Guru Talk

โอ๊ต-ธนิดา เจ้าของ Mo&Friends เผยทริกเด็ด! ทำร้านเสื้อผ้าออนไลน์ทะลุเป้า

Pinterest LinkedIn Tumblr


สาวๆ หลายคนใฝ่ฝันอยากมีแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเอง และหนึ่งในนั้นคือ โอ๊ต-ธนิดา เตชะอังกูร สาวหัวใจนักดนตรีดีกรีปริญญาตรีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เลือกค้นหาตัวเองด้วยการเป็นดีเทลขายยาถึงสี่ปี แต่ก็ยังไม่เจอคำตอบที่ใช่ เธอจึงตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อเดินตามหาความฝัน

“ด้วยความที่ชอบแต่งตัว จึงไม่อยากถูกตีกรอบด้วยการแต่งตัวสุภาพเรียบร้อย จึงลาออกจากงานประจำ แล้วเดินทางท่องเที่ยวนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พอได้ไปเดินชอปปิ้งแถวโซโห ก็มีคนมาทักว่าชุดเราสวย ซึ่งเมื่อสี่ปีที่แล้วเราก็ใส่กางเกงเอวสูง ขาเด็ป เลยคิดว่าเราทำเสื้อผ้าขายดีไหม ก็เลยไปลงเรียนด้านสไตลิ่งเดือนหนึ่งค่ะ พอกลับมาปุ๊บ ก็อยากทำร้านเสื้อผ้าแต่ไม่มีทุนแล้ว เพราะเงินเก็บก็เอาไปอเมริกาหมดแล้ว เพื่อนจึงแนะนำให้ขายเสื้อผ้าทางเฟซบุ๊ก ซึ่งเมื่อ 3 ปีก่อน เว็บนี้ยังไม่นิยมมากเหมือนเช่นปัจจุบัน”


เมื่อปี 2009 เฟซบุ๊กในเมืองไทยยังไม่ค่อยได้รับความนิยม แต่ด้วยแรงยุของเพื่อนและต้องการเปิดร้านเสื้อผ้าอย่างที่ตั้งใจไว้ แถมเจ้าตัวยังเป็นหนี้บัตรเครดิตอีกจำนวนมาก จึงขอยืมเงินจากแฟน 5,000 บาท ไปหาซื้อผ้ามาทำชุดสำหรับสาวทำงาน 10 แบบ ทำขายในเดือนแรกก็ได้กำไรเท่าตัว จนถึงตอนนี้ โอ๊ต ประสบความสำเร็จกับร้าน Mo & Friends จนตั้งเป็นบริษัทอย่างเป็นทางการและทำยอดขายทะลุเป้า

“หลายคนถามว่าทำไมต้องชื่อ Mo&Friends ไม่อยากจะบอกเลยค่ะ ว่า Mo มาจากชื่อเจ้าแตงโม สุนัขที่ขี้เหร่ที่สุดในบ้าน เพราะตอนแรกไม่คิดว่าธุรกิจนี้จะประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้ ก็ตั้งชื่อส่งๆ ไป แต่นับว่าเป็นจังหวะและโชคดีของตัวเองมาก ที่เริ่มต้นธุรกิจในขณะที่เฟซบุ๊กกำลังเป็นที่นิยม และเราเลือกที่จะสุ่มทำชุด 10 แบบ เพื่อจะได้ทราบถึงสไตล์ของเสื้อผ้าที่ลูกค้าส่วนใหญ่ชอบมากที่สุด และเลือกผลิตเสื้อผ้าสไตล์นั้น จนเป็น Mo&Friends ที่เห็นทุกวันนี้ค่ะ” เจ้าของร้านเล่าถึงที่มาของชื่อร้าน และสไตล์ คอนเซ็ปต์ของเสื้อผ้า


หลังจากวางระบบการซื้อขายบนเว็บไซต์ โอ๊ตตัดสินใจตั้งร้านเป็นบริษัทอ ออกคอลเลกชันเป็นประจำทุกๆ เดือน จ้างสไตลิสต์จากแบรนด์เสื้อผ้าดังๆ มาเซ็ตเสื้อผ้าให้กับนางแบบมืออาชีพ เพื่อให้ได้รูปของสินค้าที่สวยงามและชัดเจน แต่สิ่งหนึ่งที่สาวโอ๊ตไม่เคยเปลี่ยนคือการใส่ใจลูกค้า


“ทำร้านเสื้อผ้าทางเว็บไซต์ต้องใช้ความอดทนมากค่ะ ตอนยังไม่มีทุนเราก็พยายามทำเองทุกอย่าง ยืมกล้องของเพื่อนมาถ่ายรูปตัวเองเป็นแบบโดยตัดหัวออก โชคดีที่แฟนมาช่วยตกแต่งภาพให้ พอขายในเฟซบุ๊กได้ไม่กี่เดือน ก็ต้องทำเว็บไซต์เป็นของตัวเอง เพราะการซื้อขายในเฟซบุ๊กจะยุ่งยากมาก ต้องคอยตอบคำถามที่ลูกค้าสอบถามเข้ามาทุกคำถาม โอ๊ตก็เลยเช่าเว็บสำเร็จรูปไว้เป็นที่ซื้อขาย และใช้เฟซบุ๊กเป็นเหมือนหน้าร้าน” เจ้าของแบรนด์เผยขั้นตอนการซื้อขายบนโลกออนไลน์

นอกจากต้องมีเว็บไซต์ชื่อร้านของตัวเองแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะทำธุรกิจให้สำเร็จบนเฟซบุ๊กคือการซื้อแอดโฆษณากับเฟซบุ๊ก “จำนวนไลค์ในเฟซบุ๊กของเราไม่ใช่สิ่งยืนยันจำนวนลูกค้า เพราะบางคนเพียงแค่คลิ๊กไว้ดูเฉยๆ หากอยากให้คนรู้จักแฟนเพจเราเยอะๆ ก็ต้องซื้อโฆษณาของเฟซบุ๊ก ซึ่งไม่ได้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก และยังกำหนดวงเงินได้ด้วย เมื่อครบกำหนดกับจำนวนเงินที่เราซื้อไว้ มันก็จะตัดโดยอัตโนมัติ แต่ผลดีคือ ผู้ที่สนใจร้านค้าในหมวดหมู่สินค้าของเรา เขาจะได้เห็นร้านเราง่ายขึ้น”

นอกจากการบริหารเว็บไซต์และคอลเลกชันเสื้อผ้าให้ลงตัวแล้ว ปัญหาใหญ่ของการซื้อขายบนโลกออนไลน์คือ การไม่ได้ลองสินค้า และโอ๊ตก็เป็นแม่ค้าอีกคนหนึ่งที่เจอปัญหานี้ “ปัญหาใหญ่ที่สุดคือเรื่องไซส์ เรามีมาตรฐานไซส์แจ้งให้แก่ลูกค้าทุกครั้ง ดังนั้นก่อนจะซื้อลูกค้าจึงต้องดูขนาดตัวเองและเทียบกับไซส์ของชุดให้พอดีด้วย แต่หากเป็นความผิดพลาดของร้าน ทางร้านยินดีรับผิดชอบทุกอย่างค่ะ”

การจะประสบความสำเร็จในโลกธุรกิจออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่าย มีหลายครั้งที่โอ๊ตล้มเหลวและต้องการเลิกกิจการ แต่ด้วยข้อดีของการซื้อขายออนไลน์คือได้พูดคุยกับลูกค้า ได้ถามตอบกัน กำลังใจจากลูกค้าหลายๆ ราย ทำให้เธอมุ่งมั่นกับแบรนด์ของตัวเองจนสำเร็จอย่างทุกวันนี้

Text by   เอเอสทีวี ผู้จัดการรายวัน: สังคม-สตรี 

 
>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net

Comments are closed.

Pin It