Advice

เคล็ดลับคว้างานในฝันของผู้หญิง กับสี่สาวมืออาชีพ ภาคแรก

Pinterest LinkedIn Tumblr

By Lady Manager

หากให้นึกถึงอาชีพในฝัน ที่เป็นยอดปรารถนาของสาวๆ คงหนีไม่พ้น แอร์โฮสเตส ที่ฮิตติดลมบนมาเนิ่นนาน เช่นเดียวกับผู้ประกาศข่าวผู้ดำเนินรายการ ที่ฮิตตามติดมา งานด้านประชาสัมพันธ์ก็ไม่น้อยหน้า สาวช่างเจรจาต่างใฝ่ฝันอยากได้เป็นอาชีพประจำกาย และที่ปฏิเสธไม่ได้เลย กับอาชีพสุดฮอตในปัจจุบัน พริตตี้ ที่ไม่ใช่แค่หน้าสวย อกบึ้ม แต่ยังต้องมีสมองด้วย!

มาฟังคำบอกเล่าประสบการณ์ตรงจาก “ตัวจริง” ผู้อยู่ในอาชีพยอดฮิตที่สาวๆ ใฝ่ฝันกันสักหน่อย ต้องใช้ความพยายามเพียงใด มีคุณสมบัติแบบไหน กว่าจะก้าวถึงฝันได้… อาชีพที่ดูสวยหรูยอดปรารถนานี้ แท้จริงแล้วหลังฉากมีอุปสรรคใดต้องฝ่าฟันบ้าง และอะไรคือ เคล็ดลับที่ทำให้พวกเธอ กลายเป็นมืออาชีพในสายงานเหล่านี้ได้ ?

แอร์โฮสเตส: ทิญานัน ตันติเวส
นางฟ้าแห่งการบินไทย บริการดูแลความปลอดภัยผู้โดยสารมากว่า 14 ปี

ไม่ว่าจะนานแค่ไหน ยังไง๊ยังไง อาชีพแอร์โฮสเตส (Air Hostess) ก็ยังคงเป็นที่นิยมของสาวไทย มาทุกยุคทุกสมัย เพราะนอกจากจะได้แต่งเครื่องแบบสวยๆ แล้ว ยังได้ท่องเที่ยวไปรอบโลกอีกซะด้วย!

คุณทิญานัน ตันติเวส หรือคุณก้อย ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งแอร์โฮสเตสของบริษัทการบินไทยมา กว่า 14 ปี ปัจจุบันเธอทำหน้าที่บริการและดูแลความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารชั้นเฟิร์สคลาส (First Class) เส้นทางการบินแถบทวีปยุโรป

คุณก้อยเล่าว่า หลังจบมัธยมจากโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย เธอมุ่งเรียนด้านบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือเอแบค (ABAC) ด้วยนิสัยเดิมเป็นคนขี้อายทำให้ไม่ค่อยกล้าพูดคุยกับใครนัก แอร์โฮสเตสจึงมิใช่อาชีพในฝันของเธอเลย แต่หลังเรียนจบและทำงานด้านการเงินอยู่ราว 2 ปี จู่ๆ เธอก็มีความคิดอยากเป็นแอร์โฮสเตส เพราะอยากท่องเที่ยวไปรอบโลก ซึ่งจากจุดเริ่มต้นนั้นเอง ที่ทำให้สาวคนนี้ประกอบอาชีพแอร์โฮสเตสมาจนถึงปัจจุบัน

เคล็ดลับความสำเร็จ “การจะทำอาชีพนี้ให้ประสบความสำเร็จ และมีความสุข ก้อยว่าสิ่งสำคัญคือ ต้องมองโลกในแง่ดีเสมอ บางไฟล์ท (flight เที่ยวบิน) เมื่อเราไปบิน ผู้โดยสารเต็มเครื่อง ก็ไม่ใช่คิดว่าเราจะต้องเหนื่อยหรือเปล่า แต่ควรคิดว่า ถือเป็นโชคดีที่ลูกค้ามาใช้บริการเยอะ ผลประกอบการของบริษัทเราก็ดี อย่างตัวก้อยที่มาทำงานตอนแรกคิดแต่ว่า เป็นแอร์ฯ ดีตรงที่ได้เที่ยว ได้เงิน แต่จริงๆ แอร์โฮสเตสเป็นอาชีพที่สอนอะไรเราเยอะมากเลย สอนเราเรื่องธรรมะด้วย

เราต้องควบคุมใจตัวเอง ไม่ใช่คิดแต่เรื่องของตัวเอง ความรู้สึกของตัวเอง แต่คุณต้องคิดถึงคนอื่นด้วย เอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้าเรามีความสุขกับการทำงาน เราคิดว่าไฟล์ทนี้เราเต็มที่ เราจะไปส่งผู้โดยสารให้ถึงจุดมุ่งหมายอย่างปลอดภัยและมีความสุข เราก็จะรู้สึกว่า ไฟล์ทนี้จะได้ไปทำความดีแล้วนะ จะได้ไปเจอเรื่องสนุก ซึ่งแม้มันอาจจะมีปัญหา แต่ก็คิดเสียว่า ไม่เป็นไร มีปัญหามาเราก็แก้ ดูสิว่าเราจะแก้ปัญหาได้หรือเปล่า ก้อยว่ามันเป็นงานที่ท้าทาย ถ้าเราคิดว่าจะไปสนุกกับงาน เราก็จะทำงานได้อย่างมีความสุข” แอร์โอสเตสมากประสบการณ์บอกถึงเคล็ดลับที่เธอว่า ไม่ใช่แค่ทำให้ประสบความสำเร็จ แต่ยังทำให้เธอมีความสุขกับงานนี้มาได้อย่างยาวนาน

หลังฉากที่ไม่ได้สวยหรู “การเป็นแอร์ฯ เจอปัญหาสารพัด เพราะคนเดินทาง เขาไม่ได้มาเที่ยวอย่างเดียว บางทีก็มาธุระ มาทำงาน หรือมีเรื่องส่วนตัวของเขามา ทุกคนไม่ได้มาด้วยความเบิกบาน เขาอาจมีเรื่องในใจของเขา บางทีเขามาเจอเรา ซึ่งเขาอาจไม่ได้มองเราในแง่ร้ายหรอก แต่เขาคงมีเรื่องในใจมาเลยดูอารมณ์ไม่ดี เราก็ต้องหาวิธีว่า เราจะสื่อสารกับเขาอย่างไร บางไฟล์ท เครื่องบิน delay ล่าช้า มันก็ไม่ใช่ว่าแอร์ฯ จะไปซ่อมเครื่องได้ แต่แอร์ฯ จะทำอย่างไรให้ผู้โดยสารเข้าใจได้ว่า ถ้าเครื่องไม่พร้อม เราก็ยังไปไม่ได้ มันคือ เรื่องของความปลอดภัยจริงๆ ต้องหาวิธีสื่อสารกับเขา เช่นถ้าคุณกลัวต่อไฟล์ทไม่ทัน เราจะบอกกัปตันให้ ว่าเมื่อเครื่องลงจอด ให้คุณออกจากเครื่องคนแรกเลย เราต้องหาทางพูดคุย สื่อสารให้เขารู้สึกผ่อนคลาย ว่าเราพยายามช่วยเต็มที่

เพราะหน้าที่ของเรา สำคัญที่สุดคือ เรื่องความปลอดภัย ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินอะไร แอร์ฯ กับสจ๊วต (steward) จะเป็นคนที่ทำให้คุณรอดชีวิต จะเป็นคนเปิดประตู เป็นคนที่บอกผู้โดยสารว่าต้องทำอย่างไร เพราะผู้โดยสารส่วนใหญ่ไม่เข้าใจหรอกว่า ประตูฉุกเฉินอยู่ตรงไหนอย่างไร บางท่านอาจจะพอทราบ แต่เราฝึกมา เราเชี่ยวชาญ เราจะรู้ว่า อะไรเป็นอะไร ขั้นตอนเป็นอย่างไร เช่นเดียวกัน หากผู้โดยสารป่วย ไปเที่ยวมาเหนื่อยๆ ร่างกายอ่อนเพลีย มีโรคประจำตัว แอร์ฯ ต้องคอยดูแล คอยสอบถามว่ามีอะไรให้เราช่วยมั้ย คอยเรียกหมอ หรือปฐมพยาบาลต่างๆ แอร์ฯ ก็ต้องทำได้ ต้องมีการฝึกฝนอยู่ตลอด มันมากกว่าการเสิร์ฟ (serve) อาหาร แต่มันคือ การทำให้ผู้โดยสารถึงที่หมายอย่างปลอดภัย แต่ระหว่างทางเราก็ดูแลคุณ ทำให้คุณรู้สึกสบายเหมือนอยู่บ้าน”

มืออาชีพแนะ! สิ่งที่แอร์โฮสเตสต้องมี “สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เรื่อง safety awareness การตระหนักเรื่องความปลอดภัย อย่าประมาท อย่าไปคิดว่ามันไม่ใช่ มันคงไม่เกิด เราต้องฝึกเป็นคนที่คิดล่วงหน้าตลอดเวลา ว่าถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมาเราจะทำอย่างไร ป้องกันอย่างไร เห็นสิ่งผิดปกติ เราต้องรีบระวังเอาไว้ก่อน

คุณสมบัติอื่นๆ ที่สำคัญมากเลยคือ เรื่องภาษา และเรื่อง service mind การมีหัวใจบริการ อันนี้สำคัญมากเลย ไม่ใช่นิ่งดูดาย หรือทำไปเฉพาะหน้าที่ มันมีอะไรมากกว่านั้น มันต้องคิดถึงใจเขา ใจเรา ให้บริการอย่างเต็มใจ

ส่วนในเรื่องของภาษา ทุกวันนี้ถ้าจะมาสมัครเป็นแอร์ฯ ในความคิดก้อย ภาษาอังกฤษจะต้องได้อยู่แล้ว เพราะมันสำคัญมากที่เราจะต้องใช้สื่อสารกับผู้โดยสาร แต่ยิ่งถ้าคุณมีภาษาที่ 3 ที่ 4 เพิ่มขึ้นมาอีก มันก็เป็นเหมือนมูลค่าเพิ่มของตัวคุณเอง เมื่อถึงขั้นตอนของการพิจารณา” แอร์โฮสเตสสาวการบินไทย ให้คำแนะนำอย่างเปิดเผย

ผู้ประกาศข่าว: จินดารัตน์ เจริญชัยชนะ
พิธีกรดำเนินรายการตัวแม่แห่ง ASTV กับบทบาทหน้าจอกว่า 18 ปี

ด้านอาชีพผู้ประกาศข่าว สาวเสียงไพเราะออกจอให้ได้เห็นหน้าอยู่ทุกวัน เราขอคุยกับ คุณจินดารัตน์ เจริญชัยชนะ หรือคุณแอน ผู้ประกาศสาวแห่งเอเอสทีวี (ASTV) ซึ่งมาให้ข้อมูลกันแบบหมดเปลือก

หลังจับการศึกษาในสาขาวิชาเอก ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คุณแอนได้เริ่มต้นงานแรกเป็นผู้ช่วยเลขานุการในบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง เมื่อทำได้ราว 8 เดือน จากนั้นชีวิตก็พลิกผันให้กลายมาเป็นผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง3 และย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ ณ เอเอสทีวี กระทั่งปัจจุบัน นับรวมเวลาก็ย่างเข้าปีที่ 18 ปีแล้วค่ะ

เคล็ดลับความสำเร็จ ผู้ประกาศสาวขวัญใจชาวเอเอสทีวีให้ข้อคิดดีๆ ว่าสิ่งที่ทำให้เธอประสบความสำเร็จในอาชีพนี้มาได้กระทั่งปัจจุบัน อยู่ที่การต้องหมั่นสังเกต และรู้จริงเสมอ!

“ส่วนตัวแอนคิดว่ามันเกิดจากการสังเกต และหมั่นหาความรู้ค่ะ เพราะตราบใดที่เรามีข้อมูล เรามีภูมิหลังของข่าวมากๆ อะไรก็ทำร้ายเราไม่ได้ เราจะอ่านข่าวออกมาได้ด้วยความมั่นใจ เพราะแอนคิดว่าคนดูเขาไม่โง่ เขาดูเขารู้ ว่าคนที่อ่านข่าวอยู่นั้น มีความรู้จริงหรือเปล่า พูดด้วยความมั่นใจมั้ย หรืออ่านตามสคริปต์ (script) อ่านผิดๆ ถูกๆ แต่ถ้าเรารู้จริง เราจะพูดโดยที่ผิดพลาดน้อย

บางคนเคยพูดว่า การอ่านข่าวเหมือนเล่นละคร มีแอคติ้ง (acting การแสดง) ถูกนะ แอนไม่เถียง ใครแอคติ้งดี ก็อาจจะมีส่วนช่วย แอคติ้งมีส่วนช่วยให้คนรู้สึกว่าเรารู้เรื่องนั้นๆ แต่เวลาที่เราพูดออกไปมันปิดบังไม่ได้หรอก ว่าเรารู้หรือไม่รู้ แอนไม่เถียงนะว่าแอคติ้งมีส่วนช่วย แต่แอนเถียงว่า การอ่านข่าวไม่ใช่ละคร ต้องมาจากข้างในที่เรารู้ด้วย มันถึงจะทำให้เราอ่านข่าวได้มั่นใจ”

หลังฉากที่ไม่ได้สวยหรู ผู้ประกาศข่าวชั่วโมงบินสูงอธิบายว่า แม้หน้าฉากการเป็นผู้ประกาศข่าว จะดูสวยงาม สง่า พูดจาฉะฉาน ทว่ากว่าจะฝีมือเข้าขั้น อ่านผิดพลาดน้อย ก็ต้องแลกมาด้วยความขยัน และใฝ่รู้

“แอนคิดว่า ความยากของอาชีพนี้อยู่ที่เราต้องเป็นคนใฝ่รู้ และช่างสังเกต ช่างคิดอยู่ตลอดเวลา ถ้าอ่านตามตัวหนังสือไปเฉยๆ คุณก็ไม่รุ่ง เพราะทุกวันนี้มันต้องใช้ไอเดียของเราด้วย การตั้งข้อสังเกตของเรา ว่าเอ๊ะ! ทำไมไม่เป็นอย่างนั้น ทำไมไม่ใช่อย่างนี้ คือ มีการวิเคราะห์ ซึ่งตรงนี้มันเหมือนเป็นอีกทางที่ให้ปัญญาคนดูด้วย

แต่ถ้าเราเอาความเห็นส่วนตัว ใส่เข้าไปเยอะมันก็ไม่ใช่ข่าวแล้ว ดังนั้นมันต้องพอประมาณ เราต้องรอบรู้ หมายความว่า เราอ่านแต่สคริปต์อย่างเดียวไม่ได้ เราต้องไปรู้เบื้องหลังของข่าว ไปดูจากหลายแหล่ง เพราะไม่แน่..เผื่อวันหนึ่งเราต้องสัมภาษณ์เอง และถ้าสัมภาษณ์เนี้ย คำถามเราควรจะประเทืองปัญญาผู้คน เป็นประโยชน์ต่อสังคม ถึงจะถือว่าทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แบบนะ ในความเห็นของแอน ดังนั้นกว่าจะเป็นได้ มันไม่ใช่แค่แต่งตัวสวยๆ มาอ่านข่าวตามสคริปต์ มันต้องใช้ความพยามยาม หมั่นฝึก หมั่นสังเกตอยู่ตลอด”

มืออาชีพแนะ! สิ่งที่ผู้ประกาศข่าวต้องมี “อย่างแรกเลยต้องฝึกพูดให้ชัด ออกเสียงภาษาไทยให้ถูกต้องทุกคำ รวมถึงต้องขยันอ่าน นิ่งเฉยไม่ได้ ถ้านิ่งเมื่อไหร่ คุณตามข่าวไม่ทัน อาชีพคุณก็จะถดถอยลงทุกวัน อย่าขี้เกียจ อาชีพนี้ขี้เกียจไม่ได้ เราต้องคิด ต้องมีความรู้ อย่าคิดแต่ว่าเขาเขียนสคริปต์มาอย่างไร อ่านอย่างนั้น เพราะบางทีสคริปต์ผิดก็มีนะ ผิดเห็นๆ เลย แต่ถ้าเรามีพื้นข่าวที่ดีแล้ว เราไปแย้งเขาได้ เช่นประโยคที่ว่า “คัดค้าน” กับ “ไม่คัดค้าน” ความหมายมันต่างกันโดยสิ้นเชิงเลยนะ หากอ่านผิด คนที่เสียก็คือเรา เพราะเมื่ออ่านออกหน้าจอ คนทางบ้านเขาไม่มีทางรู้หรอก ว่าสคริปต์พิมพ์มาผิด เขาไม่คิดถึงตรงนั้นหรอก เขารู้แค่ว่าเราอ่านผิดนะ แสดงว่าเราไม่มีภูมิปัญญา”

ผู้ประกาศข่าวมืออาชีพให้กำลังใจสาวๆ ที่อยากเป็นผู้ประกาศข่าว แต่ไม่มั่นใจเรื่องความสวย ความงามของตัวเองมาด้วยว่า

“แอนคิดว่า ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง จะให้ขี้เหร่ยังไงมา เขาแต่งให้สวยได้ ไม่ต้องกังวลใจ เพราะยุคนี้เป็นยุคข่าวที่เอาความเก่ง ความคล่อง ถ้าน้องคนไหนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่สวย ต้องหาอย่างอื่นมาทดแทน ต้องทำให้ตัวเองมีจุดเด่นว่า ตัวเองคล่องรู้เรื่องข่าวมาก อ่านข่าวฟังรื่นหู คนฟังแล้วเขาได้ความรู้ เขาอยากดู ไม่จำเป็นต้องสวย

สำหรับแอนเรื่องความสวย ส่วนตัวคิดว่าเอาไว้ท้ายๆ เลย คือ มันแต่งกันได้ มันทำให้สวยได้ อย่ากังวล ถ้ากังวล มันจะทำให้เราท้อ และไม่กล้า ความกลัวทำให้เสื่อม ถ้าเราไม่กลัว เรามั่นใจว่าเรามีดี ลุยเลย แล้วรู้จักทำให้ตัวเองให้ดูดี ด้วยเสื้อผ้า บุคลิก ลักษณะ เรื่องบุคลิกสำคัญรองจากภูมิปัญญานะ ถ้าคุณบุคลิกดี ถึงคุณจะขี้เหร่ คนก็อยากดู เคยเห็นมั้ยประทับใจผู้ประกาศข่าวคนหนึ่ง ไม่สวยนะ แต่เก่งมากเลย อยากฟังเขารายงานข่าว ฟังแล้วมันรื่นหู มันรู้เรื่อง เนี้ยทำให้ได้อย่างนี้ แล้วความสวยก็จะไม่เป็นอุปสรรคอีกแล้ว”

พรุ่งนี้! ตามกันต่ออีก 2 สุดยอดอาชีพในฝันของสาวๆ อย่าง “นักสื่อสารการตลาด” และ “พริตตี้” ที่งานนี้เราได้มืออาชีพระดับเจ้าแม่วงการสื่อสารการตลาด และพริตตี้หุ่นสะบึม ที่แม้จะเป็นน้องใหม่ แต่ประสบการณ์ก็โชกโชนไม่เบา มาบอกเล่าเรื่องราวในอาชีพของพวกเธอกันแบบเจาะลึก

>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net

Comments are closed.

Pin It