Advice

สวยรวยไม่พอ ต้องฉลาดด้วยHow to วิธีการดูเพชรแท้ เขี่ยเพชรเทียม

Pinterest LinkedIn Tumblr

ขึ้นชื่อว่าผู้หญิงอ่ะนะ โปรดปราน “เพชร” เป็นที่สุด ยิ่งถ้าได้(ฟรี)จากคนรักด้วย เพชรเม็ดนั้นยิ่งมีค่านัก อิอิ แหม แต่ท่ามกลางเศรษฐกิจตกสะเก็ด จะซื้อหาเพชรทั้งทีก็กลัวโดนหลอกน่ะสิ!?

เมริกันเอ็กซ์เพรส จึงจัดอบรมวิธีดูเพชร ที่โรงแรมโฟรซีซัน โดยเชิญ คุณเปิ้ล หิรัญญา ตั้งสืบกุล เจ้าของร้านเพชรชื่อดัง ABC Jewelry มาเป็นวิทยากร


คุณเปิ้ล เกริ่นถึงสาเหตุที่มาสอนเทคนิคง่ายๆ ของการดูเพชรว่า แม้ปัจจุบันเวลาทำการซื้อขายเพชรจะมีใบรับรอง (certificate) อยู่แล้ว แต่ก็ยังมีบางครั้งที่มิจฉาชีพ อาจนำมาหลอกลวง เช่น อ้างว่าของร้อน ต้องการรีบขาย

เมื่อไม่นานมานี้ ยังมีตำรวจ มาขอความช่วยเหลือกับคุณเปิ้ลว่า ขอให้ช่วยดูเพชรให้หน่อยว่าเป็นเพชรแท้ หรือเพชรเทียม เพราะมีกรณีฟ้องร้องกันอยู่ ตำรวจก็ดูเรื่องเหล่านี้ไม่ออก

เธอจึงคิดว่าหากนำความรู้เรื่องวิธีดูเพชรแบบง่ายๆ มาเผยแพร่ ก็น่าจะช่วยลดปัญหาการหลอกลวงได้บ้าง หรืออย่างน้อยที่สุดก็น่าจะเป็นการเพิ่มเติมความรู้ให้กับผู้ชื่นชอบ หรือสนใจเรื่องเพชรได้
เทคนิคง่ายๆ 7 ประการ สำหรับการดูเพชร

1. ดูที่ความหนาแน่น น้ำหนักของเพชร จะมีลักษณะเฉพาะเจาะจง ( specific gravity) คือ ไม่มีสสารใดจะมีน้ำหนักเท่านี้ ซึ่ง specific gravity ของเพชรจะอยู่ที่ 3.52 ข้อมูลนี้จะนำมาใช้ประโยชน์ได้เช่น เพชร 1 กระรัต จะมีน้ำหนักที่ 0.22 กรัม ซึ่งเบามาก แต่หากเป็นของที่ใช้เลียนแบบเพชร ส่วนใหญ่จะหนักกว่าเป็นเท่าตัว แต่ถ้าเป็นของจำพวกพลาสติกก็จะเบามาก เมื่อจับดูก็แทบจะไม่รู้สึกเลยว่ามีอะไรอยู่ในมือ ซึ่งเรื่องน้ำหนักนี้แม้จะบอกไม่ได้ 100% แต่ก็เป็นตัวบ่งบอกว่าเราต้องระวัง และตั้งข้อสังเกตได้

2. ดูความแข็ง เพราะเพชร มีอะตอมที่อยู่ใกล้กันมาก ซึ่งผลจากการที่อะตอมอยู่ใกล้กัน เวลาช่างนำมาเจียระไน ขอบที่ได้ก็จะมีความคมเฉียบ เทียบง่ายๆ ได้กับพลาสติก ซึ่งเป็นโพลีเมอร์( Polymer) จะมีอะตอมจะอยู่ห่างกัน ต่อให้ช่างเจียระไนเก่งแค่ไหน ก็ไม่มีทางได้ขอบที่คม เพราะขอบพลาสติกจะยืดหยุ่น นอกจากนี้การเจียระไนเพชรนั้นจะปรากฎขอบบริเวณรอยเจียระไนของเพชร หรือเกิลเดิล (girdle) ลักษณะเป็นเส้นๆ ที่ศัพท์เทคนิคเรียกว่า “หนวดเพชร”


3. เหลี่ยมเพชรไม่พบเส้นซ้อน
หรือขอบเหลี่ยมเพชรนั้น เมื่อใช้กล่องส่องแล้ว จะเห็นได้ว่าทุกด้านเป็นเหลี่ยมเป็นมุม ไม่พบเส้นซ้อน ดังนั้นหากเราส่องเข้าไปใกล้ๆ ที่มุมใดมุมหนึ่ง แล้วเห็นเป็นเป็นลักษณะโค้งๆ แสดงว่าสิ่งนั้นไม่ใช่เพชร

ข้อควรจำอีกอย่างเวลาดูเพชรคือ จะต้องไม่ส่องดูแค่มุมเดียว ต้องส่องดูหลายๆ มุมไปจนรอบ


4. ดูรอยแตก
หากเป็นตำหนิแตกของเพชร จะแตกเป็นรูปเปลือกไม้ คือ ร่นลงมาเรื่อยๆ เป็นขั้นบันได

แต่หากเป็นวัสดุอื่น ส่วนใหญ่เมื่อแตกจะเป็นรอยเว้า

5. การดูค่าดัชนีหักเห (วิธีนี้ใช้ทดสองได้เฉพาะเพชรที่มีลักษณะเม็ดกลมที่มีสัดส่วน 1 ต่อ2 ต่อ3) ซึ่งเพชรที่ดูมีสัดส่วนแบบนี้ (เพชรส่วนใหญ่มักทำเป็นลักษณะนี้) หากเป็นเพชรแท้ เมื่อแสงเข้ามายังตัวเพชร แสงทั้งหมดจะหักเหสะท้อนกลับไปที่ตาได้หมด จะไม่มีแสงทะลุลงไปถึงด้านล่างเลย

วิธีทดสอบคือ คว่ำหน้าเพชรลง แล้วลากผ่านกระดาษที่มีตัวหนังสือ มองลงไปตรงๆ หากเห็นตัวหนังสือ ก็ระบุได้เลยว่า สิ่งนั้นไม่ใช่เพชร แต่หากมองไม่เห็นตัวหนังสือ ก็อย่าเพิ่งสรุป ต้องเอาไปทดสอบแบบอื่นต่อนะคะ


6. การกระเจิงแสง
เพชรจะกระเจิงแสงออกเป็น 7 สี สะท้อนกลับมาที่ตาของเรา ซึ่งการกระเจิงแสงของเพชรจะ เรียกว่า “elegant” คือ สวยสง่างามพอดิบพอดี โดยแสงทั้ง 7 สี จะไม่สดจนเกินไป อย่างเพชรรัสเซีย จะสีสดมาก แสงจะจัดมาก หรือพลอยเพทาย (พลอยที่มีลักษณะคล้ายเพชร) จะมีแสง 7 สีเหมือนกัน แต่จะอ่อนกว่าเพชร

7. ความสม่ำเสมอของตำหนิเพชร วิธีนี้ใช้แยกได้ดีที่สุดระหว่าง เพชรแท้ และเพชรเทียม อย่าง Synthetic Moissanite (พลอยชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเหมือนเพชรมาก เดิมเกิดเองตามธรรมชาติแต่ภายหลังมีการนำมาผลิตด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์) โดยวิธีสังเกตคือ หากเป็นเพชรจำพวกSynthetic mouse a nite เมื่อส่องดูตำหนิภายในเพชร จะมีความสม่ำเสมอ ต่างจากเพชรแท้ที่เกิดตามธรรมชาติที่ตำหนิจะไม่เท่ากัน ดังนั้นหากเห็นตำหนิที่เป็นแบบแผนมากเกินไป ก็ต้องตั้งข้อสังเกตว่าอาจไม่ใช่เพชร หรือเป็นสิ่งที่สร้างในห้องแลป (Lab) หรือเปล่า

* วิธีดูเพชรที่กูรูไม่สนับสนุน

– การทดสอบโดยเอาเพชรมาถูกัน เพราะเพชรมีมูลค่ามาก หากขูดกันแล้วปรากฎว่าเป็นเพชรแท้ เพชรนั้นก็จะเสียหาย

– การเอาปากเป่า หรือวิธีที่ใช้เอาแหวนมาอังที่ปาก โดยเชื่อว่าถ้าเป็นเพชรแท้จะไม่นำความร้อน เมื่อเป่าไปแล้วจะไม่เป็นไอ (ไอน้ำไม่เกาะ) แต่ถ้าเป็นธาตุอื่นจะรับไอร้อนมาสักระยะหนึ่ง ทำให้เกิดเป็นไอน้ำบริเวณผิว ขอบอกว่ากรณีนี้ใช้ไม่ได้เสมอไป เพราะขึ้นอยู่กับความเร็วของคน เช่น บางคนเป่าแล้วดึงมือขึ้นมาเร็วมาก แต่อีกคนดึงมือขึ้นมาช้า แล้ว (หากมีอายุมาก) กว่าจะเพ่งตาไปมองอีก ไอน้ำที่มีก็หายไปแล้ว

– การทดสอบโดยอาศัยหลักแสงยูวี (UV-Ultraviolet) วิธีการนี้ใช้หลักคิดที่ว่าบางครั้งในเพชรจะมีธาตุโบรอน ( Boron) ปะปนมาด้วย เมื่อไปอยู่ใต้แสงยูวี โบรอนจะเรืองแสงสีฟ้า แต่กรณีนี้หากเพชรเม็ดนั้นไม่มีโบรอนปนอยู่ มีแต่คาร์บอน (Carbon) ล้วน (ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นไปได้) เพชรเม็ดนั้นก็จะไม่เรืองแสงสีฟ้า แต่มันก็คือเพชรเหมือนกัน ดังนั้นวิธีการนี้..กูรูคุณเปิ้ลของเราจึงไม่แนะนำค่ะ

* เก็บตกบรรยากาศจดจ่อเรียนรู้ดูเพชรแท้-เพชรเทียม

Comments are closed.

Pin It