Fashion

125 ปี มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์ ยังคงครองใจคนทั่วโลก กับแฟชั่นที่ไม่เคยเอาต์

Pinterest LinkedIn Tumblr


ก้าวผ่านห้วงเวลาอันสง่างามที่ครองใจคนรักสินค้าคุณภาพมานานถึง 125 ปี แล้ว สำหรับแบรนด์สัญชาติอังกฤษอย่าง มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์ (Marks & Spencer) หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า M&S ซึ่งวันนี้ ได้เติบโตกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่มีผลกำไรยอดเยี่ยมของอังกฤษ และมีมากกว่า 900 สาขาทั่วโลก ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่รู้จักแบรนด์นี้ดีในเรื่องของเสื้อผ้า อาหาร และขนม สไตล์อังกฤษแท้ๆ ที่มีคุณภาพสูง คุ้มราคา

เรื่องราวของแบรนด์ระดับตำนานนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ ไมเคิล มาร์ก (Michael Marks) ชาวโปแลนด์เชื้อสายรัสเซีย เปิดแผงขายของในตลาดของเมืองลีดส์ (Leeds) ประเทศอังกฤษ เมื่อปีค.ศ.1884 สินค้าที่จำหน่ายเป็นของชำ และของใช้ภายในบ้าน โดยตั้งราคาขาย เพียงชิ้นละหนึ่งเพนนี ภายใต้สโลแกน ‘อย่าถามราคา แค่เพนนีเดียว’ (Don’t ask the price, it’s a penny) ซึ่งก็ขายดิบขายดีจากราคาและการทำการตลาดเช่นนี้

เมื่อกิจการดำเนินไปด้วยดี มาร์กตัดสินใจขยายกิจการด้วยการเปิดร้านของชำเป็นการถาวรที่เมืองแมนเชสเตอร์ เมื่อปี 1894 โดยชวนเพื่อนสนิท ทอม สเปนเซอร์ (Tom Spencer) ที่ขณะนั้นเป็นเสมียนของร้านขายส่ง ร่วมเป็นหุ้นส่วนกิจการ และแล้วตำนานแบรนด์ มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์ จึงได้กำเนิดขึ้นมา

กระทั่งปี 1905 ทอม สเปนเซอร์เสียชีวิต และอีกสองปีถัดมา ไมเคิล มาร์ก ก็เสียชีวิตลงเช่นกัน แต่ธุรกิจก็ยังดำเนินต่อไป โดย ไซม่อน มาร์ก ก้าวขึ้นไปเป็นประธานบริษัทสืบต่อจากบิดา แต่ก่อนหน้านั้น คือปี 1913 มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์ รุกคืบเข้ามาในลอนดอน ด้วยการเข้าซื้อ London Penny Bazaar หรือตลาดค้าของถูกในลอนดอน ช่วงเวลานี้เป็นการก้าวย่างสำคัญจากธุรกิจที่ค้าของชำในตลาด จนกลายเป็นร้านค้าขนาดใหญ่ที่รู้จักไปทั่วเมืองหลวงของอังกฤษ แผ่ขยายอาณาจักรออกไปจนเป็นที่เลื่องลือทั่วทั้งตอนใต้ของประเทศ และเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศในเวลาต่อมา

ไม่เพียง มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์ จะเป็นที่รู้จักโดยทั่วกัน แต่ยังมี เซนต์ไมเคิล (St. Michael) เป็นอีกแบรนด์ที่คนทั่วไปรู้จักกันเป็นอย่างดีไม่แพ้แบรนด์แม่ เซนต์ ไมเคิล ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องหมายการค้าและการันตีคุณภาพสำหรับอาหาร และเสื้อผ้า ตั้งแต่ปี 1925 โดยชื่อเซ็นต์ไมเคิล ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ ไมเคิล มาร์ก ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่ว่า เป็นสินค้าคุณภาพที่ผลิตในประเทศอังกฤษ

ทำให้ชื่อ เซนต์ ไมเคิล กลายเป็นชื่อเรียกฮิตติดปาก ไม่แพ้ชื่อร้าน มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษที่ 70 มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์ และ เซนต์ ไมเคิล เป็นที่รู้จักกันทั่วในเรื่องคุณภาพของสินค้า และคุ้มค่าเงิน กระทั่งทั้งสองชื่อนั้นได้กลายเป็นที่รู้จักในอีกความหมาย ว่าเป็นสัญลักษณ์ของ ‘สินค้าคุณภาพเยี่ยมจากอังกฤษ’

มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์ เริ่มต้นขยายกิจการไปยังต่างประเทศตั้งแต่ปี 1975 โดยเริ่มจากปารีส ไอแลนด์ และฮ่องกง เมื่อปี 1988 ปัจจุบันมีสาขา มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์ กว่า 280 สาขากระจายใน 42 ประเทศทั่วโลก และอีก 622 สาขาทั่วประเทศอังกฤษ ไม่เพียงจะเป็นร้านค้ายักษ์ใหญ่ของอังกฤษ แต่ยังมีอีกหลายนวตกรรมที่ มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์ สร้างสรรค์ โดยเริ่มจากการเป็นบริษัทค้าปลีกแห่งแรกของประเทศ ที่มีห้องวิจัยและพัฒนาผ้าและอาหารเป็นของตนเอง ทำให้ มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์ พัฒนาผ้าร่วมกับเหล่าซัพพลายเออร์เพื่อสร้างสรรค์เนื้อผ้าที่ง่ายต่อการดูแลรักษา รวมทั้งผ้าใยสังเคราะห์ที่มีลักษณะพิเศษ

ในการประกาศรางวัล Millennium Product Status เมื่อปี 2000 ซึ่งเป็นรางวัลแห่งสหัสวรรษ มอบแด่ผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์และพัฒนาขึ้นในประเทศอังกฤษ ครั้งนั้น มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์ มีผลิตภัณฑ์ถึง 12 รายการ ที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติดังกล่าว และนับเป็นจำนวนรางวัลที่มากที่สุดที่บริษัทเพียงแห่งเดียวได้รับในครั้งนั้นอีกด้วย

แต่ก็เหมือนกับทุกตำนานที่มีทั้งด้านที่ประสบความสำเร็จ และช่วงเวลาตกต่ำ ธุรกิจที่เคยรุ่งเรืองของ มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์ เริ่มไม่ขยับไปกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป คือเริ่มแก่ไปกับอายุของลูกค้าประจำที่เพิ่มขึ้น เกิดช่องว่างกับคนรุ่นใหม่ ที่ค่อยๆ ตีจากไปกับแบรนด์ที่ดูทันสมัย และเร้าใจกว่า การย่ำอยู่กับภาพสินค้าอังกฤษจ๋า ดูจะไม่ขลังพอในยุคที่ตลาดเริ่มเด็กลงเรื่อยๆ กอปรกับต้นทุนสินค้าปรับตัวสูงขึ้น และโดยเฉพาะเมื่อเน้นความเป็นสินค้าจากอังกฤษ ก็ยิ่งเพิ่มต้นทุนให้สูงยิ่งขึ้น ขณะที่คู่แข่งก็หันไปลดค่าใช้จ่ายโดยนำเข้าสินค้าหรือผลิตจากประเทศที่ต้นทุนต่ำ วิกฤตนี้มาถึงจุดต่ำสุดราวทศวรรษที่ 90 ซึ่งเป็นทศวรรษที่เศรษฐกิจโลกกำลังเฟื่องฟูเต็มที่

จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าสมัยใหม่ นับตั้งแต่การเปิดขายเสื้อผ้าออนไลน์ ในปี 1999 ส่งผลให้ยอดขายเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การว่าจ้างดีไซเนอร์มาออกแบบเสื้อผ้าให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และปี 2001 ด้วยการเปิดตัว ‘Simply Food’ แห่งแรกในลอนดอน เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตจำหน่ายอาหารสด เครื่องดื่ม และอาหารสำเร็จรูปในเครือของบริษัท ที่ช่วยกู้วิกฤตของมาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์ ให้ดูทันสมัย และดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกทาง จนเมื่อปี 2004 ที่บริษัทเกิดความกังวลว่าจะถูกเทกโอเวอร์ กดดันให้มีการปรับองค์การขนานใหญ่อีกครั้ง เริ่มจากการเข้าดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Stuart Rose พร้อมกับการเปิดตัวโลโก้ และสโลแกน Your M&S ฉีกภาพสินค้าอังกฤษสุดเชยทิ้งไปทันที สามารถกู้วิกฤตของมาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์ให้กลับมาเป็นบริษัทค้าปลีกแถวหน้าของอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อวิกฤตผ่านพ้น มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์ กลับมาพร้อมการเปิดตัวยุทธการเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ชื่อ ‘Plan A’ เมื่อปี 2007 มีเป้าหมายจะดำเนินกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมจำนวน 100 กิจกรรมให้ได้ภายใน 5 ปี โดยเป้าหมายหลักคือ เรื่องสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ปัญหาขยะ การใช้วัตถุดิบอย่างมีคุณค่า ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรมกับคู่ค้า และเรื่องสุขภาพ นับตั้งแต่การเปิด eco-store ไปจนถึงการเป็นผู้ค้าปลีกแห่งแรกที่ขจัดสีและรสสังเคราะห์จากอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด เป็นต้น

นั่นคือห้วงเวลาแห่งการก้าวผ่านปีที่ 125 มาได้อย่าง…งดงาม…มีคุณค่า









Comments are closed.

Pin It