบเจอ แม้กระทั่งความทุกข์ที่เกิดจากคน สัตว์ สิ่งของ และสภาพแวดล้อมที่มันแย่ลง พอเราได้แตะศิลปะ ทุกอย่างมันหายไปในพริบตาเลย ศิลปะคือสมาธิอย่างหนึ่ง ในเวลาที่ผมได้อยู่กับมัน นั่นคือทางด้านจิตใจที่ศิลปะมอบให้กับผม

ส่วนทางด้านร่างกายเนี่ย มันก็ตอบสนองในเรื่องของปัจจัย เรื่องของการประทังชีวิต มันมาโดยที่เราไม่ได้เรียกร้อง มาด้วยตัวของมันเอง

เพราะว่าหลักการที่ผมใช้สำหรับการใช้ชีวิตในหนทางของศิลปิน ผมอาศัยหลักความศรัทธา เพราะต้นทุนเดิมของผมคือการนับถือศาสนาอิสลาม ทำอะไรก็ตามมันต้องอาศัยหลักของความศรัทธา

นรกสวรรค์ เราไม่เคยเห็นว่ามันเป็นยังไง แต่คนเค้าบอก และ ตำราในคำภีร์เค้าบอกว่า ต้องทำความดีนะ ถึงจะขึ้นสวรรค์ ถ้าทำความชั่วคุณจะตกนรก นรกเป็นยังไง สวรรค์เป็นยังไง เราไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น แต่เราเชื่อ

เราเชื่อว่า ทำความดีแล้วเราจะได้ขึ้นสวรรค์ก็เลยทำความดี อันนี้ก็เช่นเดียวกันว่า เราทำศิลปะ เพราะเชื่อว่าวันหนึ่งมันต้องสำเร็จ ตอบแทนเรา สุดท้าย สิ่งดีๆมันก็มีมาเรื่อยๆ คนก็ได้เห็น แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องยิ่งใหญ่เหมือนปิกัสโซ่ ไม่จำเป็น

เพราะว่าความยิ่งใหญ่ไม่ใช่ตัวเราเป็นคนกำหนด ความยิ่งใหญ่คือ ผู้ชมเป็นตัวกำหนด ตัวผมเองไม่ใช่คนยิ่งใหญ่ ผมเป็นแค่คนตัวเล็กๆคนนึงที่ทำงานศิลปะที่แสดงถึงความรักในบ้านเมือง และรักในท้องถิ่นของตัวเอง ”
+

นิทรรศการศิลปะ รูปลักษณ์ของชาวมลายูท้องถิ่นปัตตานี โดย เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ เปิดแสดง วันนี้ – 27 มิถุนายน พ.ศ.2555 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถ.ผ่านฟ้า สอบถาม โทร.0-2281-5360-1

Text by  ฮักก้า   Photo by  พงษ์ฤทธิ์ฑา ขวัญเนตร

>>หนึ่งเสียงของคุณมีความหมาย ใครคือศิลปินไทย ที่คุณชื่นชอบ ใน “ชีวิต” และ “ผลงาน”<<

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com และ เซคชั่น LIVE หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ Email: thinksea@hotmail.com

Comments are closed.

Pin It