Art Eye View

แรงบันดาลใจจากบทพลง Imagine ของ John Lennon สู่งาน “ศิลปนิพนธ์ยอดเยี่ยม”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—ผลงานศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาศิลปะซึ่งถูกการันตีจากอาจารย์ผู้สอนว่าเป็นผลงานระดับยอดเยี่ยม จาก 30 สถาบันที่มีการเรียนการสอนด้านศิลปะ มีมาให้ชมกันครั้ง ในนิทรรศการ “ศิลปนิพนธ์ยอดเยี่ยม ปี 2557” ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ


สุรชาติ เกษประสิทธิ์ หัวหน้าสาขาวิชาทัศนศิลป์ ภาควิชาศิลปะและการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งปีนี้เป็นผู้ทำหน้าที่กล่าวแทนมหาวิทยาลัยที่มีผลงานมาร่วมแสดงในนิทรรศการว่า

ผลงานศิลปะรวมทั้งหมด 110 ผลงานที่จัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 6 แล้ว คัดสรรมาจาก ผลงานศิลปะนิพนธ์ของนักศึกษาทั่วประเทศ ที่จบการศึกษาในปี 2556

ซึ่งถือเป็นโอกาสดีของเหล่ายุวศิลปินอีกครั้ง ที่จะได้นำเสนอผลงานของตนเอง และถือเป็นสิ่งสะท้อนโลกทรรศน์ของนักศึกษาในแต่ละภูมิภาค ให้ผู้ชมได้รับรู้

“เป็นโอกาสดีสำหรับนักศึกษาในส่วนภูมิภาค เพราะพวกเขามีโอกาสน้อยมากที่จะมีงานมานำเสนอในส่วนกลาง

และการที่ผลงาานศิลปะของนักศึกษาด้านทัศนศิลป์จากทั่วประเทศในเมืองไทย มารวมกันที่นี่ ซึ่งอาจจะมีทั้งผลงานที่กล่าวได้ว่าเป็นชิ้นที่สุดยอดมาก ดีมาก และคุณภาพเพิ่งเริ่มต้นก็ตาม เพราะมาจากสถาบันการศึกษาที่เพิ่งมีการเปิดการเรียนการสอนด้านศิลปะ

ไม่ว่าบางเรื่องจะสะท้อนเรื่องเทคโนโลยี บางเรื่องสะท้อนเรื่องการเมือง บางเรื่องสะท้อนวิถีชีวิตผู้คน บางเรื่องสะท้อนจินตนาการ

แต่ก็เป็นการสะท้อนโลกทรรศน์ของนักศึกษา ต่อสังคม ต่อชุมชนที่เขาอยู่ และสะท้อนสังคมไทยในปัจจุบัน”

ในปีล่าสุด นักศึกษาศิลปะจาก มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่อาจารย์สุรชาติดูแลอยู่ ก็มีผลงานมาร่วมแสดงด้วยเช่นกัน

1 ในจำนวนผลงานทั้ง 3 ชิ้น เป็นผลงานจิตรกรรมเทคนิคสื่อผสมชื่อ ไถแปร(PLOW) ของ สมโภชน์ พูลเขตกิจ เป็นภาพปูตัวสีแดงจำนวนมากวิ่งพล่านอยู่ในภาพ ซึ่งอาจารย์สุรชาติออกตัวแทนลูกศิษย์ว่า ไม่เกี่ยวกับการเมือง ณ ขณะนี้ แต่อย่างใด

“มหาวิทยาลัยนเรศวร เพิ่งมีนักศึกษาศิลปะจบเป็นรุ่นที่ 2 เพราะฉะนั้น ถ้าเทียบกับสถาบันอื่นๆ ผลงานยังเทียบกันไม่ได้ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

แต่สิ่งที่เรามีความชัดเจน คือพยายามสอนให้ลูกศิษย์ รู้จักนำวัสดุ และเรื่องราวของท้องถิ่น มาแสดงออกผ่านงานศิลปะ

และเราอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ผู้คนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ผลงานชิ้นที่เป็นภาพปูไม่ได้เกี่ยวกับการเมือง แต่เป็นสัญลักษณ์แทนชีวิตในภาคเกษตรกรรมว่า กำลังถูกรุกรานด้วยสารเคมีและทุนนิยม ซึ่งนักศึกษาได้นำเสนอออกมาเป็นภาพปูวิ่งพล่าน ตื่นตระหนก ตกใจ และเป็นการเอาวัสดุพวก เอาเศษฟาง เศษข้าวจริงๆ มาสร้างเป็นผลงาน”

เปลี่ยนไปแลผลงานของนักศึกษาศิลปะทางภาคใต้ดูบ้าง

ร่องรอยของความสูญเสีย ผลงานศิลปะเทคนิคสื่อผสม ของ ปาตีเมาะ จารง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ยังคงเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนถึงไม่สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

“ข้าพเจ้าต้องการสะท้อนถึงอารมณ์ ความรู้สึก ที่เกิดกับผู้คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงของเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ที่ทับถมด้วยความยากลำบาก หวาดระแวง โดดเดี่ยว อ้างว้าง และเงียบเหงาในการใช้ชีวิตในแต่ละวัน โดยถ่ายทอดผ่านรูปทรงใบหน้าที่แสดงสีหน้าท่าทาง อารมณ์ ความรู้สึกของแต่ละคน”

แวะไปเบิ่งผลงานของนักศึกษาศิลปะจากภาคอีสาน บางผลงานได้สะท้อนให้ได้เห็นถึงผลที่ตามมาจากการรุกคืบของความเจริญ ทว่าเพื่อให้ผู้ชมรู้สึกผ่อนคลาย เจ้าของผลงานได้เลือกที่จะถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของการ์ตูน

ตัวอย่างเช่นผลงานเทคนิคสื่อผสม เมืองวุ่นวาย(Turbulent City) ของ จุรีรัตน์ พงษ์สุระ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี

“ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่เจริญมากขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งการประกอบกิจการห้างร้านต่างๆเกิดขึ้นมาก จำนวนประชากรในเขตเมืองที่เพิ่มขึ้นนจากการอพยพย้ายถิ่นจากชนบทเข้าไปตั้งถิ่นฐานในเมืองจนทำให้พื้นที่บางส่วนกลายเป็นที่พักอาศัยอย่างแน่นหนา

โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลและงานประเพณีต่างๆ เช่น งานประเพณีแห่เทียนพรรษา ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด การยกพวกตีกันของกลุ่มวัยรุ่น การแข่งรถยามวิกาล ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมรบกวนชาวบ้าน”

แรงบันดาลใจของศิลปินไม่มีขีดจำกัดเพราะในนิทรรการครั้งนี้ แม้แต่เรื่อง “การสอดรู้สอนเห็นและการนินทา” เชื้อโรคร้ายที่แพร่ระบาดไปทุกสังคม ก็ถูกหยิบมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน

ดังเช่นผลงานจิตรกรรม สภาวะแห่งการสอดรู้สอดเห็น (Conditions of Curiosity) ของ ดุษชิดา จันทวงศ์ มหาวิทยาลัยบูรพา

“จากประสบการณ์และการสังเกตพฤติกรรมการสอดรู้สอดเห็น และการนินทาของผู้คนรอบข้าง ทำให้ข้าพเจ้าได้แรงบันดาลใจ แนวคิด โดยพัฒนาจากจุดเริ่มต้นของสังคมเล็กๆใกล้ตัวจนไปสู่สังคมขนาดใหญ่ ผู้คนที่มากขึ้นเรื่องราวที่มากขึ้น สถานการร์ที่เจอซับซ้อนขึ้นของคำพูด และท่าทางของบุคคลเหล่านั้น ได้เป็นเนื้อหาและนำมาซึ่งการแสดงออกทางด้านจินตนาการ ที่เกิดจากการใช้เส้นและสีถ่ายทอดไปบนรูปทรงของผู้คนที่แสดงอากัปกิริยาต่างๆของการสอดรู้สอดเห็น และนินทา ตามความคิดและจินตนาการเฉพาะตัว เพื่อสะท้อนความเป็นไปของพฤติกรรมกลุ่มคนในสังคม”


แม้กระทั่งเพลงที่ชอบฟังอยู่เป็นประจำ ที่ได้กลายมาเป็นผลงานเทคนิคฉลุกระดาษอันสวยงามชื่อ Let's Imagine ของ พัฒนทิพย์ กิจไกรลาศ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พัฒนทิพย์บอกเล่าว่ารู้สึกชอบในบทเพลงชื่อ Imagine ของ John Lennon ตั้งแต่ได้ฟังครั้งแรกและยังไม่รู้ความหมายของเพลง

เมื่อได้รู้ว่าเพลงมีเนื้อหาเกี่ยวกับสันติภาพ ก็ยิ่งรู้สึกชอบมากขึ้นและนำไปสู่การไล่ฟังเพลงอีกหลายๆ เพลงของนักร้องคนเดียวกัน

ประกอบกับความชอบส่วนตัวที่ชอบทำงานฉลุกระดาษ เป็นงานศิลปะและการ์ดอันเล็กๆ

เมื่อคิดทำงานศิลปะชิ้นใหญ่ เพลงที่ชอบจึงกลายร่างมาเป็นผลงานฉลุกระดาษชิ้นใหญ่ที่สื่อเรื่องสันติภาพ การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขของมนุษย์และธรรมชาติรอบตัว

“ทุกองค์ประกอบในงานชิ้นนี้มีความหมายในตัวมันเอง ต้นไม้ตรงกลางอันใหญ่ สื่อแทนโลกใบใหญ่หนึ่งใบ ที่แผ่กิ่งก้านสาขา เชื่อมทุกส่วนของโลกไว้ด้วยกัน”

และในท่ามกลางองค์ประกอบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพืชพันธุ์และสัตว์ต่างๆมีมนุษย์ตัวเล็กๆ ในท่าทางต่างๆ ปรากฎอยู่ในชิ้นงานด้วย

“อยากจะสื่อว่า มนุษย์เป็นเพียงส่วนประกอบเล็กๆในโลกใบใหญ่ แต่บางทีในชีวิตจริงที่เราพบในปัจจุบัน มนุษย์ชอบคิดว่าตัวเองเป็นใหญ่ในโลก

งานชิ้นนี้ต้องการจะสื่อว่าที่จริงแล้วมนุษย์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็กๆเท่านั้นที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติส่วนอื่นๆ”

ไม่เพียงเท่านั้นในงานชิ้นเดียวกันนี้ กระดาษยังถูกฉลุเป็นประโยคภาษาอังกฤษหลายประโยค และฉลุเป็นเนื้อเพลง Imagine ล้อมรอบชิ้นงานทั้งชิ้นเอาไว้

“มีประโยค I am Dream ซึ่งตัดทอนมาจากประโยค You may say I'm a dreamer. But I'm not the only one. จากเพลงImagineที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานชิ้นนี้

เพื่อสื่อว่าตัวหนู หรือเจ้าของผลงานเป็นDreamer เพื่อถามกลับไปยังคนที่ชมงานว่า แล้วคุณล่ะ? เพราะหนูเชื่อว่าหนูไม่ใช่คนเดียวหรอก ที่กำลังคิดถึงสันติภาพ การอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัวดังเช่นองค์ประกอบต่างๆในภาพนี้

นอกจากนี้ยังมีความพูดต่างๆที่ได้มาจากศึกษาประวัติของJohn Lennon หรือคำพูดที่เขาใช้ในการรณรงค์ เกี่ยวกับสันติภาพเช่น War is Over ,No War หรือแม้แต่ Give Peace a Chance ชื่อเพลงอีกเพลงของเขา เพราะJohn Lennonไม่ได้ทำเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสันติภาพแค่เพลงImagine แค่เพลงเดียว

แต่ความที่อยากให้องค์ประกอบทั้งหมดอยู่ภายใต้แรงบันดาลใจที่ได้รับจากเพลง Imagine ก็เลยนำเนื้อเพลงมาฉลุเป็นกรอบของชิ้นงานทั้งหมด”

เหล่านี้เป็นเพียงผลงานศิลปะในนิทรรศการที่เลือกมาให้ชมเป็นตัวอย่าง ยังมีผลงานศิลปะอีกหลายชิ้นที่น่าสนใจและสมควรไปชมด้วยตาและรู้สึกด้วยใจตนเอง

นิทรรศการ “ศิลปนิพนธ์ยอดเยี่ยม ปี 2557” วันที่ 29 เมษายน – 3 สิงหาคม 2557 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถนนราชดำเนินกลาง

เปิดทำการทุกวัน (ยกเว้นวันพุธ) เวลา 10.00 – 19.00 น. โทร.0 -2281-5360 – 1


ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It