World Celeb

เคานต์ดาวน์ ‘พระราชพิธีบรมราชาภิเษก’ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

Pinterest LinkedIn Tumblr


มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอน เตรียมพร้อมต้อนรับอาคันตุกะคนสำคัญ ที่จะเข้าร่วมงานราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 6 พฤษภาคม ในจำนวนนั้นประกอบด้วยประมุขแห่งรัฐซึ่งเป็นราชวงศ์ต่างๆ รวมทั้งตัวแทน อย่างไรก็ตามหนังสือพิมพ์ Daily Mail ของอังกฤษรายงานว่า ในลิสต์เชิญยังมีอาคันตุกะสองชื่อที่ส่อเค้าจะก่อให้เกิดความขัดแย้ง

หนึ่งในนั้นคือรองประธานาธิบดี “หาน เจิ้ง” ที่เป็นตัวแทนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน นั่นเพราะเขาเป็นผู้รับผิดชอบในการจับกุมนักเคลื่อนไหวจำนวนมากระหว่างการประท้วงที่ฮ่องกง เมื่อปี 2019 ส.ส.อังกฤษพากันประณามการกระตัดสินใจของปักกิ่ง ที่ส่ง หาน เจิ้งไปปฏิบัติการที่ “อุกอาจ” และ “ไร้ความเคารพ” แต่พระราชวังบักกิงแฮมไม่ได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ เพียงบอกกล่าวว่า ความสัมพันธ์ของสถาบันกษัตริย์กับจีนนั้นอ่อนไหวเป็นพิเศษ อีกทั้ง “เจมส์ เคลเวอร์ลี” รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ ก็ย้ำผ่านสื่อเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า อังกฤษยังต้องประสานความร่วมมือกับจีนและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีไว้

อีกบุคคลคือ “มิเชลล์ โอนีล” นายกรัฐมนตรีและผู้นำพรรคซินน์เฟนของไอร์แลนด์เหนือ ผู้ซึ่งพยายามผลักดันให้ไอร์แลนด์เหนือ แยกตัวออกจากสหราชอาณาจักร แม้เธอจะเป็น “สาธารณรัฐไอริช” แต่การเข้าร่วมพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้เป็น “สิ่งที่ควรทำ” และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเธอ ที่มีต่อ “สันติภาพและการปรองดอง”


:: เจ้าชายแฮร์รีต้องวิ่งรอก 2 งานในวันเดียว


เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า เจ้าชายแฮร์รีจะเข้าร่วมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วย และจะนั่งร่วมอยู่กับสมาชิกครอบครัวราชวงศ์ ไม่ใช่นั่งปนอยู่กับราชวงศ์อื่นๆ ในแถวที่สิบอย่างที่ The Sun รายงานก่อนหน้า แต่จะไม่ได้อยู่ร่วมในช่วงท้ายของงานพิธีที่ระเบียงพระราชวังบักกิงแฮม เนื่องจากไม่ได้มีตำแหน่งหรือเป็น ‘working Royal’ อีกแล้ว และในวันนั้น เขาก็มีเวลาเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น เหตุเพราะต้องเดินทางกลับไปลอสแองเจลิส เพื่อฉลองวันเกิดของ “เจ้าชายอาร์ชี” อย่างไรก็ดี เจ้าชายแฮร์รีจะเป็นที่ถูกจับตามอง เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่เขามีโอกาสได้อยู่พร้อมหน้ากับสมาชิกครอบครัวราชวงศ์ หลังจากหนังสือ ‘Spare’ ของเขาตีพิมพ์ออกมา หนังสือที่กล่าวหาสมเด็จพระราชินีคามิลลาว่า เป็น “แม่เลี้ยงใจร้าย” กล่าวหาเจ้าชายวิลเลียมว่า “ก้าวร้าว” และกล่าวหาเจ้าชายแอนดรูว์ว่า “น่าละอาย” รวมทั้งสมาชิกราชวงศ์คนอื่นๆ ล้วนถูกจัดหนัก


:: ฉลองพระองค์ธีมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สำนักราชวังเพิ่งประกาศเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า ฉลองพระองค์ของสมเด็จพระราชินีพระองค์ใหม่ของอังกฤษ ซึ่งเป็นเสื้อคลุม ใช้วัสดุผ้ากำมะหยี่สีม่วง ปักด้วยด้ายสีทองและประดับประดาอย่างวิจิตรงดงาม พระองค์จะทรงฉลองพระองค์นี้เป็นครั้งแรกในงานพิธี เพียงแต่ไม่แจ้งถึงราคาและความยาวของชายเสื้อคลุม “แมลงต่างๆ รวมทั้งผึ้งและแมลงปีกแข็ง ปรากฏบนฉลองพระองค์ครั้งแรก ซึ่งเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความรักของทั้งสองพระองค์ ที่มีต่อธรรมชาติ” ส่วนฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 มีลวดลายดอกลาร์คสเปอร์ หนึ่งในดอกไม้โปรดของพระองค์ ดอกลิลลีหุบเขาที่ชวนให้นึกถึงสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นอกจากนั้น ยังแสดงสัญลักษณ์ประจำชาติของอังกฤษ (กุหลาบ) สกอตแลนด์ (ดอกธิสเซิล) และไอร์แลนด์ (แชมร็อก) รวมถึงพืชพันธุ์อื่นๆ ที่สะท้อนความหมาย ตามธรรมเนียมแล้ว กษัตริย์และพระมเหสีจะทรงฉลองพระองค์ที่แตกต่างกัน 2 ชุดในงานพระราชพิธี ได้แก่ ฉลองพระองค์สีแดงเมื่อเสด็จถึงมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ และฉลองพระองค์สีแดงสดหลังพระราชพิธี สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงใช้ฉลองพระองค์ของพระเจ้าจอร์จที่ 6 จากการบรมราชาภิเษกเมื่อปี 1937 สมเด็จพระราชินีคามิลลาจะทรงฉลองพระองค์ชุดประจำรัฐ ที่ดัดแปลงเล็กน้อยจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่มีชายเสื้อคลุมยาว 5.5 เมตร หลังเสร็จสิ้นพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว สมเด็จพระราชินีคามิลลา จะทรงฉลองพระองค์ที่เรียกว่า ‘Imperial Robe’ (เสื้อคลุมจักรพรรดินี) ซึ่งตัดเย็บมาเป็นพิเศษสำหรับพระองค์


:: 'หินแห่งสโคน’ หวนคืนอังกฤษเพื่อร่วมพิธี

Stone of Scone หินแห่งโชคชะตา หรือ ‘หินราชาภิเษก’ เป็นหินทรายสีแดงทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 26×16.75×10.5 นิ้ว น้ำหนักประมาณ 152 กิโลกรัม ซึ่งใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์แห่งสกอตแลนด์มาเป็นเวลาช้านาน รวมถึงกษัตริย์แห่งอังกฤษ บริเตนใหญ่ และสหราชอาณาจักรในเวลาต่อมาด้วย หินแห่งโชคชะตาถูกเก็บรักษาไว้ที่วิหารในเมืองสโคน สกอตแลนด์ และถูกใช้งานครั้งล่าสุดเมื่อปี 1953 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในวันที่ 6 พฤษภาคมเป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่หินแห่งโชคชะตา จะถูกหยิบยืมจากสกอตแลนด์มาใช้ประกอบในพิธี


:: Coronation Ale เบียร์เพื่อการเฉลิมฉลอง

เบียร์ซึ่งเดิมเคยวางแผนจะผลิตกันเมื่อ 86 ปีก่อน ในวาระบรมราชาภิเษกของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 แต่แล้วงานเฉลิมฉลองไม่ได้จัดขึ้น เนื่องจากพระองค์ทรงสละราชบัลลังก์เสียก่อน ดังนั้น อุปกรณ์สั่งทำพิเศษทั้งหมดจึงถูกเก็บไว้ในห้องใต้ดิน และอยู่ที่นั่นเป็นเวลาหลายสิบปีจนเกือบจะถูกลืมไปแล้ว กระทั่ง ในปี 2011 หรือ 75 ปีต่อมา ชิ้นส่วนอุปกรณ์ถูกค้นพบอีกครั้ง ภายในห้องใต้ดินของโรงเบียร์ Greene King ในเบอรีเซนต์เอ็ดมันด์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ ในวันที่ 5 พฤษภาคม-ก่อนวันงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะมีการประมูลกัน รายได้จากการประมูลทั้งหมดจะนำไปมอบให้กับ The Prince’s Trust ซึ่งเป็นองค์กรการกุศล ที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงก่อตั้งขึ้น เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาส Coronation Ale ต้นตำรับเบียร์ดั้งเดิมมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 12 เปอร์เซ็นต์ ทำจากฮ็อปและข้าวบาร์เลย์ของอังกฤษ

Comments are closed.

Pin It