Advice

ถ้าเท้าคุณเหม็น คัน เหงื่อออกเยอะ อย่านิ่งนอนใจ!

Pinterest LinkedIn Tumblr

By Lady Manager

เป็นผู้หญิงต้องสวยให้ครบ มิใช่ว่าหน้าตาดี กิริยาน่ารัก ทว่าพอขยับ กลิ่นเท้าก็โชยเหม็นเป็นปลาเค็ม อย่างนี้ก็ม่ายไหว …ต่อให้สวยขนาดไหน หนุ่มน้อยใหญ่เป็นต้องบ๊ายบาย ส่ายหน้าหนีเป็นแน่


แม้โรคเท้าเหม็น (Pitted Keratolysis) จะมิได้ร้ายแรง ถึงขั้นคอขาดบาดตาย ทว่ากลิ่นไม่พึงประสงค์ที่เกิด ก็ทำให้คุณสาวๆ ต้องอับอายไม่น้อย ยิ่งช่วงหน้าฝน ย่างกรายไปทางไหนเป็นเจอน้ำเฉอะแฉะ เกิดเป็นความอับชื้น โรคกลิ่นเท้าแรง ยิ่งระบาดหนัก


เพื่อเป็นการป้องกันแต่เนิ่นๆ เราเลยขอเชิญคุณมารู้จักเจาะลึก พร้อมหาวิธีป้องกันเจ้าโรคเท้าเหม็นนี้เสียหน่อย


“การเกิดเท้าเหม็นที่เจอได้บ่อยก็คือ การติดเชื้อราที่เท้า หรือที่เรียกว่า ฮ่องกงฟุต ซึ่งเกิดจากเมื่อมีความอับชื้นก็ทำให้เกิดเชื้อราขึ้นมา โดยเฉพาะตามซอกนิ้ว ง่ามนิ้วจะเจอได้บ่อย

อีกอย่างคือ ไม่ได้มีเชื้อรา แต่เท้าเหม็นเอง ซึ่งแบบนี้ก็เหมือนกับส่วนอื่นๆ ของร่างกายที่เหม็นได้ นั่นคือ เกิดจากการที่มีเชื้อแบคทีเรีย (bacteria) เป็นจำนวนมาก หรือมีเหงื่อออกเยอะ พอเหงื่อออกมาเยอะ มันก็มีแบคทีเรียเข้ามาหมักหมม จนทำให้เกิดเป็นกลิ่นได้”

แพทย์หญิงธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท อธิบายถึง ต้นตอภาวะเท้าเหม็น

เกิดผื่นแดง-คัน สัญญาณบอกเหตุ “เชื้อรา” ลุกลามเท้า

คุณหมอสาวให้รายละเอียดต่อว่า โรคเท้าเหม็นที่เกิดจากเชื้อรา คนไข้จะสามารถสังเกตเห็นผื่นแดง และรู้สึกคัน ซึ่งหากพบอาการเช่นนั้นควรรีบไปพบแพทย์ค่ะ

“ถ้าเกิดเชื้อราที่เท้า หมอจะสามารถขูดผิวหนัง แล้วนำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ก็จะเห็นเชื้อราได้ ส่วนตัวคนไข้จะไม่สามารถมองเห็นเชื้อราด้วยตาเปล่าได้ แต่จะเห็นเป็นผื่น เช่น อาจจะมีผื่นแดง หรือเป็นลักษณะของหนังที่ลอกเป็นขุย และคันมากบริเวณนั้น เช่น คันบริเวณง่ามนิ้ว อันนี้ก็น่าจะเป็นเชื้อรา หากรู้สึกเช่นนั้น ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา”


ทว่าหากไม่เห็นผื่นแดง ไม่มีหนังลอกเป็นขุย กรณีนั้นอาจเป็นเท้าเหม็นจากเชื้อแบคทีเรีย


“แต่ถ้าเป็นแค่เท้าเหม็นจากเชื้อแบคทีเรีย มันจะไม่ค่อยมีผื่นอะไร นั่นเพราะการที่เราเท้าเหม็นจากเชื้อแบคทีเรีย มันไม่ได้แปลว่าเราเป็นโรคติดเชื้อ เพราะจริงๆ แล้วเชื้อแบคทีเรียนั้น เป็นสิ่งที่เรามีอยู่ทั่วร่างกาย แต่ที่เกิดกลิ่นก็เป็นเพราะ บริเวณนั้นมีมากไปหน่อย แล้วบวกกับเหงื่อเข้าไป มันจึงเกิดการหมักหมม กลายเป็นกลิ่นขึ้นมาได้ เหมือนกับกลิ่นรักแร้เวลาที่เราไม่ได้อาบน้ำ”


แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังบอกถึงแนวทางการรักษาว่า ในกรณีที่เป็นเชื้อรานั้น แพทย์จะใช้ยา ควบคู่ไปกับให้คนไข้ดูแลตัวเอง แต่หากเท้าเหม็นเพราะเชื้อแบคทีเรีย ก็แค่ดูแลความสะอาดตัวเองให้มากขึ้นเท่านั้นค่ะ


“หากเท้าเหม็นเพราะเป็นเชื้อรา วิธีการรักษาก็มีทั้งการใช้ยาทาแก้เชื้อรา หรือในบางรายก็ให้ยาทานแก้เชื้อรา รับประทานร่วมด้วย และพยายามดูแลอย่าให้เกิดความอับชื้น แต่ถ้าเท้าเหม็นจากแบคทีเรีย ก็ให้เน้นเรื่องการทำความสะอาด ทั้งเท้าและรองเท้า ไม่ถึงกับต้องมาพบแพทย์ ถ้ายังไม่เป็นผื่นคันก็ยังไม่ต้องมา” คุณหมอหน้าสวย อธิบายให้คลายกังวลว่า เท้าเหม็น (หากไม่รู้สึกคัน) ก็มิใช่เรื่องใหญ่ ไม่ถึงขั้นต้องมาพบแพทย์ เพียงดูแลตัวเองให้มากขึ้นอีกนิด เท้าสะอาดเอี่ยมอ่องไร้กลิ่นไม่พึงประสงค์ ก็จะกลับมา

ฟอกสบู่-ดูแลรองเท้า วิธีง่ายๆ ป้องกันเท้าเหม็น

“จริงๆ แล้ว ถ้าเราเท้าเหม็น แต่ดูแล้วมันไม่ได้มีเชื้อรา คือ ไม่ได้มีผื่นอะไร วิธีดูแลก็คือ เวลาอาบน้ำให้ใช้สบู่ธรรมดานี่แหละ ฟอกให้สะอาด โดยเน้นบริเวณ ง่ามนิ้ว และฝ่าเท้า และเมื่ออาบน้ำเสร็จ ควรเช็ดให้แห้ง จะผึ่งลมให้แห้งด้วยก็ได้ เพราะตามซอกเท้า จะมีความอับชื้นอยู่ และควรหมั่นตัดเล็บเท้าให้สั้นด้วย เพราะบางครั้งการที่เล็บเท้ายาว มันก็ทำให้เกิดการหมักหมม ตามซอกเล็บได้

รวมทั้งรองเท้า ควรพยายามทำความสะอาด อย่าให้อับ หมั่นเอารองเท้าออกไปผึ่งตากแดด และทำความสะอาดบ้าง เพราะความอับ, การหมักหมม และเชื้อแบคทีเรีย เป็นสาเหตุที่ทำให้เท้าเหม็น”

เหงื่อออกที่เท้าเยอะ อีกต้นตอสร้างกลิ่นไม่พึงประสงค์

ส่วนสาเหตุอีกประการที่ทำให้เท้าเหม็น คือ การมีเหงื่อออกที่เท้ามาก จนส่งผลให้ ไม่ว่าจะฤดูไหน กลิ่นเท้าก็ยังเหม็นหึ่ง สร้างความอับอาย และไม่มั่นใจให้ใครหลายคน

“หากเป็นคนมีเหงื่อออกที่เท้าเยอะ ต้องดูสาเหตุก่อนว่า เขาเหงื่อออกเยอะเพราะอะไร เช่นเขาอาจมีโรคประจำตัวบางอย่าง ที่ทำให้เหงื่ออกเยอะผิดปกติหรือไม่ เช่น เป็นโรคไทรอยด์ เป็นพิษหรือเปล่า แต่ถ้าตรวจดูแล้วเขาไม่ได้เป็นโรคอะไรเลย เขาแค่มีเหงื่อที่เท้าเยอะเฉยๆ ก็มีวิธีการรักษาหลายอย่าง


เริ่มตั้งแต่การให้ทายาในกลุ่มของ อลูมิเนียม (Aluminium) ที่จะช่วยเรื่องการยับยั้งการออกของเหงื่อ และขั้นต่อไปก็อาจจะมีการใช้ ไอออนโตโฟรีซีส (Iontophoresis) หรือการใช้ประจุไฟฟ้า ไปช่วยบล็อก (block) การทำงานของเหงื่อ ขั้นต่อไปก็จะมีในเรื่องของการฉีดโบท็อกซ์ (Botox) เพื่อลดเหงื่อเฉพาะที่ และอีกขั้น ก็คือการผ่าตัด เส้นประสาทตัวที่ทำให้เกิดเหงื่อบริเวณนั้นๆ ซึ่งการตัดสินใจรักษาแต่ละแบบนี้ ก็ต้องแล้วแต่แพทย์ว่าจะใช้การรักษาวิธีไหน”

*ทิปส์ วิธีหลีกไกลภาวะเท้าเหม็น

– ไม่ควรใส่รองเท้าคับเกินไป เพราะจะทำให้เหงื่ออกเท้ามากขึ้น ควรเลือกรองเท้าที่ใส่สบายและระบายอากาศได้ดี หากต้องใส่ถุงเท้า ควรเลือกถุงเท้าที่ทำจากผ้าฝ้าย เพราะระบายอากาศได้ดีกว่าถุงเท้าผ้าไนลอน (Nylon)

– หากคุณผิวแห้ง และต้องการทาครีมเพื่อให้ความชุ่มชื่นแก่เท้า ควรทาบางๆ เฉพาะหลังเท้าและฝ่าเท้าเท่านั้น ไม่ควรทาครีมบริเวณซอกนิ้ว เพราะจะยิ่งทำให้หมักหมม จนเกิดกลิ่นและเชื้อราได้


– ไม่ควรใส่รองเท้าคู่เดิม 2 วันต่อเนื่องกัน ควรพลัดเปลี่ยนใส่คู่อื่นบ้าง เพื่อให้รองเท้ามีโอกาสแห้ง ทั้งยังควรนำรองเท้า ออกไปผึ่งลมบ้าง ก่อนจะเก็บไว้ในที่ซึ่งอากาศถ่ายเทสะดวก


– เลี่ยงการใส่รองเท้าผ้าใบ เพราะรองเท้าผ้าใบ มักทำจากใยสังเคราะห์ ภายในรองเท้าจึงอบ และมีอุณหภูมิเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย


– หากเท้าเหม็นเริ่มมาเยือน ลองแช่เท้าด้วย ทีทรีออยล์ (tea tree oil) หรือน้ำมันสะระแหน่ เพราะมีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย , หรือแช่เท้าในน้ำชาดำ (ชา 2 ถุงแช่น้ำ 8 ถ้วย) กรดแทนนิน (tannin) ในใบชา มีสรรพคุณในการระงับกลิ่นและสมานแผลที่ผิวหนัง หรือจะแช่เท้าในน้ำอุ่น ผสมเกลือ และมะนาว ก็เป็นอีกภูมิปัญญาไทย ที่ช่วยระงับกลิ่นเท้าได้จ้า


คลิกอ่าน ารพันปัญหาผิวหนังในที่ลับของคุณผู้หญิง โดยพญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล

ตะบี้ตะบันทาเล็บ! โอกาสเกิดเชื้อราสูง!!
ดูแลเท้าอย่างไรให้ไร้ตาปลา โรคฮิตสาวพิสมัยส้นสูง
บั้นท้ายดำคล้ำแตกลาย ..แก้ไขได้
“ผ้าอนามัย”! อีกต้นตอสิวผดผื่น ณ จุดซ่อนเร้น-ขาหนีบ-ง่ามก้น
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net

Comments are closed.

Pin It