Interview

“ภารุต เพ็ญพายัพ” จากนักสร้างแบรนด์ สู่ผู้สร้างโลกแห่งอนาคต

Pinterest LinkedIn Tumblr


เอ่ยชื่อ “ภารุต เพ็ญพายัพ” หลายคนอาจจะไม่คุ้นหู แต่ถ้าบอกว่าเขาคือผู้อำนวยการโครงการเมตาเวิร์ส MQDC Idyllias ภายใต้บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ หรือ MQDC บริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของเมืองไทย หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาโครงการเมตาเวิร์สแห่งแรก ภายใต้คอนเซ็ปต์ “เมตตาเวิร์ส” (Metta-verse หรือ ‘เมตตา’-เวิร์ส) ซึ่งคำว่า ‘Metta’ พ้องกับคำภาษาไทย “เมตตา” ซึ่งหมายถึงความเอื้ออารี ความกรุณา และความปรารถนาที่จะเห็นผู้อื่นเป็นสุข ที่จะมาช่วยสร้างสรรค์โลกใบใหม่ ให้เป็นโลกแห่งอนาคตที่มีความสุข คงทำให้หลายคนสนใจ และอยากทำความรู้จักผู้ชายคนนี้ว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน ถึงได้มานำทัพโปรเจกต์สำคัญของ MQDC

“เป้าหมายของโครงการนี้ เริ่มต้นมาเกือบ 2 ปีแล้ว ด้วยการมุ่งสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุด เพื่อเชื่อมโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกเสมือนจริงเข้าด้วยกัน ผ่านเทคโนโลยียุคใหม่ เพื่อที่จะส่งมอบให้ลูกค้าของทุกโครงการในเครือ MQDC และชุมชนที่เราเข้าไปพัฒนาโครงการทั้งหมด” ภารุตเปิดฉากเล่าถึงบทบาทความรับผิดชอบของเขา ซึ่งอาจชวนให้หลายคนสงสัยว่า ภารุตต้องสั่งสมประสบการณ์อะไรมาและเตรียมพร้อมอย่างไร เพื่อรับบทบาทนี้?

“ผมเรียนจบปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และไปเรียนต่อปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์ Birkbeck College, University of London ส่วนตัวผมชอบงานสายครีเอทีฟและออกแบบ ดังนั้น พอเรียนจบกลับมาเมืองไทย ผมทำงานวิจัยอยู่ที่ TCDC ได้ศึกษานโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนา Creative Economy และ Creative City ก่อนจะย้ายไปทำบริษัทเอเจนซีที่นิวยอร์ก ทำงานกับแบรนด์ระดับโลก ได้เข้าใจว่าจะสร้าง Value Creation ให้กับแบรนด์ได้อย่างไร หลังจากนั้น ก็เปิดบริษัทที่ปรึกษาที่ฮ่องกง ดูแลลูกค้ากลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและรีเทล พอกลับมาไทยก็ได้เป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทข้ามชาติ ในหลากหลายอุตสาหกรรม รวมทั้งบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ที่ขยายธุรกิจมาไทย”


ภารุตบอกว่า ข้อดีของการไปเรียนรู้งานในหลากหลายสาขา ทำให้ได้เจอคนเก่งๆ ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่สำคัญ ยังทำให้ค้นพบว่าตัวเองชอบงานที่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ได้นำเสนอไอเดียนอกกรอบ กระทั่ง 3 ปีก่อนได้มาร่วมงานที่ MQDC ซึ่งเป็นช่วงที่มีการจัดตั้ง Creative Lab ขึ้น หน้าที่หลักๆ คือการนำความคิดสร้างสรรค์เข้าไปมีส่วนร่วมในทุกโครงการ เพื่อส่งมอบคุณค่าไปยังลูกค้าและชุมชนที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ควบคู่ไปกับการศึกษาทิศทางของเทคโนโลยีและนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาต่อยอด เพื่อส่งมอบประสบการณ์ให้ลูกค้าและชุมชน พอตอนหลังมีโครงการ MQDC Idyllias เขาจึงได้รับหน้าที่บุกเบิกโครงการเมตาเวิร์ส

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเฉลยว่า โครงการเมตาเวิร์สมีความพิเศษอย่างไร ภารุตเริ่มต้นจากการฉายภาพให้นิยามของเมตาเวิร์ส “เวลาพูดถึงเมตาเวิร์ส หลายคนจะนึกภาพการใส่อุปกรณ์แบบแว่นตา VR แล้วเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริง หรือการใช้เทคโนโลยี AR แบบเกมส์โปเกมอนโก ที่ผสานโลกจริงๆ กับสิ่งที่เราออกแบบเพิ่มเติมมาทับซ้อนอยู่ด้วยกัน แต่นิยามของเมตาเวิร์สไม่ใช่แค่นั้น เพราะทำให้เราสามารถเข้าสู่โลกเสมือนจริง ด้วยการสร้างตัวอวาตาร์เพื่อเข้าไปอยู่ในโลกจินตนาการ อย่างเช่นการใช้ MR หรือ Mix reality คือเราอาจจะเข้าไปในโลกเสมือนจริง 100% เหมือน VR แต่พอเราใช้อุปกรณ์บางอย่างเข้ามาเสริม เราจะเห็นโลกแห่งความจริงโดยมีเลเยอร์ของ AR เข้ามาช่วย อีกทั้งยังรวมไปถึงการนำ AI หรือ Artificial Intelligence มาใช้วิเคราะห์ Big Data เพื่อช่วยพัฒนาคอนเทนต์รูปแบบใหม่ๆ ซึ่งในมิตินี้สำคัญมาก ในการนำมาสร้างประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นบนโลกเมตาเวิร์ส เพราะเราสามารถพัฒนาประสบการณ์ ในแบบที่ยูสเซอร์อยากได้แบบ personalized รวมถึงอีกมิติที่น่าสนใจคือ การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินทรัพย์ดิจิทัลใหม่ๆ”


สำหรับโครงการ MQDC Idyllias ภารุตมองว่า เป็นโครงการพัฒนาประสบการณ์เสมือนจริง ที่เป็นการต่อยอดเชิงนวัตกรรม เพื่อนำองค์กรเดินหน้าไปสู่ความเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ขับเคลื่อนด้วยเป้าหมาย มุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ยั่งยืน เพื่อนำโลกและสังคมไปในทิศทางเดียวกับปรัชญา “For All Well-Being”

“เรานำปรัชญาดังกล่าว มาต่อยอดว่าจะสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุด บนโลกเสมือนจริงควบคู่กับโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างไรบ้าง เริ่มจากผลประโยชน์ของลูกบ้านในโครงการอสังหาฯ เรามีการเชื่อมโยงเรื่อง Smart living และ Digital Twin บนโลกเสมือนจริงเพิ่มเติมเข้าไป และนอกจากนั้นในส่วนของโครงการมิกซ์ยูส ที่มีทั้งออฟฟิศและรีเทลสเปซ ซึ่งเมื่อก่อนเราจะมีแค่อี-คอมเมิร์ส แต่พอมีเมตาเวิร์ส เราสามารถขยายช่องทางทำธุรกิจให้กับพาร์ตเนอร์ และส่งมอบคุณค่าที่ดีที่สุดให้ลูกค้า ด้วยการทำ Immersive Commerce ให้เขามาเปิดหน้าร้าน ได้มีร้านค้าบนโลกเสมือนจริงไปพร้อมกันด้วย” สำหรับความท้าทายในการ เป็นผู้บุกเบิกการสร้างโลกแห่งอนาคต ภารุตมองว่า ความท้าทายอย่างแรกคือ การทำในสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ด้วยทาง MQDC มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญระดับโลก รวมถึงนักสร้างนวัตกรรมระดับโลก มาร่วมงานด้วย ทำให้สามารถคิดไปข้างหน้าได้ไกล สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ส่งผลให้สามารถสร้างนวัตกรรมที่มีรูปแบบเฉพาะตัว

ขณะเดียวกัน ยังต้องติดตามเทรนด์เทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีวิวัฒนาการแบบรายวัน มีอะไรใหม่ๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดสร้างเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ให้กับลูกบ้าน และคู่ค้าได้ในอนาคต รวมถึงการพัฒนาโครงการอย่างเท่าทัน การพัฒนาของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง และการบริหารความเสี่ยง เพื่อรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจต่างๆ อีกด้วย

อีกมิติที่ท้าทายไม่แพ้กันคือ เราจะทำอย่างไรให้โครงการเมตาเวิร์สที่ดูเป็นเรื่องไกลตัวและจับต้องยาก จะสามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย และชุมชนที่เราเข้าไปทำงานด้วย เพื่อให้รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำเป็นประโยชน์ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเขาได้อย่างเป็นรูปธรรม”


ชวนคุยเรื่องงานที่ราวกับได้ท่องโลกอนาคตไปด้วยจนเต็มอิ่ม ปิดท้ายด้วยไลฟ์สไตล์วันว่างของภารุตกันบ้าง “ด้วยความที่อยากผลักดันโครงการออกมาให้ดีที่สุด ทำให้บางครั้งต่อให้วันหยุดก็ยังทำงาน แต่ผมมองว่าการทำงานเป็นเรื่องสนุก เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตอยู่แล้ว เลยไม่มีปัญหา แต่ถ้ามีเวลาว่าง ผมและภรรยาชอบท่องเที่ยวและไปตระเวนชิมร้านอาหารใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ”

“ผมแพลนว่าอย่างน้อยต้องปีละทริป ผมและภรรยาเป็นสายเที่ยวแบบชิลๆ ประเทศที่ชอบไปคือ ญี่ปุ่น เพราะบรรยากาศดี อาหารอร่อย มีที่เที่ยวหลากหลาย นอกจากหาร้านอาหารที่อยากไป เวลาไปต่างประเทศ ผมชอบเข้าร้านหนังสือ เพื่ออัปเดตความรู้ใหม่ๆ เพราะผมชอบอ่านและสะสมหนังสือ ทั้งแนวประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และงานดีไซน์” ภารุตกล่าวทิ้งท้าย

Comments are closed.

Pin It