Art Eye View

ชมผลงานวิดีโออาร์ต 4 ศิลปินอาเซียน ภาคต่อของนิทรรศการ Missing Links

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—ได้เวลาชมภาคต่อของนิทรรศการ Missing Links นิทรรศการแสดงงานศิลปะประเภท งานวิดีโออาร์ต (Video Art) และงานภาพเคลื่อนไหว (Moving Image)ที่มีผลงานของศิลปินจากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาจัดแสดงให้ชมยาวนานกว่า 5 เดือน ณ พื้นที่ของหอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน

นิทรรศการที่ไม่ได้ต้องการจะแสดงให้เห็นภาพรวมของสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ แต่มุ่งหวังที่จะหยิบยกบางประเด็นหลักที่ยังคงมีให้เห็นในปัจจุบัน เช่น ความเป็นสมัยใหม่ สภาพสังคมเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะสังคมเมืองและสังคมชนบท การอพยพย้ายถิ่นฐาน การพลัดถิ่น และเศรษฐกิจข้ามภูมิภาค

หลังจากที่นิทรรศการภาคที่ 1 ในชื่อ Modernization and Urban Conditions (ความเป็นสมัยใหม่และสภาวะความเป็นเมือง) ซึ่งจัดแสดงผลงานภาพเคลื่อนไหวของ จอมเปท คุสวิดานันโต (สาธารณรัฐอินโดนีเซีย), มาเรีย ทานิคูชิ (สาธารณรัฐฟิลิปปินส์), อูดัม ทราน เหงียน (สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม/สหรัฐอเมริกา), เทะ หม่อ นาย (สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า) และ สุริยะ ภูมิวงศ์ (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) ได้จัดแสดงไปแล้ว ระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม – 31 กรกฎาคม พ.ศ.2558

ระหว่างนี้ (วันนี้ – วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2558 ) ภาคต่อนิทรรศการ Missing Links ในชื่อ Diaspora and Identity (การพลัดถิ่นและการสร้างอัตลักษณ์) กำลังจัดแสดงผลงานของ 4 ศิลปิน ได้แก่ นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ (ประเทศไทย),อะนีดา โยเอ อาร์ลี, แขม อาร์ต และสตูดิโอ รีโวลต์ (ราชอาณาจักรกัมพูชา),ไบรอัน โกถอง ทาน (สาธารณรัฐสิงคโปร์) และ คริส ชอง ชาน ฟุย (มาเลเซีย) ซึ่งเป็นผลงานวิดีโออาร์ต (Video Art) และงานภาพเคลื่อนไหว (Moving Image) ที่นำเสนอภาพสะท้อนของ “การพลัดถิ่นและการสร้างอัตลักษณ์” ของแต่ละประเทศที่ปรากฏเป็นผลให้เห็นในปัจจุบัน รวมถึงประวัติศาสตร์การเชื่อมโยงความสัมพันธ์สู่การเป็น “สมาคมอาเซียน” อันแข็งแกร่ง
 
 
 

ผลงาน The storm continues to rage outside and the wind sweeps relentlessly across the land from the same direction โดย นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ เป็นผลงานภาพเคลื่อนไหวเชิงสารคดีความยาว 35.05 นาที ซึ่งเป็นระยะเวลาจริงที่ศิลปินได้ลงพื้นที่บริเวณพรมแดนจังหวัดระนองและเกาะสองของประเทศเมียนมาร์ เพื่อตามติดชีวิตของหญิงชาวเมียนมาร์ที่ตัดสินใจพลัดถิ่นมาทำงานในประเทศไทย สะท้อนให้เห็นถึงพลวัตของการเคลื่อนย้าย ด้วยเหตุผลเชิงเศรษฐกิจและการทำชีวิตให้ดีขึ้น


ผลงาน NeangNeak (Serpent Goddess)โดย อะนีดา โยเอ อาร์ลี, แขม อาร์ต และสตูดิโอ รีโวลต์ เป็นภาพยนตร์เชิงทดลองความยาว 3.50 นาที ที่พูดถึง “โลกสมัยใหม่” โดยมีจุดประสงค์ให้ผู้ชมได้มองย้อนกลับไปและเห็นถึงเรื่องราวของการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานและการเดินทางเพื่อค้นพบตัวเอง รวมถึงจุดเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของราชอาณาจักรกัมพูชาระหว่างความดั้งเดิมและความเป็นสมัยใหม่ ตลอดจนการเชื่อมโยงวัฒนธรรมที่มีความจำเพาะเจาะจงให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น


ผลงาน Imelda Goes To Singapore โดย ไบรอัน โกถอง ทาน เป็นละครประกอบดนตรีสุดเพ้อฝันชวนขำความยาว 2.35 นาที กับเรื่องราวของแม่บ้านคนหนึ่งในประเทศสิงคโปร์ ที่มีหน้าตาคล้ายกับ “อิเมลด้า มาร์กอส” อดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 กำลังขับร้องเพลง Dahil Sa Iyo (Because of You) ซึ่งเปรียบเปรยให้เห็นถึงยุคมืดทางการเมืองที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงการปกครองในระบอบมาร์กอส


และผลงาน BLOCK B  โดย คริส ชอง ชาน ฟุย เป็นผลงานภาพยนตร์สารคดีความยาว 20 นาที ที่บอกเล่าถึงภาพชีวิตของชุมชนชาวทมิฬที่อาศัยอยู่ในอาคารในย่าน Brickfields เมืองกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งย่านนี้ นอกจากจะเป็นศูนย์รวมของการขนส่งมวลชนแล้ว ยังเป็นย่านค้าประเวณี ร้านกาแฟอินเดีย วัด โบสถ์ และมัสยิด การผสมปนเปของเสียงจำนวนมาก เหมือนเป็นการจำลองความคิดเห็นที่แตกต่างทั้งในเรื่องของความซับซ้อนทางศาสนาและความไม่มั่นคงของประเทศนี้

นิทรรศการ Missing Links ภาคที่ 2 เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่วันนี้ – 31 ตุลาคม พ.ศ.2558 เวลา 09.00-20.00 น. ณ หอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน ซ.เกษมสันต์ 2 (สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ) โดยไม่เสียค่าเข้าชม

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It