Advice

สิทธิเด็ก กับการกลับบ้านก่อน 4 ทุ่ม/อ้วน อารีวรรณ

Pinterest LinkedIn Tumblr

jatung_32@yahoo.com

ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) โดยการภาคยานุวัติ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2535 และมีผลใช้บังคับกับประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2535 หรือเมื่อ 19 ปีก่อน

การภาคยานุวัติ* หมายความว่า รัฐบาลไทยได้ให้ความยินยอมที่จะผูกพันตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยที่ไม่ได้เข้าร่วมในการเจรจาทำสนธิสัญญาตั้งแต่ต้นและไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญานี้มาก่อน แต่เป็นการเข้าผูกพันในภายหลังจากการบังคับใช้สนธิสัญญาแล้ว ดังนั้นแม้ว่ารัฐบาลไทยได้เคยละเมิดวัตถุประสงค์ของสนธิสัญญานี้ก่อนการภาคยานุวัติ ก็ไม่ต้องรับผิดต่อการละเมิดดังกล่าว

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ได้บัญญัติว่า เด็ก คือ มนุษย์ทุกคนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส

เนื้อหาในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ประกอบด้วยบทบัญญัติ 54 ข้อ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของเด็กโดยตรง โดยเน้นหลักการขั้นพื้นฐาน 4 ประการ คือ

1. ห้ามการเลือกปฏิบัติต่อเด็ก และการให้ความสำคัญแก่เด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของเด็ก ในเรื่องเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง ชาติพันธุ์ หรือสังคม ทรัพย์สิน ความทุพพลภาพ การเกิด หรือสถานะอื่นๆ ของเด็ก หรือบิดามารดา หรือผู้ปกครองทางกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กมีโอกาสที่เท่าเทียมกัน

2. การกระทำหรือการดำเนินการทั้งหลายต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นอันดับแรก

3. สิทธิในการมีชีวิต การอยู่รอด และการพัฒนาทางด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม ของเด็ก

4. สิทธิในการแสดงความคิดเห็นของเด็ก และการให้ความสำคัญกับความคิดเหล่านั้น

ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ได้กล่าวว่า เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลและช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยครอบครัวซึ่งเป็นกลุ่มพื้นฐานของสังคมและเป็นสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ สำหรับการเจริญเติบโตและความอยู่ดีกินดีของสมาชิกทุกคน โดยเฉพาะเด็กควรจะได้รับการคุ้มครองและการช่วยเหลือที่จำเป็น เพื่อที่จะสามารถมีความรับผิดชอบในชุมชนของตนได้ อย่างเต็มที่ และเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการด้านบุคลิกภาพได้อย่างกลมกลืนและเต็มที่ เด็กจึงควรจะเติบโตในสิ่งแวดล้อมของครอบครัว ภายใต้บรรยากาศแห่งความรัก ความเข้าใจ และความผาสุก

ด้วยเหตุที่เด็กยังไม่เติบโตเต็มที่ ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ เด็กจึงต้องการการพิทักษ์และการดูแลเป็นพิเศษ รวมถึงต้องการการคุ้มครองทางกฎหมายที่เหมาะสม

และเมื่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เห็นว่าเด็กที่อายุไม่ถึง 18 ปี ยังไม่เติบโตเต็มที่ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ต้องการการพิทักษ์และดูแลเป็นพิเศษ รวมถึงต้องการการคุ้มครองทางกฎหมายที่เหมาะสม อันเป็นที่มาของหลายมาตราในประมวลกฎหมายอาญาที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งบัญญัติให้เด็กไม่ต้องรับโทษหรือได้รับการลดโทษทางอาญา ยกตัวอย่าง เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 73 ที่บัญญัติว่าเด็กอายุยังไม่เกินสิบปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้พนักงานสอบสวนส่งตัวเด็กนั้นให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กเพื่อดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

หรือ มาตรา 75 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดอายุกว่า 15 ปี แต่ต่ำกว่า 18 ปี กระทำการอันกฎหมาย บัญญัติ เป็นความผิด ให้ศาลพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบ และสิ่งอื่นทั้งปวงเกี่ยวกับผู้นั้นในอันที่จะควร วินิจฉัยว่า สมควรพิพากษาลงโทษผู้นั้นหรือไม่ ถ้าศาลเห็นว่าไม่สมควรพิพากษาลงโทษ ก็ให้จัดการตามมาตรา 74 หรือถ้าศาลเห็นว่าสมควรพิพากษาลงโทษ ก็ให้ลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดลงกึ่งหนึ่ง

อีกทั้ง “สิทธิเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก” หรือ “สิทธิเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546” ก็มีหลักกฎหมายที่ไม่แตกต่างกัน

ดังนั้นหากเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องการพิทักษ์และดูแลเด็กเป็นพิเศษ ดังที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างๆ ว่า การให้เด็กอายุต่ำว่า 18 ปี ไม่ให้ออกนอกเคหะสถานบ้านพัก โดยไม่มีเหตุอันสมควร หลังเวลา 4 ทุ่ม หรือ 22.00 น. เป็นมาตรการพิทักษ์เด็ก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย “พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546” ดิฉันก็ขอให้ท่านเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหลายยึดถือบทบัญญัติในมาตรา 22 ของกฎหมายดังกล่าวเป็นสำคัญ นั้นคือ “การปฏิบัติต่อเด็ก ไม่ว่ากรณีใด ให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ และไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม”

ทราบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีแนวคิดของการแก้ปัญหาเด็กประพฤติตนไม่เหมาะสม หรือ มีพฤติกรรมส่อไปในทางไม่เหมาะสม โดยการเอาผิดกับพ่อแม่ หรือผู้ปกครองที่ปล่อยปละละเลยให้บุตรหลานอยู่ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสมกับวัย หรือเกี่ยวข้องกับเหตุอาชญากรรมต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 78 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก โดย พ่อแม่ หรือผู้ปกครอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สิ่งที่น่าห่วงใย คือ การนำตัวเด็กไปสอบสวนและทำประวัติที่สถานีตำรวจในพื้นที่ ควรจะต้องกระทำหรือไม่ ? หากเป็นต่างประเทศ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจพบเจอเด็กในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม ก็จะใช้วิธีโทรศัพท์ติดต่อเชิญตัวผู้ปกครองมารับทราบเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กก่อน และหากพบว่า เยาวชนรายใดเคยมีประวัติในลักษณะดังกล่าวเกิน 2 ครั้ง จึงออกเป็นเหมือนใบสั่งให้เด็กและพ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องเสียค่าปรับและเข้ารับการอบรมในโรงเรียนพิเศษที่จัดตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ เป็นต้น

มาตรการพิทักษ์เด็กตามแนวคิดของผู้บัญชาตำรวจแห่งชาติเช่นนี้ อาจทำให้เด็กบางส่วนรู้สึกว่า ตนเองกำลังถูกละเมิดสิทธิเด็ก ทำไมถึงจะออกไปไหนหลัง 4 ทุ่ม ไม่ได้? จะออกไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อไม่ได้หรือไง? หรือจะแวะทานข้าวก่อนกลับบ้านหลังเลิกเรียนพิเศษก็ไม่ได้หรือ? แล้วถ้าต้องอยู่ทำกิจกรรมงานกีฬาสีที่โรงเรียนจนดึกล่ะ?

ในประเด็นที่เด็กตั้งคำถามมา ก็ต้องให้เด็กย้อนกลับไปศึกษาเรื่องอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอีกสักครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า สิ่งที่เป็นกังวลไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ เรามีทางออกได้เสมอ ในกรณีที่เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ก็อาจจะต้องวางแผนการดำเนินชีวิตประจำวันใหม่ เช่น การซื้ออาหารแห้งหรือหยูยาเก็บไว้ในเคหะสถานบ้านพัก หรือครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็ต้องคิดเผื่อเวลาเดินทางให้ลูกศิษย์กลับถึงบ้านก่อน 4 ทุ่มด้วย หรือหากจำเป็นจะต้องเรียนพิเศษจนเลิกดึก พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครูบาอาจารย์ที่สอนพิเศษเอง ก็ควรจะทำหนังสือยืนยันว่าลูกหลานหรือลูกศิษย์ของตนเองเรียนพิเศษเลิกตอนกี่ทุ่ม เป็นต้น

อยากบอกว่า ในประเทศที่มีเสรีภาพสูงอย่างสหรัฐอเมริกา ก็บัญญัติเป็นกฎหมายพื้นฐานที่ทุกคนปฏิบัติว่า เด็กทุกคนถ้าจะออกจากบ้านหลัง 4 ทุ่ม ต้องมีพ่อแม่หรือผู้ปกครอง หรือเป็นตัวแทนของผู้ปกครองเดินทางไปด้วย ในกรณีที่เด็กมีความจำเป็นต้องเดินทางคนเดียว ก็ต้องมีเอกสารของพ่อแม่หรือผู้ปกครองพกติดตัว ยืนหยัดเหตุผลความจำเป็นนั้น โดยมีเบอร์โทรศัพท์ของพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถติดต่อกลับไปได้

สุดท้ายนี้ ก็ต้องกลับมาถามพวกผู้ใหญ่อายุเกิน18 ปี อย่างเราท่านทั้งหลายว่า ปัจจุบันนี้ “สังคมไทยไร้ราก ครอบครัวไทยไร้แรงยึดเหนี่ยวลูกหลาน” ถึงขนาดที่ลูกหลานไม่อยากอยู่ในบ้านกันแล้วหรืออย่างไร? พ่อแม่ ผู้ปกครองอย่ามัวแต่เพ่งโทษคนอื่นเลย เราต้องถามตัวเองว่า ที่ผ่านมาเราเลี้ยงดูลูกหลานของเราแบบไหน? หมดยุคที่จะให้เด็กไปเรียนรู้ผิดชอบชั่วดีจากสังคมภายนอกแล้ว

ยุคสมัยนี้ พ่อแม่ หรือผู้ปกครอง ต้องพึงสังวรไว้ให้มาก หากเราไม่สามารถเลี้ยงดูลูกหลานของตนเองให้เป็นคนดีได้แล้ว เราเองก็อาจจะต้องเป็นฝ่ายติดคุกติดตะรางเสียเงินเสียทองอีกด้วย ดังนั้นการเลี้ยงดูลูกหลานจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องคิดกันตั้งแต่เริ่มสร้างครอบครัวค่ะ

>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net

Comments are closed.

Pin It